xs
xsm
sm
md
lg

"อ๋อย"โผล่หนุน"หมัก"นายกฯ เตือนพลังแม้วอย่าตกเป็นเบี้ยล่างคมช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"จาตุรนต์" ลงทุนเช่าโรงแรมแถลงข่าวหนุน "สมัคร" เป็นนายกฯ อ้างเป็นสัญญาประชาคม หากเป็นคนอื่นแสดงว่ารัฐบาล ตกเป็นเบี้ยล่าง คมช. ไม่เชื่อข่าว"หญิงอ้อ" พบ"ป๋าเปรม" เพื่อต่อรองเรื่องตั้งรัฐบาลกับเรื่องคดีความ "สุวิทย์"ประกาศร่วมรัฐบาลแล้ว ส่วน"บรรหาร"จะแถลงคืนนี้ "อภิสิทธิ์" ปฎิเสธข่าวตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ยันยังไม่มีใครมาติดต่อ ต้องรอให้ พปช.พูดก่อน ห่วง พปช. พยายามกดดัน กกต.สารพัดรูปแบบ แนะ กกต. ต้องกล้าฟันธง เพื่อจบปัญหา รอลุ้นศาลกีฏาวินิจฉัย อาจส่งผลกระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อเวลา 10.50 น. วานนี้ (16 ม.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง หลังถูกยุบพรรค แถลงข่าว ที่โรงแรมเรดิสัน ถนนพระราม 9 ถึง กรณีที่ กกต. ระบุว่า อาจจะมีการรับรองส.ส.ไปก่อนให้ได้ 95 % เพื่อให้เปิดสภาได้ หากใครทำผิดกฎหมายเลือกตั้งก็สอบทีหลัง ว่า ความคิดนี้ตนไม่เห็นด้วย เพราะจะมีผลได้เปรียบเสียเปรียบในการจัดตั้งรัฐบาลได้ ดังนั้น กกต.ควรจะรับรอง ว่าที่ส.ส.ให้ครบทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ และหากไม่รับรองว่าที่ ส.ส.อีก 5 เปอร์เซ็นต์ ก็อาจคิดได้ว่า กกต. มีเจตนาที่จะให้คุณให้โทษ ก็เป็นได้ เพราะว่าที่ส.ส.ที่ยังถูกแขวนอยู่ส่วนใหญ่เป็นคนของพรรคพลังประชาชน

นายจาตุรนต์ ยังกล่าวถึงการตั้งรัฐบาล ซึ่งมีแกนนำคมช. ออกมาแสดงความเห็นถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี หรือนัยยะของเรื่องก็คือ ไม่ต้องการให้ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นนายกฯ จึงมีการปล่อยข่าวหลายกระแสว่า นายกฯ คนใหม่จะเป็นคนอื่น ซึ่งตนคิดว่าตามหลักการนั้นพรรคพลังประชาชนไม่ควรเปลี่ยนแปลง หรือตั้งคนอื่นเป็นนายกฯ เพราะพรรคทำสัญญาประชาคมกับประชาชนไปแล้ว ในช่วงหาเสียง ฉะนั้นต้องทำตามสัญญา แต่เมื่อพรรคได้เสียงข้างมากแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง มันจะทำให้พรรค และรัฐบาลได้รับความเสียหายด้านความเชื่อมั่น

"ขอฝากไปว่า พรรคพลังประชาชนไม่ควรเจรจาต่อรองใดๆ กับคมช. หรือเปลี่ยนตัวว่าที่คณะรัฐมนตรี เพราะหากยอม คมช. จะเท่ากับว่ายอมให้ผู้มีอำนาจทางทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งมันจะไม่สง่างามกับการเลือกตั้งที่มาจากระบอบประชาธิปไตย มันไม่มีเหตุผลที่จะให้กองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองในช่วงนี้อีก เพราะประชาชนที่ สนับสนุนพรรคพลังประชาชนเลือกพรรคนี้เข้ามาเพราะพรรคมีแนวทางต้านรัฐประหาร"

เมื่อถามว่า กระแสข่าวการเปลี่ยนนายสมัครไม่ให้เป็นนายกฯ มาจากใคร นายจาตุรนต์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์และติดตามข่าวสารของสื่อมวลชน และคำพูดของแกนนำคมช.บางคน ที่ระบุว่า พรรคพลังประชาชนจะตั้งรัฐบาลได้ยาก สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาปะติดปะต่อได้ เมื่อถามว่า หากเกิดการเปลี่ยนตัว นายสมัครไม่ให้เป็นนายกฯจริง รวมทั้งกระแสข่าวว่า แกนนำพรรคบางคนไปหารือกับ คมช.นั้น ตรงนี้จะเป็นการทรยศประชาชนหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า หากใช้คำว่าทรยศนั้น มันแรงไป แต่ถ้าไม่ทำตามสัญญาประชาคม ฝ่ายที่เสียหายมากที่สุดคือ พรรคพลังประชาชน

ส่วนที่มีการนำคดีความของนายสมัคร และบุคลิกของนายสมัคร มาวิจารณ์ ว่าไม่เหมาะสมที่จะเป็นนายกฯนั้น มันคือข้ออ้างเท่านั้น หากนายสมัครได้เป็นหัวหน้าพรรค นายสมัคร ต้องเป็นนายกฯ ด้วย เรื่องนี้ต้องเป็นไปตามหลักการ หากมีการเปลี่ยนแปลง จะกลายเป็นการซูเอี๋ยทางการเมืองกับฝ่ายที่ยึดอำนาจ ยอมเป็นเบี้ยล่าง คมช.ด้วย ตนขอย้ำว่า สิ่งที่ตนพูดไปนั้น ไม่ใช่การพูดเพื่อนายสมัคร แต่ตนพูดถึงระบบ และหลักการที่ถูกต้อง

เมื่อถามว่า บางฝ่ายเสนอว่าพรรคพลังประชาชนควรจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อตั้งรัฐบาลแห่งชาตินายจาตุรนต์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความเห็นที่มีมาแล้วหลายครั้ง แต่ในหลักความจริงทางการเมือง มันเป็นไปได้ยากและควรตัดความคิดนี้ทิ้งไปได้แล้ว เพราะพรรคประชาธิปัตย์ประกาศแล้วว่าไม่ร่วมสังฆกรรมทางการเมืองกับพรรคพลังประชาชน และยังตั้งเป้าส.ส.300 คนในการเลือกตั้งครั้งหน้า ตรงนี้คือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในข้อเสนอนี้

เมื่อถามว่า ช่วงนี้มีกระแสข่าว คุณหญิงพจมาน ชินวัตรโทรศัพท์หารือกับผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เพื่อต่อรองในการตั้งรัฐบาล บทบาทและการดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ส่วนตัวนั้นไม่เชื่อว่าข่าวนี้จะเกี่ยวข้องกัน หากเกิดการเจรจาจริง ก็ควรจะหารือกับคนที่เกี่ยวข้อง หากการที่มีกระแสข่าวว่าคุณหญิงพจมานไปพบผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เพื่อหารือเรื่องความสมานฉันท์ในบ้านเมืองก็อาจเป็นไปได้

ส่วนที่มองว่าการหารือในครั้งนี้ อาจมีการต่อรองในการดำเนินคดีความต่างๆ ของพ.ต.ท.ทักษิณนั้น ตนคิดว่า หากจะเจรจาจริง คงต้องไปเจรจากับผู้ที่มีอำนาจตามกฎหมาย ส่วนการที่คุณหญิงพจมานจะไปพบพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.นั้น ตนเชื่อว่า ไม่น่าจะเกี่ยวกับพ.ต.ท.ทักษิณ เพราะผบ.ทบ.ไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องนี้
 
ลั่น"หมัก"ไม่ได้เป็นนายกฯ พปช.แตก

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน อดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) กล่าวว่า นายสมัคร จะต้องได้เป็นนายกฯ ตามระบอบประชาธิปไตย ไม่มีทางที่จะเป็นของคนอื่น เนื่องจากพรรคได้หาเสียงชู นายสมัคร มาตั้งแต่แรก หากพรรคพลังประชาชนไปนำบุคคลอื่นมาเป็นายกฯ พรรคนี้คงอยู่ไม่ได้ และต้องแตกแน่ วันนี้ต้องรักษาสัจจะกับประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ อย่าคิดว่าประชาชนไม่มีความรู้สึก เขาไม่ได้โง่ และพรรคก็มาใช่ฟาร์มงูเห่า

ส่วนที่มี "เจ๊" บางคนปล่อยข่าวว่า นายสมัคร จะไม่ได้เป็นนายกฯนั้น สมควรที่จะถูกประนาม เพราะเป็นผู้ที่ทำลายพรรค ซึ่งนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรค ที่มีข่าวว่าจะเป็นนายกฯ แทนนายสมัคร ก็เป็นคนหนักแน่น ยึดถือระบอบประชาธิปไตย คงไม่มีกิเลส

"ที่มองกันว่า นายสมัคร อาจจะโดนแรงต้านจากการเป็นนายกฯ นั้น ผมขอถามกลับว่า ไม่ว่าใครที่ขึ้นมาเป็น ก็โดนอยู่แล้ว แต่ท่านผ่านมรสุมการเมืองมามาก ประสบการณ์จะช่วยมาก ข่าววันนี้เสี้ยมกัน เพราะเขาต้องการก่อการสามัคคีเพศคำฉันท์ในพรรคได้ ยืนยัน นายสมัคร ได้เป็นนายกฯ ล้านเปอร์เซ็นต์ เป็นคนอื่นไม่ได้เลย"นายจตุพร กล่าว

พผ.มีมติร่วมรัฐบาลหมัก

นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมกรรมการบริหารพรรคเมื่อวานนี้ ว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน และให้ตนในฐานะหัวหน้าพรรค ไปหารือร่วมกับพรรคชาติไทย ก่อนที่จะมีการแถลงร่วมกันอย่างเป็นทางการในวันนี้ (17 ม.ค.)

ผู้สื่อข่าวถามว่า พร้อมสนับสนุน นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายสุวิทย์ กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องมีการหารือกันในพรรคร่วมรัฐบาล นอกจากทางพรรคนั้นยังมีมติที่จะขอดูแลแก้ไขปัญหาภาคใต้ เนื่องจากพรรคเพื่อแผ่นดินมี ส.ส.ในพื้นที่ถึง 4 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวางนานกว่า 2 ชั่วโมง โดยสมาชิกหลายคนเห็นว่า นายสุวิทย์ ควรดำเนินการผลักดันนโยบายของพรรคให้นำไปสู่การปฏิบัติมากที่สุด และส่วนใหญ่มีความเห็นสนับสนุนให้พรรคเข้าร่วมรัฐบาลโดย ไม่มีการลงมติ แต่มีเงื่อนไข 5 ข้อที่พรรคเคยประกาศไว้ว่าจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง และการขอดูแลปัญหาภาคใต้ต่อท้ายด้วย ขณะที่ ม.ร.ว.กิติวัฒนา ไชยันต์ ส.ส. สัดส่วน กทม. กลุ่ม ของนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ก็มีท่าทีที่อ่อนลง หลังจากรับฟังเสียงส่วนใหญ่โดยกล่าวเพียงสั้นๆว่า พร้อมจะให้โอกาส นายสมัคร สุนทรเวช พิสูจน์ตัวเองว่าจะทำตามสัญญา 5 ข้อ ที่ทางพรรคเคยประกาศไปหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หลังการประชุม นายวัฒนา อัศวเหม ประธานพรรค และ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ประธานที่ปรึกษาพรรค ได้แสดงสปิริตด้วยการขอถอนตัวจากการเป็นตัวแทนของพรรค ในการเจรจากับพรรคพลังประชาชน คงเหลือให้นายสุวิทย์ เป็นผู้เจรจาในขั้นตอนต่อไป

นายวัฒนา กล่าวว่า ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างตนกับ นายสมัคร คงไม่ใช่นำมาเป็นประเด็นในการเข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้ และตนคงไม่เอาเรื่องในอดีตมาคิดอีก ส่วนการแถลงร่วมกับพรรคชาติไทยคงเป็นเรื่องที่ นายสุวิทย์ จะเป็นผู้ไปติดต่อกันเอง

"เติ้ง"นัดแถลงร่วมรัฐบาล 2 ทุ่มวันนี้

ด้าน นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ได้เดินทางเข้าพรรค หลังจากที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน แถลงข่าวร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชนแล้ว โดยนายบรรหาร กล่าวเพียงสั้นๆว่า "ยังไม่ครบ 15 วัน ผมยังไม่พูดอะไร เอาเป็นว่าผมจะแถลงข่าวพรุ่งนี้ ( 17 ม.ค.) ที่โรงแรมปาร์คนายเลิศ เวลา 20.00 น. หลังจากเดินทางกลับจากการหาเสียงช่วยลูกพรรคหาเสียงที่จ.อุดรธานี"

ข่าว"อ้อ"คุย"ป๋า"สร้างภาพปรองดอง

นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยาพ.ต.ท.ทักษิณ เข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เพื่อเจรจาขอให้พรรคพลังประชาชนจัดตั้งรัฐบาลได้ว่า ยืนยันว่า คุณหญิงพจมานยังไม่ได้เดินทางเข้าพบ พล.อ.เปรม แต่หลังจากนี้จะเข้าพบในเวลาใดนั้นตนยังไม่มีข้อมูล แต่ยืนยันว่าคุณหญิงพจมาน เป็นคนนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ พร้อมที่จะเข้าไปพูดคุย หากทำให้บ้านเมืองเกิดความสมานฉันท์

"แต่ไม่ได้เป็นการเข้าไปเกี๊ยะเซียะหรือล้มคดี ยืนยันว่าจะต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตามในส่วนของการจัดตั้งรัฐบาลนั้น เป็นสิทธิอันชอบธรรมของพรรคพลังประชาชนอยู่แล้ว หากในอนาคตจะไปคุยกันก็คงไปคุยกันในเรื่องอื่น ขณะนี้ถือได้ว่าบรรยากาศการเมืองเป็นไปด้วยดี จากการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. นั้น ก็เห็นด้วยหากคุณหญิงพจมานจะเข้าพบพล.อ.เปรม ตรงนี้สะท้อนให้ห็นว่าเกิดบรรยากาศที่ไว้วางใจกัน ซึ่งจะเป็นรากฐานของความปรองดองต่อไป"

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า พรรคพลังประชาชนวางตัวนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นประธานสภาฯว่า นายยงยุทธ เป็นคนมีความรู้ มีคุณภาพ และมีความเหมาะสม ยอมรับว่าในพรรคเริ่มมีการคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ ถึงการแต่งตั้งบุคคลที่จะมาเป็นประธานสภาฯ ซึ่งก็มีการพูดถึงชื่อของนายยงยุทธด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องรอฟังมติของพรรคในวันที่ 20 หรือ 21 ม.ค. ซึ่งพรรคจะมีการประชุมใหญ่ ขอมติพรรคแต่งตั้งประธานสภาฯ

ซัด"หมัก"พูดให้ชัดใครมือสกปรก

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความชัดเจน ในการพูดคุยกับพรรคชาติไทย ว่า ตอนนี้ตนยังเดินสายไปต่างจังหวัดอยู่ แต่ก็รอให้เป็นไปตามกระบวนการ และหาเวลาที่เหมาะสมอยู่ ไม่มีปัญหาอะไร เมื่อถามว่าแสดงว่าการพบกัน อาจจะเป็นช่วงหลังจัดตั้งรัฐบาลแล้วหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็แล้วแต่ มีเวลาเหมาะสมเมื่อไร ก็มาคุยกัน แต่ขณะนี้รอฟังว่าการจัดตั้งรัฐบาลมีความคืบหน้าอย่างไร

"โดยมารยาท ก็ต้องถามพรรคชาติไทยก่อนว่ามองอนาคตอย่างไร ส่วนเรื่องที่จะทำต่อไป ก็เป็นเรื่องของรัฐบาล ที่จะแถลงนโยบาย แต่ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ผมคิดว่าประเด็นปัญหาที่ประชาชนต้องการในขณะนี้คือการสร้างความมั่นใจ ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ และการเมือง ที่จะไม่ให้กระทบกับเสถียรภาพของเศรษฐกิจและบ้านเมืองโดยรวม หรือจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมืองแบบไม่จบไม่สิ้น"

เมื่อถามว่า นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ออกมาระบุว่า มีมือสกปรกอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในบ้านเมือง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การพูดจาในลักษณะนี้มันไม่ช่วยให้เกิดความเชื่อมั่น และไม่ช่วยให้ทุกอย่างราบรื่น ถ้ามีอย่างนั้นจริงก็อยากให้เปิดเผยข้อมูลออกมา และตนอยากเห็นคนที่อยากจัดตั้งรัฐบาลพูดในเรื่องที่เป็นความหวังของประชาชนว่าจะทำอะไร มีปัญหาอะไรบ้างที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้ามากกว่าออกมาพูดประเด็นเหล่านี้ ซึ่งมีแต่จะบั่นทอนความเชื่อมั่น และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างอยู่ในสภาวะของความอึมครึม กระทบเศรษฐกิจทั้งหมด

ลุ้นศาลฎีกาตัดสินคดีเลือกตั้ง

ต่อข้อถามว่า การที่พรรคพลังประชาชน ออกมาเคลื่อนไหวต่างๆ ทางการเมือง ถือเป็นการกดดันองค์กรต่างๆหรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ตนขอยืนยันว่าองค์กรต่างๆ จะต้องมีความอิสระในการทำหน้าของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น กกต. หรือศาล ขอให้ทำหน้าที่ของตัวเอง อย่าไปกังวลกับแรงกดดัน ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายไหนก็ตาม เพราะตรงนี้จะเป็นหลักให้บ้านเมือง จะทำให้ทุกอย่างมีคำตอบในตัวของมันเอง แต่ถ้าเอาแรงกดดันทางการเมืองเป็นตัวตั้ง อาจจะสามารถผ่อนคลายปัญหาในวันนี้ แต่ก็จะผูกปมปัญหาใหม่ในวันข้างหน้า ซึ่งไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น

"ผมก็เป็นห่วงเพราะว่า เห็นได้ชัดว่า พรรคพลังประชาชน มีความพยายามที่จะกดดันในรูปแบบต่าง ๆ อย่างที่หัวหน้าพรรคพลังประชาชนทำหนังสือถึง กกต. 2 ครั้งแล้ว หรือจะเป็นเรื่องของตัวบุคคล และถ้าทุกพรรคการเมืองทำเช่นนี้บ้าง กกต.จะทำอย่างไร ดังนั้น ดีที่สุด กกต.จะต้องว่าไปตามผิด ตามข้อเท็จจริง มีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ก็ต้องลงโทษ แล้วโทษคืออะไรก็ว่าไปตามกฎหมาย ทุกอย่างมีคำตอบในตัวของมันเอง แต่ถ้ามาพะวงว่า ตัดสินอย่างนี้แล้วผลเป็นอย่างนั้น แล้วจะเกิดอย่างนั้น อย่างนี้ ผมว่ามันก็จะไม่จบไม่สิ้น เพราะการเมืองมีคนที่เห็นไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน เพราะฉะนั้นใช้เรื่องของกฎหมายเป็นหลักจะดีที่สุด"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า การตัดสินคดีต่างๆในวันที่ 18 ม.ค.นี้ จะมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงต้องรอดู ตนไม่แน่ใจว่าคดีความเป็นอย่างไร และคำวินิจฉัยจะเป็นอย่างไร ส่วนที่ขอให้นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อดีตผู้สมัครส.ส.บุรีรัมย์ เขต 3 ถอนฟ้องการเลือกตั้งโมฆะ ตนยังไม่มีโอกาสคุย แต่ก็ได้ยืนยันจุดยืนของพรรค ว่าไม่เห็นด้วยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และนายไชยวัฒน์ ก็บอกว่ากำลังหารือกับฝ่ายกฎหมายอยู่ เมื่อถามว่าหากผลการวินิจฉัยของศาลฎีกาออกมาว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ ถูกมองว่าปากว่าตาขยิบหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็เป็นคำพิพากษาของศาล แต่ตนก็ยืนยันอยากให้นายไชยวัฒน์ ถอนฟ้อง เพราะถือว่าประชาชนไปทำหน้าที่แล้ว

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครติดต่อมา ซึ่งตนคิดว่า ขณะนี้ควรฟังพรรคพลังประชาชนที่เป็นแกนนำรวบรวมเสียงข้างมาก ถ้าเขาพูดออกมาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ขณะนี้ยังไม่มีการพูด
กำลังโหลดความคิดเห็น