xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ยอมปล่อยผีเข้าสภา เปิดทาง พปช.ตั้งรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดสภาได้แล้ว หลัง กกต.ตัดสินใจปล่อยผี 21 ว่าที่ ส.ส.ที่ยังมีเรื่องร้องคัดค้านเข้าสภา ทำให้ขณะนี้มี ส.ส.460 คน อ้างหากใช้ดุลยพินิจเลือกกักไว้บางคน อาจถูกกล่าวหาเลือกปฏิบัติได้ จึงต้องใช้วิธีปล่อยไปก่อนแล้วสอยทีหลัง ขู่ 20 ว่าที่ ส.ส. ที่สั่งเลือกตั้งใหม่ กกต.มีเวลาฟอกให้สะอาดถึง 6 เดือน เผยตัวเลขตั้งรัฐบาล 6 พรรค 297 เสียง

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.แถลงภายหลังการประชุม กกต.เมื่อวานนี้ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาในประเด็นข้อกฎหมาย เกี่ยวกับการประกาศรับรองผล และมีมติให้ประกาศรับรองผลเพิ่มเติมอีก 29 รายโดยในจำนวนนี้เป็นว่าที่ ส.ส. ที่ กกต.ยังพิจารณาเรื่องร้องคัดค้านไม่แล้วเสร็จ 21 ราย และอีก 8 ราย เป็นกรณีของการยกเรื่องร้องคัดค้านรวมถึงที่เลือกตั้งใหม่ที่ จ.ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ ซึ่งการประกาศรับรองเป็นมติเอกฉันท์ ที่อาศัยอำนาจตาม มาตรา 8 ประกอบมาตรา 116 และ มาตรา 111 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.

ดังนั้นจนถึงขณะนี้ กกต.ประกาศรับรอง ส.ส.ไปแล้ว 460 คน โดยจะแจ้งไปยังสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบเพื่อดำเนินการเรื่องของการเปิดประชุมสภาฯ นัดแรก ซึ่ง ส.ส.ที่ กกต.มีมติรับรองเพิ่มเติม ให้มารับใบรับรองการเป็นส.ส.ได้ในวันเสาร์-อาทิตย์นี้

ทั้งนี้ เหตุที่ กกต. ไม่เลือกใช้อำนาจในการที่จะไม่ประกาศ ส.ส. ที่ยังมีเรื่องคัดค้าน ก็เพราะมาตรา 8 มาตรา 116 และ 111 ได้เขียนรับกันไว้ว่า ในกรณีที่ กกต.ไม่สามารถดำเนินการสืบสวนสอบเรื่องร้องคัดค้านให้แล้วเสร็จก่อนการประกาศรับรองผล หลังการประกาศรับรองผลแล้ว หากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งมา ได้รับการเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริต และสมควรสั่งเลือกตั้งใหม่ หรือสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ก็ให้ กกต.ดำเนินการร้องต่อศาลฎีกา และถ้าศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้อง ส.ส. ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

โดยหากต่อมาศาลเห็นว่าผู้นั้นทำผิดจริง ก็จะสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งสำนวนร้องคัดค้านที่ กกต.ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ 21 รายนั้น มีหลายสำนวนที่อยู่ในระหว่าง กกต.สั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม บางเรื่องอาจจะยกคำร้อง แต่ถ้ามีมูล กกต. ก็จะเร่งดำเนินการเสนอไปยังศาลฎีกา โดยตามกฎหมายบัญญัติให้การใช้ดุลพินิจของศาลฎีกา เป็นไปในทำนองเดียวกับ กกต.คือใช้หลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า บุคคลนั้นได้รับการเลือกตั้งโดยไม่สุจริต ไม่ต้องใช้การพิสูจน์จนถึงขั้นปราศจากข้อสงสัย

“ถ้าให้ กกต.ใช้ดุลยพินิจว่า จะรับรองเฉพาะคนนั้น หรือไม่รับรองคนนี้ โดยที่พยานหลักฐานต่างๆ ยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่า ผู้นั้นสมควรจะถูกสั่งเลือกตั้งใหม่ หรือสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กกต. ก็อาจจะถูกกล่าวหาว่าใช้ดุลยพินิจโดยเลือกปฏิบัติ ดังนั้นกกต. จึงเห็นว่า แม้กกต.จะประกาศรับรองว่าที่ ส.ส. เป็น ส.ส.ไปก่อน ก็ไม่มีผลกระทบกับสำนวนที่มีการร้องคัดค้าน ที่กกต.ดำเนินการอยู่ให้ต้องยุติไป”

เมื่อถามว่า การประกาศรับรอง นายยงยุทธ ติยะไพรัช ว่าที่ สส.สัดส่วนกลุ่ม 1 พรรคพลังประชาชนไปก่อน หากนายยงยุทธ ได้เป็นประธานสภาฯ แล้วผลการสอบสวนพบว่า มีความผิดจะทำอย่างไร นายสุทธิพล กล่าวว่า ในที่ประชุมไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ แต่ตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว ถ้าหลังประกาศรับรองผลพบว่า ผู้นั้นได้รับการเลือกตั้งจากการไม่สุจริต กกต. ก็ต้องไปร้องต่อศาลฎีกา ซึ่งขณะนี้อนุกรรมการสืบสวนสอบสวนฯ ที่มีนายสุวิทย์ ธีระพงษ์ เป็นประธาน ก็ยังคงเดินหน้าสืบสวน สอบสวนอยู่ ดังนั้นส่วนตัวเชื่อว่า กกต. คงไม่อนุญาตให้นายวิจิตร ยอดสุวรรณ ผู้ร้องคัดค้านนายยงยุทธ ถอนคำร้อง เพราะมิเช่นนั้น นายสุวิทย์ คงไม่ลงพื้นที่เดินหน้าสอบต่อ

นายสุทธิพล ยังกล่าวด้วยว่า ส่วนการเลือกตั้งใหม่ตามที่ กกต. สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และสั่งเลือกตั้งใหม่นั้น ขณะนี้เหลือ 20 ราย โดยจะมีการเลือกตั้งใหม่ 2 ครั้ง คือ วันที่ 20 ม.ค. ใน 7 จังหวัด 17 คน ประกอบด้วย จ. ลำปาง เพชรบูรณ์ นครนายก สกลนคร จังหวัดละ 1 ราย จ.อุดรฯ 8 ราย นครราชสีมา 2 ราย และแพร่ 3 ราย และการเลือกตั้งวันที่ 27 ม.ค. มี 2 จังหวัด รวม 3 ราย คือ จ.ชัยนาท 2 ราย และปราจีนบุรี 1 ราย ซึ่งเมื่อเลือกตั้งแล้วเสร็จ กกต. ก็จะต้องพิจารณาว่า มีเรื่องร้องคัดค้านหรือไม่ เพราะตาม มาตรา 93 ของ รธน. ให้อำนาจ กกต. สามารถจัดการเลือกตั้งในกรณีที่พบว่า ว่าที่ ส.ส.ผู้นั้นมาจากการเลือกตั้งไม่สุจริต ได้ใน 180 วัน นับแต่วันเลือกตั้งที่ 23 ธ.ค50 ซึ่ง กกต.สามารถที่จะสั่งเลือกตั้งกี่ครั้งก็ได้

ส่วนในวันโหวตเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีจะมีส.ส.ครบ 480 คนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะโหวตเมื่อไร เพราะถ้าการเลือกตั้งวันที่ 20 ม.ค.และ 27 ม.ค. ไม่มีการร้องคัดค้าน ก็จะสามารถประกาศได้ทันที แต่ถ้ามีการร้องคัดค้าน ก็จะไม่สามารถประกาศได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อ ส.ส.ที่ กกต.ประกาศรับรองเพิ่ม 29 คนนั้น ในจำนวนนี้ 21 คน ที่ยังมีเรื่องร้องเรียนประกอบด้วย พรรคพลังประชาชน 19 คน คือ 1.นาย ยงยุทธ ติยะไพรัช ว่าที่ ส.ส.กลุ่ม 1 2.นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ว่าที่ ส.ส.กลุ่ม 3 3.น.ส.ละออง ติยะไพรัช 4.นายอิทธิเดช แก้วหลวง เขต 3 เชียงราย 5.นายทรงศักดิ์ ทองศรี เขต 2 บุรีรัมย์ 6.นายเอี่ยม ทองใจสด 7.นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ 8.นายสุรศักดิ์ อนรรฆพันธ์ เขต 2 เพชรบูรณ์ 9.นายพีรพันธ์ พาลุสุข เขต 2 ยโสธร 10.นายธีระทัศน์ เตียวเจริญโสภา 11.นางมะลิวัลย์ ธัญญสกุลกิจ 12.นายเลิศศักดิ์ ทัศนเศรษฐ เขต 3 สุรินทร์ 13.นายเสรี สาระนันท์ 14.นายจุมพฎ บุญใหญ่ เขต 2 สกลนคร 15. นายยุทธพงษ์ แสงสี 16. นายเชิดพงศ์ ราชป้องขันธ์ 17.นายไตรรงค์ ติธรรม เขต 2 หนองคาย 18. นายศุภชัย โพธิสุ 19. นพ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ เขต 1 นครพนม

พรรคเพื่อแผ่นดิน 2 คน คือ 20.ประนอม โพธิ์คำ 21.นางจิตวรรณ หวังศุภกิจโกศล เขต 2 นครราชสีมา

ส่วนที่ กกต.ยกคำร้องก็ คือ 22.นาย นิยม เวชกามา 23.นายทวีวัฒน์ ฤทธิ์ฤาชัย เขต 1 สกลนคร พรรคพลังประชาชน 24.นายนิรมิต สุจารี เขต 3 ร้อยเอ็ด พรรคพลังประชาชน และที่เลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ 17 ม.ค. คือ 25.นายณัฐวุฒิ สุขเกษม 26.นายมาโนช เฮงยศมาก 27.นายสมนึก เฮงวานิช เขต 1บุรีรัมย์ พรรคมัชฌิมาธิปไตย 28.นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ 29.นายประสิทธิ ชัยวิรัตนะ เขต 2 พรรคพลังประชาชน

ดังนั้นจากการประกาศรับรอง ส.ส.รวม 460 คนของ กกต. แยกเป็นพรรคพลังประชาชน 218 คน พรรคประชาธิปัตย์ 163 คน พรรคชาติไทย 34 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน 22 คน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 9 คน พรรคมัชฌิมาธิปไตย 9 คน และประชาราช 5 คน ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาล 6 พรรคการเมืองของพลังประชาชน ก็จะมีเสียงทั้งสิ้น 297 เสียง

กฤษฎีกายืนใบแดงที่ชัยนาท-อุดรฯ

ในวันเดียวกันนี้ คณะกรรมการตรวจสอบการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการพิจารณาสำนวนการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายมณเฑียร น.ส.นันทนา สงฆ์ประชา ว่าที่ ส.ส.เขต 1 พรรคชาติไทย นายประสพ บุษราคัม ว่าที่ ส.ส. เขต 3 พรรคพลังประชาชน จ.อุดรธานี โดยคณะกรรมการฯ เห็นชอบตามมติของ กกต.ที่สั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยใน จ.อุดรธานี คณะกรรมการฯ เห็นว่า กกต.ได้ฟังเทปการปราศรัยของนายประสพ ที่มีหลายข้อความมีลักษณะเป็นการกล่าวหา จูงใจ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครพรรคการเมืองอื่น ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบเห็นว่า กกต.ได้พิจารณาตามสำนวนหลักฐานที่มีอยู่ และวินิจฉัยไปตามนั้น ดังนั้นจึงเห็นชอบตามมติของ กกต.

ส่วนกรณี ว่าที่ ส.ส.พรรคชาติไทย จ.ชัยนาท นั้น กกต.ได้พิจารณาจากพฤติการณ์ที่ได้มีการกระทำขึ้น และปรากฏจากที่เจ้าหน้าที่ได้จับกุมได้ในขณะนั้นโดยมีหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องเงิน และรายชื่อบุคคล ซึ่งชี้ให้เห็นว่า มีการเตรียมการจ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และเมื่อได้มีการสืบพยานหลักฐานของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ก็พบว่ามีส่วนเกี่ยวโยงกับว่าที่ ส.ส.ทั้ง 2 คน ซึ่ง กกต.ได้พิจารณาตามพยานหลักฐาน ตามที่ปรากฏ ดังนั้นคณะกรรมการตรวจสอบฯ จึงเห็นว่าไม่ได้ปรากฏถึงความไม่เที่ยงธรรมในการพิจารณาของ กกต. จึงได้เห็นชอบตามมติของ กกต.ที่ได้สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

ศาลฎีกายืนยันใบแดง"ประสพ"

วานนี้ (18 ม.ค.) ที่ศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง สนามหลวง ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง คดีหมายเลขดำที่ ลต.6/2551 ที่ นายประสพ บุษราคัม อดีตผู้สมัคร ส.ส. เขต 3 จ.อุดรธานี พรรคพลังประชาชน ซึ่งถูก กกต. แจกใบแดง ยื่นคำร้องของให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติ กกต. ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของนายประสพ ผู้ร้อง และให้มีคำสั่งรับรองผลการเลือกตั้งให้นายประสพ ผู้ร้องเป็น ส.ส.เขต 3 จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.50 และให้มีคำพิพากษายกเลิกวันเลือกตั้งใหม่ ของเขต 3 จ.อุดรธานี ในวันที่ 20 ม.ค.51

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ร้องอ้างว่า กกต. ใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานไม่ถูกต้อง เป็นการร้องขอให้ศาล ตรวจสอบการใช้อำนาจ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ร้องก่อนประกาศผลการเลือกตั้งของ กกต. จึงไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณา และวินิจฉัยของศาลฎีกา ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจในการยื่นคำร้อง

ภายใน 28 ม.ค.ได้ข้อสรุปแจก“ซีดีแม้ว”

นายไพฑูรย์ เนติโพธิ์ ประธานคณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณี มีการแจกจ่ายวีซีดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในอีสาน และภาคเหนือ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการสอบสวนว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการฯ ได้สอบพยานบุคคลไปแล้วกว่า 10 ปาก รวมนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) ด้วย โดยบุคคลที่คณะอนุกรรมการฯ สอบสวนนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับการแจกซีดีในจังหวัดทางภาคเหนือ 5 จังหวัด และจังหวัดทางภาคอีสาน 5 จังหวัด ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการแข่งขันทางการเมืองค่อนข้างสูง โดยหลายคนปฏิเสธว่า ไม่รู้จักคนที่นำซีดีมาแจก และบางคนก็บอกว่า นำซีดีมาจากตลาด โดยมีคนนำซีดี มาวางไว้

“กระบวนการต่อจากนี้เราคงต้องสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติมอีกหลายปาก เพราะขณะนี้ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ อีกทั้งยังต้องนำเอกสารต่างๆ ที่จำเป็นมาประกอบการพิจารณาร่วมด้วย ซึ่งกระบวนการตรวจสอบครั้งนี้เราก็สอบสวนไปตามคนที่เปิดเกมให้สอบว่า การแจกซีดีดังกล่าวทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริต โดยหลังจากที่คณะอนุกรรมการฯ ได้ขอขยายเวลาจาก กกต.แล้วก็มีกำหนดที่ต้องสรุป และทำความเห็นเสนอต่อ กกต.ก่อนวันที่ 28 ม.ค.นี้”นายไพฑูรย์ กล่าว

กกต.กั้นเขตกันสื่อคอยหน้าห้องน้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำนักงาน กกต. โดยบริเวณหน้าประตูทางเข้าห้องทำงานของ กกต. และห้องประชุม กกต. ที่อยู่บริเวณชั้น 19 ของอาคารศรีจุลทรัพย์ ได้มีช่างติดฟิล์มกระจก นำแผ่นฟิล์มสีน้ำตาลขนาดประมาณ 50 ซ.ม. มาติดบริเวณประตูกระจก ทางเข้า

ซึ่งมีรายงานข่าวว่า เป็นคำสั่งของนางสดศรี สัตยธรรม กกต. ด้านกิจการพรรคการเมือง ได้ สั่งให้ฝ่ายพัสดุ กกต.ดำเนินการตั้งแต่ 3 วันที่ผ่านมาโดยการติดฟิล์มนี้ เป็นการ ติดตลอดบริเวณประตู ที่กั้นระหว่างห้อง กกต. และทางเข้า ซึ่งผู้สื่อข่าวจะปักหลักทำข่าวที่อยู่บริเวณนี้เป็นประจำ

ขณะที่ นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต. ด้านกิจการบริหารเลือกตั้ง กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องที่ กกต.สั่งให้ติดฟิล์ม และไม่ได้เป็น มติ กกต. ทั้งนี้ยืนยันว่าส่วนตัวไม่มีนโยบายให้ติดฟิล์มแน่นอน เพราะอาจะทำให้ ถูกครหาว่า ไม่โปร่งใส

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ การติดฟิล์มทึบ เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยที่ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน กกต. โดยเป็นช่วงที่ กกต.ชุดดังกล่าวถูกโจมตี และกดดัน อย่างหนักให้ลาออก ดังนั้นจึงตัดปัญหาที่ช่างภาพ พยายามเก็บภาพอยู่ตลอดเวลา ด้วยการนำฟิล์ม และม่าน มาติดกระจก เพื่อไม่ให้มองเห็นภายในห้องทำงาน กกต.ได้

อย่างไรก็ตาม ต่อมา กกต.ก็ได้ระงับคำสั่งให้ติดฟิล์มดังกล่าวเอาไว้ก่อน และนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. ได้มาขอทำความตกลงกับสื่อมวลชนว่า ไม่ให้ไปดักทำข่าวบริเวณหน้าห้องน้ำ โดยให้เหตุผลว่า ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย และทำให้ กกต.ไม่กล้าออกมาเข้าห้องน้ำ เพราะไม่ต้องการให้สัมภาษณ์ รวมทั้งพยานรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อเข้าชี้แจงต่อ กกต.

อย่างไรก็ตามได้เสนอแนวทางว่า ขอให้สื่อมวลชนนั่งรออยู่เฉพาะบริเวณห้องทำงานสื่อมวลชน และหากอยากสัมภาษณ์ผู้ใด ก็ให้ประสานไป และ กกต.จะเป็นผู้ลงมาพบ หรือหากไม่ลงมา ก็อาจจะมอบหมายให้คนอื่นลงมาแทน

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวพยายามชี้แจงว่าการที่ไปดักรอก็เพื่อต้องการทำข่าว และหาก รอการประสานงานเพื่อให้ กกต.ลงมาแถลงหรือมาให้สัมภาษณ์ โดยมากก็มักจะไม่ทันการณ์ หรือ กกต. ก็จะเลี่ยงไม่ลงมาตอบด้วยตนเอง ซึ่งบางคำถามถือเป็นดุลพินิจหรือความเห็นของ ตัว กกต. เองเท่านั้น ผู้อื่นไม่สามารถที่จะตอบแทนได้ อย่างไรก็ตาม แต่ท้ายที่สุด ก็มีข้อตกลงว่า จะให้ กกต. กั้นบริเวณตั้งแต่ประตูจนถึงทางเข้าห้องน้ำ เพื่อเปิดทางให้ กกต. เข้าห้องน้ำได้โดยสะดวก ซึ่ง กกต.จะให้สัมภาษณ์หรือไม่ ก็เป็นสิทธิของ กกต.ผู้นั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น