xs
xsm
sm
md
lg

“จาตุรนต์” ออกโรงเชียร์ “หมัก” เป็นนายกฯ ยุไม่ต้องสนใจ คมช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“จาตุรนต์” ออกโรงเช่าโรงแรมแถลงเชียร์ “หมัก” เป็นนายกฯ จี้ “พลังแม้ว” อย่าเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันยุส่งไม่ต้องไปสนใจต่อรองกับ คมช. ค้าน กกต.รับรองว่าที่ ส.ส.ให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ควรกั๊กไว้ 5 เปอร์เซ็นต์ อ้างส่วนใหญ่เป็นคนของพลังประชาชน


วันนี้ (16 ม.ค.) ที่โรงแรมเรดิสัน เมื่อเวลา 10.50 น. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย แถลงถึงกรณีการเปิดประชุมรัฐสภาว่าจะดำเนินการได้ทันตามกำหนดการ 30 วันหลังการเลือกตั้งหรือไม่ว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณารับรอง ส.ส.ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ในขณะนี้มีแนวโน้มว่า กกต.จะไม่สามารถรับรองได้ตามกำหนด และเลื่อนการพิจารณาออกไป มันจะส่งผลให้การเปิดประชุมสภาล่าช้าออกไป ดังนั้น กกต.จึงระบุว่าอาจรับรองไปก่อน 95 เปอร์เซ็นต์ โดยคนที่ยังไม่ได้รับรองนั้นส่วนใหญ่เป็นว่าที่ ส.ส.ของพรรคพลังประชาชน หรืออีกทางหนึ่งคืออาจรับรองไปก่อนแล้วมาสอยภายหลัง ซึ่งความคิดนี้ตนไม่เห็นด้วย เพราะจะมีผลได้เปรียบเสียเปรียบในการจัดตั้งรัฐบาลได้ ดังนั้น กกต.ควรจะรับรอง ว่าที่ ส.ส.ให้ครบทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ และหากไม่รับรองว่าที่ ส.ส.อีก 5 เปอร์เซ็นต์ ก็อาจคิดได้ว่า กกต.มีเจตนาที่จะให้คุณให้โทษก็เป็นได้

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ของพรรคพลังประชาชน ที่ก่อนหน้านี้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และพล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม แสดงความเห็นที่ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ในช่วงหลังความคิดนี้ได้เบาลงไป แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังแสดงความเห็น มีความหวัง และไม่ยอมรับการตัดสินของประชาชน ซึ่งหากประชาธิปัตย์ได้ เป็นรัฐบาลก็อาจทำใหัรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ดังนั้น จึงควรที่จะเปิดทางให้กับพรรคพลังประชาชน มากกว่า ส่วนที่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ตั้งเป้า ส.ส. 300 เสียง ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้น ตนคิดว่าก็ควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินมากกว่า

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ประเด็นเฉพาะหน้าในช่วงนี้ที่แกนนำ คมช.แสดงความเห็นถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นนายกฯหรือนัยยะของเรื่องนี้ คือ ไม่ต้องการให้นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนเป็นนายกฯ นั่นเอง จึงมีการปล่อยข่าวหลายกระแสว่านายกฯ คนใหม่จะเป็นคนอื่น ตนคิดว่าตามหลักการนั้นพรรคพลังประชาชนไม่ควรเปลี่ยนแปลงหรือตั้งคนอื่นเป็นนายกฯ เพราะพรรคทำสัญญาประชาคมกับประชาชนไปแล้วในช่วงหาเสียง ฉะนั้น ต้องทำตามสัญญา แต่เมื่อพรรคได้เสียงข้างมากแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง มันจะทำให้พรรคและรัฐบาลได้รับความเสียหายด้านความเชื่อมั่น

ส่วนแกนนำ คมช.บางคนระบุว่า ควรมีการเปลี่ยนตัวว่าที่นายกฯ นั้น ขอฝากไปว่าพรรคพลังประชาชนไม่ควรเจรจาต่อรองใดๆ กับ คมช.หรือเปลี่ยนตัวว่าที่คณะรัฐมนตรี เพราะหากยอมคมช.จะเท่ากับว่ายอมให้ผู้มีอำนาจทางทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งมันจะไม่สง่างามกับการเลือกตั้งที่มาจากระบอบประชาธิปไตย มันไม่มีเหตุผลที่จะให้กองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองในช่วงนี้อีก เพราะประชาชนที่สนับสนุนพรรคประชาชนเลือกพรรคนี้เข้ามาเพราะพรรคมีแนวทางต้านรัฐประหาร

เมื่อถามว่า กระแสข่าวการเปลี่ยนนายสมัครไม่ให้เป็นนายกฯ มาจากใคร นายจาตุรนต์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์และติดตามข่าวสารของสื่อมวลชน และคำพูดของแกนนำคมช.บางคนที่ระบุว่าพรรคพลังประชาชนจะตั้งรัฐบาลได้ยาก สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาปะติดปะต่อได้ เมื่อถามว่า หากเกิดการเปลี่ยนตัวนายสมัครไม่ให้เป็นนายกฯ จริง รวมทั้งกรพแสข่าวว่าแกนนำพรรคบางคนไปหารือกับ คมช.นั้น ตรงนี้จะเป็นการทรยศประชาชนหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า หากใช้คำว่าทรยศนั้น มันแรงไป แต่ถ้าไม่ทำตามสัญญาประชาคม ฝ่ายที่เสียหายมากที่สุดคือพรรคพลังประชาชน

เมื่อถามว่า อำนาจการกำหนดบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯ นั้นขึ้นอยู่กับใคร นายจาตุรนต์กล่าวว่า พรรคพลังประชาชนต้องพิจารณาเพราะมีข้อบังคับพรรคกำหนดไว้ในการดำเนินการ หากกรรมการบริหารพรรคเปลี่ยนมติพรรคจริงนั้น ตนไม่เชื่อว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้น หากสมมติว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงมติพรรคจริง ก็ต้องยอมรับแต่จุดนี้ประชาชนไม่น่าจะยอมรับได้ และมันจะสร้างความเสียหายกับพรรค ประชาชนและประเทศมากมาย และในช่วงนี้เห็นว่ากรรมการบริหารพรรคแสดงความเห็นในเรื่องต่างๆ น้อยไป ส่วนที่มีการนำคดีความของนายสมัครและบุคลิกของนายสมัครมาวิจารณ์และมองว่าตรงนี้คือปัจจัยที่จะเปลี่ยนแปลงไม่ให้นายสมัครเป็นนายกฯ นั้น ตนคิดว่ามันคือข้ออ้างเท่านั้น หากนายสมัครได้เป็นหัวหน้าพรรค นายสมัครต้องเป็นนายกฯด้วย เรื่องนี้ต้องเป็นไปตามหลักการ หากมีการเปลี่ยนแปลงจริงจะกลายเป็นการซูเอี้ยทางการเมืองกับฝ่ายที่ยึดอำนาจ ยอมเป็นเบี้ยล่าง คมช.ด้วย ตนขอย้ำว่าสิ่งที่ตนพูดไปนั้น ไม่ใช้การพูดเพื่อนายสมัคร แต่ตนพูดถึงระบบและหลักการที่ถูกต้อง

เมื่อถามว่า บางฝ่ายเสนอว่าพรรคพลังประชาชนควรจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อตั้งรัฐบาลแห่งชาตินายจาตุรนต์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความเห็นที่มีมีแล้วหลายครั้งแต่ในหลักความจริงทางการเมือง มันเป็นไปได้ยากและควรตัดความคิดนี้ทิ้งไปได้แล้ว เพราะพรรคประชาธิปัตย์ประกาศแล้วว่าไม่ร่วมสังฆกรรมทางการเมืองกับพรรคพลังประชาชนและยังตั้งเป้าส.ส.300คนในการเลือกตั้งครั้งหน้า ตรงนี้คือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในข้อเสนอนี้

เมื่อถามว่า ช่วงนี้มีกระแสข่าวคุณหญิงพจมาน ชินวัตร โทรศัพท์หารือกับผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เพื่อต่อรองในการตั้งรัฐบาล บทบาทและการดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายจาตุรนต์กล่าวว่า ส่วนตัวนั้นไม่เชื่อว่าข่าวนี้จะเกี่ยวข้องกัน หากเกิดการเจรจาจริง ก็ควรจะหารือกับคนที่เกี่ยวข้อง หากการที่มีกระแสข่าวว่าคุณหญิงพจมานไปพบผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเพื่อหารือเรื่องความสมานฉันท์ในบ้านเมืองก็อาจเป็นไปได้ ส่วนที่มองว่าการหารือในครั้งนี้ อาจมีการต่อรองในการดำเนินคดีความต่างๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ตนคิดว่า หากจะเจรจาจริงคงต้องไปเจรจากับผู้ที่มีอำนาจตามกฎหมาย ส่วนการที่คุณหญิงพจมานจะไปพบ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.นั้น ตนเชื่อว่าไม่น่าจะเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะผบ.ทบ.ไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องนี้
/0110

กำลังโหลดความคิดเห็น