xs
xsm
sm
md
lg

วรรณตั้งเป้าเอยูเอ็มปีหนูโต10%เปิดขาย1MM4รอบใหม่ถึง11ม.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.วรรณ ตั้งเป้าเอยูเอ็มปี 51 โต 10% พุ่งอีก 6,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่มี 15,000 ล้านบาท เผยแผนงานปีหนู ขยาย TDEX - หา ETF แบบใหม่ พริ้อมเข็นกองทุนใหม่เข้าตลาด รวมทั้งเอฟไอเอฟ "สมจินต์ ศรไพศาล" หวังรองรับความต้องการลูกค้า หลังพ.ร.บ.สถาบันประกันเงินฝากทำนักลงทุนวิ่งหาทางเลือกลงทุนใหม่ ล่าสุดเปิดขายหน่วยลงทุนกองทุนวรรณ เอ็มเอ็ม 4 ครั้งที่ 10 ถึง 11 มกราคมนี้

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) วรรณ จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2551 คาดว่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (เอยูเอ็ม) ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 6,000 ล้านบาท หรือโตขึ้นประมาณ 10% ซึ่งแผนงานหลักในปีนี้จะมีด้วยกัน 3 ประการ คือ 1.การขยายกองทุนเปิด ไทยเด็กซ์ เซ็ท50 อีทีเอฟ (TDEX) อย่างต่อเนื่องด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจแก่นักลงทุน และความพยายามในการหากองทุน ETF ลักษณะใหม่ๆ เข้ามาทำการซื้อขายเพิ่มเติม 2.การออกกองทุนรวมกองใหม่ และ 3.การนำเสนอการออมอย่างเป็นระบบ หรือ Automatic Millionaire Program ให้แก่นักลงทุนซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพการลงทุนให้มีความสม่ำเสมอและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถผลตอบแทนที่ดีกว่าให้แก่นักลงทุน

ทั้งนี้ในส่วนของผลการดำเนินงานของกองทุนภายใต้การบริหารจัดการของบลจ.วรรณในปีที่ผ่านมานั้น ค่อนข้างจะมีผลการดำเนินงานในระดับดี โดยเฉพาะกองทุนตราสารทุน ในขณะที่กองทุนตราสารหนี้เองก็สามารถให้ผลตอบแทนในระดับปานกลาง โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 3-4% ส่วนกองทุนต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) นั้น ก็เป็นอีกหนึ่งกองทุนที่สามารถให้ผลตอบแทนในระดับสูง

สำหรับแผนงานของกองทุนเอฟไอเอฟหลังจากนี้นั้น นอกจากความพยายามที่จะประชาสัมพันธ์กองทุนเก่าที่บลจ.มีอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถให้ผลตอบแทนในระดับดีให้เป็นที่รู้จักของนักลงทุนมากขึ้นแล้ว บริษัทก็ยังมีแผนที่จะออกกกองทุนเพิ่มเติมอีกด้วย โดยมีแผนที่จะออกกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ และกองทุนที่ลงทุนในเชิงตลาดเงิน (Money Market) ที่คาดว่าจะเป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนแบบโกลบอล ส่วนการออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์นั้น คงจะต้องมีการพิจารณาดูโอกาสการลงทุน และความเสี่ยงในการลงทุนให้มีความเหมาะสมก่อน

นายสมจินต์ กล่าวต่อว่า หลังจากที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.
บ.) สถาบันเงินฝากมีผลบังคับใช้สมบูรณ์น่าจะทำให้นักลงทุนพยายามหาทางเลือกการลงทุนแบบใหม่มากยิ่งขึ้น ซึ่งสำหรับบลจ.วรรณ ปัจจุบันบริษัทมีกองทุนเปิดวรรณเดลี่ (1AM-DAILY) ซึ่งมีความคล่องตัวในการซื้อขายหน่วยลงทุนสูง ซึ่งน่าจะสามารถรองรับความต้องการของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมได้

"การที่พ.ร.บ.ประกันเงินฝากมีผลบังคับใช้น่าจะทำให้คนไทยพยายามหาทางเลือกการลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยเชื่อว่าในขั้นแรกการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยจะได้รับความสนใจ แต่หลังจากนั้นนักลงทุนคงจะมีความเข้าใจและเข้าไปลงทุนในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่มากขึ้นอย่างหุ้น ซึ่งในส่วนของบลจ.วรรณปัจจุบันก็มีเครื่องมือที่จะรองรับความต้องการของนักลงทุนได้อย่างครบถ้วน" นายสมจินต์ กล่าว

ด้านรายงานข่าวจากบลจ.วรรณ ระบุว่า บริษัทได้เปิดเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งที่ 10 ของกองทุนเปิด วรรณ เอ็มเอ็ม 4 (1MM4) ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 11 มกราคม 2551 โดยกองทุนดังกล่าวเน้นลงทุนในตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน และเงินฝาก ตลอดจนเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้ในโครงการ ซึ่งมีกำหนดชำระคืนเมื่อทวงถามหรือจะครบกำหนดชำระคืนไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ลงทุน

ขณะที่กองทุนจะไม่ลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นทุน หน่วยลงทุนของกองทุนตราสารทุนหรือกองทุนรวมผสม ตลอดจนใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น หรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารทุนหรือกองทุนรวมผสม รวมถึงตราสารหนี้ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร (Structured Note) และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivative) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการระดมเงินออมจากสถาบันและประชาชนทั่วไป เพื่อไปลงทุนในตราสารแห่งหนี้ที่มีความมั่นคงเป็นหลัก เพื่อที่จะให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนที่มั่นคงในรูปของมูลค่าเพิ่มจากการลงทุน

ขณะที่ข้อมูลของสมาคมจัดการลงทุน (AIMC) ระบุว่า ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2550 บลจ.วรรณ มีสินทรัพย์ภายใต้การบริการจัดการ (เอยูเอ็ม) ทั้งสิ้น 15,592.11 ล้านบาท โดยมีกองทุนภายใต้การบริการจัดการทั้งสิ้น 35 กองทุน แบ่งออกเป็นกองทุนตราสารหนี้จำนวน 17 กองทุน คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 6,845.35 ล้านบาท , กองทุนตราสารทุนจำนวน 13 กองทุน คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 4,230.80 ล้านบาท , กองทุนผสม จำนวน 3 กองทุน คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1,031.88 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีกองทุนอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 2 กองทุน คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3,484.07 ล้านบาท , กองทุน Resolving Financial Institution Fund จำนวน 18 กองทุน คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 21,399.90 ล้านบาท , กองทุน Country Fund และอื่นๆ จำนวน 3 กองทุน คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 565.42 ล้านบาท , กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) จำนวน 4 กองทุน คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 835.43 ล้านบาท , กองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) จำนวน 3 กองทุน คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 607.77 ล้านบาท , กองทุนเอฟไอเอฟ จำนวน 3 กองทุน คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1,456.49 ล้านบาท และกองทุนคุ้มครองเงินต้น จำนวน 2 กองทุน คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 315.82 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น