xs
xsm
sm
md
lg

วงเงินFIFธ.ค.เหลือ649ล.เหรียญบลจ.หวังแบงก์ชาติไฟเขียวให้อีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.ล.ต. เผย โควต้าวงเงินอนุญาตลงทุนหลักทรัพย์ต่างแดนเดือนธันวาคมปี 50 เหลือเพียง 649 ล้านเหรียญสหรัฐ สรุปตัวเลขกองทุนเอฟไอเอฟปีหมู มีมูลค่าเม็ดเงินลงทุนรวม 209,274 ล้านบาท จากทั้งหมด 113 กองทุน ด้านผู้จัดการกองทุน เห็นด้วยหากแบงก์ชาติอนุมัติวงเงินเอฟไอเอฟ 1หมื่นล้านเหรียญ ชี้ช่วยกระจายความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสลงทุนให้ประชาชน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงสถานะวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ประจำเดือน ธันวาคม 2550 ว่า มีวงเงินลงทุนเหลือเป็นจำนวน 649,708,470.29 เหรียญสหรัฐ ซึ่งโควต้าวงเงินดังกล่าวมีการหักลบ และบวกเพิ่มเติมจากโควต้าที่ก.ล.ต.อนุมัติเพิ่มเติม รวมถึงวงเงินที่อนุมัติแล้วในเดือนพฤศจิกายน 2550 และการหักลบวงเงินที่อุนมัติในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ก.ล.ต.จะนำโควต้าวงเงินคงเหลือจำนวนดังกล่าว ยกไปรวมกับโควต้าวงเงินในเดือนมกราคม 2551 ซึ่งจะอยู่ในหมวดยอดวงเงินคงเหลือที่สำนักงานยกมา เพื่อใช้ในการจัดสรรอนุมัติวงเงินลงทุนให้แก่บริษัทจัดการกองทุน (บลจ.)ที่ขออนุมัติวงเงินจอง กรณี IPO และเพื่อจัดสรรเพิ่มเติม กรณีที่ผู้ลงทุนสถาบันมียอดคงค้างเกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีโควต้าวงเงินสำหรับการจัดสรรที่เหลือมาจากเดือนพฤศจิกายน 2550 จำนวน 2,393,577,599.85 เหรียญสหรัฐ หลังจากที่มีการอนุญาตจัดสรรวงเงินดังกล่าวให้แก่บลจ.ต่างๆรวมเป็นจำนวน 4,606,422,400.15 เหรียญสหรัฐในพ.ย.2550 จากโควต้าวงเงินทั้งหมด 7,000,000,000 เหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ ภายในเดือนธันวาคม ก.ล.ต. ได้อนุมัติโควต้าวงเงินเพิ่มเติมอีก 2,000,000,000 เหรียญสหรัฐ ทำให้มียอดโควต้าวงเงินก่อนหักลบการอุนมัติและจัดสรรเพิ่มเติมให้แก่บลจ.ในเดือนที่ผ่านมา อยู่ที่จำนวน 4,393,577,599.85 เหรียญสหรัฐ
ต่อมา เมื่อนำโควต้าวงเงินดังกล่าวมาหักลบกับยอดวงเงินที่ก.ล.ต.จัดสรรเพิ่มเติม กรณีที่ผู้ลงทุนสถาบันมียอดคงค้างเกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ รวม 5 ราย หรือ 11 กองทุน ซึ่งมีจำนวนเงินรวม 1,079,000,000 เหรียญสหรัฐ และวงเงินจอง กรณีIPO จำนวน 2,718,241,828.16 แล้วส่งผลให้เหลือยอดวงเงินที่ก.ล.ต.ยกไปใช้ต่อในเดือนมกราคมประมาณ 649.708 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามที่นำเสนอมาแล้วข้างต้น
สำหรับ ยอดวงเงินที่ก.ล.ต.จัดสรรให้กองทุนต่างๆในส่วนที่เกินวงเงิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้แก่ 1 กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ 3M3 รวมทั้งสิ้น 144 ล้านเหรียญสหรัฐ ,กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ 3M4 รวมทั้งสิ้น 205 ล้านเหรียญสหรัฐ ,กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ 6M9รวมทั้งสิ้น 2 ล้านเหรียญสหรัฐ, กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ 6/51 รวมทั้งสิ้น 107 ล้านเหรียญสหรัฐ,กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ 3/51 รวมทั้งสิ้น 235 ล้านเหรียญสหรัฐ,กองทุนเปิดเค โกบอล อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต รวมทั้งสิ้น 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ,กองทุนเปิด ทหารไทย พรีเมียร์ 3M4 รวมทั้งสิ้น 121 ล้านเหรียญสหรัฐ,กองทุนเปิด ทหารไทย พรีเมียร์ 3M5 รวมทั้งสิ้น 15 ล้านเหรียญสหรัฐ,กองทุนเปิดบัวหลวงธนสารพลัส5/07 รวมทั้งสิ้น 92 ล้านเหรียญสหรัฐ,กองทุนเปิดบัวหลวงธนสารพลัส6/07 รวมทั้งสิ้น 118 ล้านเหรียญสหรัฐ และกองทุนเปิดธนชาต โกลบอล บอนด์ ฟันด์ รวมทั้งสิ้น 20 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะเดียวกัน รายงานจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) ถึงข้อมูลกองทุนเพื่อการลงทุนในต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) พบว่า ในปี 2550 มีจำนวนกองทุนเอฟไอเอฟที่จัดตั้งแล้วทั้งสิ้นจำนวน 113 กองทุน มูลค่าเงินลงทุนรวม 209,274 ล้านบาท โดยในเดือนธันวาคม จำนวนกองทุนและเม็ดเงินลงทุนรวมได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8 กองทุน และจำนวนเงินรวม 17,419 ล้านบาท หรือ 9.08% จากเดือนพฤศจิกายน 2550 ซึ่งมีกองทุนที่จัดตั้งแล้วเสร็จ 105 กองทุน เม็ดเงินลงทุนรวม 191,854 ล้านบาท
สำหรับกองทุนเอฟไอเอฟ นับตั้งแต่เริ่มจัดตั้งในปี 2548 พบว่ามีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2550 ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยในปี 2548 มีกองทุนเอฟไอเอฟทั้งสิ้น 26 กองทุน มูลค่าเงินลงทุนรวม 29,943 ล้านบาท ขณะที่ปี 2549 มียอดการจัดตั้งกองทุนเอฟไอเอฟทั้งสิ้น 33 กองทุน เม็ดเงินลงทุนรวม 28,880 ล้านบาท
นายกำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจกองทุนรวม บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่ก.ล.ต.ได้ส่งหนังสือไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขออนุมัติวงเงินลงทุนของกองทุนรวมที่ไปลงทุนในต่างประเทศ(เอฟไอเอฟ) มูลค่ารวม 10,000 ล้านดอลลาร์ดอลลาร์สหรัฐซึ่งคาดว่าทราบผลไม่เกินไตรมาส1 ของปีนี้ ว่า ถ้าวงเงินดังกล่าวได้รับการอนุมัติ จะถือว่าเป็นโอกาสดีสำหรับประชาชนที่สามารถนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ซึ่งดีกว่าถูกปิดกั้นในเรื่องนี้ โดยสำหรับทางบริษัทนั้น ได้ให้ความสำคัญกับกองทุนที่ลงุนในต่างประเทศมาโดยตลอด ดูได้จากโปรดักต์ต่างๆที่นำเสนอ
นายชุติพนธ์ อัชวรานนท์ ผู้อำนวยการ-หัวหน้าฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ไทย) จำกัด กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากจะช่วยลดความเสี่ยงด้านการลงทุน อีกการลงทุนภายในประเทศ โดยเฉพาะตราสารหนี้ยังให้ผลตอบแทนอยู่ในระดับที่ต่ำ หากเทียบกับประเทศต่างๆที่จะเข้าลงทุน แม้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ของประเทศเหล่านั้น จะปรับตัวลดลงแล้วก็ตาม นอกจากนี้การนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศยังช่วยแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าได้อีกทางด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น