xs
xsm
sm
md
lg

3ธุรกิจจัดการกองทุนหดตัว0.88%กองFIFพระเอกโกยเงินไตรมาสแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมาคมบลจ.แจงผลงานไตรมาสแรกปีหนู 3 ธุรกิจจัดการกองทุนหดตัว 0.88% คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2.20 ล้านล้านบาท โดยกองทุนรวมสินทรัพย์ลดลง 2.15% มาอยู่ที่ 1.57 ล้านล้านบาท เผยกองทุนต่างประเทศเป็นพระเอก โดยเฉพาะกองทุนพันธบัตรเกาหลี-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และกองทุนอ้างอิงสินค้าโภคภัณฑ์ ด้านนายกสมาคมคนใหม่ชูความสำคัญด้านตลาดทุน ร่วมกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาค พร้อมให้ความร่วมมือตลาดหลักทัพย์ฯ องค์กรภาครัฐและเอกชนพัฒนาตลาดทุนอย่างเต็มที่

นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจกองทุน ณ วันที่ 28 มีนาคม 2551 กองทุนรวม มียอดทรัพย์สินสุทธิรวม 1,576,264 ล้านบาท ลดลงจาก 1,610,893 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 คิดเป็นร้อยละ 2.15 ขณะที่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มียอดทรัพย์สินสุทธิรวม 453,196 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 441,720 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 คิดเป็นร้อยละ 2.60 ส่วน กองทุนส่วนบุคคล มียอดทรัพย์สินสุทธิรวม 178,987 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 175,481 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 คิดเป็นร้อยละ 2.00 โดย ทุกกลุ่มกองทุน มีทรัพย์สินสุทธิรวม ณ วันที่ 28 มีนาคม 2551 คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,208,447 ล้านบาท เทียบกับทรัพย์สินสุทธิรวม 2,228,094 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 คิดเป็นลดลงร้อยละ 0.88

ทั้งนี้ บรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนปี 2551 ได้รับผลกระทบจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ เป็นผลให้ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยลดต่ำลง ขณะที่สภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวได้ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินในประเทศ เป็นผลให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงผลการดำเนินงานของกองทุมรวมในประเทศทั้งกองทุนรวมตราสารทุนและกองทุนรวมตราสารหนี้ ประกอบกับกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ไปลงทุนต่างประเทศเริ่มครบกำหนดไถ่ถอน เป็นผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยรวมลดลง

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสหนึ่ง กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ยังคงเป็นกองทุนที่ได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจากเป็นการเพิ่มโอกาสและทางเลือกในการลงทุนและการบริหารความเสี่ยงให้กับนักลงทุน โดยส่วนใหญ่ป็นกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลในประเทศที่มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าประเทศไทย อาทิ เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมไปถึงกองทุนรวมต่างประเทศที่ลงทุนในตราสารที่อ้างอิงกับสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์การเกษตร และโลหะที่มีค่า ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากสินค้าโภคภัณฑ์มีค่าสหสัมพันธ์กับตราสารทุนและตราสารหนี้ค่อนข้างต่ำ

นางวรวรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดทุนได้เข้ามามีบทบาทนำในการรักษามูลค่าเงินออมและทรัพย์สินของประเทศ ทดแทนระบบธนาคารซึ่งมีบทบาทน้อยลง เป็นกลไกสำคัญในการรองรับการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงทั้งในด้านปริมาณทุนและความเสี่ยง การบริหารเศรษฐกิจมหภาคจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องบริหารตลาดทุนไปพร้อมกัน สมาคมบริษัทจัดการลงทุนจึงจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับตลาดหลักทัพย์แห่งประเทศไทย และองค์กรภาครัฐและเอกชนในการยกระดับตลาดทุนให้มีส่วนร่วมกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนไทยในระยะยาว และการดำเนินการอื่นๆ ที่เหมาะสม

ทั้งนี้ สมาคมจะให้ความร่วมมือต่อรัฐในการสร้างเงินออมและช่องทางลงทุนใหม่ๆ ที่จะเป็นการลงทุนระยะยาวที่ยั่งยืน ตัวอย่างเช่น การผลักดันให้มีการออมเพื่อการศึกษาผ่านกองทุนรวม EMF (Education Mutual Fund) ที่ให้ประโยชน์ต่อผู้ปกครองที่ต้องส่งลูกหลานหรือผู้ที่อยู่ในอุปการะเข้ารับการศึกษา โดยให้การประหยัดภาษีเป็นสิ่งจูงใจภายในขอบเขตที่เหมาะสม พร้อมทั้งสนับสนุนให้สมาชิกให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับกับกระแสโลกาภิวัตน์ การพัฒนาระบบงาน แนวคิด และพัฒนาบุคคลากรต่อเนื่องให้มีความสามารถเท่าเทียมต่างชาติ เพื่อให้ธุรกิจจัดการลงทุนเป็นธุรกิจที่เป็นเสาหลักหนึ่งในการพัฒนาประเทศ พัฒนาความรู้ความเข้าใจในการบริหารเงิน บริหารภาษี ให้แก่ภาคครัวเรือน และร่วมรณรงค์ให้ประชาชนโดยทั่วไปเล็งเห็นว่าตลาดหลักทรัพย์และ ธุรกิจจัดการกองทุนมีประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างไร

ขณะเดียวกันสมาคมก็จะให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับภาครัฐที่กำกับธุรกิจให้มีความเข้าใจในธุรกิจ เพื่อให้กฎเกณฑ์ การกำกับต่างๆ และการพัฒนาไปได้ด้วยดีตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป และมีความเหมาะสมกับประเทศ

ด้านนางสาวอารยา ธีระโกเมน ประธานกลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกล่าวว่า ณ วันที่ 28 มีนาคม 2551 มียอดทรัพย์สินสุทธิรวม 453,196 ล้านบาท เติบโตจาก 441,720 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2550 คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.60 จำนวนนายจ้าง 9,047 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.08 และจำนวนพนักงานที่เป็นสมาชิกจำนวน 1,957,804 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.81 โดยจะเห็นว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีสัดส่วนต่อ GDP รวมของประเทศเพิ่มขึ้นตามลำดับ และเป็นแหล่งเงินออมที่สำคัญสำหรับผู้เกษียณอายุ

สำหรับพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา เพื่อรองรับพ.ร.บ.ฉบับใหม่ดังกล่าว สมาคมโดยกลุ่มบริษัทจัดการกลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงได้ดำเนินการปรับปรุงระบบงานและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ขณะนี้มีความพร้อมในการให้บริการแล้ว ยกเว้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้กรณีลูกจ้างขอคงเงินและรับเงินเป็นงวด ซึ่งจะต้องติดตามจากกรมสรรพากรต่อไป

นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน ประธานกลุ่มธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล กล่าวว่า ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล ณ วันที่ 28 มีนาคม 2551 มียอดทรัพย์สินสุทธิรวม 178,987 ล้านบาท เติบโตจาก 175,481 เมื่อสิ้นปี 2550 คิดเป็นร้อยละ 2.00 โดยในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา กองทุนส่วนบุคคลได้รับอนุมัติสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ให้สามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้แล้ว และได้รับอนุมัติวงเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีวงเงินสำหรับผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ และวงเงินสำหรับผู้ลงทุนที่เป็นนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็น บริษัทเอกชน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ออมทรัพย์ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน ฯลฯ ไว้ที่ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้มีผู้ลงทุนสนใจนำเงินมาลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคลมากขึ้น เนื่องจากเป็นการเพิ่มทางเลือกและโอกาสในการลงทุนให้กับผู้ที่ลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคล ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ก็กำลังอยู่ระหว่างการิจารณาขยายประเภทของทรัพย์สินที่กองทุนส่วนบุคคลสามารถไปลงทุนได้ในต่างประเทศ ซึ่งจะสอคล้องกับความต้องการส่วนบุคคลของนักลงทุนมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น