xs
xsm
sm
md
lg

หวังว่าความยุติธรรมยังไม่ยุติ

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ไม่รู้เหมือนกันครับว่า วันนี้ (18 ม.ค.) ศาลท่านจะตัดสินคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่อีรุงตุงนังออกมาอย่างไร

ทั้งคดีที่คุณไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ฟ้องเรื่อง พรรคพลังประชาชนเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทย ดังนั้นจึงไม่มีสิทธิ์ส่ง ส.ส.ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งในระบบสัดส่วน และระบบแบ่งเขต โดยให้ถือว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่เป็นผลทางกฎหมาย รวมถึงกรณีนายสมัครเป็นนอมินีของทักษิณ และการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 15-16 ธ.ค.ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

และคดีที่นายสราวุท ทองเพ็ญ เลขาธิการพรรคความหวังใหม่ ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้การเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15-16 ธ.ค. 50 เป็นโมฆะ เนื่องจากเห็นว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่มีอำนาจที่จะออกประกาศกำหนดวันและเวลาจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งดังกล่าว เพราะไม่มีกฎหมายรองรับหรือให้อำนาจแก่ กกต.

คดีของเลขาธิการพรรคความหวังใหม่นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง นัดฟังคำสั่งคดี ในวันนี้ เวลา 15.00 น. ส่วนคดีของนายไชยวัฒน์ ศาลนัดฟังคำสั่งคดีในวันนี้เช่นเดียวกัน แต่ห่างกัน 1 ชั่วโมง คือ เวลา 16.00 น.

กรณีของนอมินีนั้น กฎหมายจะว่าอย่างไรก็ว่าไปเถอะครับ แต่ผมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า ประชาชนทั้งประเทศ สื่อมวลชนทุกแขนงรับรู้กันอย่างเปิดเผยโจ่งแจ้งว่า พรรคพลังประชาชนที่แท้ก็คือ ตัวแทนของพรรคไทยรักไทยนั่นเองไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นไปได้ สื่อมวลชนส่วนใหญ่ก็รู้และรายงานข่าวอย่างอึกทึกว่า พรรคพลังประชาชนนั้นถูกขับเคลื่อนโดยทักษิณ

และจากวีซีดีของทักษิณที่แพร่หลายอย่างกว้างขวางก็จะปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนว่า ทักษิณเป็นคนบอกว่า เขาสั่งให้สมาชิกพรรคไทยรักไทยมารวมตัวกันที่พรรคพลังประชาชน กิจกรรมต่างๆของบรรดาอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยที่เข้าร่วมกับพรรคพลังประชาชนก็ส่อไปในทางนั้น เช่น สุทิน คลังแสง เคยให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า การเลือกกรรมการบริหารพรรคนั้นมีการส่งรายชื่อไปให้ทักษิณดูก่อน

มีข่าวว่าสมาชิกพรรคพลังประชาชนบินไปมาฮ่องกงเพื่อหารือกับทักษิณ รวมทั้งหลังการเลือกตั้งแล้ว เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ก็ออกมายอมรับว่า บรรดา ส.ส.ของพรรคหลายคนบินไปขอบคุณทักษิณถึงที่นั่น

อาจมีคำอธิบายตามมาว่า สมาชิกพรรคไทยรักไทยเดิมที่ถูกตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคด้วยข้อหาร้ายแรงที่เป็นภัยต่อประเทศ และต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เมื่อพรรคถูกยุบไปแล้วก็มีสิทธิ์ที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคไหนก็ได้ นั่นก็อาจเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

แต่ถามโดยสามัญสำนึกว่า พรรคพลังประชาชนที่มี กานต์ เทียนแก้ว เป็นหัวหน้าพรรคที่ไม่ใช่นอมินีของพรรคไทยรักไทยอยู่ๆ จะเอาฐานคะแนนเสียงมาจากไหน เพราะการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ที่พรรคพลังประชาชนลงสมัครก็ได้คะแนนไม่กี่พันคะแนน แถมพรรคพลังประชาชนเองก็ย้ายที่ทำการพรรคไปอยู่ในตึกที่พรรคไทยรักไทยเคยตั้งอยู่

แถมโลโก้ของพรรคพลังประชาชนก็เปลี่ยนไป โดยมีลักษณะคล้ายกับโลโก้ของพรรคไทยรักไทยเดิม ทั้งที่มาตรา 9 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ระบุไว้ชัดเจนว่า ชื่อย่อและเครื่องหมายพรรคการเมืองตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่พ้องหรือซ้ำ “หรือมีลักษณะคล้ายคลึง” กับชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของผู้จดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น หรือของพรรคการเมืองที่ได้จดแจ้งไว้ก่อนตามมาตรา 12 หรือของพรรคการเมืองที่ถูกยุบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ซึ่งเราคงเห็นการออกแบบโลโก้ของพรรคไทยรักไทยที่เป็นตัว “ท” และของพรรคพลังประชาชนที่เป็นตัว “พ”

สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สาธารณชนประจักษ์แจ้งอยู่แล้วว่า พรรคพลังประชาชนเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทยหรือไม่ ไม่พักต้องพูดคุยถึงกรณีของนายสมัครที่ประกาศชัดเจนตั้งแต่วันแรกอยู่แล้วว่า เป็นนอมินีของทักษิณ

ตอนนี้ก็ได้แต่รอดูว่าจะออกหัวออกก้อย แบบต้องทำใจเผื่อเอาไว้ เพราะมีคนบอกว่า ไม่ว่าจะพิพากษาออกมาอย่างไร กฎหมายก็สามารถหาคำอธิบายและมีช่องทางออกไปได้ทั้งนั้น

นี่ต่างหากที่ผมสนใจว่า ศาลจะเขียนคำพิพากษาทั้งสองคดีนี้ออกมาอย่างไร และจะทำให้ผมยังเชื่อถึงความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นธรรมของกฎหมายอยู่ได้อีกหรือไม่

ผมอยากรู้เหมือนกันว่า แม้ว่าข้อเท็จจริง พยานและพฤติกรรมแวดล้อมจะโจ่งแจ้งและท้าทายถึงเพียงนี้ ว่า เมื่อพรรคการเมืองหนึ่งถูกกล่าวหาร้ายแรงว่าเป็นปรปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และกรรมการพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ด้วยความผิดที่ร้ายแรง จะสามารถแปรสภาพกลับเข้ามาสู่ระบบการเมืองได้โดยการใช้ตัวแทนหรือนอมินีเพื่อกลับมาเล่นการเมืองได้อีกโดยง่ายดายเช่นนี้

รวมถึงประเด็นที่ร้องว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ซึ่งศาลจะมีความเห็นว่าอย่างไรก็สุดแล้วแต่ แต่ความเห็นของผมซึ่งเกิดขั้นโดยสามัญสำนึกและโดยบริสุทธิ์ใจ ว่า ผมไม่เห็นว่าจะมีกฎหมายใดรองรับวิธีการเลือกตั้งล่วงหน้า ตามที่ กกต.ได้ออกหนังสือประกาศเลือกตั้งล่วงหน้า ณ ที่เลือกตั้งกลาง ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2550 ของ กกต.เลย

เพราะเมื่อดู พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ส่วนที่ 9 การลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง ตั้งแต่มาตรา 94-102 แล้ว ก็จะเห็นว่า การเลือกตั้งล่วงหน้ามีบทบัญญัติและกติกาที่รัดกุมว่าต้องทำอย่างไร ทำได้ในกรณีไหน ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ใครจะเดินเข้าไปยื่นบัตรประชาชนหรือลงบันทึกอ้างเหตุผลดุ่ยๆ เอาตามที่ได้ดำเนินไปในการเลือกตั้งล่วงหน้าครั้งนี้

ที่สำคัญหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 มาตรา 10 ซึ่งกำหนดหน้าที่ต่างๆ ของ กกต.ระบุไว้ชัดว่า การออกประกาศหรือวางระเบียบกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็น หรือดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

ไม่ใช่ว่า กกต.จะออกคำสั่งต่างๆ หรือประกาศอะไรออกมา โดยไม่มีกฎหมายรองรับได้

แต่ผมก็ไม่ใช่นักกฎหมาย ความเห็นเหล่านี้เกิดจากภาพที่มองเห็นและความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ โดยใช้สำนึกพื้นฐานของความผิด ชอบ ชั่ว ดี ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

ความเห็นของผมอาจไม่ตรงกับความเห็นของศาล เพราะในการตัดสินคดีต่างๆ นักกฎหมายนอกวงการศาลก็อาจมีความเห็นที่แตกต่างกับการใช้ดุลพินิจของศาลได้ และจะเห็นว่า บ่อยครั้งที่ความเห็นทางกฎหมายของศาลกับความเห็นทางทฤษฎีของนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ไม่ตรงกัน

เช่นเดียวกัน แม้ว่าหลายๆ ครั้งคำพิพากษาในหลายคดีจะออกมาขัดแย้งกับสามัญสำนึกของผมเพียงใดก็ตาม ผมก็ไม่อาจโต้แย้งหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ นอกจากคาดหวังว่า สุดท้ายแล้ว ธรรมย่อมชนะอธรรม หรือเชื่อว่า สวรรค์จะมีตา

แล้วทำใจให้เชื่อต่อไปว่า กระบวนการยุติธรรมจะยังเป็นปราการด่านสุดท้ายที่จะรักษาความเป็นธรรมให้ดำรงอยู่บนแผ่นดินนี้



กำลังโหลดความคิดเห็น