บลจ.แอสเซทพลัส ตั้งเป้ามีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการโต 10,000 ล้านบาท เตรียมออกกองทุนตราสารหนี้รับเงินไหลเข้ากองทุนจากอานิสงส์ พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก พร้อมเสริมทีมผู้จัดการกองทุนที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หวังเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนประเภท Non bank ที่ดีที่สุด ทั้งในด้านของผลตอบแทน และการให้บริการ ระบุใช้มาตรการ 30% ต่อไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ประเทศ
นางลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ในปี 2551 อีกอย่างน้อย 10,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 45% จากปีที่ผ่านมา โดยจะมาจากการเพิ่มขึ้นของธุรกิจกองทุนรวมเป็นหลัก โดยในปีนี้มีแผนออกกองทุนใหม่ ทั้งกองทุนตราสารหนี้และตราสารทุนทั้งในและต่างประเทศ และการขยายมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมเดิม
สำหรับแนวโน้มธุรกิจในปี 2551 มองว่า บรรยากาศการลงทุนยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของสหรัฐ ทั้งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ทำให้คนถือครองดอลลาร์สหรัฐลดลง ความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อที่มีระดับสูง และปัญหาซับไพร์มที่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องในต่างประเทศและความวิตกของนักลงทุน ทำให้การลงทุนทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) มีแนวโน้มเติบโตสูง
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวค่อนข้างน้อย ทำให้เป็นการลงทุนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งจากอุตสาหกรรมในประเทศ และมีอัตราการเติบโตในระดับสูง โดยอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มสาธารณูปโภคพื้นฐานในแถบภูมิภาคเอเชีย (Asia Infrastructure) ซึ่งสามารถขยายตัวได้อีกมาก, กลุ่มสินค้าเกษตรกรรม (Soft Commodity) ที่ได้รับผลดีจากการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น , กลุ่มเวชภัณฑ์ (Healthcare) ที่มีแนวโน้มเติบโตในระยะยาวจากการเพิ่มขึ้นของประชากร , กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก (Alternative Energy) ซึ่งมีการตื่นต้วจากภาวะโลกร้อน จะกลายเป็นผลดีต่อการลงทุนกลุ่มนี้
ส่วนแผนการลงทุนในปี 2551 จะประกอบไปด้วย การออกกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ประมาณ 4 กองทุน กองทุนรวมตราสารหนี้ที่ใช้อนุพันธ์มาเป็นเครื่องมือในการเพิ่มผลตอบแทน (Index Enhanced) ประมาณ 4-5 กองทุน และกองทุนรวมตราสารหนี้ประมาณ 7-8 กองทุน เพื่อมาทดแทนกองทุนตราสารหนี้แบบโรลโอเวอร์ที่ทยอยหมดอายุไป
นางลดาวรรณ กล่าวว่า เชื่อว่าจะมีเงินออมจากสถาบันการเงินไหลเข้ามาในอุตสาหกรรมกองทุนรวมมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันคุ้มครองเงินฝากที่จะผลบังคับใช้ในกลางปีนี้ เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยบริษัทจะออกกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น 3 เดือน 6 เดือน และ 9 เดือน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเงินออมมารองรับในส่วนนี้ด้วย
โดยแนวทางการดำเนินงานในปีนี้จะให้ความสำคัญเรื่องลูกค้า ตัวแทนขาย และทีมงานในองค์กร เพื่อให้บริษัทมีความพร้อมในการแข่งขันในธุรกิจกองทุนที่มีแนวโน้มจะมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ในปีนี้ บริษัทจะเพิ่มจำนวนผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนเฉพาะด้าน เพื่อให้สอดรับกับผลิตภัณฑ์การลงทุนที่จะมีความหลากหลายมากขึ้น และบรรลุเป้าหมายเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนประเภท Non bank ที่ดีที่สุด ทั้งในด้านของผลตอบแทน และการให้บริการ นอกจากนี้ บริษัทจะเน้นให้ข้อมูลและความรู้ด้านการลงทุนให้กับตัวแทนขาย รวมทั้งเน้นให้การบริการผู้ลงทุนรายย่อยให้ได้สะดวกรวดเร็ว
ขณะเดียวกัน บริษัทเตรียมขยายฐานลูกค้าขนาดกลางและรายย่อยมากขึ้น เพื่อป้องกันการผันผวนของขนาดสินทรัพย์ เนื่องจากปัจจุบัน มีลูกค้ารายใหญ่และลูกค้ากลุ่มสถาบันประมาณ 70% ซึ่งทำให้ขนาดของสินทรัพย์มีการจุกตัวและมีความผันผวนสูง โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มลูกค้าขนาดกลางและรายย่อยเป็น 30-40% ขึ้นไป โดยปัจจุบัน มีลูกค้าประมาณ 2,000 บัญชี
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2550 บริษัทมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 22,284 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2549 ประมาณ 57% โดยเป็นบริษัทจัดการกองทุนประเภท Non Bank ที่มีการเติบโตของ AUM สูงสุด และ AUM ของบริษัทเติบโตอยู่ในอันดับ 5 ของอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิดังกล่าว มาจากการเพิ่มของธุรกิจกองทุนรวม (Mutual Fund) 18,694 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 56%จากปี 2549 ที่มีอยู่ประมาณ 11,913 ล้านบาท และกองทุนส่วนบุคคล (Providence Fund) 3,590 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 33% จากปี 2549 ที่มีอยู่ประมาณ 2,693 ล้านบาท
นางลดาวรรณ กล่าวถึงผลการหารือระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยยังให้มีการใช้มาตรการกันสำรอง 30% ต่อไปอีก ถือว่าไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย แม้ปัจจุบันจะมีการผ่อนคลายเกือบหมดแล้ว แต่สายตาของนักลงทุนต่างชาติยังมองว่าการที่ไทยมีมาตรการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุน แสดงว่าไทยยังมีความผิดปกติ
"เท่าที่พูดคุยกับผู้จัดการกองทุนต่างประเทศ เห็นว่าควรจะมีการยกเลิกมาตรการดังกล่าว แม้ที่ผ่านมามาตรการนี้จะสามารถดูแลการแข็งค่าของเงินบาทได้ระดับหนึ่ง เพราะค่าเงินบาทก็ยังแข็งค่าขึ้น โดยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับภูมิภาค จึงไม่แน่ใจว่ามาตรการนี้ได้ผลเต็มที่ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการพูดถึงความเสี่ยงความเสียหาย และการเข้าแทรกแซงของแบงก์ชาติ"
อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยที่จะมีมาตรการรองรับความผันผวนของค่าเงินบาท หากมีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% แต่จะต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังและรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ส่วนผลกระทบต่อตลาดทุน คงไม่มากเพราะมาตรการนี้ ไม่ได้ควบคุมเงินลงทุนในตลาดหุ้น และที่ผ่านมานักลงทุนมีการรับรู้ข้อมูลระดับหนึ่งแล้วว่าจะมีการประกาศยกเลิก
ส่วนตลาดหุ้นไทยหลังมีรัฐบาลใหม่ น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามารถกระตุ้นความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติได้ และรัฐบาลมีการใช้เงินงบประมาณเพื่อกระตุ้นการลงทุนผ่านโครงการเมกะโปรเจกต์และโครงการประชานิยมที่เข้าถึงระดับรากหญ้า ซึ่งคงจะทำให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนตามมาในอนาคต แต่อยากให้รัฐบาลระมัดระวังการใช้เงินด้วย