xs
xsm
sm
md
lg

ING ชี้ Q1 ตปท.เชื่อมั่นไทย เหนือกว่าฮ่องกง-สิงคโปร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ไอเอ็นจี กรุ๊ป"เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นตลาดทุนเอเชียไตรมาส 1 ไทยคว้าอันดับ 3 รองลงมาจากจีน และอินเดีย โดยปรับตัวลดลงเพียง 2.2% แม้ตลาดรวมในภูมิภาคจะรับผลกระทบจากภาวะความไม่แน่นอนของตลาดโลก รวมทั้งปัญหาซับไพรม์จนปรับตัวรูด ส่วนด้าน ฮ่องกง และ สิงคโปร์ ดัชนีลดฮวบไปเยอะ ขณะที่เทคนิค "เฝ้าจับตาดู" รอสถานการณ์เลวร้ายคลี่คลาย ถือเป็นกลยุทธ์เด็ดของนักลงทุนทั้งภูมิภาค พร้อมคาดปีนี้เศรษฐกิจของเอเชียจะเติบโตระหว่าง 3-9% ส่วนไทยจะเติบโตประมาณ 5%

รายงานข่าวแจ้งว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ลงทุนรายใหญ่ของ ไอเอ็นจี กรุ๊ป เพื่อจัดทำดัชนีวัดความเชื่อมั่นในการลงทุนที่ชื่อว่า ING Barometer ในยุโรป ที่นักลงทุนรายใหญ่ใช้เป็นตัววัดแนวโน้มของการลงทุนในยุโรป และได้นำวิธีการดังกล่าวมาใช้กับเอเชีย โดยการสำรวจภาวะตลาดการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค 13 แห่ง ได้แก่ ไทย ฮ่องกง จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งผลการสำรวจทำให้ได้ทราบถึงความเชื่อมั่นในการลงทุนในแต่ละประเทศ และดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ยกเว้น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ประจำไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปี 2551ในมมมองต่างๆที่น่าสนใจ

สำหรับในส่วนของประเทศไทยนั้น มีประเด็นสำคัญ คือ 1.ประเทศไทยอยู่ภายใต้สถานการณ์เดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่ได้รับผลกระทบจากภาวะไม่แน่นอนของตลาดโลก วิกฤตจากสินเชื่อด้อยคุณภาพและวิกฤตสินเชื่อโลก ยังคงเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง 2.นักลงทุนไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เห็นช่องทางที่ดีของการลงทุนระยะยาว โดยคิดว่าภาวะเลวร้ายคงจะผ่านพ้นไปได้ อย่างไรก็ดี นักลงทุนไทยหวังผลเก็งกำไรสูงกว่านักลงทุนประเทศอื่นๆ 3 .นักลงทุนไทยและชาติอื่นในเอเชียยังคงใช้นโยบาย “เฝ้าจับตาดู” เพื่อรอให้ระยะที่ตลาดยังไม่มีความแน่นอนผ่านพ้นไปก่อน และ4.นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ยังคงมุ่งลงทุนในประเทศ โดยเน้นลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ พร้อมกับขยายการลงทุนไปในตลาดต่างประเทศมากขึ้น

โดย ข้อมูลในรายงานพบว่า ในไตรมาสแรกปี 2551 ความเชื่อมั่นในการลงทุนในเอเชียลดลงอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบของภาวะวิกฤตของสินเชื่อด้อยคุณภาพ วิกฤตสินเชื่อโลก และภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ ที่มีต่อภูมิภาคนี้ ทำให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในเอเชียแปซิฟิค ลดลงจาก 141 ในไตรมาสที่ 3 ปี 2550 มาเป็น 135 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2550 และ 125 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2551 โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดที่พัฒนาแล้ว อย่างฮ่องกงและสิงคโปร์ มีการปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยฮ่องกง ลดลงจาก 148 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2550 เหลือ 107 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2551 และสิงคโปร์ ลดลงจาก 136 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2550 เหลือ 88 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ส่วนเกาหลีใต้ ลดจาก 113 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2550 เหลือ 96 ในไตรมาสที่ 1 ปีนี้

“ในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นของการลงทุนในไทย ลดลงเพียง 2.2% โดยลดลงจาก 134 มาอยู่ที่ 131 ในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ จัดเป็นประเทศที่มีความเชื่อมั่นอันดับ 3 รองจากจีนและอินเดีย ซึ่งมีดัชนีความเชื่อมั่นในไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ 168 และ 136 ตามลำดับ” รายงานผลการสำรวจระบุ

ส่วนในแง่ของความคิดเห็นต่อการลงทุนในอนาคตนั้น ภาวะสินเชื่อด้อยคุณภาพ และวิกฤตสินเชื่อโลก ยังคงเป็นเรื่องที่น่าวิตกสำหรับนักลงทุนและเอเชีย โดย 65% ของนักลงทุนไทย และ 73% ของนักลงทุนเอเชีย (ยกเว้น ญี่ปุ่น) คิดว่าวิกฤตของสินเชื่อด้อยคุณภาพมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 นอกจากนี้ ข้อมูลชี้ว่า นักลงทุนไทยและชาติอื่นในเอเชีย เริ่มสนใจแต่ยังคงระมัดระวังในการลงทุนระยะยาว แม้จะคิดว่าผลตอบแทนอาจจะน้อยกว่าไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจและภาวะของตลาดเงิน แต่ผลการสำรวจชี้ว่านักลงทุนไทยคาดหวังผลตอบแทนในการลงทุนสูงกว่าชาติอื่นๆ ในเอเชีย

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่า นักลงทุนไทยมีความเชื่อมั่นในนโยบายสนับสนุนการลงทุนของทางภาครัฐ โดย 68% ของนักลงทุนไทยคาดว่านโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 ขณะที่มีเพียง 16% ที่เห็นว่านโยบายดังกล่าวช่วยให้สภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 1

ทั้งนี้ นักลงทุนไทยและเอเชียส่วนใหญ่มองภาพเศรษฐกิจ ผลตอบแทนการลงทุน และสถานะการเงินส่วนบุคคล ในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 สดใสกว่าไตรมาส 1 ปี 2551 อันสะท้อนให้เห็นว่าว่านักลงทุนเหล่านี้ไม่ได้คิดว่าภาวะเศรษฐกิจจะถดถอยอยู่เป็นเวลานาน และคาดว่าภาวะเลวร้ายต่างๆ น่าจะผ่านพ้นไปได้

นายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในภาวะปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนทั่วโลกลดลง รวมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้ในขณะนี้นักลงทุนส่วนใหญ่เน้นลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น และกองทุนที่คุ้มครองเงินต้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีนักลงทุนบางกลุ่มที่ยังสนใจจะลงทุนในกลุ่มสินค้าเกษตร เพราะราคาของกลุ่มสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการบริโภคทั้งทางตรงและทางอ้อมเช่นการใช้เป็นพลังงานทางเลือก ดังนั้น ในปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บลจ.ไอเอ็นจี ได้ออกกองทุนใหม่ เรียกว่า “ING Thai GAME Enhanced Linked Fund” ซึ่งกองทุนนี้ได้ลงทุนในตราสาร structured note ที่มุ่งเน้นคุ้มครองเงินต้นที่ลงทุนในรูปเงินเหรียญสหรัฐ และกองทุนได้ทำการขาย forward เพื่อประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินเหรียญสหรัฐเพื่อปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยกองทุนมีผลตอบแทนอ้างอิงกับราคาของทรัพย์สิน 3 ประเภทเท่าๆ กันคือราคาทองคำ ดัชนีราคาสินค้าเกษตร และราคาหุ้นกลุ่มตะวันออกกลาง

“เราเชื่อว่า ตลาดการเงินยังคงต้องอยู่ในสภาพที่ผันผวนต่อไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามสำหรับนักลงทุนระยะกลางถึงยาว ขณะนี้เป็นโอกาสดีในการเลือกลงทุน” นายมาริษกล่าว

ด้าน นายเอ็ดดี้ เบลมานส์ ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียเหนือ ของไอเอ็นจี กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในเอเชียลดลงในสองไตรมาสสุดท้าย เพราะมีความเชื่อมโยงกับตลาดการลงทุนโลก จึงหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อและภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐไปไม่ได้ และสิ่งที่เรามองเห็นในขณะนี้คือ นักลงทุนในตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างฮ่องกง กำลังได้รับผลกระทบความความผันผวนของตลาดโลกมากเป็นพิเศษ เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ลงทุนในกองทุนรวม

“คงจะเร็วเกินไปที่จะคิดว่าภาวะเลวร้ายจะผ่านพ้นไปได้ง่ายๆ แม้ว่าตลาดการเงินยังคงมีความผันผวน เศรษฐกิจของฮ่องกงและชาติอื่นๆ ในเอเชียยังคงมีความแข็งแกร่ง ด้วยการค้าระหว่างภูมิภาคและความต้องการในประเทศจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของเอเชียเติบโตต่อไป ตลอดจนช่วยให้ตลาดในภูมิภาคนี้สามารถรองรับแรงกระทบจากปัจจัยต่างๆได้ ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2551 เศรษฐกิจของเอเชียจะเติบโตระหว่าง 3-9% สำหรับประเทศไทยจะเติบโตประมาณ 5%” นายเบลมานส์ กล่าว

สำหรับในด้านผลการสำรวจอื่นๆ ของการลงทุนในประเทศไทยนั้น พบว่า 62% เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 ขณะที่มีเพียง 27% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น ขณะที่78% คาดว่าผลตอบแทนการลงทุนจะสูงขึ้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 ขณะที่มีเพียง 46% ที่เชื่อว่าผลตอบแทนการลงทุนได้ปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2551 นอกจากนี้อีก 67% เห็นว่าสถานะการเงินส่วนบุคคลจะดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 นี้ เทียบกับ 32% ที่คิดว่าสถานะดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรก

ส่วนผลการสำรวจในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) พบว่า 48% ชี้ว่า สภาพเศรษฐกิจจะดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เทียบกับ 32% คิดว่าสภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 1 ขณะที่ 57% มีความเห็นว่า ผลตอบแทนการลงทุนเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2 โดยเฉพาะในจีน 71% ฮ่องกง 52% และ เกาหลี 48% และ 56% กล่าวว่า สถานะการเงินส่วนบุคคลจะดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 เทียบกับ 40% ที่คิดว่าสถานะดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 1

ขณะเดียวกัน ผลการสำรวจอีกทางหนึ่งชี้ว่า 48% ของนักลงทุนในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) คิดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะปรับตัวลดลงในไตรมาสที่ 2 ปี 2008 ส่วนไทย 45% คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะปรับตัวลดลงอย่างมาก อีกทั้งการสำรวจของไอเอ็นจี ชี้ด้วยว่า นักลงทุนไทยและผู้ร่วมทุนชาวเอเชีย ใช้นโยบาย “คอยจับตาดู” สำหรับการแก้ปัญหาผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกผันผวน และเน้นลงทุนในการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ

นอกจากนี้ ผลสำรวจระบุว่า 54% ของนักลงทุนเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) ที่ตอบแบบสอบถาม เห็นว่าควรลงทุนในการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เทียบกับ 47% และ 38% เห็นว่าควรลงทุนในการลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลางและความเสี่ยงสูงตามลำดับ โดย46% ของนักลงทุนไทยที่ตอบแบบสอบถาม เห็นว่าควรลงทุนในการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลาง เทียบกับ 42% ที่เห็นว่า ควรลงทุนในการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง

โดยผลการสำรวจของ ไอเอ็นจี กรุ๊ป ยังพบด้วยว่านักลงทุนไทยและเอเชียในปัจจุบัน จะลงทุนในประเทศและประเทศใกล้เคียงมากกว่า ทั้งนี้ พบว่า 79% ของนักลงทุนเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) ที่มีการลงทุนในต่างประเทศ จะมีการลงทุนในตลาดเอเชียด้วย และ 59% ของนักลงทุนเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่นและจีน) ที่มีการลงทุนในต่างประเทศ จะมีการลงทุนในตลาดจีนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น