xs
xsm
sm
md
lg

โหวต"ยุทธตู้เย็น"มีแหกโผ ลูกปลาไหลชิงรมว.เกษตรฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โหวตเลือกประธานสภา พรรคร่วมรัฐบาลออกลายแหกโผ แต่"ยุทธตู้เย็น"ยังได้นั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ สมใจ ส่วน"ขุนค้อน" สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย เป็นรองประธาน "ชวน"เตือนต้องเคารพพระปรมาภิไธย รอโปรดเกล้าฯ ก่อนกำหนดวันเลือกนายฯ "หมอพลเดช"แนะ อย่าเครียดกับสภานอมินี ตีอกชกหัวไปก็ไม่มีประโยชน์เพราะเป็นกติกา "เหลิม"อ้างแหกโผเรื่องปกติ มั่นใจ"หมัก"นั่งนายกฯแน่ "เลี้ยบ"แย้ม คุยเรื่องโควต้ารมต. กับพรรคร่วมเรียบร้อยแล้ว ใช้สัดส่วน 9 ส.ส. ต่อ 1 รมต. หันพึ่งคนในพรรคนั่ง รมว.คลัง ด้านชาติไทย ส่อเค้าวุ่น "ประภัตร-จองชัย" งัดข้อชิงรมว.เกษตรฯ ต่อสายตรงขอตำแหน่งจาก"แม้ว"

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก ปีที่ 1 เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.30 น.วานนี้ (22 ม.ค.) โดยมีวาระการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และ2 โดยมีนายชัย ชิดชอบ ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม 4 พรรคพลังประชาชน ทำหน้าที่ประธานชั่วคราว เนื่องจากมีอาวุโสสูงสุด (79 ปี) และมีส.ส.ที่ กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง 477 คน มาเข้าร่วมประชุม 476 คน ขาดเพียง น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม 7 พรรคชาติไทย ที่ลาประชุมไปต่างประเทศ

ทั้งนี้นายชัย ได้นำสมาชิกกล่าวปฏิญาณตนก่อนเริ่มทำการเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ โดยก่อนเข้าสู่กระบวนการได้มีการถกเถียงกันระหว่าง ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ กับส.ส.พรรคพลังประชาชน เนื่องจากส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่าควรจะให้มีการอภิปรายตัวผู้ได้รับการเสนอชื่อ และควรจะมีการแสดงวิสัยทัศน์ด้วย เนื่องจากที่มีผ่านมามักจะใช้เวลาเพียงไม่ถึง 10 นาทีในการเลือกประธานสภาฯ เพราะมีเสียงข้างมาก และไม่เปิดโอกาสให้มีการอภิปรายฯ จึงควรจะมีคนรับผิดชอบหากได้ประธานสภาสีเทามาทำหน้าที่ในสภา

นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่า ประธานต้องเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ที่ประเทศเกิดวิกฤตการเมืองมา 2 ปี เพราะมีปัญหาการเลือกคนดี กรณีนี้แม้เสียงข้างน้อยจะโหวตแพ้ แต่อย่ายัดเยียดคนใดที่จะเป็นปัญหาต่อสภาภายหน้า เช่น ไม่รู้ว่าคนๆ นั้นสัปดาห์นี้จะโดนใบเหลือง หรือใบแดงหรือไม่ หรือ ถัดไป จะโดนคดีอะไรหรือไม่ อย่าข่มขืนสภา อย่าเอาเกียติ ศักดิ์ศรีสภามาแลก ดังนั้นขอให้ผู้ถูกเสนอชื่อแสดงวิสัยทัศน์ จะได้เป็นธรรมเนียมมาตรฐาน เพื่อศักดิ์ศรีได้คนดีมาเป็นประมุขสภา ฯ

แต่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนกลับคัดค้านว่าไม่จำเป็น และพยายามรวบรัดให้เสนอชื่อ และลงคะแนนทันที โดยนายสุนัย จุลพงษธร ได้เสนอญัตติให้ไม่ต้องมีการอภิปราย ในที่สุดที่ประชุมให้งดการอภิปราย และเข้าสู่ขั้นตอนการเลือกประธานสภา โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. สัดส่วน กลุ่ม 1 พรรคพลังประชาชน เสนอนายยงยุทธ ติยะไพรัช ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 1 พรรคพลังประชาชน ขณะที่นายชำนิ ศักดิเศรษฐ ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 8 พรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 8 พรรคประชาธิปัตย์ โดยเป็นการลงคะแนนลับด้วยการเขียนชื่อลงในกระดาษ แล้วไปหย่อนบัตรที่หน้าห้องประชุม หลังจากใช้เวลา 1 ชั่วโมง ผลปรากฏว่า นายยงยุทธ ได้ 307 เสียง นายบัญญัติ ได้ 167 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ผลการลงคะแนนในส่วนของนายบัญญัติ พรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ส.รวม 164 คน แต่ปรากฏว่า ได้คะแนนเพิ่มจากส.ส.ซีกรัฐบาล 3 เสียง

ต่อมาได้มีการเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 โดย พรรคพลังประชาชน ได้เสนอชื่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น พรรคพลังประชาชน ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ จากนั้นที่ประชุมได้มีการออกเสียงลงคะแนนลับ ปรากฏว่า นายสมศักดิ์ ได้ 303 คะแนน ขณะที่คุณหญิงกัลยา ได้ 170 คะแนน และงดออกเสียง 1 คน ส่วนรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ได้แก่ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.นนทบุรี พรรคพลังประชาชน ไม่มีการลงคะแนน เนื่องจากไม่มีผู้ใดเสนอชื่อเข้าแข่งขัน

รอโปรดเกล้าฯ ก่อนนัดประชุม

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะปิดการประชุม นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวเตือนถึงการนัดเปิดประชุมสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งต่อไปว่า ควรจะคำนึงถึงการวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นสำคัญ เพราะขณะนี้แม้สภามีมติจะเลือกตำแหน่งประธานสภา และรองประธานสภาทั้งสองคนแล้วก็ตาม แต่สถานภาพของตำแหน่งไม่สมบูรณ์ จนกว่าพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง จึงจะมีสิทธิใช้ดุลพินิจสั่งการเปิดการประชุมครั้งต่อไปเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี หรือทำกิจกรรมอื่น

ทั้งนี้นายชวน ได้ยกเหตุการณ์ในสภาเมื่อครั้งปี 48 ที่ประธานสภาในขณะนั้น (นายโภคิน พลกุล ) ได้ทำหนังสือเรียกประชุมสภาวันที่ 7 มี.ค.ทั้งที่สถานะยังไม่สมบูรณ์ เพื่อให้เลือกตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ) ในวันที่ 9 มี.ค. ขณะที่พระปรมาภิไธย ลงมาในค่ำของวันที่ 8 มี.ค. ซึ่ง เพียงเพื่อต้องการให้เป็นไปตามความต้องของรัฐบาลขณะนั้นให้มีนายกฯ ตามฤกษ์ ซึ่งถือว่าเป็นความผิดพลาด ที่ทำให้สภาต้องมีมลทินด่างพร้อย

"หลายคนต้องการถือฤกษ์ยามของตัวเอง แต่ไม่มีฤกษ์อะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าพระราชวินิจฉัยว่า จะทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อใด จึงอยากให้พวกเราระมัดระวัง ไม่อยากให้สภานี้มีปัญหา"นายชวน กล่าว

"ยุทธตู้เย็น"ยึดหลักฟื้นฟูความเข้าใจ

ภายกลังการประชุม นายยงยุทธว่าที่ประธานสภาฯ กล่าวภายหลังได้รับเลือกว่า จะฟื้นฟูในความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทุกคนมีความเห็นแตกต่างกันได้ แต่จุดยืนต้องยึดถือประเทศชาติ และประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้จะยังไม่ทำอะไร จนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งลงมา และจะยังไม่มีการนัดประชุม เพราะเป็นเรื่องไม่บังควร ทั้งนี้ได้คุยกับว่าที่รองประธานทั้งสองคนไว้บ้างแล้ว ว่าใครมีขีดความสามารถในเรื่องใด ก็สามารถช่วยกันรับงานต่างๆไปได้

ส่วนการสอบสวนของ กกต. ที่ยังคั่งค้างอยู่ นายยงยุทธ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องของการบิดเบือน สร้างเรื่องขึ้นมาเอง เจ้าหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ กกต.ไปสืบสวนสอบสวนเสียเอง และยังทำผิดกฎหมายเอง ซึ่งเชื่อว่า กกต. คงได้เห็นและเข้าใจ ดังนั้นจึงมั่นใจในความเป็นธรรมของ กกต.

นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขณะนี้ตนได้ส่งรายชื่อนายยงยุทธ ติยะไพรัช ที่ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนฯ พร้อมรองประธานสภาทั้ง 2 คนไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้นายกรัฐมนตรี ลงนาม สนองพระบรมราชโองการ เพื่อนำรายชื่อประธาน และรองประธานสภาฯขึ้นทูลเกล้าฯในขั้นตอนต่อไป

"หมอพลเดช"ให้ปลง "สภาฯนอมินี"

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รมช.พัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงกรณีที่บางคนรู้สึกเครียด ที่นายยงยุทธ ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภา ว่าไม่ควรกังวลกับเรื่องดังกล่าวว่าจะเกิดอะไรขึ้น แม้ว่าจะมีการมองว่าเป็นสภาฯนอมินี แต่ก็ต้องเป็นไปตามกติกา เพราะจะตีอกชกหัวก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร ซึ่งหากไม่พอใจ ก็ไม่ควรนำความรู้สึกมาใช้ปะปน และอย่าไปคิดล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น

"หมัก" ป้อง"ยุทธ"รู้อะไรควร-ไม่ควร

นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นกลาง ของนายยงยุทธ ประธานสภาฯว่า ต้องถามกลับว่า คิดว่าเขาทำไม่ได้หรือ เพราะก็เป็นคนหนึ่งที่เข้ามาทำงานใหม่ก็ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งก่อน ต้องให้โอกาสทำงานก่อน ที่ผ่านมานายยงยุทธ ก็รู้ว่าต้องทำอะไร อย่างไรจึงได้ลาออกจากรองหัวหน้าพรรค ตั้งแต่เมื่อวันก่อน ส่วนกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ระบุถึงการทำงานของนายยงยุทธว่า ต้องรอให้มีการโปรดเกล้าฯก่อนนั้น เรื่องนี้เรารู้อยู่แล้วว่าต้องทำอะไร รู้ทุกอย่างที่นายชวนพูด และนายยงยุทธ ก็รู้และได้ลาออกแล้ว ก็ต้องมีการกราบบังคมทูล และ ตนก็ไม่ได้หาฤกษ์หายาม ที่จะเป็นนายกฯ

เหลิม"มั่นใจ"หมัก"นั่งนายกฯแน่

ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน กล่าวถึงการลงคะแนนเลือกประธาน และรองประธานสภาฯ ที่มี ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลบางส่วนลงคะแนนให้ผู้ชิงตำแหน่งจากพรรคประชาธิปัตย์ ว่า เป็นเรื่องธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย ให้เสียงเขาไปบ้าง เล็กๆน้อยๆ แต่ภาพรวมใช้ได้ ก็ถือว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวยืนยันว่าในการโหวต นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นนายกรัฐมนตรี คะแนนเสียงจะแตกหรือไม่ ตนไม่ทราบ แต่คะแนนรวมต้องชนะแน่ ตนไม่ซีเรียส ไม่ตกใจ เพราะระบอบประชาธิปไตย ถ้ามีเอกภาพมากนัก ก็ไม่ดี แต่ถ้ามีพอดี จะอยู่ได้นาน

ส่วนกระแสข่าวที่ว่า ร.ต.อ.เฉลิม จะได้รับตำแหน่งรมว.ยุติธรรม แทนรมว.มหาดไทยนั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าจะได้อยู่ที่ไหน แต่ตนไม่เกี่ยง ทำได้ทุกตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการจัดตั้งครม. ก็มีคณะทำงานจัดการอยู่ และคงมีการจัดตั้งภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ นายกฯแล้ว เมื่อถามว่ายังอยากได้เป็น รมว.มหาดไทยอยู่หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า ไม่บอก

รมว.ยุติธรรมแทรกแซงศาลไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงการตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าร.ต.อ.เฉลิม เป็นรมว.ยุติธรรม จะมีการเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนขออธิบายว่าคนที่มองว่ากระทรวงยุติธรรม หรือกระทรวงมหาดไทยจะไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เป็นการเข้าใจผิด เพราะสำนักงานศาลยุติธรรม ได้แยกเป็นอิสระ ทำให้รมว.ยุติธรรมไม่มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องใดๆกับสถาบันศาล ขณะที่สถาบันอัยการนั้น ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็มีความเป็นอิสระเหมือนศาล ดังนั้น คนที่บอกว่ารัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซง หรือเปลี่ยนแปลงแนวทางสำนวนการสอบสวนเป็นการพูดที่ขาดความเข้าใจ หรือบางคนเข้าใจแต่แกล้งพูดให้รัฐบาลใหม่เสียหาย เพระในความเป็นจริง ทำไม่ได้

เมื่อถามว่าพรรคพลังประชาชนหาเสียงโดยประกาศจะให้ พ.ต.ท. ทักษิณ กลับมาต่อสู้คดีในไทย ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ากำลังเข้าไปล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน ที่บอกว่าจะให้พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมานั้น ตนเป็นคนพูดปราศรัยเอง และบอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ทำผิดอะไร ข้อกล่าวหาก็ว่าไป แต่ที่ยังไม่กลับเพราะไม่ปลอดภัย เนื่องจากระหว่างเป็นนายกฯ ยังถูกลอบสังหาร 5 ครั้ง แต่คนก็กล่าวหาว่าสร้างเรื่อง วันนี้คดีความเข้สู่ศาลแล้ว โดยอัยการสั่งฟ้องผู้กระทำผิด ดังนั้นต้องแยกการแทรกแซงองค์กรอิสระเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม เพราในความเป็นจริง ทำไม่ได้ ตนยืนยันได้ว่ารัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของใคร หนึ่งล้านเปอร์เซ็นต์

"เสธ.หนั่น"ยัน ชท.ไม่หักหลัง

พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทย กล่าวยืนยันว่า ตนจะลงตามมติที่ได้เคยให้ไว้กับทุกคนทั้ง 35 คนไม่มีแหกโผอะไรทั้งสิ้น ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคชาติไทยจำเป็นต้องมีการประชุม เพื่อสอบถามความเห็นก่อนโหวตเลือกนายกฯ หรือไม่ พล.ต.สนั่น กล่าวว่า พรรคชาติไทย ยืนยันว่าต้องเป็นไปตามข้อตกลง ที่ให้ไว้กับพรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีปัญหา

พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร หัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา กล่าวถึงการลงมติเลือก นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นนายกรัฐมนตรีว่า 9 เสียงของพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ไม่แตกแน่นอน เพราะเป็นพรรคการเมืองแรกที่ได้รับเชิญเข้าร่วมรัฐบาล และตอบรับเข้าร่วม ดังนั้น จึงไม่มีปัญหา พรรคเรามีจำนวนส.ส.ไม่มาก และตนจะลงมากำกับด้วยตัวเอง

"สมพงษ์"เป็นประธานวิปรัฐบาล นายสุขุมพงษ์ โง่นคำ รองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน แถลงว่า พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 6 พรรคได้ตั้งคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลหรือวิปรัฐบาลชั่วคราวก่อนที่จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว โดยพรรคพลังประชาชน ให้นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรค เป็นประธานวิปรัฐบาล และตนเป็นรองประธานวิปฯ ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลอีก 5 พรรคจะส่งตัวแทนพรรคละ 1 คน มาเป็นรองประธานวิปฯ เช่นกัน

สำหรับการประชุมสภาฯครั้งหน้านั้น ต้องรอพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ เสียก่อน จากนั้นเป็นหน้าที่ของประธานสภาฯ ที่จะกำหนดวันประชุมสภาฯ ครั้งที่ 2 และเป็นอำนาจของประธานสภาฯ ที่จะกำหนดวันเลือกตัวนายกรัฐมนตรี โดยเบื้องต้นนี้ กำหนดให้มีการประชุมสภาฯ สัปดาห์ละ 2 วัน คือ ทุกวันพุธ และพฤหัสบดี เวลา 13.30 น.
 
นายสุขุมพงษ์ กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ ดังนั้นในการประชุมสภาฯครั้งที่ 3 จะกำหนดวันประชุมสภา และการประชุม ครั้งที่ 4 จึงจะแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ
 
นายสุขุมพงษ์ ยังกล่าวถึงการตั้งคณะกรรมธิการชุดต่างๆ ของสภาฯ ว่าได้มีการการคุยกันในกรอบกว้างๆ ของการทำงาน รวมทั้งได้หารือถึงความเป็นไปได้ที่จะปรับลดคณะกรรมาธิการจาก 24 คณะ เหลือ 21 คณะ เพื่อความเหมาะสม และความคล่องตัวในการทำงาน แต่ก็ยังไม่เป็นข้อสรุปสุดท้าย

ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่ต่อการโหวตเลือกนายกฯ เพราะก็มีส.ส.บางส่วนที่เสียงแตก นายสุขุมพงษ์ กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดให้เลือกนายกฯ โดยเปิดเผย คือ ใช้วิธีขานชื่อรายบุคคลตามลำดับอักษร และให้ ส.ส.ประกาศว่าเห็นชอบให้ใครเป็นนายกฯ อย่างไรก็ตาม การที่มีเสียงแตกออกไปนั้น คงไม่จำเป็นที่จะต้องไปตรวจสอบ เพราะเป็นการลงคะแนนลับ ไม่รู้ว่าใครลงคะแนนให้ใคร และเป็นเอกสิทธิ์ของผู้แทนที่จะลงคะแนนให้ใครก็ได้

โควต้า 9 เสียงต่อ1เก้าอี้ รมต.

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าวถึงการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีว่า เบื้องต้นได้มีการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล ในส่วนของตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงในรายละเอียด เพราะอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอีก โดยหลังจากนี้อีก 2-3 วัน จะมีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลังจากนั้นจึงจะมีบทสรุปที่ชัดเจน

สำหรับการแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีจะแบ่งตามสัดส่วน เบื้องต้น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 315 คน จะแบ่งได้อยู่ที่ สัดส่วน 9 คน ต่อรัฐมนตรี 1 คน ส่วนรายละเอียดนั้นจะมีการพูดคุยอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเลือกนายกฯ แล้ว

น.พ.สุรพงษ์ ยังกล่าวถึงตำแหน่งรมว.คลังว่า อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยจะเป็นบุคคลที่ทำนโยบายของพรรคมาตังแต่ต้น แต่ยังไม่ปรากฏต่อหน้าสื่อ นอกจากนี้ยังมีทีมงานอีกหลายคนที่อยู่เบื้องหลัง

ทั้งนี้ รมว.คลังนั้น ต้องเป็นผู้นำ และกล้าตัดสินใจ พรรคพลังประชาชนไม่ได้คิดว่า จะมีรัฐมนตรีคลังเพียงคนเดียวที่ดูแลแก้ปัญหาทั้งหมด แต่มีการจัดสรรทีมงานเพื่อแก้ปัญหา โดยทีมเศรษฐกิจ จะมีทั้งคนในพรรคพลังประชาชน และนักวิชาการที่พร้อมเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยทุกคนต่างรู้ว่าต้องทำงานหนัก เมื่อพรรคพลังประชาชนได้เข้ามาบริหารประเทศ สิ่งที่เร่งด่วนที่สุดสำหรับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ คือ รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากขณะนี้นักลงทุนต่างชาติมีเงิน แต่ไม่กล้าลงทุน เนื่องจากปัญหาสถานการณ์การเมือง

โผ ครม."หมัก 1"ยังแกว่ง

รายงานข่าวจากพรรคพลังประชาชนแจ้งว่า สำหรับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีในโควตาของพรรคพลังประชาชนนั้น ขณะนี้ตำแหน่ง รมว.กลาโหม ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยนอกจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนทีมีกระแสข่าวอยู่เป็นระยะๆแล้ว ยังมีชื่อของ พล.อ. สมทัต อัตตะนันทน์ อดีต ผบ.ทบ. และอดีตผบ.สส. ที่กำลังมาแรง

สำหรับกระทรวงการคลังนั้น ขณะนี้พรรคได้มีการทาบทามคนนอก 2 - 3 คน แต่ส่วนใหญ่ยังไม่รับปาก พรรคจึงหาทางออกเตรียมไว้ว่า อาจจำเป็นต้องให้ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรค มาดำรงตำแหน่งนี้ ส่วนกระทรวงคมนาคมนั้น แต่เดิมมีการเจรจาว่าจะเป็นโควตาของพรรคชาติไทย แตอาจจะมีความเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากพรรคพลังประชาชนต้องการผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์หลายแสนล้านด้วยตัวเอง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังด้วย จึงมีความเป็นไปได้ที่พรรคพลังประชาชน จะเก็บกระทรวงนี้เอาไว้เอง โดยมีรายชื่อของนายสันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.ระบบสัดส่วน ติดโผเข้ามาเป็น รมว. ด้วย

สำหรับกระทรวงพาณิชย์ พรรคพลังประชาชนยังให้เป็นหน้าที่ของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ซึ่งอาจจะควบตำแหน่งนี้ พร้อมกับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ส่วนกระทรวงมหาดไทย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จะได้ตำแหน่งรมว.ค่อนข้างแน่นอน หลังจากประกาศไว้ตั้งแต่เริ่มหาเสียง

นอกจากนี้ ส.ส.ในกลุ่มของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ได้มีการหารือร่วมกัน โดยได้ข้อสรุปว่า ขณะนี้กลุ่มได้ส่งรายชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในสัดส่วนของกลุ่มกทม. พรรคพลังประชาชน ให้กับคณะผู้บริหารพรรคเลือกแล้ว ซึ่งมีทั้งสิ้น 2 รายชื่อคือ นายสุธา ชันแสง และนายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส่วนบุคคลใดจะได้รับเลือก และอยู่กระทรวงใดนั้น จะปล่อยให้คณะผู้บริหารพรรคเป็นผู้พิจารณา

สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ในสัดส่วนของพรรคชาติไทยทั้งหมด 5 ตำแหน่ง มีความเป็นไปได้ว่า พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อาจจะนั่งรองนายกฯ นอกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา โดยพรรคชาติไทยได้โควตา 3 รมว. 1 รมช. และ 1 รองนายกฯ และมีกระแสข่าวว่าภายในพรรคกำลังวุ่นกับการแย่งชีงเก้าอี้ รมว.เกษตรฯ

ส่วนพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ได้โควต้า 2 เก้าอี้ เป็น 1รมว.และ1 รมช. โดย พล.ท.หญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ ภริยา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ จะนั่ง รมว.พลังงาน ส่วนนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ จะได้รมช. กระทรวงเกรดเอ กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง โดยอาจจะเป็น รมช.อุตสาหกรรม ขณะที่ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร หัวหน้าพรรคต้องสละสิทธิ์ โดยออกมายอมรับแล้วว่า มีปัญหาสุขภาพไม่อำนวย

ในส่วนของพรรคเพื่อแผ่นดิน นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรค อาจจะนั่งตำแหน่งรองนายกฯ ขณะที่ พล.อ.ธงชัย เกื้อสกุล มีรายชื่อติดโผ รมว.ไอซีที นอกจากนี้ นพ.แวมาฮาดี แวดาโอะ ก็มีรายชิ่อนั่งรมช.มหาดไทยด้วย แม้เจ้าตัวจะแสดงความประสงค์อยากอยู่กระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ก็ตาม เช่นเดียวกับนายจิรายุ วสุรัตน์ ก็มีชื่อนั่ง รมช.คลังด้วย โดยในโควตาของพรรคเพื่อนแผ่นดินทั้งหมด 4 ตำแหน่ง จะได้ 2 รมว. และ 2 รมช. นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการต่อรองขอเพิ่มตำแหน่งรองโฆษกฯ อีก 1 ตำแหน่ง

สำหรับพรรคมัชฌิมาธิปไตย 2 ตำแหน่ง มีความเป็นไปได้ว่าจะได้กระทรวงแรงงาน โดยมี นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน ภริยา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นั่งเก้าอี้รมว. บวกกับอีก 1 เก้าอี้รมช. ขณะที่พรรคประชาราชได้โควตา 1 รมว. โดยน่าจะลงตัวที่กระทรวงสาธารณสุข และก็น่าจะเป็น นางอุไรวรรณ เทียนทอง ภรรยานายเสนาะ เทียนทอง มาเป็นรัฐมนตรีว่าการ

รมว.ยุติธรรมไม่จำเป็นต้องเป็นนัก กม.

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึง ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรมว.ยุติธรรมว่า ยังไม่ได้ข้อยุติ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย แต่คนที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากสายกฎหมาย เช่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และนายสุวิทย์ คุณกิตติ ทั้ง 3 ท่าน ก็ไม่ได้จบกฎหมายมา ก็ยังสามารถเป็นรมว.ยุติธรรมได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่า หากคนของพรรคพลังประชาชนไปดำรงตำแหน่งนี้ ก็จะไม่มีการไปล้างบางข้าราชการในกระทรวงอย่างที่หลายฝ่ายวิตก รวมทั้งจะไม่แทรกแซงการพิจารณาคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว

"ลูกปลาไหล"แย่ง รมว.เกษตรฯ

แหล่งข่าวระดับแกนนำพรรคชาติไทย เปิดเผยว่าหลังจากที่มีการเปิดโผครม.ของพรรคชาติไทย ล่าสุด คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของรมว.เกษตรและสหกรณ์ โดยเปลี่ยนจากนายประภัตร โพธสุธน เลขาธิการพรรคชาติไทยมาเป็นนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รองหัวหน้าพรรค เนื่องจากนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยเห็นว่านายประพัฒน์ เป็นผู้วางนโยบายด้านการเกษตรฯให้กับพรรค นอกจากนี้หากเป็นรมว.เกษตรฯก็สามารถประสานงานกับกลุ่มเกษตรกรในภาคอีสาน และภาคเหนือได้ ซึ่งการเปลี่ยนตัวรมว.เกษตรฯในครั้งนี้สร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่นายประภัตร โดยเบื้องต้นนายประภัตรได้โทรศัพท์ไปหาพ.ต.ท.ทักษิณ โดยตรงเพื่อขอตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการต่อรอง

อย่างไรก็ตามในส่วนตำแหน่งดังกล่าว เมื่อนายจองชัย เที่ยงธรรม รองหัวหน้าพรรคชาติไทย ทราบเรื่องจึงได้นัดประชุมกลุ่มตัวเอง เพื่อต่อรองขอตำแหน่งรมว.เกษตรฯ กับนายบรรหาร ซึ่งทำให้นายบรรหาร เกิดอาการเครียด และไม่ยอมเดินทางมาร่วมถ่ายรูป ส.ส.ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามในขณะนี้สถานการณ์ภายในพรรคชาติไทย เริ่มครุกรุ่น เพราะแต่กลุ่มก็ต่างต่อรองเพื่อที่จะขอตำแหน่งรัฐมนตรีกับนายบรรหาร โดยเฉพาะการงัดข้อกันระหว่างกลุ่มนายประภัตรกับกลุ่มนายจองชัย
กำลังโหลดความคิดเห็น