xs
xsm
sm
md
lg

ส่วนต่างดอกเบี้ยตปท.ที่สูงกว่า มัดมือบลจ.ออกกองบอนด์ระยะสั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยถึงภาพรวมการลงทุนในเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ความกังวลเกี่ยวกับการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อจากการทยอยปรับขึ้นของราคาสินค้าอาหารและพลังงาน ได้กลายเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในช่วงเดือน เมษายน และส่งผลให้เกิดความต้องการแสวงหาช่องทางลงทุนที่สามารถให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่การทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ได้ทำให้ บลจ.ทำการนำเสนอของกองทุนรวมซึ่งมีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาความมั่งคั่งให้กับผู้ลงทุนมากขึ้น

นอกจากนั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธปท.เมื่อวันที่ 9 เมษายน ซึ่งได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิม พร้อมทั้งระบุว่า ความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อของไทยในระยะต่อไปมีมากขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ดี ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอาจจะเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการออกหุ้นกู้ระยะยาวมากขึ้น เพื่อเป็นการระดมทุนด้วยต้นทุนในระดับที่ไม่สูงมาก เริ่มเป็นการสะท้อนมุมมองถึงความเป็นไปได้ที่ว่าอัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่ลดลงไปจากในปัจจุบัน โดยการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นกู้และโครงการเงินฝากแบบพิเศษของธนาคารพาณิชย์ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ลงทุน ได้ทำให้การแข่งขันเพื่อดึงดูดเงินออมของผู้ลงทุนกับธุรกิจกองทุนรวมมีความเข้มข้นมากขึ้น

ทั้งนี้ ความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงไม่ชัดเจนดังกล่าว ทำให้ตราสารหนี้ยังคงเป็นทางเลือกในการลงทุนที่ได้รับความนิยม ในขณะที่ ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนจากตราสารหนี้ต่างประเทศในบางประเทศที่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนในประเทศ (หลังหักต้นทุนการทำประกันความเสี่ยง) ส่งผลให้ บลจ.ต่างๆได้หันมาออกกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จนถึงเกาหลีใต้ ซึ่งมีรูปแบบที่หลากหลายตั้งแต่กองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล จนถึงตราสารหนี้ของสถาบันการเงินที่ได้รับอันดับความน่าเชื่อถือสูง หรือ ในลักษณะของตราสารหนี้ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร (Structured Note)

ธุรกิจกองทุนรวมเดือนเม.ย.และ 4 เดือนแรกของปีนี้

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมทั่วไป (ไม่รวมกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในสถาบันการเงินและกองทุนที่ระดมทุนในต่างประเทศ) ในเดือน เมษายน ที่ผ่านมา (ถึงวันที่ 2 พฤษภาคม ) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน มีนาคม ร้อยละ 2.5 จาก 1,391,380.8 ล้านบาท ในเดือน มีนาคม สู่ 1,425,733.8 ล้านบาท ซึ่งมาจากการขยายตัวในส่วนของกองทุนรวมหน่วยลงทุนซึ่งเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ถึงร้อยละ 11.3 กองทุนผสมร้อยละ 5.3 กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1 ) ร้อยละ 3.3 กองทุนรวมตราสารหนี้ร้อยละ 1.5 และกองทุนรวมตราสารทุนร้อยละ 1.4 ตามลำดับ โดยมีจำนวนกองทุนที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 32 กองทุน โดยบลจ.ได้เริ่มออกกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นหลายกองแทนกองทุนเก่าที่ทยอยครบกำหนดอายุไถ่ถอน ส่งผลให้โดยสุทธิแล้วจำนวนกองทุนตราสารหนี้เพิ่มขึ้น 22 กองจากเดือน มีนาคม ส่วนกองทุนผสม กองทุนรวมหน่วยลงทุน เพิ่มขึ้นจำนวน 5 กอง 3 กอง ขณะที่กองทุนตราสารทุนและกองทุนอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างละ 1 กอง ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2550 พบว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมทั่วไปในเดือน เมษายน ขยับลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 อันเป็นผลจากการปรับตัวลดลงมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวมหน่วยลงทุนและกองทุนรวมตราสารหนี้ถึงร้อยละ 2.6 และร้อยละ 1.2 จากการลดลงในส่วนของกองทุนที่ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศซึ่งมีนโยบายการลงทุนในตราสารทุนสอดคล้องกับการที่ตลาดหุ้นต่างๆทั่วโลกปรับตัวลดลงไปเมื่อเทียบจากสิ้นปีที่ผ่านมา และการครบกำหนดอายุไถ่ถอนของกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในตราสาร ECP (Euro Commercial Paper) ในขณะที่จำนวนกองทุนรวมทั่วไปเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2550 เพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 21 กองทุน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกประเภท ยกเว้นกองทุนรวมตราสารหนี้ซึ่งมีจำนวนกองทุนลดลงจากสิ้นปีที่ผ่านมา 1 กอง

แนวโน้มในเดือนพฤษภาคม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า บรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนโลกจะยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน จากทั้งตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่รายงานในระยะต่อไปว่าจะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้หรือไม่ ประกอบกับ ทิศทางของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่อาจมีความผันผวนมากขึ้น หลังจากทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึง ความเสี่ยงในเรื่องการเร่งตัวของเงินเฟ้อโลกและการตัดสินใจทางด้านนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆทั่วโลก และทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ฯเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ

ขณะที่ปัจจัยในประเทศนั้น คาดว่า ประเด็นในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อคงจะเป็นสิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน เมษายน เร่งตัวขึ้นเกินคาดที่ร้อยละ 6.2 ขณะที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเมื่อต้นเดือน พฤษภาคม ซึ่งอาจจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในระยะต่อไป โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการประชุมนโยบายการเงินครั้งต่อไปในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้

ส่วนสภาพัฒน์ฯจะมีการรายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาส1/51 ในวันที่ 26 พฤษภาคม ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า แม้การขยายตัวของจีดีพีในไตรมาสแรกดังกล่าวอาจจะสูงถึงประมาณร้อยละ 6 แต่ก็มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยอาจจะมีการเติบโตที่ชะลอลงในไตรมาสต่อๆไป จากการชะลอตัวของการส่งออก ขณะที่ราคาน้ำมันและเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันการลงทุนและการบริโภคของเอกชน และกระทบการตัดสินใจทางด้านนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้การที่อัตราดอกเบี้ยของบางประเทศยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าของประเทศไทย น่าจะสนับสนุนให้กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศยังได้รับความสนใจต่อเนื่อง แต่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ยังคงมีความไม่แน่นอนน่าจะส่งผลให้บลจ. ต่างๆ นำเสนอกองทุนตราสารหนี้ที่มีอายุสั้น มากกว่ากองทุนที่มีอายุการลงทุนยาว

ในขณะเดียวกันความเสี่ยงที่แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในระยะต่อไป อาจจะเผชิญกับความผันผวนจากการปรับฐานมากขึ้น คงจะส่งผลให้การตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ ที่มีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เป็นไปโดยระมัดระวังมากขึ้น ในขณะที่หากราคาน้ำมันยังคงพุ่งสูงขึ้นก็อาจเป็นแรงหนุนต่อกองทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานและพลังงานทางเลือก
กำลังโหลดความคิดเห็น