xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

สงครามนางฟ้าเน่าน้อยกว่าละครการเมือง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ท่านที่ชอบการอ่านหนังสือหรือไม่ชอบการอ่าน แต่ชอบฟังการพูดของท่านผู้คงแก่เรียน คงจะเคยได้เห็นหรือได้ยินคำพูด 2 วลีที่ว่า ละครชีวิต และชีวิตคือละคร ทั้งสองวลีนี้ถึงแม้จะประกอบไปด้วยคำพูดสองคำ คือ คำว่า ละคร และคำว่า ชีวิต แต่สองคำนี้ได้ถูกนำมาเรียงสลับที่กัน จึงทำให้มีนัยแห่งความหมายต่างกัน

วลีที่ว่า ละครชีวิต หมายถึง บทละครที่ผู้ประพันธ์ได้นำเอาชีวประวัติของใครคนหนึ่งทั้งหมด หรือบางส่วนมาเป็นเค้าโครงเรื่อง และเสริมแต่งด้วยจินตนาการเพื่อจูงใจให้ผู้อ่านสนใจ และติดตามอ่าน ติดตามดู

ส่วนวลีที่ว่า ชีวิตคือละคร เป็นวาทะของนักประพันธ์ต่างประเทศท่านหนึ่ง มีนัยในทางเปรียบเทียบชีวิตของคนโดยทั่วไปว่าเหมือนกับละคร คือมีโศก มีเศร้า สุข ทุกข์เคล้ากันไป ไม่มีอะไรแน่นอน

ดังนั้นถ้ามองในแง่ของความเป็นจริงแล้ว ทั้ง 2 วลีดังกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องใกล้ตัวและสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวลีที่ว่า ละครชีวิต ถ้าผู้ประพันธ์ได้นำเอาชีวประวัติของบุคคลที่ปฏิปทาในการดำเนินชีวิตในส่วนที่มีคุณค่าควรแก่การศึกษาไว้เป็นแบบอย่างในการมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ ทั้งในการนำชีวประวัติมาเขียนเป็นบทละครได้มีการขออนุญาตจากเจ้าของชีวประวัติ และยินยอมให้มีการแก้ไขตามที่เจ้าของประวัติต้องการด้วยแล้ว น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อ่าน และผู้ดูละครมากยิ่งขึ้น

ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้ประพันธ์มิได้นำเค้าเรื่องแห่งชีวประวัติมาเป็นเค้าโครงอย่างตรงไปตรงมา ทั้งยินยอมให้เจ้าของประวัติแก้ไข และแถมยังมีการเพิ่มเติมเสริมแต่งโดยมุ่งให้เกิดผลในเชิงธุรกิจมากกว่าที่จะมุ่งเชิดชูชีวประวัติเพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้คนในสังคมเดินตามด้วยแล้ว ละครชีวิตเยี่ยงนี้น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทั้งในด้านวรรณกรรม และแก่เจ้าของชีวประวัติด้วย ดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วในกรณีของการนำชีวิตการทำงานของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ที่กำลังออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ดังที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

แต่เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่บังเอิญมิได้ติดตามข่าวนี้ได้รู้และเข้าใจประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนใคร่ขอนำเรื่องนี้มาเสนออีกครั้ง โดยสรุปดังนี้

1. ได้มีผู้นำเอาชีวิตการทำงานของพนักงานบนเครื่องบินมาทำเป็นละคร และแพร่ภาพทางทีวี ภายใต้ชื่อว่า สงครามนางฟ้า และฉากหนึ่งของละครเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมต่อสู้ตบตีเพื่อแย่งชิงคนรักระหว่างพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน และที่ชวนให้เกิดความขัดแย้งในสายตาของผู้ชม โดยเฉพาะผู้ชมที่อยู่ในแวดวงธุรกิจการบินก็คือ มีการตบตีกันในขณะแต่งเครื่องแบบ และเป็นเครื่องแบบที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง คือ นุ่งกระโปรงสั้นเกินกว่าคนทั่วไปได้พบเห็น

2. เมื่อละครเรื่องนี้แพร่ภาพออกไป ทางสหภาพแรงงานการบินไทยได้ยื่นประท้วงผู้จัดทำละคร คือ บริษัท เอ็กแซ็กท์ โดยอ้างว่าละครเรื่องนี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน และจากการประท้วงนี้ ทางด้านผู้จัดทำละครได้ออกมาขอโทษ และให้สัญญาว่าจะมีการแก้ไขในส่วนที่ไม่เหมาะสมให้

แต่ในขณะเดียวกันก็ยังพูดในทำนองว่า สิ่งที่ปรากฏในละครเรื่องนี้ไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าที่เคยปรากฏในละครเรื่องอื่น และคำพูดนี้นอกจากจะบ่งบอกถึงความในใจที่ยอมแก้ไข แต่ก็เป็นการยอมที่เกิดจากความจำใจมิใช่สมัครใจ ยังโยงใยให้เห็นว่าสิ่งที่ตนเองกระทำเมื่อเทียบกับผู้ผลิตละครรายอื่น ก็ไม่น่าจะถือได้ว่ากระทำผิดอะไรทำนองนั้น

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับละครเรื่องสงครามนางฟ้า เป็นส่วนที่เกี่ยวกับการทำละครชีวิตที่ผู้จัดทำมิได้มุ่งเพื่อเผยแพร่เนื้อหาสาระเกี่ยวกับการทำงานเพื่อเป็นแบบอย่างในส่วนที่ดีมีคุณค่าแก่การที่ผู้คนในสังคมควรจะได้รับรู้ แต่มุ่งเพื่อผลในเชิงธุรกิจที่ต้องการเรตติ้ง และเกิดผลกำไรในเชิงธุรกิจ จึงทำให้มองเห็นความหมายของคำว่า ละครชีวิต ที่ควรจะมีและควรจะเป็นตามนัยแห่งวรรณกรรมประเภทนี้

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าท่านผู้อ่านได้หันมาดูผู้คนในสังคมขณะนี้ตามนัยแห่งวลีที่ว่า
ชีวิตคือละครแล้ว ก็จะพบว่ามีอยู่กลุ่มหนึ่งที่เข้าข่ายละครน้ำเน่าไม่น้อยไปกว่าละครที่กำลังแพร่ภาพทางทีวีหลายๆ เรื่อง รวมถึงเรื่องสงครามนางฟ้าที่กำลังเป็นปัญหาดังกล่าวข้างต้นด้วย

คนกลุ่มที่ว่านี้ก็คือ นักการเมือง และอีกหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ทั้งนี้จะเห็นได้จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามลำดับแห่งกาลเวลาดังต่อไปนี้

1. การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ที่มีผู้ร้องเรียนเรื่องทุจริตการเลือกตั้งเข้ามานับพันเรื่อง แต่ กกต.ฝ่ายสอบสวนใช้เวลาเพียงไม่นานในการนำเสนอที่ประชุม กกต.กลาง และได้มีการยกฟ้องไม่มีใบเหลืองใบแดง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ รับรองผลการเลือกตั้ง

แต่บังเอิญทางด้านตำรวจสันติบาลได้มีภารกิจในการสืบสวนสอบสวนคดีเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งควบคู่ไปกับคณะกรรมการที่ กกต.ดำเนินการอยู่ด้วย และปรากฏว่าจากการทำงานของตำรวจปรากฏว่ามีหลักฐานแน่นหนาและสามารถลงโทษผู้กระทำผิดถึงขั้นให้ใบเหลืองใบแดงไปจำนวนหนึ่ง จึงเป็นเหตุให้ กกต.หลายท่านขัดแย้งกับตำรวจค่อนข้างรุนแรงถึงขั้นตกเป็นข่าวปรากฏทางสื่อ และทำให้ภาพของ กกต.เป็นไปในทางลบในสายตาของประชาชนคนดูผลงานการควบคุมการเลือกตั้ง และละครฉากนี้น่าจะตั้งชื่อได้ว่า สงครามระหว่าง กกต.กับตำรวจสันติบาล โดยมีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่ถูกร้องเรียนเป็นผู้แสดงร่วมกับ กกต.และก่อให้เกิดข้อกังขาว่าทั้ง กกต.และผู้แสดงประกอบแสดงไปตามบทที่มีผู้เขียนบท และผู้กำกับเป็นคนเดียวกันหรือไม่ ผลจึงออกมาค่อนข้างค้านสายตาคนดูที่เป็นกลางๆ

2. เมื่อการเลือกตั้งผ่านไป และเวลาในการเปิดสภาฯ ใกล้เข้ามา แต่ กกต.ยังสอบสวนและดำเนินการเพื่อพิสูจน์ไม่ได้ว่าคำร้องที่มีผู้ร้องมาถูกหรือผิด กกต.ได้ยอมให้ว่าที่ ส.ส.กลุ่มหนึ่งเข้าสภาฯ ด้วยเหตุผลเพียงว่าเพื่อให้เปิดสภาฯ ได้ จึงให้รับรองไปก่อน และการสอบสวนให้ดำเนินการต่อไป การกระทำในลักษณะนี้ของ กกต.ถ้าดูเพียงว่าเพื่อให้เปิดสภาฯ ได้ และจะได้มีการจัดตั้งรัฐบาลให้เข้ามาแก้ไขปัญหาประเทศในหลายๆ ด้าน ดูเพียงผิวเผินก็มีเหตุผลควรแก่การรับฟัง แต่ถ้าดูให้ลึกลงไปก็อาจมีเหตุผลหักล้าง และโต้แย้งที่มีน้ำหนักควรค่าแก่การรับฟังเช่นกัน

เหตุผลที่ว่านี้ก็คือ การที่ว่าที่ ส.ส.ซึ่งถูกร้องเรียนได้รับการรับรองสิทธิให้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งมีเกียรติ 1 ใน 3 ของผู้นำสูงสุดในระบอบประชาธิปไตย คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ก็เท่ากับบอกให้สังคมรู้ว่า ตำแหน่งที่มีเกียรติที่ว่า แม้กระทั่งผู้ที่อยู่ในภาวะสีเทาและรอการพิสูจน์ว่าถูกหรือผิดก็สามารถเป็นได้ นี่คือละครฉากหนึ่งที่ทำลายความรู้สึกของผู้ดู และคนสร้างละครฉากนี้ขึ้นมาก็คือ กกต. ส่วนนายยงยุทธ ติยะไพรัช ถึงแม้จะเป็นตัวละครตัวหนึ่งก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นตัวหลัก จะเป็นได้ก็แค่ตัวประกอบให้ กกต.กระทำในสิ่งที่ขัดความรู้สึกของผู้ดูเท่านั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า ถ้าจะโทษละครบทนี้ก็จะต้องโทษ กกต.

3. การจัดตั้งรัฐบาล ถ้าเทียบกับละครแล้วถือได้ว่าฉากสุดท้ายตอนจบของสงครามคือผู้ลงสมัครการเลือกตั้ง เพราะด้วยผลแห่งการปล่อยให้มีการเปิดสภาฯ ได้ในขณะที่ไม่ควรเปิด จึงทำให้เกิดรัฐบาลที่ออกจะค้านสายตาคนดู เริ่มตั้งแต่พรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรคชาติไทย แสดงลีลาการเข้าร่วมรัฐบาลภายใต้เงื่อนไข 5 ข้อ เพื่อเป็นเหตุอ้างในการล้มล้างอุดมการณ์ที่เคยบอกว่าจะไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน และจบลงด้วยการออกลีลาท่าทีต่อรองผลประโยชน์ ทำให้นายบรรหาร ศิลปอาชา อันเป็นตัวเอกในฉากนี้ติดลบในสายตาคนดูค่อนข้างมาก และเชื่อว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นที่ว่า ถ้ามีการยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่อีกครั้ง พรรคชาติไทยคงมีโอกาสได้รับเลือกเข้ามาน้อยกว่านี้แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น