ก่อนที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งจะชี้ขาดว่า การเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้องสั่งโมฆะหรือไม่ รวมทั้งประเด็นสำคัญเรื่องความเป็น”นอมินี”หรือ”ตัวแทน”ระหว่างพรรคพลังประชาชน(พปช.)กับพรรคไทยรักไทย(ทรท.)ที่ถูกยุบพรรคไปแล้ว และหัวหน้าพรรค พปช.กับอดีต หน.พรรค ทรท.ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้ว ว่าจะส่งผลให้การส่งผู้สมัคร ส.ส.ของ พปช.ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะหรือไม่ เรามาย้อนดูความเป็นนอมินีดังกล่าวผ่านท่วงท่า-คำพูดของ”สมัคร สุนทรเวช”และ”พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร”ให้ชัดๆ กันอีกครั้ง ระหว่างที่รอผลการชี้ขาดของศาลฎีกาฯ วันที่ 18 ม.ค.นี้
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
การร้องศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเพื่อขอให้ศาลฯ สั่งให้การเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 15-16 ธ.ค.50 เป็นโมฆะ นับว่ามีผู้ร้องหลายกลุ่ม ด้วยรู้สึกว่ากระบวนการจัดการเลือกตั้งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและ กกต.ดำเนินการโดยที่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ก่อนจะกล่าวถึงว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ลองมาไล่เรียงกันก่อนว่ามีใครร้องเรื่องนี้ต่อศาลฯ บ้าง
เริ่มด้วย นายสราวุท ทองเพ็ญ เลขาธิการพรรคความหวังใหม่และอดีตผู้สมัคร ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 3 ได้ยื่นร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ขอให้สั่งให้การเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 15-16 ธ.ค.ที่ผ่านมาเป็นโมฆะ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ กกต.เปิดให้ประชาชนใช้สิทธิล่วงหน้าได้ตามอำเภอใจ ผู้ที่จะใช้สิทธิล่วงหน้าได้ต้องมีเหตุจำเป็นจริงๆ เท่านั้น การให้ใช้สิทธิได้อย่างเสรีทำให้การเลือกตั้งทั่วไปที่ควรมีเพียง 1 วัน คือ 23 ธ.ค. กลายเป็น 3 วัน คือ 15-16-23 ธ.ค. ทั้งนี้ หลังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งรับคำร้องของนายสราวุทแล้ว ได้นัดไต่สวนเมื่อวันที่ 11 ม.ค.และนัดฟังคำสั่งคดีในวันที่ 18 ม.ค.นี้(เวลา 15.00น.)
ตามด้วย นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งในวันที่ 28 ธ.ค.เช่นกัน แต่ประเด็นที่ฟ้องมีมากกว่ากรณีนายสราวุธ โดยนายไชยวัฒน์ได้ยื่นฟ้อง กกต.ทั้งคณะ รวมทั้งพรรคพลังประชาชน ,นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน และผู้สมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 3 อีก 2 คน คือ นายสนอง เทพอักษรณรงค์ และประสิทธิ์ ตั้งศรีเกียรติกุล
ทั้งนี้ นายไชยวัฒน์ ได้ขอให้ศาลวินิจฉัย 4 ข้อ 1.ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าการส่งผู้สมัครในนามพรรคพลังประชาชนเป็นโมฆะ เพราะพรรคพลังประชาชนเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทย 2.นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนเป็นตัวแทนของอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย(พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ดังนั้นการลงนามส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งของนายสมัครจึงเป็นโมฆะ 3.การเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 15-16 ธ.ค.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลฯ เพิกถอนการเลือกตั้งดังกล่าว ตลอดจนเพิกถอนการนับคะแนนเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะมีการนำคะแนนจากการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมานับรวมกับการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค.ด้วย และ 4.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่า การแจกซีดีให้แก่ประชาชนเป็นการผิดกฎหมาย(เช่น กรณีซีดี-วีซีดีทักษิณ) และห้าม กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้งทั่วประเทศ หรือเพิกถอนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งของผู้สมัครพรรคพลังประชาชน ด้านศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณา(เมื่อ 3 ม.ค.) นัดไต่สวนวันที่ 15 ม.ค. และนัดฟังคำสั่งคดีในวันที่ 18 ม.ค.นี้(เวลา 16.00น.)
นอกจากนี้ยังมี นายเทพพนม ศิริวิทยารักษ์ ประธานเครือข่ายประชาชนภาคอีสานพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเพื่อสั่งให้การเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 15-16 ธ.ค.เป็นโมฆะเช่นกัน โดยศาลรับฟ้อง(เมื่อ 3 ม.ค.) นัดไต่สวน 16 ม.ค.และนัดฟังคำสั่งคดีวันที่ 21 ม.ค.(16.00น.)
สำหรับผู้ที่ร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งรายล่าสุดเพื่อให้การเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมาเป็นโมฆะ ก็คือ นายกฤษศักดา วัฒนพงษ์ ทนายความในคณะทำงานของ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยยื่นร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ยกเหตุผลประกอบข้อกล่าวหาว่าการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อ 15-16 ธ.ค.ไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.มาตรา 95 และขัดกับ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง รวมทั้งเป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรมตามเจตนารมณ์ของ รธน.โดยยกตัวอย่างว่า มีการอนุญาตให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้โดยไม่พิจารณาเหตุผลของผู้ใช้สิทธิรายนั้นว่ามีความจำเป็นจริงๆ หรือไม่ที่จะไม่ไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งจริง 23 ธ.ค. เช่น ในเขตเลือกตั้งที่ 6 กทม.มีการจัดแบบคำขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีลายเซ็นของประธานกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งกลาง ให้ผู้ที่ต้องการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าหยิบไปลงคะแนนได้ทันที เท่ากับเป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิล่วงหน้าได้โดยไม่ต้องพิจารณาเหตุผลของผู้ที่ขอใช้สิทธิ ฯลฯ ซึ่งศาลได้นัดฟังคำสั่งคดีในวันที่ 21 ม.ค.(10.00น.)
และก่อนที่สาธารณชนจะได้รู้ผล 2 คดีแรกที่ศาลฯ จะมีคำสั่งในวันที่ 18 ม.ค.นี้ คือคดีของนายสราวุทและนายไชยวัฒน์ ลองมาย้อนบางแง่มุมที่น่าสนใจและเกี่ยวเนื่องกับคดี โดยเฉพาะประเด็น “นายสมัครเป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ” และ “พรรคพลังประชาชนเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทย” ที่ร้องโดยนายไชยวัฒน์ ซึ่งแม้ผู้ร้องจะมิได้ร้องให้มีการยุบพรรคพลังประชาชน แต่หากศาลเห็นด้วยว่านายสมัครเป็นนอมินี พ.ต.ท.ทักษิณที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากกรณียุบพรรค และพรรคพลังประชาชนเป็นนอมินีพรรคไทยรักไทยที่ถูกตุลาการรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไปแล้วจริง และเห็นควรให้การส่งผู้สมัคร ส.ส.ในนามพรรคพลังประชาชนเป็นอันโมฆะ โทษทัณฑ์ดังกล่าวก็คงไม่ต่างจากการถูกยุบพรรคเท่าใดนัก
ก่อนอื่น ต้องไม่ลืมว่า กกต.ได้ให้ความชัดเจนก่อนหน้านี้แล้วว่า กรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากกรณียุบพรรค ต้องไม่ไปดำรงตำแหน่งใดใดในพรรคใหม่ หรือมีส่วนในการจัดตั้งพรรคใหม่ และต้องไม่หาเสียงให้ผู้สมัครพรรคใด มิฉะนั้นอาจส่งผลให้พรรคนั้นถูกยุบได้
แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะอดีตหัวหน้าพรรคและอดีต กก.บห.พรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิ ก็ไม่เพียงได้กระทำการหาเสียงให้พรรคพลังประชาชนผ่านวีซีดีที่มีการแจกจ่ายไปทั่วประเทศ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณยังยอมรับด้วยว่า ตนเป็นคนชวนให้อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทยที่พรรคถูกยุบไปแล้ว มารวมตัวกันและตั้งพรรคใหม่ ชื่อพรรคพลังประชาชน
“...ผมก็เลยบอกกับ ส.ส.พรรคไทยรักไทยทั้งหลายที่พรรคถูกยุบ ก็บอกว่า ถ้าเรารักประชาชน เราห่วงประเทศชาติ เรามารวมตัวกันเถอะ เพราะประชาชนเข้าใจเรา และรู้ดีว่าเราถูกกระทำ เขาก็เรียกมารวมตัวกันและมารวมตัวกันตั้งพรรคใหม่ชื่อพรรคพลังประชาชน ชื่อดีครับ เพราะเราจะต้องขอพลังจากพี่น้องประชาชน เพื่อจะเอาความมั่งคั่งของประเทศกลับคืนมา...สิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาก็คือพี่น้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องซึ่งยังมีปัญหาในชีวิต ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลืออย่างเต็มที่ การเมืองมีความเข้มแข็ง แต่นั่นแหละครับมันเป็นจุดที่บางคนเขาอยากเห็นว่า ถ้าการเมืองอ่อนแอเขาได้ประโยชน์ ก็เลยอยากเห็นการเมืองบ้านเมืองของเราอ่อนแอ...แต่พี่น้องประชาชนจะต้องเอาพลังประชาชนสอนให้เขารู้เลยว่า การเมืองจะอ่อนแอไม่ได้ เพราะประชาชนจะอ่อนแอ เพราะฉะนั้นจะเลือกพรรคเดียวเนี่ยให้ดู พี่น้องเลือกพลังประชาชนให้ดู และมันจะเป็นพลังประชาชนนั่นแหละครับที่นำสิ่งที่พี่น้องเคยมีความสุขกลับคืนมา และที่สำคัญ เมื่อความยุติธรรมกลับคืนสังคมไทย ผมจะกลับไปอยู่กับพี่น้องประชาชน จะไปหาพี่น้องประชาชน ก็ขอฝากพรรคพลังประชาชนและผู้สมัครพรรคพลังประชาชนทุกคนด้วยครับ”
ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ชวนให้อดีต ส.ส.ไทยรักไทยมารวมตัวกันและตั้งพรรคพลังประชาชน ไม่เพียงสะท้อนว่า พรรคพลังประชาชนคือนอมินีของพรรคไทยรักไทย แต่การที่ พ.ต.ท.ทักษิณชวนให้ประชาชนเลือกผู้สมัครพรรคพลังประชาชนพรรคเดียว ยังเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งอย่างชัดเจนด้วย
โดย อ.ปรีชา สุวรรณทัต นายกสภามหาวิทยาลัยวงศ์ชวลิตกุล นครราชสีมา และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณในวีซีดีดังกล่าว ถือว่าเข้าข่ายทำผิดกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมืองอย่างชัดเจน มีโทษถึงขั้นยุบพรรค ส่วนที่แกนนำพรรคพลังประชาชนอ้างว่า วีซีดีดังกล่าวผลิตขึ้นก่อนมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งนั้น อ.ปรีชา แย้งว่า เพราะผลิตเมื่อไหร่ไม่สำคัญ สำคัญว่านำวีซีดีมาแจกในช่วงที่ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งมีผลบังคับแล้ว คำอ้างของแกนนำพรรคพลังประชาชนจึงเป็นคำอ้างที่ฟังไม่ขึ้น
“อันนี้ฟังไม่ขึ้นหรอก แม้จะเป็นข้อเท็จจริงว่าทำมาก่อน พ.ร.ฎ.ก็แล้วแต่ ฟังไม่ขึ้น แต่แกนำมาเผยแพร่เอามาใช้ประโยชน์ในตอนนี้นี่ แกเอามาใช้ในตอนนี้หลัง พ.ร.ฎ.เลือกตั้งประกาศแล้ว มันก็เข้าข่ายแล้ว อันนี้ฟังไม่ขึ้นหรอก (ถาม-แกนนำพรรคพลังประชาชนบางคนบอก คำพูดคุณทักษิณเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ทำได้ในฐานะประชาชนทั่วไปที่จะสนับสนุนพรรคไหนก็ได้?) แกไม่ใช่ประชาชนทั่วไปแล้ว แกอยู่ใน 111 คนตามที่ตุลาการรัฐธรรมนูญได้ต้องห้ามไว้แล้ว อันนี้ประเด็นนี้มันฟังไม่ขึ้น จะอ้างว่ามีสิทธิเหมือนประชาชนทั่วไป มันไม่มีสิทธิประชาชนทั่วไปเขาไม่ต้องห้ามไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ...ไปย้อนอ่านดูสิคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญเนี่ย ที่เขายกมายุบพรรค และต้องห้าม 111 คนเนี่ยมีเหตุอะไรบ้าง แกต้องไปย้อนอ่านในอันนั้น ประชาชนทั่วไปเขาไม่ได้ต้องห้ามตามนั้น อันนี้เปรียบเทียบกันไม่ได้เลย”
ด้าน นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น เห็นว่า วีซีดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณหาเสียงให้พรรคพลังประชาชน ไม่เพียงเข้าข่ายผิดกฎหมายที่ห้ามผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองมีส่วนในการจัดตั้งพรรคใหม่ แต่ยังผิดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.มาตรา 97 ที่ห้าม”ผู้ใด”ชี้นำให้เลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งด้วย นายวีระจึงได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานวีซีดีดังกล่าวให้ กกต.ตรวจสอบเพื่อเอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคพลังประชาชนเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.
“ในคำร้องก็บอกถึงรายละเอียดที่ชี้ให้เห็นว่าคุณทักษิณเนี่ย แกกระทำผิดกฎหมายในการที่แกไม่ใช่คนที่จะมาชี้นำหรือจะมาช่วยหาเสียง ตัวคุณทักษิณก็มีความผิด เพราะคุณทักษิณเป็นผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองใน 111 คน(อดีต กก.บห.พรรค ทรท.) คุณไม่สามารถไปช่วยเขาหาเสียงได้ และคุณก็ไม่สามารถไปช่วยชี้นำให้เขาเลือกพรรคการเมืองได้ อย่าว่าแต่ตัวคุณทักษิณเลย ประชาชนอย่างผมอย่างคุณก็ไม่มีสิทธิกฎหมายใช้คำว่า”ผู้ใด” ใครก็ได้ คุณทักษิณไม่ใช่ผู้ใดธรรมดานะ ไม่ใช่ประชาชนอย่างคุณอย่างผม คุณทักษิณเป็นคนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้วด้วย และในส่วนของพรรคพลังประชาชนมันยืนยันชัด เพราะคุณทักษิณเป็นคนพูดเองว่าแกเป็นคนจัดการ ชักชวนชี้นำจัดตั้งพรรคพลังประชาชนและหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏมาโดยตลอด ก็แสดงให้เห็นเลยว่า พรรคพลังประชาชนเป็นตัวแทนหรือเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทย ดังนั้นในเมื่อพรรคไทยรักไทยตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพรรคการเมืองนี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตย ทำลายความมั่นคงของประเทศ และมีคำวินิจฉัยมีคำสั่งยุบพรรคไปแล้ว ดังนั้นตัวแทนหรือนอมินีก็จะต้องถูกยุบพรรคไปด้วย เพราะการกระทำของพรรคพลังประชาชนเนี่ยก็เป็นความผิดเช่นเดียวกัน”
แม้นายวีระจะยื่นให้ กกต.ตรวจสอบเรื่องวีซีดีดังกล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ กกต.ได้ตั้งอนุกรรมกรรมการขึ้นมาตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.โดยมีนายไพฑูรย์ เนติโพธิ์ เป็นประธาน แต่ผ่านมา 1 เดือนกว่าแล้ว ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ โดยตอนแรก กกต.ให้เวลาอนุกรรมการฯ สอบนานถึง 1 เดือน แต่เมื่อครบกำหนด อนุกรรมการฯ ก็ได้ขอขยายเวลาออกไปอีก 15 วัน!?!
การทำงานที่ดูจะล่าช้าของ กกต.คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ต้องตัดสินใจร้องเรื่องนอมินีทักษิณ-นอมินีพรรคไทยรักไทยต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ไม่อยากร้องต่อ กกต.เพราะขนาดนายวีระ สมความคิด ยังเคยร้อง กกต.ให้พิจารณาเรื่องนอมินีให้ชัดเจนก่อน ส่วนเรื่องยุบพรรคไว้ทีหลัง เพราะเรื่องยุบพรรคคงต้องใช้เวลา แต่ กกต.ก็หาได้สนองตอบไม่
เมื่อชัดเจนเรื่องความเป็นนอมินีระหว่างพรรคพลังประชาชนกับพรรคไทยรักไทยจากคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ผ่านวีซีดีแล้ว ลองมาพิจารณาความเป็นนอมินีของนายสมัครกับ พ.ต.ท.ทักษิณกันบ้าง ซึ่งเคยมีข่าวก่อนหน้านี้แล้วว่า นายสมัครประกาศเองว่าพร้อมเป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยนายสมัครประกาศทันทีหลังได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคเมื่อวันที่ 24 ส.ค.50
วันนั้น นายสมัครได้พูดถึงสาเหตุที่ทำให้ตนตัดสินใจรับอาสาเข้ามาทำงานการเมืองในครั้งนี้ทำนองว่า เป็นเพราะมีการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย.และมีการกล่าวหาอดีตนายกฯ ทักษิณ 4 ข้อ ซึ่งไม่เพียงนายสมัครจะใช้โอกาสนี้แก้ข้อกล่าวหาให้ พ.ต.ท.ทักษิณทั้งหมด แต่นายสมัครยังได้กล่าวโจมตีตุลาการรัฐธรรมนูญที่ตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย โดยนายสมัคร อ้างว่า ตุลาการฯ ดังกล่าวไม่ได้ทำงานในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(ทั้งที่ตุลาการรัฐธรรมนูญได้เคยยืนยันแล้วว่า ตุลาการฯ ทุกคนล้วนมาจากผู้พิพากษาศาลฎีกาและศาลปกครอง ซึ่งทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธยมาโดยตลอด)
นอกจากนายสมัครจะปกป้อง พ.ต.ท.ทักษิณด้วยการแก้ข้อกล่าวหาให้ พ.ต.ท.ทักษิณทั้ง 4 ข้อ และปกป้องพรรคไทยรักไทยด้วยการพูดโจมตีตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว นายสมัครยังพูดทำนองยอมรับว่าตนเป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณด้วย
“นอมินีเนี่ยมันเป็นคำเลวทรามต่ำช้า นอมินีภาษาอังกฤษภาษาไทยมันเป็นคำที่มีคุณต่อบ้านเมืองนี้นะ เพราะนอมินีแหละเศรษฐกิจบ้านเมืองนี้จึงเจริญก้าวหน้ามาทุกวันนี้ ไอ้บริษัทรถยนต์จากญี่ปุ่นใหญ่โตมโหฬารที่มันมาลงทุนเมื่อ 40 กว่าปีก่อนมาลงหลักปักฐานเนี่ย เป็นบริษัทใหญ่โตเอาเงินมาถือหุ้นได้ 25% นอกนั้นต้องคนไทยถือ แล้วคนไทยที่ไหนมี 75% ไปลงทุนกิจการธุรกิจ ตระกูลใหญ่โตมโหฬาร ใครเป็นประธานมูลนิธิบริษัทรถยนต์ที่ชื่อ โตโยต้า ตระกูลไหน? เพราะฉะนั้นใครเป็นนอมินีให้โตโยต้า ตระกูลไหนเป็นนอมินีให้นิสสัน ตระกูลไหนเป็นนอมินีให้ฮอนด้าที่ปักหลักจนแข็งแรงทุกวันนี้ ธุรกิจทั้งหลายที่ถือหุ้น 25% ถ้าไม่มีนอมินี ใครเขาจะมาลงทุน บัดนี้จะเอานอมินีให้ตาย นอมินีเป็นความเลว นอมินีต่างหากที่ทำให้บ้านเมืองเจริญ เพราะฉะนั้นผมตอบคำถามตรงนี้ว่า ผมจะเป็นนอมินีให้นายกฯ ทักษิณหรือไม่ก็สุดแท้แต่ แต่ผมเป็นตัวของตัวของผมเองที่จะมาประกบกับพรรคนี้ และจะเอาคนที่ทำการเมืองได้ จะทำพรรคการเมืองนี้ให้แข็งแรง เพื่อจะเอาประชาธิปไตยกลับมาให้บ้านเมืองนี้”
บางที การที่นายสมัครพยายามยกว่า “นอมินี” เป็นเรื่องปกติในทางธุรกิจและเป็นสิ่งที่ดีงาม สร้างความเจริญให้เกิดขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตนจะเป็นนอมินีให้ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น นายสมัคร อาจลืมไปว่า นอมินีมิใช่สิ่งที่ดีหรือถูกกฎหมายเสมอไป เช่น กรณีบริษัทกุหลาบแก้วไม่ควรเป็นนอมินีให้เทมาเส็ค เพื่อให้เทมาเส็คถือหุ้นในกิจการของไทยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ฯลฯ ส่วนนอมินีทางการเมืองนั้น ถ้าเพียงแต่พรรคไทยรักไทยจะไม่ได้ “ใช้การเลือกตั้ง 2 เม.ย.เป็นเพียงแบบวิถีที่จะเข้าไปผูกขาดอำนาจการบริหารประเทศ” ด้วยการจ้างพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเลี่ยงเกณฑ์ 20% อันนำมาซึ่งการถูกยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมืองอดีตกรรมการบริหารพรรค 111 คนเป็นเวลา 5 ปีแล้ว ต่อให้นายสมัครเป็นนอมินีหรือตัวแทนหรือร่างทรงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็คงไม่มีใครสนใจและไม่มีใครนำมาร้องให้ศาลพิจารณาแบบนี้เป็นแน่
ดังนั้น คงต้องลุ้นว่า ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งจะตัดสินกรณี “นายสมัครเป็นนอมินี พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคพลังประชาชนเป็นนอมินีพรรคไทยรักไทย” อย่างไร ซึ่งทางแกนนำพรรคพลังประชาชนได้แสดงความมั่นอกมั่นใจว่า งานนี้ศาลฎีกาฯ ยกคดีแน่นอน โดยอ้างว่า นายไชยวัฒน์ไม่มีอำนาจร้องคัดค้านการเลือกตั้งต่อศาลฎีกาฯ ถ้าจะร้องต้องไปร้องต่อ กกต. หรือไม่ก็ต้องให้ กกต.เป็นผู้ร้องต่อศาลฎีกาฯ หลายคนที่ได้ฟังคำอ้างของพรรคพลังประชาชนดังกล่าวแล้ว คงนึกเปรียบเทียบไปถึงช่วงที่ตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย เพราะก่อนตัดสิน ทางแกนนำพรรคไทยรักไทยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “พร้อมน้อมรับคำตัดสินของตุลาการฯ” แต่พลันที่ตุลาการฯ ตัดสินออกมาว่ายุบพรรคไทยรักไทย แกนนำพรรคไทยรักไทยต่างออกอาการไม่ยอมรับ แถมอ้างว่า “ตุลาการฯ ไม่ใช่ศาล ไม่มีอำนาจตัดสินคดียุบพรรค” ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า แทนที่พรรคไทยรักไทยจะปฏิเสธว่า ตนไม่ได้จ้างพรรคเล็ก กลับพูดแต่ว่า ตุลาการฯ ไม่ใช่ศาล ตัดสินไม่ได้
เช่นเดียวกับครั้งนี้ ที่แกนนำพรรคพลังประชาชน ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าพรรคพลังประชาชนเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทยหรือไม่ และนายสมัครเป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ กลับยกเหตุผลแต่ว่า นายไชยวัฒน์ไม่มีสิทธิฟ้องเรื่องนอมินีต่อศาลฎีกา สรุปก็คือ พลพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนมีความเหมือนกันอีกอย่าง คือ ชอบยกข้อกฎหมายมาเป็นเครื่องมือเพื่อหักล้างข้อเท็จจริงที่ตนเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ดังนั้น คงต้องติดตามต่อไปว่า ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งจะตัดสินเรื่องนี้อย่างไร?