xs
xsm
sm
md
lg

เกาะติดผลงานกองทุนรวมQ1เอฟไอเอฟมาวิน..แชมป์ผลตอบแทนสูงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่ามกลางกระแสการลงทุนที่แปรเปลี่ยนไปไวปานกามนิตหนุ่ม และมรสุมปัญหาเศรษฐกิจนานัปการที่รุมเร้าอยู่ทุกขณะจิต ในที่สุดไตรมาสแรกของปี 2551 ก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐอเมริกา (ซับไพรม์) ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้อย่างชัดเจน จนส่งผลกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ และขยายวงกว้างไปสู่เศรษฐกิจทั่วโลก

นอกจากนี้ นักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกจะกระเตื้องขึ้นได้ แม้ว่ารัฐบาลจะมีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในแง่ของการดำเนินงานจริงยังไม่ได้เริ่มต้น ประกอบกับปัญหาทางการเมืองในประเทศที่ยังไม่คลี่คลายจนส่งผลด้านจิตวิทยาของนักลงทุนได้

ขณะที่ไตรมาส 2 คาดว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้น แต่ยังคงต้องจับตาดูปัญหาซับไพรม์กันต่อไปว่าจะมีการลุกลามและบานปลายไปต่ออีกหรือไม่ และท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่าจะมีวิธีสกัดภาวะความถดถอยของเศรษฐกิจได้หรือไม่

เห็นปัจจัยลบสารพัดในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา หากจะหันมามองดูภาพการลงทุนของกองทุนรวมแล้ว ถือว่าได้รับผลกระทบไปเต็มๆ เช่นกัน แต่ท่ามกลางปัจจัยลบ ก็มีโอกาสขึ้นมาบ้าง โดยเฉพาะการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (คอมมอดิตี้) ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นไปค่อนข้างมาก ดังนั้น ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ความน่าสนใจจึงตกไปอยู่ที่กองทุนต่างประเทศ ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงสุด

"ผู้จัดการรายวัน" ขอเริ่มด้วยการพามาดูผลการดำเนินงานของ กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในต่างประเทศ (FIF) พบว่า กองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดมาเป็นอันดับ 1 คือกองทุนเปิดหน่วยลงทุนฟินันซ่า โกลบอล คอมมอดิตี้ ภายใต้การบริหารของ บลจ.ฟินันซ่า โดยให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 20.80% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 36.72%

อันดับ 2 กองทุนเปิดธนชาตโกลบอล บอนด์ ฟันด์ ของ บลจ.ธนชาต ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 6.15% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 22.07% อันดับ 3 กองทุนเปิดไอเอ็นจี ไทย โกลเด้น สตาร์ ลิ้งค์ ของ บลจ.ไอเอ็นจี (ไทย) ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 4.32% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 20.24%

อันดับ 4 กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อินเตอร์เนชั่นแนล แนชเชอรัล รีซอร์สฟันด์ ของ บลจ.เอ็มเอฟซี ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 4.21% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 20.13% อันดับ 5 กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ 6M6 ของ บลจ.ไทยพาณิชย์ ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 4.14% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 20.06%

เปิดมุมมองแชมป์กองทุน FIF

ธีระ ภู่ตระกูล บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ฟินันซ่า จำกัด เล่าให้ฟังว่า การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นมา เนื่องจากมีหลายปัจจัยประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน ราคาทองคำ โดยคาดว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะมีแนวโน้มเจริญเติบโตไปอีก 10-15 ปี เพราะว่าในแต่ละปีประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 70 ล้านคน และภายใน 25 ปีข้างหน้าจะมีประชากรโลกเพิ่มขึ้นถึง 3,000 ล้านคน ขณะที่พื้นที่ในการเพาะปลูกมีปริมาณที่จำกัด และยังมีการนำเอาผลผลิตทางการเกษตรไปใช้ในการผลิตพลังงานทดแทนอีกด้วย

โดยที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2541 Rici Rogers Index ระบุว่าสินค้าโภคภัณฑ์มีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 12-13% ต่อปีมาโดยตลอด หากนักลงทุนมีเงิน 100 บาท ควรนำไปลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ประมาณ 10-15% เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน

ผลการดำเนินงานของกองทุนต่อมาเป็นของ กองทุนรวมหุ้น (Equity) โดยกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดมาเป็นอันดับ 1 คือ กองทุนเปิดทิสโก้หุ้นทุนปันผล ภายใต้การบริหารของ บลจ.ทิสโก้ โดยให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 4.12% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 8.91%

อันดับ 2 กองทุนเปิดบัวหลวงธนคม ของ บลจ.บัวหลวง ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 2.23% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 7.02% อันดับ 3 กองทุนเปิดอยุธยารักษ์ก้าวหน้า ของ บลจ.อยุธยา ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 0.42% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 5.21%

อันดับ 4 กองทุนเปิดทิสโก้ทวีทุน ของ บลจ.ทิสโก้ ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 0.37% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 5.16% อันดับ 5 กองทุนเปิดทีซีเอ็มหุ้นทุน ของ บลจ.ทิสโก้ ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 0.14% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯที่ 4.93%

แชมป์กองทุนหุ้นเผยกลยุทธ์

ธีรนาถ รุจิเมธาภาส
รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าธุรกิจกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด เล่าให้ฟังว่า กองทุนเปิดทิสโก้หุ้นทุนปันผลจะเลือกหุ้นที่มีแน้วโน้มเจริญเติบโตดี มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี และไม่อิงกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์

ทั้งนี้กองทุนยังมองตลาดหุ้นในแง่บวก หุ้นไทยยังมีราคาที่ต่ำและค่อนข้างถูก โดยจะลงทุนอย่างเต็มที่ตลอดเวลา ทำให้มีผลประกอบการที่ดี โดยจะเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์และกลุ่มพลังงานเป็นหลัก เนื่องจากได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

สำหรับแนวโน้มในไตรมาส 2 ตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมายังปรับตัวลงมาไม่มาก เนื่องจากดัชนีไม่ได้ปรับตัวขึ้นเหมือนกับประเทศอื่นๆ และราคาหุ้นไทยยังถูก โดยมีพีอีเรโชเพียง 11 เท่า ในแง่ของนักลงทุนควรหันไปลงทุนในหุ้นมากขึ้น เพราะว่าผลตอบแทนจากตราสารหนี้ และเงินฝากค่อนข้างต่ำ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า แต่ก็สามารถให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าหุ้นเช่นกัน

ส่วนผลการดำเนินงานของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) พบว่า กองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดมาเป็นอันดับ 1 คือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวอินเตอร์ ภายใต้การบริหารของ บลจ.ไทยพาณิชย์ โดยให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 1.20% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 5.99%

อันดับ 2 กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวทาร์เก็ต ของ บลจ.ไทยพาณิชย์ ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 1.11% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 5.90% อันดับ 3 โครงการจัดการกองทุนเปิดวรรณเอเอ็มสมาร์ทหุ้นระยะยาว ของ บลจ.ไทยพาณิชย์ ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 1.08% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 5.87%

อันดับ 4 กองทุนเปิดบีที ไลฟ์ 70 หุ้นระยะยาวปันผล ของ บลจ.บีที ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 1.05% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 5.84% อันดับ 5 กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวสมาร์ท ของ บลจ.ไทยพาณิชย์ ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 0.58% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯที่ 5.37%

แชมป์กองทุน LTF เผยกลยุทธ์

กำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการผู้อำนวยการ สายธุรกิจกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวอินเตอร์ จะเลือกลงทุนในหุ้นที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง โดยจะมีทั้งหุ้นขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และเลือกไม่เกิน 30 ตัว ขณะเดียวกัน จะลงทุนในหุ้นทั้งในดัชนี SET และ MAI ซึ่งจะปรับพอร์ตลงทุนทุก 3 เดือน

ส่วนปัจจัยที่ทำให้กองทุนได้อันดับ 1 คือกองทุนจะติดตามภาวะตลาดหุ้นอย่างใกล้ชิด การคัดเลือกหุ้น จังหวะการเข้าไปซื้อขาย และปรับพอร์ตลงทุนให้ตอบรับกับสถานการณ์ในขณะนั้นได้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ กองทุนได้ให้น้ำหนักการลงทุนอย่างเต็มที่ หากมีเม็ดเงินใหม่เข้ามาก็จะน้ำหนักการลงทุนอย่างเต็มที่ และสามารถทำกำไรได้เป็นช่วงๆ ทั้งปี มีการเลือกซื้อหุ้นที่เหมาะสม โดยในไตรมาส 2 จะให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก และกลุ่มเทคโนโลยีและการสื่อสาร เพราะว่าได้รับประโยชน์ทางด้านต้นทุนรายกิจการที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าธุรกิจอื่น ประกอบกับโอกาสในการทำกำไรสูง ขณะที่กลุ่มพลังงานยังคงมีการลงทุนอยู่ แต่จะมีการปรับลดน้ำหนักการลงทุนลง

ขณะที่ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่เน้นลงทุนในตราสารทุน โดย กองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดมาเป็นอันดับ 1 คือกองทุนเปิดบีที ไลฟ์ หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ภายใต้การบริหารของ บลจ.บีที โดยให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 0.46% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 5.25%

อันดับ 2 กองทุนเปิดอยุธยาอิควิตี้เพื่อการเลี้ยงชีพ ของ บลจ.อยุธยา ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ -1.14% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 3.65% อันดับ 3 กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ของ บลจ.ไทยพาณิชย์ ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ -1.36% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 3.43%

อันดับ 4 กองทุนเปิดแอสเซทพลัสตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ของ บลจ.แอสเซทพลัส ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ -2.05% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 2.74% อันดับ 5 กองทุนเปิดเค หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ของ บลจ.กสิกรไทย ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ -2.18% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯที่ 2.61%

แชมป์ RMF หุ้นทุนเผยกลยุทธ์

เจิดพันธ์ นิธยายน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บีที จำกัด เล่าให้ฟังว่า กองทุนบีที ไลฟ์ หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ จะเลือกลงทุนในหุ้นไม่มากตัว ดูว่าหุ้นตัวไหนมีราคาที่เหมาะสมก็จะให้น้ำหนักการลงทุนมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แต่จะไม่อิงตามมาร์เก็ตแคป ทำให้สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดหุ้น

ทั้งนี้ กองทุนจะเลือกลงทุนในกลุ่มที่คิดว่าดี และมีการใช้การจับจังหวะตลาด (market timing) เข้ามาช่วยด้วย โดยที่ผ่านมา ได้เข้าไปลงทุนในหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มเทคโนโลยีและการสื่อสาร และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แต่ไม่เข้าไปลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงาน ทำให้มีความโดดเด่น และสามารถชนะตลาดหุ้นได้

ขณะที่แนวโน้มการลงทุนในไตรมาส 2 ปัจจัยทางการเมืองในประเทศจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนมากขึ้น หลังจากในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ปัจจัยทางการเมืองไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนเลย ประกอบกับปัจจัยภายนอกที่มากระทบอย่างผลประกอบการในไตรมาส 1 ของสถาบันการเงิน และปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐ (ซับไพรม์) ว่าจะส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใด คาดว่าในไตรมาส 2 จะเป็นจุดต่ำสุดของวิกฤติการณ์ดังกล่าว โดยที่น่าสนใจลงทุนยังเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แต่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เริ่มไม่เป็นที่น่าสนใจ เพราะว่าราคาหุ้นเริ่มเต็มมูลค่าแล้ว

สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุนสุดท้ายคือ กองทุนรวมตราสารหนี้ (Bond) ซึ่งรายงานสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2551 พบว่า กองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดมาเป็นอันดับ 1 คือกองทุนเปิดเค พันธบัตร 3/56 ภายใต้การบริหารของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด โดยให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 16.61% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 14.28%

อันดับ 2 กองทุนเปิดรวงข้าวคืนกำไร 3 ของ บลจ.กสิกรไทย ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 13.16% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 10.83% อันดับ 3 กองทุนเปิดดัชนีพันธบัตรไทยเอบีเอฟ ของ บลจ.กสิกรไทย ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 13.11% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 10.78%

อันดับ 4 กองทุนเปิดรวงข้าวคืนกำไร 8 ของ บลจ.กสิกรไทย ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 10.87% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 8.54% อันดับ 5 กองทุนเปิดทรัพย์บริบรูณ์ตราสารหนี้ 4 ของ บลจ.ยูโอบี (ไทย) ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 10.58% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 8.25%

แชมป์กองทุนตราสารหนี้เผยกลยุทธ์

ชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด เล่าให้ฟังว่า กองทุนเปิดเค พันธบัตร 3/56 เป็นกองทุนที่มีอายุโครงการยาว 5 ปีครึ่ง ทำให้ไม่ต้องบริหารความคาดหวังรายวันของผู้ลงทุน โดยจะลงทุนในพันธบัตรที่มีอายุยาว ซึ่งสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าพันธบัตรที่มีอายุสั้น และในช่วงที่ผ่านมาผลตอบแทนได้ปรับตัวลดลง ทำให้กองทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีด้วย นอกจากนี้ ผู้จัดการกองทุนจะกล้าลงทุน เนื่องจากผู้ลงทุนได้ให้โอกาสแก่กองทุนในการลงทุนเป็นระยะเวลานานถึง 5 ปี

ทั้งนี้ คาดว่าผลตอบแทนของพันธบัตรในไตรมาส 2 จะแกว่งตัวไม่มาก เนื่องจากต้นปีที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยได้ปรับลดลงมาต่ำแล้ว โดยเชื่อว่าตลอดทั้งปีนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรืออาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไม่เกิน 0.25% หลังจากต้นปีที่ผ่านมาผลตอบแทนได้ปรับลดลงแรง จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวดเดียวถึง 0.75%

อย่างไรก็ตาม มองว่าสภาพคล่องในตลาดยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก หากผลตอบแทนของพันธบัตรปรับขึ้นสูง นักลงทุนจะปรับเพิ่มการลงทุนในพันธบัตรมากขึ้น และผลตอบแทนในไตรมาส 2 จะไม่ดีเท่ากับไตรมาสแรก แต่น่าจะอยู่ในระดับที่พอใช้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น