xs
xsm
sm
md
lg

คนด้อยค่าหรือกติกาบกพร่อง เหตุให้ ปชต.ไม่ก้าวหน้า

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในการแข่งขันเพื่อหาผู้ชนะทุกประเภท จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้จะต้องมีความสมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ ดังต่อไปนี้

1. กติกาหรือระเบียบที่นำมาใช้ในการควบคุมการแข่งขัน จะต้องมีความสมบูรณ์ด้วยเนื้อหา ครอบคลุมถึงขั้นตอนและวิธีการในการดำเนินการแข่งขัน เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ชนะอย่างโปร่งใส และบริสุทธิ์ยุติธรรมเป็นที่ยอมรับของผู้เข้าร่วมการแข่งขันโดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ทั้งยังสะดวกต่อการนำระเบียบไปใช้งานด้วย

2. ผู้เข้าร่วมการแข่งขันนอกจากจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กติกาการแข่งขันระบุแล้ว ยังต้องมีคุณธรรมกำกับการใช้ความรู้ความสามารถในการแข่งขันด้วย

3. คณะกรรมการผู้ควบคุมกำกับดูแลจะต้องมีความรอบคอบรอบรู้ในเรื่องของกติกาการแข่งขัน ทั้งยังต้องดำเนินการควบคุมการแข่งขันโดยความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างผู้แข่งขันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยมีอคติอยู่ในใจ ไม่ว่าจะมีอคติหรือความลำเอียงด้วยความรัก ความชัง หรือแม้กระทั่งความหลง จนทำให้เสียความเป็นกลางที่ควรจะพึงมีพึงเป็น

ถ้าการแข่งขันใดมีความสมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบ 3 ประการดังกล่าวแล้วข้างต้น เชื่อได้ว่าผู้ชนะการแข่งขันในครั้งนั้นๆ จะเกิดความภูมิใจในชัยชนะที่ตนเองได้มา และกรรมการผู้ควบคุมการแข่งขันเองก็ภูมิใจในเกียรติที่ตนเองได้รับในฐานะเป็นกรรมการ ในขณะเดียวกัน สังคมโดยรวมที่เฝ้ามองการแข่งขันซึ่งอยู่ในฐานะผู้ดู หรือเป็นคนนอกวงการ ก็จะชื่นชมผลงานของทุกฝ่ายที่จัดการแข่งไปพร้อมๆ กัน

ในทางกลับกัน ถ้าการแข่งขันไม่มีความสมบูรณ์ในองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง หรือทั้ง 3 องค์ประกอบ ก็บอกได้ทันทีว่าการแข่งขันจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ และผู้ชนะก็จะไม่พอใจและภูมิใจกับชัยชนะที่ได้มาเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งคณะกรรมการเองก็ไม่ควรจะได้รับเกียรติจากสังคมโดยรวมที่เฝ้ามองการแข่งขันอยู่วงนอก

การเลือกตั้งตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งก็จัดอยู่ในข่ายของการแข่งขัน และมีองค์ประกอบ 3 ประการในทำนองเดียวกัน ดังต่อไปนี้

1. กติกาอันเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และเป็นเครื่องมือในการควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปตามแนวทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็คือกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นแม่บทในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งถูกตราขึ้นใช้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญการปกครองที่มีผลบังคับใช้อยู่ในขณะที่จัดให้มีการเลือกตั้ง

ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี 2475 และได้มีการประกาศใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญการปกครองมาแล้วหลายฉบับ

แต่ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ทั้งในด้านเนื้อหาและขั้นตอนของการได้มา เห็นจะได้แก่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2540

แต่ครั้นกาลเวลาล่วงเลยมาได้เพียง 5 ปีกว่า ก็ปรากฏว่ามีช่องว่างให้รัฐบาลภายใต้การนำของอดีตนายกฯ ทักษิณ ใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาอำนาจ และกลายเป็นโอกาสให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบเกิดขึ้นอย่างมากมายในหลายรูปแบบ จนทำให้เกิดกระแสต่อต้านในหมู่ประชาชน และสุดท้ายจบลงด้วยการถูกทหารโค่นล้มเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และได้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จเมื่อปลายปี 2550 แล้วเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ส.ส.ในวันที่ 23 ธ.ค. 2550 ที่ผ่านมา

จากวันเลือกตั้งถึงวันนี้เวลาได้ล่วงเลยไปแล้ว 23 วัน แต่ยังมีการประกาศผลรับรองการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ครบจำนวน ทั้งยังมีการแจกใบเหลืองใบแดง และจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งซ่อมในส่วนนี้อีกครั้ง

ส่วนจะเป็นการเลือกตั้งอีกกี่ครั้งขึ้นอยู่กับจำนวนใบเหลืองใบแดงที่ทยอยกันออกมา

จากเหตุการณ์ร้องเรียนฟ้องร้องเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า กฎหมายเลือกตั้งที่แก้ไขใหม่มิได้ช่วยให้การเลือกตั้งดีขึ้นแต่อย่างใด

ดังนั้น แน่นอนว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะต้องมีการแก้ไขใหม่อีกครั้ง แต่จะแก้โดยนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา หรือแก้โดยผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเท่านั้น

2. ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่สังกัดพรรคการเมืองต่างๆ ที่ปรากฏจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีอยู่ไม่น้อยที่ด้อยทั้งความรู้ ความสามารถ ทั้งขาดคุณธรรม และที่ยิ่งกว่าคือถึงแม้จะมีความรู้ ความสามารถแต่ก็ขาดคุณธรรม และคนประเภทนี้เองคืออุปสรรคในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย

อันที่จริงถ้าว่ากันด้วยหลักการแล้ว เหตุปัจจัยในข้อนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นในระบบการปกครองของไทยที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2475 และมีการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้งภายใต้รัฐธรรมนูญหลายฉบับ

แต่ในความเป็นจริง พรรคการเมืองอันเป็นองค์กรหนึ่งที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มิได้ช่วยในการคัดเลือกบุคลากรทางการเมืองให้ได้มาซึ่งผู้ที่มีความรู้ความสามารถเท่าที่ควรจะเป็น จะทำได้บ้างก็เพียงในส่วนของพรรคการเมืองที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และมีความเป็นสถาบันการเมืองเท่านั้น

ส่วนในพรรคเฉพาะกิจที่มีการบริหารจัดการด้วยกลุ่มทุนนั้นยากที่จะทำได้ และพรรคการเมืองในลักษณะนี้จึงกลายเป็นที่อิงอาศัยของสัมภเวสีการเมืองทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง และสัมภเวสีที่ว่านี้จะออกจากพรรคนี้เข้าพรรคโน้นโดยยึดเพียงทุนในการเลือกตั้ง และโอกาสได้ตำแหน่งทางการเมืองหลังได้รับเลือกตั้งเป็นหลัก ส่วนอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นไม่มีหรือมีก็เพียงข้ออ้างเท่านั้น ซึ่งบุคลากรทางการเมืองประเภทนี้เองที่เป็นตัวถ่วงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

3. กกต.ที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำกับดูแลการเลือกตั้ง โดยหลักการแล้วจะต้องประกอบด้วยบุคคลที่มีความรอบคอบรอบรู้ในเรื่องของกฎหมาย และมีความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่งอันเป็นเหตุให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และหลุดรอดเข้ามาเป็น ส.ส.เพื่อทำหน้าที่ผู้แทนของปวงชน

แต่เท่าที่ปรากฏในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 กกต.เองยังถูกกล่าวหาว่าประพฤติมิชอบ และถูกศาลพิพากษาให้จำคุก 3 ปี ดังที่ปรากฏเป็นข่าวฉาวโฉ่มาแล้ว

ส่วนในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2550 ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่ายังไม่มี กกต.คนใดแสดงพฤติกรรมให้เป็นที่ชัดเจนว่ามีการกระทำผิด

แต่ก็ปรากฏข่าวออกมาในทางลบ และก่อให้เกิดข้อกังขาขึ้นต่อ กกต.บางท่านว่ามีพฤติกรรมชวนให้คิดว่ามีบางอย่างซ่อนเร้น และในขณะนี้ได้มีผู้ร้องเรียนเรื่องพฤติกรรมที่ว่านี้แล้ว ส่วนว่าเมื่อมีการสอบสวนแล้วจะเป็นจริงตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ก็คงต้องรอกระบวนการยุติธรรมตัดสินต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น