ศาลฯ ยกคำร้อง “ไชยวัฒน์” เลือกตั้งโมฆะ ส่วนประเด็นพรรคพลังประชาชนเป็นนอมินีให้ยกเช่นกัน ระบุเป็นคดีพรรคการเมือง ศาลฎีกาฯ ไม่มีอำนาจวินิจฉัย โยนเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนุญ ส่วนการแจกซีดี เป็นอำนาจของ กกต.ที่ต้องวินิจฉัยเอง
วันนี้ (18 ม.ค.) เมื่อเวลา 16.30 น. ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำสั่งยกคำร้องคดีเลือกตั้งหมายเลขดำ ลต.1/2551 ที่ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งคณะ พรรคพลังประชาชน นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน นายประสิทธิ์ ตั้งศรีเกียรติกุล และนายสนอง เทพอักษรณรงค์ ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 3 พรรคพลังประชาชน ผู้ร้องคัดค้าน ที่นายไชยวัฒน์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่ง 1.ให้พรรคพลังประชาชนนอมินีพรรคไทยรักไทย ที่ไม่มีสิทธิส่งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคพลังประชาชนทั้งระบบสัดส่วน และระบบเขต เป็นโมฆะ 2.ให้นายสมัคร หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ที่เป็นตัวแทนของอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ไม่มีสิทธิลงนามส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และการลงนามส่งผู้สมัครรับเลือดตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ 3.ให้ศาลมีคำพิพากษาว่าการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 15 -16 ธันวาคม 2550 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เพิกถอนการเลือกตั้งล่วงหน้า รวมทั้งการนำเอาบัตรลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าไปนับรวมคะแนนเสียง โดยให้เพิกถอนการนับคะแนนเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ทั้งหมด แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และ 4.ขอมีคำพิพากษาว่า การแจกซีดีกับประชาชนเป็นการทำผิดกฎหมาย ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม และห้ามไม่ให้ กกต. ประกาศรับรองผลทั่วประเทศ หรือเพิกถอนการประกาศรับรองผล การเลือกตั้งของผู้สมัครพรรคพลังประชาชน
โดย กกต. ผู้คัดค้านที่ 1-5 ยื่นคัดค้านว่า การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้านั้นเป็นหน้าที่โดยตรงอีกทั้งไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดให้ผู้ร้องเพิกถอนการเลือกตั้งในการจัดตั้งพรรคการเมือง นายทะเบียนได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้พรรคการเมืองปฎิบัติตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.พรรคการเมือง อีกทั้งไม่มีกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คนมาเป็นกรรมการของพรรคพลังประชาชน ฉะนั้นการที่ผู้คัดค้าน ออกประกาศการเลือกตั้งล่วงหน้าจึงเป็นอำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ม. 5 และ 10 ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ ม.95 97 และ 98 โดยจัดให้มีการลงคะแนน ณ เขตเลือกตั้งกลาง ผู้คัดค้านที่ 1-5 จึงมีมติที่ 95/2550 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 อนุมัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยื่นขอลงทะเบียนต่อ กกต.เลือกตั้งประจำเขต ให้สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้ การดำเนินการดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ไม่ผิดกฎหมายหรือทำให้การเลือกตั้งทั้งหมดเสียไป ไม่เป็นการกระทำโดยไม่ชอบโดยหน้าที่หรือกระทำการละเว้นปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบแต่อย่างใด เมื่อผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าลงคะแนนแล้ว ไม่มีสิทธิลงคะแนนในวันเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปวันที่ 23 ธันวาคมได้ โดยสามารถแยกคะแนนจากการเลือกตั้งล่วงหน้าได้อย่างชัดเจน ผู้คัดค้านที่ 1-5 ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ ม.256 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
ในเรื่องการแจกจ่ายซีดีคำปราศรัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังอยู่ระหว่างการสืบสวนตามกฎหมาย พรรคพลังประชาชน ผู้คัดค้านที่ 6 และ นายสมัคร ผู้คัดค้านที่ 7 คัดค้านว่า พรรคพลังประชาชนจดทะเบียนเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2541 และแยกออกจากพรรคไทยรักไทย ไม่ได้เป็นตัวแทนหรือเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด ส่วนนายสมัคร ผู้คัดค้านที่ 7 ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย แม้ว่าผู้คัดค้านที่ 6 จะนำเอาหลักการของพรรคไทยรักไทยมาใช้แต่ไม่ได้เป็นตัวแทน ในการทำสัญญาเช่าพื้นที่บางส่วน การจ้างลูกจ้าง ตลอดจนเงินสนับสนุนพรรคไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งในการให้การสนับสนุนขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และไม่มีกฎหมายใดห้ามไว้ โดยผู้คัดค้านที่ 7 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ไม่ได้ดำเนินการตามคำสั่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่อย่างใด อีกทั้งผู้คัดค้านที่ 6 และ 7 ไม่มีอำนาจจัดการเลือกตั้งแต่อย่างใด อีกทั้งผู้ร้องไม่เคยยื่นการคัดค้านการเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งผู้คัดค้านที่ 6 ได้มีการจัดการอบรม แจ้งเตือน ห้ามและระงับการกระทำต่างๆ ที่จะเป็นการฝ่าฝืนการเลือกตั้งต่อสมาชิกพรรค จึงขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้อง
ส่วนนายประสิทธิ์ ผู้คัดค้านที่ 7 และนายสนอง ผู้คัดค้านที่ 8 คัดค้านว่า พฤติการณ์ของผู้ร้องเป็นการขัดขวางการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย มีเจตนาไม่สุจริต การที่พรรคพลังประชาชนนำหลักการของพรรคไทยรักไทยมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งนั้น ไม่ใช่อยู่ในฐานะตัวแทนของพรรคไทยรักไทยแต่อย่างใด เมื่อพรรคไทยรักไทยถูกยุบการจ้างพนักงานจึงได้ยุติลง ผู้คัดค้านที่ 8 และ9 ไม่มีอำนาจจัดการเลือกตั้งล่วงหน้ารวมถึงการแจกจ่ายซีดีขอให้ศาลยกคำร้อง
โดยศาลพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550 ได้มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป พ.ศ.2550 ให้จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป ในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ผู้คัดค้านที่ 1-5 มีประกาศ กกต.เรื่องรับสมัครส.ส.ในวันที่ 26 ตุลาคม 2550 ให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งในวันที่ 2-16 พฤศจิกายน 2550 โดยผู้คัดค้านที่ 7 เป็นผู้ลงนามส่งสมาชิกพรรคลงรับเลือกตั้งที่ จ.บุรีรัมย์ โดยการเลือกตั้งเลือกล่วงหน้ากำหนดให้มีในวันที่ 15-16 ธันวาคม 2550 เวลา 08.00 – 17.00 น. โดยผู้คัดค้านที่ 1-5 ได้กำหนดวิธีการเลือกตั้งนอกเขตสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม ได้ โดยให้ยื่นคำขอใช้สิทธิเลือกตั้งท้งในและนอกเขตได้
ผู้คัดค้านที่ 1- 5 ได้ออกระเบียบการเลือกตั้ง กำหนดให้ผู้มีสิทธิไปแสดงตนไปขอใช้สิทธิในการเลือกตั้งดังกล่าว จนทำให้มีการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าดังกล่าวขึ้นตามคำร้องของผู้ร้องที่ระบุว่าผู้คัดค้านที่ 6 เป็นตัวแทนพรรคไทยรักไทยเพราะมีการประกาศต่อสาธารณะชน โดยสืบทอดนโยบาย ใช้ที่ทำการพรรค บุคคลกร และผู้สนับสนุนทางการเงินชุดเดียวกับพรรคไทยรักไทย โดยมีผู้คัดค้านที่ 7 เป็นตัวแทนของหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ทำหน้าที่ฟื้นฟูกรรมการบริหารพรรค 111 คนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง พรรคพลังประชาชนจึงไม่มีสิทธิส่งสมาชิกลงรับเลือกตั้ง โดยผู้คัดค้านที่ 1-5 เห็นชอบให้ดำเนินการรับสมัครดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
ศาลเห็นว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ ม.8 วรรคสอง บัญญัติว่าในการจัดตั้งพรรคการเมืองให้ผู้จัดตั้งพรรคการเมืองจัดให้มีการประชุมเพื่อกำหนดนโยบายพรรคการเมือง ข้อบังคับพรรคการเมือง และเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ม.9 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า พรรคการเมืองต้องมีชื่อ ชื่อย่อ ภาพ เครื่องหมาย นโยบายและข้อบังคับพรรคการเมืองซึ่งมีลักษณะไม่ก่อให้เกิดความแตกแยก ไม่ก่อให้เกิดความมั่นคงต่อรัฐอันเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ม. 17 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้กรรมการบริหารพรรคมีอำนาจในการบริหารพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า พรรคการเมืองต้องจัดตั้ง ตามเจตนารมย์การเมืองของตัวเอง ผู้เป็นหัวหน้าพรรคต้องเป็นผู้แทนของพรรคก้ารเมืองนั้น ตามคำร้องของผู้ร้องข้างต้นอ้างว่าผู้คัดค้านที่ 6 สืบทอดนโยบายของพรรคไทยรักไทย โดยคณะกรรมการถูกครอบงำโดยกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย โดยผู้คัดค้านที่ 7 ยังเป็นตัวแทนของพรรคไทยรักไทย ซึ่งมีภารกิจในการฟื้นฟู กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งทั้ง 111 คน ซึ่งเท่ากับผู้ร้องกล่าวอ้างเกี่ยวกับสถานะของพรรคพลังประชาชน และสถานะของหัวหน้าพรรค ผู้คัดค้านที่ 7 คดีส่วนนี้ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยของศาลฎีกา
ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านที่ 1-5 ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 15-16 ธันวาคม 2550 โดยที่ผู้ที่อาศัยในเขตเลือกตั้งมีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าได้ด้วย และการเพิ่มเวลาลงคะแนน จึงเป็นการขัดต่อกฎหมายนั้นเห็นว่าคำร้องส่วนนี้เป็นการอ้างว่า กกต. ผู้คัดค้านที่ 1-5 ประกาศให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าดังกล่าวโดยมิชอบ อันเป็นการกระทำของ กกต.โดยตรง คำร้องส่วนนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งซึ่งอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของศาลฎีกา
ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งลงคะแนนล่วงหน้า ไม่แสดงเหตุผลและความจำเป็นถึงขนาดที่มีการลงคะแนนในแบบพิมพ์เปล่าให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ากรอกข้อความเอง จึงเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย และอ้างว่าผู้คัดค้านที่ 6 นำซีดีปราศรัยของอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทยไปแจกจ่ายให้กับประชาชน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเป็นคุณแก่ผู้คัดค้านที่ 6 แต่ผู้คัดค้านที่ 1-5 กลับไม่ดำเนินการใดๆ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ ม. 114 บัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองมีสิทธิยืนคัดค้านต่อ กกต.โดย กกต.ต้องทำการสืบสวนสอบโดยพลัน นั้น เห็นว่า การร้องต่อศาลฎีกาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่เป็นอำนาจของ กกต.โดยเฉพาะ คำร้องของผู้ร้องที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการคัดค้านการเลือกตั้งดังที่วินิจฉัยมา จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลฎีกา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า ผู้คัดค้านที่ 1-5 ออกประกาศการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 15-16 ธันวาคมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ ม.95 วรรหนึ่ง บัญญัติว่า กรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับคำสั่งจากราชการให้ปฎิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง หรือในวันเลือกตั้งไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ ให้ขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าต่อ กกต.ประจำเขตเลือกตั้งได้ วรรคสองบัญญัติว่าเมื่อ กกต.ประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ที่ กกต.ประจำหน่วยเลือกตั้ง มอบหมาย ให้ตรวจสอบการมีสิทธิเลือกตั้งของผู้แจ้งความประสงค์ตามวรรค 1 แล้ว ถ้าเห็นว่าถูกต้องให้กำหนดที่เลือกตั้งกลางที่ผู้นั้นจะใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งและแจ้งให้ กกต.ประจำหน่วยเลือกตั้ง ที่ผู้นั้นมีชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบ และหมายเหตุสถานที่ที่ผู้นั้นจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเอกสารที่เกี่ยวข้อง และวรรค 3 กำหนดว่าหลักเกณฑ์และวิธีการในการลงคะแนนเลือกตั้งตามวรรค 1 สถานที่และจำนวนที่เลือกตั้งกลาง และวันที่กำหนดให้มาใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่ กกต.ประกาศ
ศาลเห็นว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ ม. 95 วรรค 1-3 เป็นการกำหนดขั้นตอนให้ กกต.จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมด้วยการออกระเบียบและประกาศซึ่ง กรณีที่ กกต.ออกประกาศกำหนดวันและเวลาการเลือกตั้งล่วงหน้า ณ ที่เลือกตั้งกลางวันที่ 15-16 ธันวาคม 2550 กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงในเขตเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลาง จึงเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ม. 95 ที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อประกาศดังกล่าวได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 นั้น ก็เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.ฯ ม.5
ดังนั้นการที่ กกต.ผู้คัดค้าน ออกประกาศกำหนดวันเวลาเลือกตั้งล่วงหน้า ดังกล่าวนั้นก็ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องกรณีที่ผู้ร้องอ้างว่า มีการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า 2 วัน เสมือนทำให้มีการจัดการเลือกตั้ง 3 วัน แต่การปฎิบัติมี 2 มาตรฐาน และการเลือกตั้งล่วงหน้าตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.เป็นการขัดต่อกฎหมายนั้นเห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1- 5 มีอำนาจจัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าได้ โดยประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการขอใช้สิทธิเลือกตั้ง สถานที่ และจำนวนที่เลือกตั้งกลางและวันที่กำหนดให้มาใช้สิทธิย่อมอยู่ในดุลยพินิจของ กกต.ที่จะกำหนดเห็นตามความเหมาะสม
ส่วนข้ออ้างอื่นอันเป็นข้ออ้างปลีกย่อยไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
ภายหลัง นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า จะไปปรึกษากับทนายความในประเด็น นอมินี เพื่อให้ได้ข้อยุติ ว่าจะดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายได้อย่างอีก ต่อจากนี้ต้องร่วมมือกันไม่ให้คนที่ไม่ดีเข้ามาสู่อำนาจการปกครองประเทศ ส่วนการลาออกจากพรรคมีผลตั้งแต่ศาลอ่านคำพิพากษาจบ เหตุผลที่ลาออก เพราะเลขาธิการพรรคได้ขอให้ตนถอนฟ้องคดีนี้ โดยยังเรียกร้องต่ออีกว่าถ้าไม่ดำเนินขอให้ลาออกจากพรรค จึงตัดสินใจลาออกโดยยื่นหนังสือช่วงเช้าที่ผ่าน
เมื่อถามว่ารู้สึกเสียหน้าหรือไม่ นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องของบ้านเมืองไม่มีคำว่าได้หน้าหรือเสียหน้า มีแต่ว่าเราทำเต็มที่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนศาลจะอ่านคำสั่งคดี ได้มีกลุ่มประชาชนจากนปก.ประมาณ 20 คนมาร่วมสังเกตุการณ์ และขณะที่นายไชยวัฒน์เดินทางมาถึง ได้มีเสียงตะโกนใส่ว่า “แพ้แล้วไม่รู้จักแพ้” แต่นายไชยวัฒน์ไม่ได้สนใจอะไรรีบเดินเข้าห้องพิจารณาคดีทันที่ แต่กลุ่มนปก.ไม่ยอมหยุดพยายามตะโกนด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย แจกอวัยวะเพศชายด้วยเสียงดังมาก จนเจ้าหน้าที่ต้องวิ่งออกไปดู พร้อมประสานขอกำลังตำรวจนครบาลประมาณ 30 มาคอยดูแลความสงบเรียบร้อย กลุ่มนปก.จึงหุบปาก และทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ภายหลังที่ศาลอ่านคำสั่งแล้ว กลุ่มนปก.ได้ใส่เสื้อสีแดงเขียนว่านปก.และเสื้อสีดำเขียนว่า “ต่อต้านเผด็จการทุกชาติไป กูไม่กลัวมึง” โดยทั้งหมดได้ปรบมืออย่างผู้มีชัย พร้อมกับตะโกนว่า เยี่ยมๆๆๆคนดีต้องได้ดี ไอ้พวกนั้นอย่ามาอิจฉาตาร้อน” ขณะที่กลุ่มที่มาให้กำลังใจนายไชยวัฒน์ พูดเบาๆว่า “ปล่อยมันไป ไม่อยากสนใจมันหรอก”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง โดยนายจรัส พวงมณี นายกำธร โพธิ์สุวัฒนากุล และนายดิเรก อิงคนินันท์ มีคำสั่งยกคำร้องคดี ที่นายสราวุท ทองเพ็ญ โฆษกพรรคความหวังใหม่ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ระบบสัดส่วนกลุ่ม 3 พรรคความหวังใหม่ ยื่นฟ้อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ขอให้ศาลวินิจฉัยมีคำสั่งเพิกถอนการเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15-16 ธันวาคม 2550
โดยศาลเห็นว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ ม. 95 วรรค 1-3 เป็นการกำหนดขั้นตอนให้ กกต.จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมด้วยการออกระเบียบและประกาศซึ่ง กรณีที่ กกต.ออกประกาศกำหนดวันและเวลาการเลือกตั้งล่วงหน้า ณ ที่เลือกตั้งกลางวันที่ 15-16 ธันวาคม 2550 กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลางตั้งแต่เวลา 08.00 น.- 17.00 น. จึงเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ม. 95 ที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อประกาศดังกล่าวได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 นั้น ก็เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.ฯ ม.5 ดังนั้นการที่ กกต.ผู้คัดค้าน ออกประกาศกำหนดวันเวลาเลือกตั้งล่วงหน้า ดังกล่าวนั้นก็ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
นายสราวุท กล่าวว่า น้อมรับคำสั่งของศาลเพราะถือเป็นที่สุดแล้ว ศาลเห็นว่า กกต.มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า แต่มีอำนาจแล้วการจัดการเลือกตั้งจะเป็นตามกฎหมายหรือไม่นั้น ตนได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาอีกคดีหนึ่ง ให้วินิจฉัยพฤติการณ์จัดการเลือกตั้งที่อนุญาติให้บุคคลเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้ไม่มีการสอบสวนว่ามีความจำเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ โดยอนุญาตให้ทุกคนที่ไปกรอกรายละเอียดและสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้เลย ซึ่งเห็นว่าไม่เป็นด้วยความบริสุทธ์ ยุติธรรม ตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่ โดยคดีนี้ศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 21 มกราคม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การฟังคำสั่งวันนี้นายสราวุท เดินทางมาฟังคำสั่งด้วยตัวเองพร้อมกับ นายชิงชัย มงคลธรรม หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ขณะที่ทางฝ่าย กกต.ผู้คัดค้านมีนายณัฐศักดิ์ สุวรรณทวีสุข ผู้อำนวยการฝ่ายคดี กกต.เป็นตัวแทนเข้าร่วมรับฟัง โดยมีประชาชนจำนวนหนึ่งให้ความสนใจมาร่วมรับฟังด้วย
ด้าน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าวภายหลังศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง มีคำวินิจฉัยยกคำร้องของนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อดีตผู้สมัครส.ส.บุรีรัมย์ พรรคประชาธิปัตย์ ในทุกข้อกล่าวหา ทั้งกรณีนอมินีและการเรียกร้องให้การเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นโมฆะว่า พรรคมีความมั่นใจว่าศาลฎีกามีความยุติธรรมกับพรรคการเมืองที่ถูกจับตามอง ซึ่งก่อนหน้านี้ตนก็เคยตั้งความหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรม จากนี้ก็คงไม่ต้องกังวลตรงจุดที่จะกระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นจะเดินหน้าตามขั้นตอนที่วางไว้ทันที
ส่วนกรณีที่ กกต.มีมติรับรองสถานภาพ ส.ส.ของนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน แล้วนั้น ถือเป็นรื่องที่ดีที่บุคลากรของพรรคจะได้ทำหน้าที่ต่อไป
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า นายยงยุทธถูกวางตัวให้เป็นประธานสภาฯนั้น จะนำมาพิจารณาเป็นลำดับต้นๆ หรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า จะต้องรอวันที่ 21 ม.ค.ที่จะมีการปฐมนิเทศ ส.ส.ใหม่ของพรรคก่อนจึงจะได้ผลสรุป อย่างไรก็ตาม นอกจากนายยงยุทธแล้วก็ยังมีชื่อของรองหัวหน้าพรรคคนอื่นๆด้วย เช่น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ซึ่งทุกชื่อที่เอ่ยมานั้นล้วนแต่เป็นแคนดิเดตได้ทั้งนั้น