xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นเอฟไอเอฟ...ดันกองทุนรวมปีหนู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลอดปี 2550 ที่ผ่านมา หากจะพูดว่าเป็นปีทองของธุรกิจกองทุนรวมอีกปีคงไม่ผิด เพราะตั้งแต่ต้นปีถึงปลายปี เงินลงทุนใหม่ไหลเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง แม้ระหว่างทางจะมีปัญหาอุปสรรคขรุขระบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับสะดุด เพราะการลงทุนในกองทุนรวม ยังมีทางเลือกที่ค่อนข้างหลากหลายที่สามารถทดแทนกันได้
ถ้าจะลองย้อนกลับไป ในช่วงต้นปี กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ดูจะเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของคนที่แสวงหาผลตอบแทนที่สูงในช่วงอัตราดอกเบี้ยในประเทศดิ่งลงจนมาอยู่ในระดับต่ำสุดๆ ในปัจจุบัน ซึ่งความนิยมดังกล่าวต่อเนื่องมาจากช่วงปลายของปีก่อน หลังจากอัตราดอกเบี้ยส่งสัญญาณปรับตัวลดลงอย่างชัดเจนและอย่างรุนแรง
ช่วงนั้น บรรดาบริษัทจัดการกองทุน แห่จัดตั้งกองทุนประเภทนี้ออกมากันเป็นว่าเล่น โดยเฉพาะกองทุนตราสารหนี้ภาครัฐอายุ 3 เดือน และ 6 เดือน ขณะเดียวกันกองทุนรวมตลาดเงิน (มันนี่มาร์เกต) ที่ลงทุนระยะสั้นๆ ก็ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน ซึ่งกองทุนเปิดไทยพาณิชย์สะสมทรัพย์ของบลจ.ไทยพาณิชย์ เป็นบทพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี...สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝากที่มีความเสี่ยงระดับเดียวกัน แถมยังได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายภาษี 15% อีกด้วย
ส่วนกองทุนที่ผิดความคาดหมายเพราะโดนมาตรการ 30% สะกัดดาวรุ่งอย่าง กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์...ก็เกือบเป็นกองทุนที่ถูกปิดตายไปโดยปริยาย ดีที่ยังมีกองทุนออกมาให้เห็นถึง 3 กองทุน ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงกองทุนขนาดเล็กเท่านั้น...ว่ากันว่า มาตรการ 30% นี้ ส่งผลให้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มูลค่ากว่า 7.8 หมื่นล้านบาทล้มครืนเลยทีเดียว
หันกลับมาดูกองทุนหุ้นกับบ้าง...ปี 2550 อาจจะเป็นปีที่ดีระดับหนึ่ง เพราะภาพรวมการลงทุนในหุ้นปรับตัวขึ้นมาได้ค่อนข้างดี จาก ดัชนีที่ระดับกว่า 600 จุด ขึ้นมาสูงสุดที่ 920 จุด ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งใครที่ลงทุนตั้งแต่ช่วงต้นปี ค่อนมาถึงครึ่งปีหลังและช่วงปลายปี คงเบิกบานกับผลตอบแทนที่ได้มากกว่า 40-50% ถึงแม้ในช่วงปลายปี จะโดนพิษซับไพรม์รอบสอง และพิษหุ้น ปตท. กันถ้วนหน้า แต่ผลตอบแทนทั้งปี 2550 ก็น่าจะสวยงามที่ระดับกว่า 20% ได้
และที่น่าจับตามากที่สุดในช่วง 3-4 เดือนหลังของปี ก็คือ กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ซึ่งในช่วงแรกๆ กองทุนที่กระจายความเสี่ยงในหุ้นต่างประเทศ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากดัชนีหุ้นหลายประเทศปรับตัวทำนิวไฮด์กับเป็นแถว แต่จากปัญหาซับไพรม์ที่กระทบการลงทุนทั่วโลก ทำให้กองทุน FIF หุ้น ถูกลดความน่าสนใจลงไป...อย่างไรก็ตาม ยังมีนักลงทุนส่วนหนึ่งที่มองว่าเห็นเป็นโอกาสดีในการลงทุน เพราะได้ของดีในราคาที่ถูกลง
นอกจากนี้ การลงทุนต่างประเทศอีกหนึ่งรูปแบบที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก คงจะหนีไม่พ้นปรากฏการณ์ตั๋ว ECP (Euro Commercial Paper) ตราสารหนี้ของสถาบันการเงินในยุโรป ที่บรรดาบลจ. พาเหรดจัดตั้งกองทุนออกมาบุกตลาดกันเป็นว่าเล่น โดยจุดดึงดูดของกองทุนประเภทนี้ คือ ผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารหนี้และเงินฝากในประเทศ ด้วยการลงทุนระยะสั้นๆ เพียง 3 เดือน 6 เดือน...ถึงแม้กองทุนนี้ จะมีความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน แต่หลังจากกองทุนมีการป้องกันความเสี่ยงเอาไว้แล้วทั้ง 100% ก็ยังให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในประเทศค่อนข้างมาก...และนี้เองเป็นคีย์สำคัญที่กองทุน ECP ได้รับความสนใจจากนักลงทุนบ้านเราอย่างล้นหลาม ชนิดที่ว่า ส่งกองทุนไหนออกมาลุยตลาดก็ขายก็หมดแล้วหมดอีก จนต้องออกมาเป็นซีรีส์เลยทีเดียว
และจากความน่าสนใจของผลตอบแทนนี้เอง ทำให้คาดการณ์กันว่า การลงทุนในต่างประเทศจะเป็นพระเอกที่โกยเงินลงทุนเข้าอุตสาหกรรมกองทุนรวมในปีนี้...โดยตั๋ว ECP เอง อาจจะมีความต่อเนื่อง เพราะยังให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งจากแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยขยับขึ้นอย่างเนื่องจาก จาก 3% กว่าๆ ในช่วงแรกมาอยู่ที่ 3.70% ในปัจจุบัน ทำให้กองทุนประเภทนี้ น่าจะไปต่อ ขณะที่การลงทุนในหุ้นต่างประเทศเอง ในปีนี้เราน่าจะได้เห็นความหลากหลายมากขึ้น ทั้งในแง่สินค้าที่กองทุนออกไปลงทุน และในแง่ของโลเกชั่น หรือแม้กระทั้งการลงทุนแปลกๆใหม่ๆ ที่ยังไม่มีในตลาดมาก่อน...ส่วนหนึ่ง เนื่องจากยังได้รับการสนับสนุนที่ดีจากในการออกไปลงทุนเมืองนอกจากธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่
แต่สิ่งที่ท้าทายสำหรับกองทุน FIF คือ ปัญหาซับไพรม์ ที่ยังไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า ผลกระทบที่ฉุดภาวะการลงทุนทั่วโลกไปแล้วก่อนหน้านี้ จะเป็นของจริงหรือแค่น้ำจิ้มเท่านั้น ...ใครที่อยากกระจายความเสี่ยงในปีนี้ คงศึกษาข้อมูลการลงทุนให้ดีๆ ที่คำคัญต้องดูด้วยว่าเรารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน

กองทุนรวมปีหนูในสายตาผู้จัดการกองทุน

นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมของธุรกิจกองทุนรวมในปี 2550 ที่ผ่านมา มีการขยายตัวเป็นอย่างมาก โดยในส่วนของบริษัทเองการขยายตัวของสินทรัพย์ภายใต้การบริหารในปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็จะมาจากกองทุนรวม ซึ่งกองทุนรวมที่มีอัตราการขยายตัวมากสุดจะเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ และพันธบัตรมากกว่า เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ต้องการที่ใช้เป็นแหล่งพักเงินด้วยผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก ในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลง
ทั้งนี้ กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งนักลงทุนเองยังต้องการทางเลือกในการลงทุน และกระจายความเสี่ยงออกไปต่างประเทศ โดยที่นโยบายของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการขยายการลงทุนในต่างประเทศให้ถือว่าเป็นตัวผลักดันให้กองทุนประเภทนี้มีการเติบโตเป็นอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของปี
ส่วนการขยายตัวในกองทุนรวมหุ้น ส่วนหนึ่งจะมาจากมาร์เก็ตเอฟเฟคของทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการขยายตัวในทิศทางที่ดี อย่างไรก็ตาม ด้วยอุปนิสัยของคนไทยแล้วมักจะให้น้ำหนักกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยมากกว่าการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากทำให้การลงทุนผ่านกองทุนหุ้นเองถือว่ายังมีการขยายตัวได้อย่างไม่เต็มที่มากนัก
"คนไทยส่วนใหญ่มักจะนิยมออมหรือลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยงต่ำ ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก หรือพันธบัตรรัฐบาล โดยสมมุติว่าคนไทยมีเงินอยู่ 100 บาท ก็จะเอาเงินไปฝากซัก 70% แล้ว ส่วนที่เหลือบางคนก็จะเอามาลงทุน และน้อยคนเท่านั้นที่จะนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนในหุ้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นตราสารหนี้หรือพันธบัตรซะมากกว่า"นางวิวรรณกล่าว
นางวิวรรณ กล่าวอีกว่า แนวโน้มการลงทุนผ่านกองทุนรวมในปีนี้ น่าจะมีการขยายตัวอีกประมาณ 20% ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะมาจากกองทุนตราสารหนี้ และกองทุนรวมต่างประเทศเป็นหลัก โดยที่ลักษณะของกองทุนก็อาจจะมีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละบลจ. ว่าจะมีการนำเสนออะไรออกมาเพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนบ้าง ซึ่งจะเป็นการลงทุนในต่างประเทศ หรือในรูปแบบตราสารหนี้จัดโครงสร้างก็ได้
ส่วนปัจจัยเสริมในปีนี้ มองว่าน่าจะเป็นเรื่องของมาตรการในการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ และพ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก ที่คาดว่าจะมีการประกาศใช้ทำให้นักลงทุนอาจมีการทยอยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออมและการลงทุนได้ ส่วนมาตรการที่มีผลทำให้การลงทุนในกองทุนรวมยังไม่โตมากนักคงจะเป็นมาตรการ 30% ที่ทำให้นักลงทุนต่างชาตินำเม็ดเงินลงทุนเข้ามาได้อย่างไม่เต็มที่ โดยเฉพาะในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ให้ความสนใจ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการลงทุนผ่านกองทุนรวมของต่างชาติยังมีน้อยอยู่ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งถึงแม้จะไม่มีมาตรการนี้ คาดว่าเม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนผ่านกองทุนรวมก็ไม่น่าที่จะมีผลกระทบต่อการผันผวนของค่าเงินบาทมากนัก
นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย กล่าวว่า สำหรับการแข่งขันในอุตสาหกรรมกองทุนรวมปี 2551 น่าจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยกองทุนที่น่าจะได้รับความนิยมจากนักลงทุนคงจะยังเป็นกองทุนระยะสั้น ที่ลงทุนในตลาดเงิน (Money market) โดยเฉพาะกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ
"ถ้าจะให้เปรียบเทียบว่าระหว่างกองทุนตราสารหนี้ในประเทศ กับกองทุนตราสารหนี้ในต่างประเทศ กองไหนที่น่าจะรับความสนใจมากกว่ากัน ก็คงจะเป็นกองทุนในประเทศมากกว่า แม้ว่ากองทุนที่ลงทุนใน ECP จะสามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่การเลือกลงทุนของนักลงทุนคงจะพิจารณาจากระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้ไปด้วย โดยปัจจุบันนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศส่วนใหญ่ จะเป็นนักลงทุนที่มีความรู้ ความเข้าใจในการลงทุน และแยกแยะตราสารหนี้ที่กองทุนลงทุนได้" นายสมชัย กล่าว
ทั้งนี้ นอกจากกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นน่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนในปีนี้แล้ว ถ้าทางรัฐบาลยอมยกเลิกมาตราการกั้นสำรอง 30% น่าจะทำให้เกิดการตื่นตัวในวงการอุตสาหกรรมกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์) และน่าจะมีการออกกองทุนใหม่ๆเข้ามาในตลาดมากยิ่งขึ้น หลังจากในปีที่ผ่านมากองทุนดังกล่าวได้รับผลกระทบจากมาตรการจนไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวมากนัก ส่วนกองทุนเอฟไอเอฟที่มีนโยบายลงทุนแบบใหม่ ก็น่าจะเป็นอีกกองทุนที่มีแนวโน้มที่ได้รับความนิยมในอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน

นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC กล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจอุตสาหกรรมกองทุนรวมในปี 2551 ว่า วิธีคิดและวิธีการทำธุรกิจจะแตกต่างจากปีที่ผ่านมา เพราะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อการเมืองมีทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว จะช่วยผลักดันให้ จีดีพีขยายตัวได้มากขึ้น เช่นเดียวกับโอกาสในการทำธุรกิจ อย่างไรก็ตาม หากมองถึงความไม่แน่นอนแล้ว มองว่าจะยังคงอยู่
ในปีนี้ มองว่าการลงทุนจากต่างชาติเติบโตมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านการลงทุนโดยตรง หรือการลงทุนผ่านหุ้นและกองทุน นอกจากนี้คาดหวังว่าการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งชะลอตัวลงไปจากข้อจำกัด ในด้านการลงทุน จะมีการระดมทุนจากกองทุนประเภทนี้มากขึ้น ขณะเดียวกัน กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) จะเป็นกองทุนอีกประเภทที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาจะยังอยู่ภายใต้การควบคุมและกฏเกณฑ์ของหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลกำกับอยู่
"การลงทุนใน สินค้าโภคภัณฑ์ (คอมมอดิตี) ทั้งทองคำ และสินค้าเกษตรล่วงหน้า ที่เป็นพลังงานทดแทน นั้นต้องยอมรับได้รับความสนใจมากในปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ การลงทุนในอีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ในประเทศกลุ่มบริค ได้แก่ บราซิล รัสเซีย จีน และอินเดีย โดยประเมินว่าปีนี้การลงทุนในอีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ยังมีการเติบโตสูง"นายพิชิตกล่าว

ลงทุนต่างประเทศ...แม่เหล็กดึงเงินเข้ากองทุนรวม

นายวสุ สุทธิพงษ์ชัย ผู้จัดการกองทุน บลจ.แอสเซท พลัส กล่าวว่า ภาพรวมกองทุนรวมในปีที่แล้วออกมาค่อนข้างดี โดยทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการ (เอยูเอ็ม) เพิ่มขึ้นจากประมาณ 14,000 ล้านบาท เป็น 22,000 ล้านบาท ซึ่งเติบโตเป็น 50% จากภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมที่เติบโตขึ้นเพียง 30% โดยกองทุนหลักที่เติบโตมากที่สุดคือกองทุนที่เน้นลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน และสามารถเติบโตขึ้น 500% จากทรัพย์สินที่มีประมาณ 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 6,000 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมของกองทุนรวม FIF เติบโตขึ้นประมาณ 400% จากปีที่แล้ว และมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในขณะนี้ประมาณ 130,000 ล้านบาท โดยเป็นกองทุนรวม FIF ที่ลงทุนในตราสารหนี้ยุโรป (ECP) ประมาณ 80,000 ล้านบาท และลงทุนในตราสารทุน 20,000 – 30,000 ล้านบาท
ส่วนแนวโน้มกองทุนรวมในปีนี้คาดว่ากองทุนรวม FIF ยังสามารถเติบโตได้ดี จากอานิสงส์ของการออก พ.ร.บ.ประกันเงินฝาก และการลงทุนในต่างประเทศจะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการผันผวนของตลาดหุ้นไทย โดยมองว่าเครดิต ลิงก์ โน้ต (CREDIT LINK NOTE) จะเติบโตได้ดี
สำหรับมาตรการกันสำรอง 30% มีผลบ้างเล็กน้อย แต่การที่บริษัทไม่มีกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และมาตรการกันสำรอง 30% ส่งผลให้ตราสารหนี้แย่ เนื่องจากทำให้ค่าประกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้นส่งผลให้ผลตอบแทนลดลงด้วย ขณะที่การลงทุนใน ECP ได้รับประโยชน์จากการที่สวอปจากเงินดอลลาร์สหรัฐมาเป็นเงินบาท ทำให้ผลตอบแทนสูงขึ้น ขณะที่ส่วนการลงทุนผ่าน STRUCKTORED NOTE จะมีความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนใน CREDIT LINK NOTE เนื่องจากมีความไม่ชัดเจนในเรื่องของข้อมูล ราคาแพง กำหนดราคายาก รวมทั้งไม่รู้ว่าไปลงทุนในอะไร มีเฉพาะธนาคารพาณิชย์เท่านั้นที่รู้ ทำให้ไม่มีความชัดเจนในเรื่องของสิ่งที่ลงทุน โอกาสถูกหลอกมีค่อนข้างสูง ขณะที่ CREDIT LINK NOTE มีความชัดเจนมากกว่าว่านำไปลงทุนในทรัพย์สินอะไร
นายนที ดำรงกิจการ ผู้จัดการกองทุน บลจ.นครหลวงไทย กล่าวว่า ภาพรวมกองทุนรวมในปีที่ผ่านมาค่อนข้างดี โดยมีกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น 3 เดือน 6 เดือน และ 9 เดือน เป็นกองทุนที่ทำให้ทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการเติบโตขึ้นมากถึง 90% ของทรัพย์สินทั้งหมด และนักลงทุนมีความตื่นตัวในการลงทุนผ่านกองทุนรวมมากขึ้น โดยมีการศึกษารายละเอียดของกองทุนรวมในตลาด เพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน
ทั้งนี้ กองทุนรวม FIF ในช่วงที่ผ่านมามีมากขึ้น และมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนแบบ Feeder Fund ,Fund of Fund และคอมมูนิตี้ เช่น ทองคำ แต่บริษัทยังไม่เปิดกองทุนรวม FIF เนื่องจากฐานลูกค้าส่วนใหญ่มาจากฐานลูกค้าเงินฝาก ซึ่งยังไม่มีความคุ้นเคยเกี่ยวกับการลงทุนแบบอื่น ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการให้ข้อมูลแก่ลูกค้า ส่วนในปีนี้ บริษัทเตรียมออกกองทุนรวม FIF เช่นกัน เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาส กระจายความเสี่ยง แต่ไม่ได้คาดหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในประเทศ
ส่วนแนวโน้มกองทุนรวมในปีนี้ คาดว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ยังเป็นกองทุนที่สามารถดึงดูดเม็ดเงินได้มากที่สุด เนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา การลงทุนใน ECP สามารถให้ผลตอบแทนที่สูง และนักลงทุนส่วนใหญ่เข้าใจรูปแบบการลงทุนประเภทนี้อยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น