xs
xsm
sm
md
lg

อยุธยาตั้งเป้าเอยูเอ็มแตะแสนล้าน อานิสงส์กองทุนสำรอง-ตราสารหนี้ระยะสั้นโต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.อยุธยา ตั้งเป้าหมายปีหนูเอยูเอ็มพุ่งแตะหลักแสนล้าน จากสิ้นปี 50 ที่มีเอยูเอ็ม 48,000 ล้านบาท หวังอานิสงส์กองทุนสำรองกับ-กองทุนรวม โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะสั้นทั้งในและต่างประเทศช่วยหนุน เผยกองทุนเอฟไอเอฟ 2 กอง พร้อมประเดิมตลาดก่อนหมดไตรมาส 1 ส่วนภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นปี 51 ยังผันผวน แนะนักลงทุนเลือกเอฟไอเอฟกระจายความเสี่ยง

นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าขยายสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (เอยูเอ็ม) เป็น 80,000 - 100,000 ล้านบาท จากสิ้นปี 2550 ที่บริษัทมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการทั้งสิ้น 48,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าสินทรัพย์ที่จะเพิ่มขึ้นมานั้นจะมาจากการขยายตัวทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) และกองทุนรวม (Mutual fund) โดยเฉพาะกองทุนประเภทกองทุนตราสารหนี้ ระยะสั้น

สำหรับกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นนั้น น่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของกองทุนที่ลงทุนในประเทศ และกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) ที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาชัดเจน โดยตอนนี้นักลงทุนทั่วไปรวมถึงนักลงทุนสถาบันต่างก็ให้ความสนใจในการลงทุนในกองทุนประเภทดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ลดต่ำลง

"กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ตอนนี้มีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ผู้ลงทุนที่ฝากเงินออมทรัพย์ในธนาคารพาณิชย์ก็ย้ายเงินเข้ามาลงทุนในกองทุน หลังดอกเบี้ยให้ผลตอบแทนลดลง ขณะเดียวกันผู้ลงทุนสถาบันที่ฝากเงินในบัญชีกระแสรายวันและออมทรัพย์ก็ใช้กองทุนประเภทนี้เป็นแหล่งพักเงินเพิ่มมากขึ้น ทำให้ไซต์กองทุนขยายตัว" นายประภาส กล่าว

ขณะเดียวกันในปีนี้บริษัทมีแผนที่จะออกกองทุนที่ลงทุนในตราสารทุนเพิ่มเติมอีกจำนวน 4 กองทุน ซึ่ง 2 กองทุนจะเป็นกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ คาดว่าจะสามารถเสนอขายหน่วยลงทุนได้ภายในไตรมาสแรก ส่วนอีก 2 กองทุนขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา

โดย 2 กองทุนที่จะมีการรออกจำหน่ายนั้น กองทุนแรกน่าจะสามารถเปิดจำหน่ายได้ภายในช่วงสิ้นเดือนมกราคม โดยจะเป็นกองทุนเอฟไอเอฟที่ลงทุนลักษณะ Fund of Fund ซึ่งจะเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในทวีปเอเชีย โดยกองทุนที่บริษัทจะเข้าไปลงทุนนั้น จะใช้เทคนิคในการคัดสรรหุ้นจาก 1,600 บริษัทจนเหลือหุ้นที่มีคุณภาพที่จะเข้าไปลงทุนจำนวน 30 บริษัท

ส่วนกองทุนสองนั้น น่าจะเปิดการจำหน่ายหน่วยลงทุนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยกองนี้จะเป็นกองทุนในลักษณะ Fund of Fund และเน้นลงทุนในภูมิภาคเอเชียเช่นเดียวกับกองทุนแรก แต่กองทุนที่บริษัทจะเข้าไปลงทุนจะใช้ความสามารถของผู้จัดการกองทุนในการคัดสรรหุ้นเอง อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมากองทุนที่บริษัทจะเข้าไปลงทุนก็สามารถให้ผลตอบแทนในระดับสูง

นายประภาส ได้กล่าวถึงสถานการณ์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2551 ว่า การลงทุนคงจะมีความยากเพิ่มมากขึ้น และจากความผันผวนในตลาดหุ้น ทำให้นักลงทุนควรกระจายความเสี่ยงในการลงทุน นอกจากการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งการลงทุนในต่างประเทศเป็นอีกทางเลือกในการลดความเสี่ยงและความผันผวนในการลงทุนได้ดี

"หลังจากก.ล.ต.อนุญาติให้บรรดาบลจ.ต่างๆออกไปลงทุนยังต่างประเทศได้หลากหลาย หลายบริษัทได้ออกกองทุนเอฟไอเอฟ ซึ่งกองทุนตราสารทุนส่วนใหญ่จะลงทุนในลักษณะ Fund of Fund ส่วนกองทุนตราสารหนี้ มักจะเป็นการเข้าไปลงทุนโดยตรง แต่ก่อนที่นักลงทุนจะตัดสินใจเข้าไปลงทุนในกองทุนเอฟไอเอฟได้ ควรจะต้องพิจารณา นโยบายการลงทุน แนวโน้มของค่าเงินบาทกับค่าเงินสกุลที่กองทุนจะเข้าไปลงทุน และการป้องกันความเสี่ยงของการลงทุนของกองทุนนั้นๆ ประกอบการตัดสินใจก่อนเลือกลงทุนด้วย"นายประภาส กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น