xs
xsm
sm
md
lg

ไพรเวทฟันด์เงินไหลออกเฉียด3พันล. บลจ.กสิกรไทยรั้งแชมป์แต่เอ็นเอวีวูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทุนส่วนบุคคลรอบ 11 เดือนปีหมู เงินไหลออกกว่า 2,713.57 ล้านบาท จบเดือนพฤศจิกายนมีเงินลงทุนรวมทั้งระบบ 172,747.34 ล้านบาท "กสิกรไทย" ที่ยังรั้งแชมป์อันดับ 1 อ่วมสุด เงินหายไปกว่า 1,289.41 ล้านบาท ด้านบลจ.ทิสโก้ ประเมินภาพรวมทั้งปี ขยายตัวได้อีก 15-20% เผยพร้อมลุยต่างประเทศเต็มที่ ไฟเขียวเมื่อไหร่ลงทุนได้ทันที

รายงานข่าวจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) เปิดเผยว่า ในเดือนพฤศจิกายนปี 2550 ที่ผ่านมา เงินลงทุนในกองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวทฟันด์) ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้านี้ประมาณ 2,713.57 ล้านบาท ถึงแม้จะมีจำนวนกองทุนเพิ่มขึ้นจาก 1,174 กองทุนเป็น 1,183 กองทุนก็ตาม โดยจำนวนเงินลงทุนทั้งหมดในเดือนพฤศจิกายน 2550 อยู่ที่ 172,747.34 ล้านบาท ลดลงจากจำนวนเงินลงทุนรวม 175,460.91 ล้านบาทในเดือนตุลาคม 2550

ทั้งนี้ จากรายงานแสดงการจัดการกองทุนส่วนบุคคล 10 อันดับแรก พบว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด ยังมีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) เป็นอันดับ 1 โดยมีจำนวนเงินลงทุนรวม 32,780.60 ล้านบาทจากจำนวน 238 กองทุน ลดลงประมาณ 1,289.41 ล้านบาทจากเงินลงทุนรวม 34,070.01 ล้านบาทในเดือนก่อนหน้านั้น ซึ่งมีจำนวนกองทุนทั้งหมด 236 กองทุน

อันดับ 2 บลจ.ทิสโก้ มีจำนวนเงินลงทุนรวม 29,890.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 107.43 ล้านบาทจากเงินลงทุนรวม 29,783.34 ล้านบาท อันดับ 3 บลจ.ไอเอ็นจี มีจำนวนเงินลงทุนรวม 20,932.54 ล้านบาท ลดลงประมาณ 51.93 ล้านบาทจากเงินลงทุนรวม 20,984.48 ล้านบาท อันดับ 4 บลจ.เอ็มเอฟซี มีจำนวนเงินลงทุนรวม 20,771.05 ล้านบาท ลดลงประมาณ 266.67 ล้านบาทจากเงินลงทุนรวม 21,037.72 ล้านบาท

อันดับ 5 บลจ.วรรณ มีจำนวนเงินลงทุนรวม 20,170.29 ล้านบาท ลดลงประมาณ 306.18 ล้านบาทจากเงินลงทุนรวม 20,476.47 ล้านบาท อันดับ 6 ธนาคารกรุงเทพ มีจำนวนเงินลงทุนรวม 9,176.08 ล้านบาท ลดลงประมาณ 92.64 ล้านบาทจากเงินลงทุนรวม 9,268.72 ล้านบาท อันดับ 7 บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง มีจำนวนเงินลงทุนรวม 6,386.20 ล้านบาท ลดลงประมาณ 190.46 ล้านบาทจากเงินลงทุนรวม 6,576.66 ล้านบาท

อันดับ 8 บลจ.อเบอร์ดีน มีจำนวนเงินลงทุนรวม 6,128.28 ล้านบาท ลดลงประมาณ 197.91 ล้านบาทจากเงินลงทุนรวม 6,326.19 ล้านบาท อันดับ 9 บลจ.ไทยพาณิชย์ มีจำนวนเงินลงทุนรวม 3,975.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 306.10 ล้านบาทจากเงินลงทุนรวม 3,802.66 ล้านบาท และอันดับ 10 บลจ.อยุธยา มีจำนวนเงินลงทุนรวม 3,585.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 216.69 ล้านบาทจากเงินลงทุนรวม 3,802.66 ล้านบาท

นายธีรนาถ รุจิเมธาภาส รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าธุรกิจกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้จำนวนเงินลงทุนในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วลดลงนั้น น่าจะเป็นผลมาจากแวลูเอชั่นของตราสารที่กองทุนเข้าไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นที่ค่อนข้างผันผวน ส่วนตราสารหนี้เองก็ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับอาจจะมีนักลงทุนบางส่วนที่ปิดกองทุนไปด้วย เห็นได้จากจำนวนกองทุนของบริษัทจัดการบางรายที่ลดลงไปจากเดือนก่อนหน้านั้น

อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าภาพรวมทั้งปีของกองทุนส่วนบุคคลจะยังเติบโตได้ ซึ่งในส่วนของบลจ.ทิสโก้เอง ก็ขยายตัวค่อนข้างมาก โดยในช่วงปี 2550 ที่ผ่านมา บริษัทมีจำนวนเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3 หมื่นล้านบาทจากจำนวนเงินลงทุนประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาทในช่วงต้นปี ทั้งนี้ ในปี 2551 เอง มองว่าธุรกิจกองทุนส่วนบุคคคลน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 15-20%

สำหรับแผนงานของบลจ.ทิสโก้ ในปีนี้ นายธีรนาถกล่าวว่า จากการที่ทางการสนับสนุนให้กองทุนส่วนบุคคล สามารถออกไปลงทุนต่างประเทศได้นั้น ในส่วนของบริษัทพร้อมให้บริการลูกค้าอย่างเต็มที่แล้ว โดยหากทางการประกาศหลักเกณฑ์ออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อไหร่ก็สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะขั้นตอนไม่ยุ่งยากเหมือนกับการจัดตั้งกองทุนรวมต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) ซึ่งที่ผ่านมาลูกค้าของบริษัทเอง ก็แสดงความต้องการออกไปลงทุนต่างประเทศเข้ามาค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นคาดว่าลูกค้าที่ต้องการออกไปลงทุนต่างประเทศ คงจะเน้นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำไว้ก่อน เช่น การลงทุนในตราสารหนี้ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเบื้องต้น คาดว่าผู้ลงทุนคงจะสามารถลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ได้เช่นเดียวกับการลงทุนในประเทศ ทั้งหลักทรัพย์ หุ้นกู้ อีทีเอฟ เป็นต้น

"ในช่วงที่ยังไม่มีประกาศออกมาอย่างเป็นทางการในช่วงนี้ เราก็จะแนะนำนักลงทุนให้ลงทุนผ่านกองทุนเอฟไอเอฟไปก่อน ส่วนหนึ่งเพื่อให้ผู้ลงทุนเองได้ศึกษาข้อมูลการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น และเข้าใจความเสี่ยงในด้านต่างๆ โดยเฉพาะความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละประเทศที่จะไปลงทุน"นายธีรนาถกล่าว

รายงานข่าวกล่าวว่า สาเหตุที่กองทุนส่วนบุคคลยังไม่สามารถออกไปลงทุนต่างประเทศได้อย่างเป็นทางการนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องของสิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่บริษัทจัดการกองทุนต้องการให้ผู้ลงทุนได้รับการยกเว้นภาษีในส่วนของกำไรที่เกิดจากการลงทุน โดยในวันที่ 25 มกราคมนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะมีการหารือร่วมกันระหว่างบริษัทจัดการเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น