xs
xsm
sm
md
lg

ต้องแพ้เสียก่อนจึงจะชนะได้

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเขียนเรื่อง หวังว่าความยุติธรรมจะไม่ยุติ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาในคดีที่เลขาธิการพรรคความหวังใหม่ ฟ้องล้มเลือกตั้งล่วงหน้า กับคดีที่ คุณไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ฟ้องขอให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และ กรณีสมัคร สุนทรเวช เป็นนอมินีของทักษิณ และการแจกวีซีดีที่ทักษิณบอกให้เลือกพรรคพลังประชาชน

ซึ่งต่อมา ศาลได้ยกคำร้อง กรณีที่ กกต.ออกประกาศกำหนดวันและเวลาการเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งศาลชี้ว่า เป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ม. 95 ที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อประกาศดังกล่าวได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.ฯ ม.5 ก็ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

ว่าก็ว่าเถอะครับ กรณีดังกล่าวผมไม่ใช่นักกฎหมาย ก่อนการพิพากษาผมจึงมองออกไปแตกต่างกับคำตัดสินที่ออกมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร เพราะเราได้ยินได้เห็นเสมอมาว่า การตัดสินคดีต่างๆ นักกฎหมายนอกวงการศาลก็อาจมีความเห็นที่แตกต่างกับการใช้ดุลพินิจของศาลได้ และจะเห็นว่า บ่อยครั้งที่ความเห็นทางกฎหมายของศาลกับความเห็นทางทฤษฎีของนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ไม่ตรงกัน

เหมือนที่นักวิชาการ นักกฎหมาย ถกเถียงและขัดแย้งกันหลังตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน หลังถูกยุบพรรค ว่าควรจะมีผลย้อนหลังหรือไม่

ก่อนหน้านี้ผมเข้าใจเอาเองว่า แม้ กกต.จะมีอำนาจออกประกาศจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 95 วรรค 1-3 แต่การออกประกาศต่างๆ ของ กกต.นั้น ต้องชอบด้วยกฎหมาย

แต่เมื่อศาลวินิจฉัยเช่นนี้ ผมก็น้อมรับคำพิพากษาของศาลที่ว่า การดำเนินการเลือกตั้งล่วงหน้าของ กกต. และการประกาศเลือกตั้งล่วงหน้า ณ ที่เลือกตั้งกลาง ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2550 ของ กกต.นั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผมได้พยายามคิดหาเหตุผลต่อไปว่า มาตรา 95 แม้จะให้อำนาจ กกต. แต่ใช่ว่า กกต.สามารถปล่อยให้ใครก็ได้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้ตามอำเภอใจ เพราะ มาตรา 95 ระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้ง ไปราชการนอกเขต หรือต้องเดินทางออกนอกเขตในวันเลือกตั้ง ต้องทำหนังสือแจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขต จากนั้นกรรมการการเลือกตั้งต้องตรวจสอบ และจึงแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยที่ผู้นั้นมีรายชื่ออยู่ในบัญชีเลือกตั้งทราบ

ซึ่งจะเห็นว่า การใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าไม่ใช่ว่า ใครต่อใครจะสามารถเดินเข้าไปยื่นบัตรประชาชนแล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งแบบที่เกิดขึ้นในวันที่ 15-16 ธันวาคม ตามประกาศของกกต.ได้เลย

แยกประเด็นให้ชัดนะครับว่า การประกาศการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 15-16 ธันวาคมนั้น เราต้องยอมรับและเคารพว่า เป็นไปตามที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้วว่า เป็นอำนาจของ กกต.ตามมาตรา 95 แต่พฤติการณ์ของการจัดการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นนั้น เราต้องดูว่าขัดแย้งกับมาตรา 95 หรือไม่

และดูเหมือนว่า ในกรณีนี้ เลขาธิการพรรคความหวังใหม่ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาอีกคดีหนึ่ง เพื่อให้วินิจฉัยพฤติการณ์จัดการเลือกตั้งที่อนุญาตให้บุคคลเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้ตามอำเภอใจ โดยไม่มีการสอบสวนว่ามีความจำเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ ซึ่งทราบว่า คดีนี้ศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 21 มกราคม

ดังนั้นคดีเกี่ยวกับเลือกตั้งล่วงหน้ายังไม่จบเสียทีเดียว ต้องรอดูยกต่อไป

ส่วนกรณีของคุณชัยวัฒน์ สรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้

ในกรณี “นอมินี” ศาลมีความเห็นว่า ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยของศาลฎีกา

ส่วนกรณีการแจกวีซีดีปราศรัยของทักษิณนั้น ศาลเห็นว่า ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองมีสิทธิยื่นคัดค้านต่อ กกต. โดย กกต.ต้องทำการสืบสวนสอบสวนโดยพลันนั้น เห็นว่า การร้องต่อศาลฎีกาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่เป็นอำนาจของ กกต.โดยเฉพาะ คำร้องของผู้ร้องที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการคัดค้านการเลือกตั้งดังที่วินิจฉัยมา จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลฎีกา

เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า เรื่องต่างๆ เหล่านี้ก็ยังไม่จบเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกรณี “นอมินี” หรือการแจกวีซีดีทักษิณนั้น แม้ว่า ก่อนหน้านี้ศาลปกครองก็มีความเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจเช่นเดียวกัน

ทางออกต่อไปที่จะทำความชอบธรรมในเรื่องนี้ปรากฏก็คือ การนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่รู้ว่า ใครจะมีอำนาจในการนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะผมไม่ใช่นักกฎหมาย เพียงแต่พยายามมองปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น โดยใช้ความคิด เหตุผลเพื่อมองหาความยุติธรรม

ดังนั้นเราคงได้แต่รอดูว่า กกต.ซึ่งกฎหมายระบุไว้จัดเจนว่า มีหน้าที่ต้องจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จะดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร หรือปล่อยให้ความรับรู้ ความเข้าใจของคนทั่วประเทศว่าพรรคพลังประชาชนเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทย และการแจกวีซีดีทักษิณเพื่อให้คนเลือกพรรคพลังประชาชนนั้น เป็นเหมือนอากาศธาตุที่ กกต.ทั้ง 5 คน ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบอยู่เช่นนี้

เหมือนที่ผมแปลกใจ กกต. กรณีของยุทธ ตู้เย็น ที่ กกต.ประกาศรับรองไปก่อน ทั้งๆ ที่มีหลักฐานให้ชวนสงสัยว่า อาจมีการกระทำผิดด้วยข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงกว่าผู้ได้รับการเลือกตั้งหลายคนที่ กกต.ให้ใบแดงไปแล้ว ด้วยการยกข้ออ้างว่า เพื่อให้สามารถเปิดสภาฯ ได้ทัน ในวันที่ 21 -22 มกราคมนี้ เพราะรัฐธรรมนูญ ปี 50 ระบุให้ถ้ามี ส.ส.ร้อยละ 95 ให้เปิดประชุมสภาฯ ครั้งแรกได้

ผมใช้วิชาบัญญัติไตรยางค์ตอนเรียนชั้นประถมที่ 3 ได้คำตอบว่า 95 % ของจำนวน ส.ส. 480 คน คือ 456 คน ผมจึงมองไม่เห็นความจำเป็นเลยที่ กกต.ประกาศรับรอง ส.ส.ไปแล้ว 460 คน

และดูเหมือนว่า กกต.จะปฏิบัติกับยุทธ ตู้เย็น เป็นกรณีพิเศษ ต่างกับคนอื่นๆ เช่น กรณีนางนันทนา สงฆ์ประชา ที่ถูก กกต.ให้ใบแดงพร้อมกับนายมณเฑียร สงฆ์ประชา พี่ชาย ที่มากางมุ้งนอนในสำนักงาน กกต. เพื่อขอดูวีซีดีที่ถูกกล่าวหาว่า แจกเงินให้กับหัวคะแนน แต่ กกต.ก็ไม่ยอมให้ดู

ซึ่งเมื่อเทียบกับกรณีของยุทธ ตู้เย็น ซึ่ง กกต.สอบแล้วสอบอีก และขานรับข้อร้องเรียนและเรียกร้องของยุทธ ตู้เย็นเกือบทุกอย่าง ก็อดจะเห็นด้วยไม่ได้ที่คุณนันทนาจากพรรคชาติไทย ตั้งคำถามถึงความเป็นธรรม และความไม่เท่าเทียมกัน

หรือจะเป็นอย่างที่มีคนบอกว่า เราไม่ควรร้องหาความเสมอภาคเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย เพราะการปฏิบัติต่อบุคคลอย่างเท่าเทียมกันคือ ความไม่เท่าเทียมกัน และการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกับบุคคลที่ไม่เท่าเทียมกันนั้น คือ ความเท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ผมอดนึกถึงคำกล่าวที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล บอกกับพวกเราเสมอว่า ต้องแพ้เสียก่อน จึงชนะได้

แล้วไม่ลืมปลอบใจตัวเองด้วยว่า การตัดสินความผิดถูกทางกฎหมาย อาจไม่ใช่ความชอบธรรมเสมอไป
กำลังโหลดความคิดเห็น