xs
xsm
sm
md
lg

SCBAMปี51ทยอยออก120กองใหม่ ตั้งเป้าเอ็นเอวีโตเพิ่มเฉียด5แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.ไทยพาณิชย์เปิดแผนธุรกิจปี 2551 วางเป้าเพิ่มขนาดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการทั้งหมดเป็น 480,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% จาก 357,252 ล้านบาทในปีก่อน และรักษาส่วนแบ่งตลาดที่คว้าอันดับ 1 เป็นปีต่อไป โชว์กลยุทธ์ทั้งปีเปิดขายกองทุนกว่า 120 กอง ลุยในกองทุนทุกประเภททั้งกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล ส่วนกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ขอรอรัฐฐาลใหม่ปลดล็อก30%ก่อน ผู้บริหารชี้หากเป็นจริงมีพร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์ใหม่ๆมาขายเพียบ ส่วนหุ้นในปีนี้ชูกลุ่มพลังาน - แบงก์ - นิคมอุตสาหกรรม และหุ้นทางด่วนน่าลงทุน

นางสาวพัชรินทร์ เตชะเคหะกิจ รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2551 บริษัทฯ ได้วางเป้าหมายที่จะเพิ่มขนาดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ(Net Asset Value : NAV) ภายใต้การบริหารจัดการทั้งหมดเป็น 480,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 35% และรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับ 1 ไว้ให้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยมาจากการเพิ่มธุรกิจกองทุนรวมให้มีขนาดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเป็น 420,000 ล้านบาท จากสิ้นปีที่ผ่านมาที่มี 300,000 ล้านบาท รวมทั้งเพิ่มธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลเป็น 22,000 ล้านบาท จากสิ้นปีที่ผ่านมาที่มี 6,632 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการเพิ่มธุรกิจในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งบริษัทจะเน้นเพิ่มจำนวนบริษัทนายจ้างเป็น 1,200 ราย จาก 723 รายในปีก่อนที่มีสินทรัพย์ 51,758 ล้านบาท

"ในปีนี้เราให้ความสำคัญในทุกด้าน โดยเป้าหมายของ SCBAM ในปี 51 ตั้งใจขยาย NAV เป็น 480,000 ล้านบาท หรือโต 35% ซึ่งจะโตทั้ง 3 ธุรกิจทั้งกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ กองทุนส่วนบุคคล และแน่นอนเราต้องการที่จะรักษาส่วนแบ่งตลาดให้เป็นอันดับหนึ่งต่อไป"

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัท ณ สิ้นปี 2550 ว่า มีขนาดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการทั้งหมด 357,252 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 139,450 ล้านบาท หรือ 64.03% ส่งผลให้บริษัทฯ มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 ประมาณ 17.58% แบ่งเป็น ธุรกิจกองทุนรวมประมาณ 300,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 130,000 ล้านบาท หรือ 76.50% ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 51,758 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,708 ล้านบาท หรือ 17.50% และธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล 6,632 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,432 ล้านบาท หรือ 58%

ปัจจุบัน ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับ 4 หรือประมาณ 11.95% โดยมีจำนวนนายจ้าง 723 ราย เพิ่มขึ้น 148 ราย และมีจำนวนสมาชิก 188,658 ราย เพิ่มขึ้น 16,335 ราย และมีมูลค่าทรัพย์สุทธิ 7,50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,507 ล้านบาท หรือ 55.18% จากปี 2549

"ภาพรวมของธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพถือเป็นการเติบโตที่ดี นับจากการรับโอนธุรกิจมาจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อเดือนเมษายน 2549 และยังคงได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขององค์กรชั้นนำของประเทศ อาทิ บมจ.ปตท สำรวจและผลิตปิโตรเลียม, โรงงานยาสูบ , บมจ.ไทยน้ำทิพย์, กฟภ ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มจำนวนบริษัทนายจ้างเป็น 1,200 ราย"นางสาวพัชรินทร์ กล่าว

ขณะที่ ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับ 9 ประมาณ 2.30% มีจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 342 ราย เพิ่มขึ้น 207 ราย แบ่งเป็นลูกค้าสถาบัน 25 ราย และลูกค้าบุคคลธรรมดา 317 ราย ซึ่งทีมแนะนำการลงทุนของกองทุนส่วนบุคคล ได้ให้บริการทั้งการจัดตั้งกองทุนส่วนบุคคลโดยตรงและให้คำปรึกษาในการลงทุนกองทุนรวม แบ่งเป็น กองทุนส่วนบุคคล 4,000 ล้านบาท และกองทุนรวม 2,632 ล้านบาท

นายกำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจกองทุนรวม บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในส่วนธุรกิจกองทุนรวมในปี 2551 บริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มขนาดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเป็น 420,000 ล้านบาท จากสิ้นที่ผ่านมาซึ่งมี300,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 ประมาณ 21.13% และเพิ่มขึ้นถึง 76.50% ขณะที่ทั้งอุตสาหกรรมเติบโตประมาณ 37% เท่านั้น

โดยปีนี้ สำหรับในส่วนธุรกิจกองทุนรวม บริษัทมีแผนจะขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกองทุนเปิดไทยพาณิชย์สะสมทรัพย์ตราสารหนี้ (SFF) เป็น 230,000 ล้านบาท จากสิ้นปีที่ผ่านมาที่มีทรัพย์สินสุทธิประมาณ 137,142 ล้านบาท เพื่อเพิ่มความเชื่มมั่นให้แก่ลูกค้าผู้ถือหน่วยลงทุน นอกจากนี้ ยังมีกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) รวมทั้งการเสนอขายกองทุนใหม่ ได้แก่ กองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) และ กองทุนรวมหุ้น ซึ่งจากแผนธุรกิจในครั้งทำให้บริษัทมั่นใจว่านอกจากจะมีขนาดมูลค่าทรัพย์สินเติบโตอย่างต่อเนื่องแล้ว บริษัทจะมีจำนวนลูกค้ากองทุนเพิ่มขึ้นอีก 65,000ราย หรือประมาณ 40% ส่งผลให้ในปี 2551 จะมีลูกค้ารวมทั้งสิ้น 230,000 ราย

ทั้งนี้ ในปี 2551 บลจ.ไทยพาณิชย์ จะเปิดเสนอขายกองทุนประมาณ 120 กองทุน แบ่งออกเป็นกองทุนตราสารหนี้ 96 กองทุน ซึ่งคาดว่าจะออกกองทุนประเภทดังกล่าวเดือนละประมาณ 8 กองทุน ขณะเดียวกันบริษัทจะจัดตั้งกองทุนหุ้นประมาณ 10-20 กองทุน โดยในกองทุนตราสารทุนบริษัทจะเน้นการบริหารด้วยการการนำสินค้าตลาดอนุพันธ์ซึ่งได้เริ่มตั้งแต่ช่วงกลางปี 2550 และพบว่ามีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 40% ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของตลาดรวมอยู่ที่10-15% มานำเสนอให้เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า จึงเชื่อว่าในปีนี้ การลงทุนในตราสารทุนน่าจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ บริษัทเตรียมสรรหากองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) ที่สามารถให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ มานำเสนอนักลงทุน และจากการที่มีบริษัทแม่เป็นบริษัทภายในประเทศ ทำให้มีอิสระเสรีในการคัดเลือกกองทุนได้จากทุกประเทศทั่วโลกด้วย โดยบริษัทจะให้น้ำหนักการลงทุนภูมิภาคเอเชีย อาทิ จีน และอินเดียเป็นหลัก แต่ไม่รวมญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

"ในการคัดเลือกกองทุนให้แก่ลูกค้าของบริษัท เราต้องคำนึงว่าลูกค้าของไทยพาณิชย์นั้นยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับต่ำ แม้ว่าจะมีกองทุนให้เลือกลงทุนทั่วโลกได้มากมายหลายประเภท แต่เราจำเป็นต้องศึกษาพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อสรรหากองทุนที่ตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้าได้อย่างดี ซึ่งจะสังเกตุได้ว่ากองทุนที่บลจ.ไทยพาณิชย์นำเสนอในช่วงที่ผ่านมานั้นทจะมีลักษระไม่หวือหวาเท่ใด แต่จะเป็นการออกขายเป็นช่วงเวลามากกว่าการออกกองทุนตามกระแสตลาด "

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันบลจ.ไทยพาณิชย์มีความพร้อมที่จะลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ โดยหวังว่าภายหลังรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารจะเร่งดูแลมาตรการกันสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ทั้งนี้ล่าสุดธปท.ได้มีปลดล็อกและผ่อนปรนมาตรการกันสำรอง 30% แต่นับว่าเป็นการเอื้อให้กับลูกค้าเดิมซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

" ถ้าหากแบงก์ชาติปลดล็อก 30% เมื่อไหร่ ทางบริษัทก็พร้อมที่จะเสนอขายให้กับลูกค้า เพราะขณะนี้มีลูกค้าจำนวนมากที่สนใจลงทุนในกองทุนอสังหาฯ" นายกำพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากทิศทางอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง บลจ.ไทยพาณิชย์ก็จะเน้นลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นอายุไม่เกิน 3-6 เดือน โดยจะเน้นลงทุนในกองทุนที่ให้ผลตอบแทนให้กับลูกค้าได้ดี อาทิ กองทุนพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝาก

นอกจากนี้ บริษัทยังคงสนใจลงทุนหุ้นในกลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคาร กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงกลุ่มขนส่ง เนื่องจากเชื่อว่าหากจัดตั้งรัฐบาลใหม่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะเพิ่มขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัว ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ยังคงทรงตัวอยูในระดับสูงทำให้หุ้นในกลุ่มพลังงานยังเป็นที่น่าสนใจอยู่ รวมถึงในปีนี้ยังมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นค่าทางด่วนจึงส่งผลดีต่อหุ้นในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและกลุ่มขนส่ง เช่นกัน

นายชูเกียรติ ธิติหิรัญเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตลาดตราสารหนี้ ในปี 2551 คาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะอยู่ที่ระดับ 3.25% จนถึงครึ่งปีแรก และมีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพคล่องของตลาดการเงินและภาวะแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์ในการขยายฐานเงินฝาก ขณะเดียวกันเชื่อว่าการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นในปีนี้ จะได้รับผลตอบแทนที่ดี และมีความเสี่ยงน้อย ผู้ลงทุนจึงสามารถลงทุนในกองทุนประเภทนี้ได้ตลอดทั้งปี

"ปีนี้กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ดูที่จะให้ผลตอบแทนได้ดี ดังนั้นกองทุนที่มีอายุตั้งแต่ 6 ขึ้นไป ทางบริษัทต้องขอศึกษาแนวโน้ม และภาวะอัตราดอกเบี้ยในช่วงนั้นก่อนที่จะตัดสินใจออกกองอทุนประเภทดังกล่าว เพราะต้องการให้ลูกค้าที่ซื้อผลตอบแทนของบริษัทได้รับประโยชน์สูงสุด ดังนั้นเทรนด์ในการจัดตั้งกองทุนตราสารหนี้ของบริษัทในช่วงนี้จึงเน้นในระยะสั้น"
กำลังโหลดความคิดเห็น