xs
xsm
sm
md
lg

บลจ.ชี้เงินบาทแข็งไม่กระทบกองFIF เน้นลงทุนหนีดอลลาร์กันความเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.เชื่อเงินบาทแข็งไม่กระทบกอง FIF เหตุค่าเงินในภูมิภาคมีการปรับตัวในทิศทางเดียวกัน ชี้การป้องกันความเสี่ยงยังต้องดูเป็นรายตลาดก่อนตัดสินใจ "วนา"มั่นใจ ยังไงแบงก์ชาติอุ้มบาทป้องผู้ส่งออก ทำให้ค่าเงินของไทยไม่แข็งกว่าเพื่อนบ้านมากนัก ขณะที่บลจ.อยุธยาชี้ การดูสินทรัพย์ที่จะเข้าไปลงทุนสำคัญกว่า ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนต้องดูเป็นรายประเทศ

นายวนา พูลผล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ไทย) จำกัด กล่าวว่า การปรับตัวของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา คงจะไม่ผลต่อกองทุนที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ของบริษัท เนื่องจากกองประเภทนี้จะไม่ลงทุนในประเทศที่เกี่ยวข้องกับเงินสกุลดอลาร์ซึ่งอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินบาท แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในภูมิภาคที่มีแนวโน้มการปรับตัวของค่าเงินเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศไทย

ทั้งนี้ ในส่วนที่นักวิชาการหรือนักลงทุนออกมาให้ความเห็นว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นกว่าประเทศเพื่อนบ้านไปกว่า 18% นั้น ไม่ทราบว่าเป็นตัวเลขที่แน่นอนหรือเปล่า แต่มั่นใจว่าแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนคงจะไม่แข็งค่าต่างกันมากนัก เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองคงจะมีการควบคุมเพื่อที่จะให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่าขึ้นมากจนเกินไปจนทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในต่างประเทศลดลงได้

"เรื่องค่าเงินที่บอกว่าแข็งกว่าเพื่อนบ้าน 18% นั้นไม่รู้ว่าตัวเลขจะระดับนี้หรือเปล่า แต่เชื่อว่าแบงก์ชาติเองคงต้องคุมค่าเงินให้ไม่แข็งค่าเกินไปนัก ซึ่งเหมือนกับว่าคุณธาริษา ยังเคยออกมาบอกกับเรื่องนี้เองด้วย โดยคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการปกป้องผู้ส่งออกของเรา เนื่องจากประเทศไทยเองยังต้องพาในเรื่องของการส่งออกอยู่ และถ้าค่าเงินบาทแข็งขึ้นมากๆ ก็จะไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจนี้"นายวนากล่าว

นายวนา กล่าวอีกว่า คนที่เข้ามาลงทุนกับกองทุนใหม่ๆ ของบริษัทหลังจากนี้ คงไม่ต้องกังวลในเรื่องของความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมากนัก เพราะบริษัทจะไม่ลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศที่มีการแข็งตัวของค่าเงินบาท แต่จะลงในส่วนที่แนวโน้มการปรับตัวของค่าเงินไปในทิศทางเดียวกันเท่านั้น ส่วนที่นักลงทุนมีคาดการณ์ว่าการลงทุนในช่วงนี้ จะสามารถสร้างผลตอบแทนได้มากว่า เพราะค่าเงินบาทมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นจนอาจถึงจุดสูงสุดและในอนาคตเมื่อปรับตัวลดลงก็จะได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนกลับมาด้วยนั้น เชื่อว่าคงจะยังไม่เป็นแบบนั้น เนื่องจากการจะดูว่าค่าเงินปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากหรือยัง คงจะต้องดูให้ลึกเข้าไปในรายละเอียดว่าเป็นการเปรียบเทียบกับประเทศอะไร และการลงทุนของเราอยู่ที่ไหนมากกว่า

นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด กล่าวว่า การลงทุนของกองทุนต่างประเทศ (FIF) ที่ผ่านมาคงไม่ได้รับผลกระทบกับค่าเงินบาที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้ ซึ่งกองทุนของบริษัทในปีที่ผ่านมาถือว่าได้ผลตอบแทนจากอัตราแลกเปลี่ยนพอสมควร เนื่องจากองทุนของบริษัทมีการลงทุนในตราสารหนี้ทวีปยุโรป (ECP) ที่ขณะนั้น ค่าเงินยูโรสัดส่วนการแข็งค่ามากว่าเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินบาท และกองนี้ก็ทำการป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงินไว้ครึ่งหนึ่งด้วย

สำหรับการลงทุนของกองทุนต่างประเทศ บริษัทพิจารณาจากปัจจัยหลัก 2 ส่วนด้วยกัน คือในเรื่องของราคาสินทรัพย์ และอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งบริษัทจะต้องดูว่าสินทรัพย์ที่เข้าไปลงทุนนั้น จะมีมูลค่ามากขึ้นในอนาคตหรือไม่ก่อนเป็นหลัก แล้วจึงพิจารณาในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนตามมา โดยในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนนั้น บริษัทจะพิจารณาจากตลาดที่เข้าไปลงทุนก่อน เนื่องจากการที่จะเข้าไปลงทุนในแต่ละที่ แนวโน้มของค่าเงินเมื่อเปรีบเทียบกับเงินบาทก็มีความแตกต่างกัน

"การลงทุนของบริษัทคงจะดูในเรื่องมูลค่าสินทรัพย์มาก่อน แล้วค่อยดูเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน แต่สินทรัพย์จะเป็นเรื่องที่สำคัญมากถ้าอนาคตมันลดลงก็จะมีปัญหา แต่ค่าเงินคงจะไม่ทำให้การลงทุนถึงขั้นต้องขาดทุนได้ โดยความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจะขึ้นอยู่กับว่าเราจะไปลงทุนที่ไหนด้วย ถึงแม้จะเป็นหุ้นที่อยู่ในสหรัฐแต่เมื่อไปลงอีกตลาดหนึ่งที่ไม่ใช่เงินดอลลาร์ก็จะไม่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้"นายประภาส

ส่วนการออกกองทุนต่างประเทศช่วงต้นปีของบริษัท 2 กอง ทางบริษัทคงไม่ทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากจะเป็นกองทุนที่เข้าไปลงทุนในประเทศแถบเอเชีย 1 กอง และอีก 1 กองจะเข้าไปลงทุนในประเทศแถบอาเซียน และค่าเงินของประเทศในแถบนี้คงจะมีแนวโน้มปรับตัวเกาะกลุ่มไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินบาท

ด้านนายกำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้น การลงทุนของกองทุนเอฟไอเอฟในแต่ละกองทุนจะขึ้นอยู่กับว่ามีการลงทุนในภูมิภาคไหน เนื่องจากค่าเงินสกุลที่ไปลงทุนนั้นมีความแตกต่างกันผลกระทบจึงมีความแตกต่างกันด้วย

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เงินบาทมมีการแข็งค่าขึ้นนั้น ถ้ากองทุนเอฟไอเอฟกองทุนใดเข้าไปลงทุนในเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะนี้จะได้ผลกระทบมากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ สาเหตุที่ได้รับผลกระทบมากกว่าค่าเงินสกุลอื่นนั้น เนื่องจากปัญหาซับไพรม์ที่เกิดขี้น ส่วนกองทุนเอฟไอเอฟที่เข้าไปลงทุนในแถบภูมิภาคเอเชีย ต้องดูว่าการปรับตัวของค่าเงินที่เข้าไปลงทุนมีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ซึ่งถ้าไปในทิศทางเดียวกันกองทุนจะได้รับผลกระทบที่ไม่มากนัก ดังนั้น นักลงทุนจะต้องทำการพิจารณาในการลงทุนอย่างรอบคอบในขณะนี้

“ในส่วนของบลจ.ไทยพาณิชย์เองส่วนใหญ่แล้วกองทุนเอฟไอเอฟ จะเข้าไปลงทุนในสกุลเงินยูโร มากค่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ฯ ดังนั้นผลกระทบจึงมีไม่มากนัก ส่วนการลงทุนในแถบภูมิภาคเอเชีย ในขณะนี้อาจจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาซับไพรม์ที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคในแถบเอเซียยังถือว่าน่าสนใจกับการเข้าไปลงทุนอยู่ เนื่องจากยังมีการเจริญเติบโตมากที่สุด เมื่อเทียบกับแถบภูมิภาคอื่น” นายกำพลกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น