xs
xsm
sm
md
lg

บัวหลวงคลอด3กองทุนตราสารหนี้ ลงทุนในและต่างประเทศมูลค่ารวม7พันล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.บัวหลวงเปิดขายสามกองทุนรวมตราสารหนี้ “บัวหลวงธนสารพลัส 20/08 – บัวหลวงธนสารพลัส 21/08” เน้นลงทุนในพันธบัตรเกาหลี มูลค่าโครงการละ 3,000 ล้านบาท และ “บัวหลวงธนรัฐ 11/08” ลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐมูลค่า 1,000 ล้านบาท เปิดขายครั้งแรกพร้อมกัน 6 – 12 พฤษภาคมนี้

นางวรวรรณ ธาราภูมิ
กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 6 – 12 พฤษภาคมนี้ บริษัทจะเปิดขายหน่วยลงทุนเครั้งแรก (ไอพีโอ)สำหรับกองทุนตราสารหนี้จำนวน 3 กองทุน ซึ่งประกอบด้วย กองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 20/08 , กองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 21/08 ซึ่งมีมูลค่าโครงการละ 3,000 ล้านบาท และกองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 11/08 มีมูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท

ทั้งนี้กองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 20/08 มีอายุโครงการ 10 – 12 เดือน ส่วนกองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 21/08 มีอายุโครงการ 5 – 7 เดือน โดยทั้งสองกองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนในตราสารแห่งหนี้ที่เสนอขายในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งตราสารแห่งหนี้ดังกล่าวออกโดยสถาบันการเงินที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ตั้งแต่ AA- ขึ้นไป ส่วนที่เหลืออาจพิจารณาลงทุน หรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงานคณะกรรมการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดหรือเห็นชอบให้กองทุนลงทุนได้ รวมถึงการลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้กองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives contract) เพื่อป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราหรือความเสี่ยงอื่นใดที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในต่างประเทศตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ แต่กองทุนจะไม่ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร (Structured Note) โดยผู้ลงทุนจะได้รับเงินจากการขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติในวันครบกำหนดอายุกองทุน ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แล้ว ณ วันที่เสนอขายกองทุน

“สองกองทุนนี้ จะเข้าไปลงทุนในพันธบัตรเกาหลี ซึ่งในขณะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก โดยในช่วงที่ผ่านมากกองทุนดังกล่าวได้ทำการเปิดขายในทุก ๆ เดือนให้กับนักลงทุนได้เข้ามาลงทุน ส่วนในเดือนมิถุนายน 2551 นั้น บริษัทคงต้องทำการตรวจสอบดูถึงความต้องการของนักลงทุนเสียก่อนว่ายังมีอยู่มากน้อยเพียงไร” นางวรวรรณ กล่าว

นางวรวรรณ กล่าวว่า ส่วนกองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 11/08 นั้นมีอายุโครงการประมาณ 4 – 6 เดือน ซึ่งมีนโยบายเน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หรือพันธบัตร หรือตราสารแห่งหนี้ที่กระทรวงการคลัง หรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกัน โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือจะลงทุนในเงินฝาก บัตรเงินฝาก ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตราสารแห่งหนี้ของสถาบันการเงิน และหรือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นด้วยการทำ ธุรกรรมการซื้อตราสารแห่งหนี้ภาครัฐกับสถาบันการเงิน โดยมีสัญญาที่จะขายคืนตราสารแห่งหนี้ดังกล่าวตามวันที่กำหนดในสัญญา

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนจะได้รับเงินจากการขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติภายใน 6 เดือนแรกและอีกครั้งในวันครบกำหนดอายุกองทุน ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แล้ว ณ วันที่เสนอขายกองทุน
ก่อนหน้านี้ บลจ.บัวหลวง ได้ระบุว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2551 นี้ บริษัทเตรียมออกกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) อีก 1 กองทุน โดยกองทุนดังกล่าวบริษัทเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงพร้อมที่จะขยายเม็ดเงินลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพเดิมอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันบริษัทเตรียมขยายขนาดของกองทุนเปิดบัวหลวงธนทวีเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการบริหารเงินสดแทนการฝากเงินเพียงอย่างเดียว โดยบริษัทจะนำทีมการตลาดให้การอบรมและเยี่ยมเยียนสาขาต่างๆของธนาคารกรุงเทพฯ และจัดกิจกรรมทางการตลาดออกมาช่วยส่งเสริม เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ และสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาว ผ่านคำแนะนำในการจัด Asset Allocation

นอกจากนี้ในช่วงไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 4 ขณะนี้บริษัทจะยื่นขอใบอนุญาตจัดการกองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงจัดโครงสร้างองค์กรใหม่เพื่อรองรับธุรกิจกองทุนรวม ไม่ว่าจะเป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนส่วนบุคคล หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย ทั้งนี้บริษัทยังได้เตรียมการออกผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อรองรับกับความต้องการของนักลงทุนในกองทุนแต่ละประเภทให้ตรงใจนักลงทุนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมาสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (เอยูเอ็ม) ของบริษัทสามารถขยายตัวได้ในอัตรา 6.1% หรือเพิ่มขึ้น 8,899 ล้านบาทจากปีก่อน ทำให้ ณ ขณะนี้บริษัทมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารทั้งสิ้น 154,601 ล้านบาท ในขณะที่ทั้งอุตสาหกรรมมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารลดไป - 2.15% เหลือ 1.576 ล้านล้านบาท จากเดิม 1.611 ล้านล้านบาท โดยการเติบโตของ บลจ. บัวหลวง นั้นมาจากการเติบโตในส่วนของกองทุนตราสารหนี้ โดยเฉพาะกองทุนเปิดบัวหลวงธนทวี เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 25.38% จากปี 2550

กรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง กล่าวว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนในขณะนี้ มองว่าผู้ลงทุนยังมีจังหวะหรือโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีได้อยู่เสมอ อาทิ หากช่วงนี้ผลตอบแทนจากกองทุนตราสารทุนในระยะสั้นไม่ดีเท่าที่ควร และเงินที่ลงทุนในกองทุนหุ้นนี้ ไม่สามารถรับความผันผวนในระยะสั้นได้ บริษัทยังมีกองทุนตราสารหนี้อย่าง บัวหลวงธนทวี ไว้เป็นที่พักเงินลงทุนให้แก่ลูกค้าในช่วงนี้

ขณะเดียวกัน หากเป็นเงินลงทุนในส่วนนี้ไม่สามารถรับความผันผวนของหุ้นได้เลย แต่ต้องการผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงิน บริษัทก็มีกองทุนตราสารหนี้ที่มีกำหนดระยะเวลาอย่าง บัวหลวงธนรัฐ บัวหลวงธนสาร และ บัวหลวงธนสารพลัส ที่มีกำหนดเวลาคืนเงินที่นอนและมีอายุตั้งแต่ 6 เดือน 1ปี 1.5 ปี และ 2 ปี ให้เลือกลงทุนได้ แต่สำหรับเงินส่วนที่ต้องการผลตอบแทนสูงๆ ในระยะยาวหลายๆ ปี ไม่หวั่นไหวกับความผันผวนระยะสั้น การลงทุนในกองทุนหุ้นก็เป็นคำตอบที่ดี และมีโอกาสสูงที่จะชนะเงินเฟ้อ
กำลังโหลดความคิดเห็น