xs
xsm
sm
md
lg

ฮอต ฮิต รุ่ง...FIFบอนด์ต่างประเทศ หลายปัจจัยหนุนเม็ดเงินลงทุนขยายตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จบไปหนึ่งตอนแล้วสำหรับเรื่องกองทุนรวมต่างประเทศ(FIF) ที่ฉบับวานนี้ (1 พ.ค.)ได้วิเคราะห์วัฏจักรการลงทุนของกองทุนประเภทนี้ว่า ที่ผ่านมามัน ฮอต ฮิต ร่วง ด้วยปัจจัยใดบ้าง สำหรับตอนสุดท้ายของวันนี้ อย่างที่บอกไว้ว่าเราจะมาดูกันว่า...

แนวโน้มกองทุน FIF ในช่วงที่ยังเหลือของปีนี้จะเป็นอย่างไร?

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ เกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า การลงทุนในกองทุน FIF นั้น ถึงแม้จะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนและโอกาสในการที่อาจจะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าลงทุนในประเทศ รวมถึงเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนให้กับนักลงทุน แต่ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อความสนใจลงทุนในกองทุน FIF อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยนอกจากความเสี่ยงจากการลงทุนเฉกเช่นเดียวกันกับกองทุนรวมทั่วๆไปแล้ว การลงทุนในต่างประเทศจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และจากปัจจัยการเมืองในต่างประเทศเพิ่มขึ้น

แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศที่จะเข้าไปลงทุน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การที่สหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ย่อมส่งผลสะท้อนไปถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มยูโร ญี่ปุ่น และภูมิภาคอื่นๆทั่วโลก โดย IMF ได้ปรับลดการขยายตัวของจีดีพีโลกจากร้อยละ 4.1 ในการประมาณการครั้งก่อน (มกราคม )สู่ร้อยละ 3.7 และคาดว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในรอบนี้อาจกินเวลา 4-6 ไตรมาส

จากแนวโน้มความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐฯดังกล่าวย่อมเป็นการกดดันค่าเงินดอลลาร์ฯเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ การออกกองทุนในช่วงที่ผ่านมาจึงหันไปให้ความสนใจกับประเทศอื่นๆที่คาดว่าจะมีการขยายตัวที่แข็งแกร่งในระยะยาวแทน เช่น ประเทศในกลุ่ม BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) หรือประเทศในเอเชียแปซิฟิก

นอกจากนี้ ยังให้ความสนใจกับการลงทุนเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ดีในระยะยาว เช่น กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ พลังงานทางเลือก หรือสาธารณูปโภค รวมถึง ค่าเงินของสกุลเงินที่เข้าไปลงทุนควรเป็นสกุลเงินที่คาดว่ามีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาทเพื่อทำให้ได้รับอัตราผลตอบแทนเมื่อแปลงกลับมาในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่บลจ.ต่างๆมักจะทำประกันความเสี่ยงในส่วนนี้ไว้ด้วย

อัตราเงินเฟ้อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ

การที่ความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อทั่วโลกได้เร่งตัวเพิ่มขึ้นตามการทะยานขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน ได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจทางด้านนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆทั่วโลก ทำให้เริ่มมีการตั้งข้อสังเกตว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยของโลกอาจจะเปลี่ยนแปลงจากในช่วงดอกเบี้ยขาลงที่เคยคาดไว้ตามการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด

ความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลกทำให้นักลงทุนที่สนใจลงทุนต่างประเทศลดการลงทุนในตราสารทุนและมีความต้องการลงทุนในตราสารหนี้มากขึ้น ในขณะที่อัตราผลตอบแทนจากตราสารหนี้ต่างประเทศในบางประเทศที่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนในประเทศ (หลังหักต้นทุนประกันความเสี่ยง) ส่งผลให้ บลจ.หันมาออกกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยกว่าร้อยละ 80 ของกองทุน FIF ที่ออกมาในปีนี้เป็นกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จนถึงเกาหลีใต้ ซึ่งมีตั้งแต่กองที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ของสถาบันการเงิน หรือ Structured Note

ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์

จากการที่ราคาน้ำมันยังคงทะยานขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ใกล้กับ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยการทะยานขึ้นของราคาน้ำมันได้เป็นปัจจัยที่สนับสนุนการปรับตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทองคำ เงิน หรือพลาตินัม ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลืองได้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน จากความกังวลเรื่องปริมาณผลผลิตที่จำกัดและความต้องการเพื่อนำไปใช้ผลิตพลังงานทดแทนที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน นอกจากปัจจัยพื้นฐานเรื่องอุปสงค์อุปทานตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้น การเข้าเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการที่ผลักดันราคาในตลาดโลก จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯและความผันผวนของตลาดหุ้นซึ่งส่งผลให้การลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ได้รับความนิยมมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงระเบียบ และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน

การออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนของประเทศต่างๆ ย่อมส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ เช่น มาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของเกาหลีใต้ ซึ่งในปัจจุบันการที่เกาหลีใต้มีความต้องการเงินดอลลาร์ฯ ทำให้ต้นทุนการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า(Forward) ระหว่างเงินวอนและเงินดอลลาร์ฯอยู่ในระดับที่ต่ำส่งผลให้ได้ผลตอบแทนสุทธิ (หลังหักการทำประกันความเสี่ยง) เมื่อแปลงกลับในรูปเงินบาทแล้วสูงกว่าการลงทุนในพันธบัตรในประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงมาตรการย่อมจะส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนสุทธิที่คาดจะได้รับ เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองภาพรวมของกองทุน FIF ในปีนี้ว่า น่าจะกลับมามีการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นได้ในช่วงที่ยังเหลือของปีนี้ ถึงแม้ว่าบรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนโลกที่ยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างๆ โดยการตัดสินใจลงทุนในกองทุน FIF จะต้องพิจารณาหลายปัจจัยด้วยกัน นอกเหนือจากความเสี่ยงจากการลงทุนเช่นเดียวกันกับกองทุนรวมทั่วๆ ไป

ขณะทีกองทุนที่น่าจะได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องในปีนี้คงจะเป็นกองทุนตราสารหนี้ เนื่องจากความผันผวนของตลาดหุ้น และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาซับไพรม์ แต่การที่อัตราดอกเบี้ยของบางประเทศยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าของประเทศไทยน่าจะสนับสนุนให้กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น