xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ปล่อยผี “ยุทธ ตู้เย็น” พร้อม 21 ส.ส.สีเทาเข้าสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุทธิพล ทวีชัยการ
กกต.รับรอง ส.ส.เพิ่มอีก 29 เป็น ส.ส.ที่ยังมีเรื่องร้องคัดค้านค้างอยู่ถึง 21 คน รวม “ยุทธ ตู้เย็น” อ้างหากกักไว้บางคนจะโดนข้อหาเลือกปฏิบัติ ต้องรับรองยกเข่งไปก่อน รอสอยที่หลังได้ ส่งผลให้สภามี ส.ส.รวม 460 คน ครบเกณฑ์เปิดประชุมสภาได้แล้ว

วันนี้ (18 ม.ค.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.แถลงภายหลังการประชุม กกต.ว่า ที่ประชุม กกต.ได้มีการพิจารณาในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการประกาศรับรองผลและมีมติให้ประกาศรับรองผลเพิ่มเติมจำนวน 29 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นว่าที่ ส.ส.ที่ กกต.ยังพิจารณาเรื่องร้องคัดค้านไม่แล้วเสร็จ 21 ราย และอีก 8 ราย เป็นกรณีของการยกเรื่องร้องคัดค้าน รวมถึงที่เลือกตั้งใหม่ที่ จ.ชัยภูมิ และ บุรีรัมย์ ซึ่งการประกาศรับรองเป็นมติเอกฉันท์ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 8 ประกอบมาตรา 116 และมาตรา 111 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ดังนั้น จนถึงขณะนี้ กกต.ประกาศรับรอง ส.ส.แล้วจำนวน 460 คน โดยจะแจ้งไปยังสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบเพื่อดำเนินการเรื่องของการเปิดประชุมสภานัดแรก ซึ่ง ส.ส.ที่ กกต.มีมติรับรองเพิ่มเติมให้มารับใบรับรองการเป็น ส.ส.ในวันเสาร์-อาทิตย์ นี้

ส่วนเหตุที่ กกต.ไม่เลือกใช้อำนาจในการที่จะไม่ประกาศ ส.ส.ที่ยังมีเรื่องคัดค้าน ก็เพราะมาตรา 8 มาตรา 116 และ 111 ได้เขียนรับกันไว้ว่า ในกรณีที่ กกต.ไม่สามารถดำเนินการสืบสวนสอบเรื่องร้องคัดค้านให้แล้วเสร็จก่อนการประกาศรับรองผล หลังการประกาศรับรองผลแล้วหากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งมา ได้รับการเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริต และสมควรสั่งเลือกตั้งใหม่หรือสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก็ให้ กกต.ดำเนินการร้องต่อศาลฎีกา และถ้าศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้อง ส.ส.ผู้นั้นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา โดยหากต่อมาศาลเห็นว่าผู้นั้นทำผิดจริงก็จะสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งสำนวนร้องคัดค้านที่ กกต.ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ 21 รายนั้น มีหลายสำนวนที่อยู่ในระหว่าง กกต.สั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม บางเรื่องอาจจะยกคำร้อง แต่ถ้ามีมูล กกต.ก็จะเร่งดำเนินการเสนอไปยังศาลฎีกา โดยตามกฎหมายบัญญัติให้การใช้ดุลพินิจของศาลฎีกาเป็นไปในทำนองเดียวกับ กกต.คือ ใช้หลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า บุคคลนั้นได้รับการเลือกตั้งโดยไม่สุจริต ไม่ต้องใช้การพิสูจน์จนถึงขั้นปราศจากข้อสงสัย

“ขณะนี้มีหลายสำนวนที่ยังอยู่ในการสอบสวนเพิ่มเติม กกต.ก็เห็นว่า ถ้าให้ กกต.ใช้ดุลพินิจว่าจะรับรองเฉพาะคนนั้น หรือไม่รับรองคนนี้ โดยที่พยานหลักฐานต่างๆ ยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าผู้นั้นสมควรจะถูกสั่งเลือกตั้งใหม่หรือสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กกต.ก็อาจจะถูกกล่าวหาว่าใช้ดุลยพินิจโดยเลือกปฏิบัติ ดังนั้น กกต.จึงเห็นว่าแม้ กกต.จะประกาศรับรองว่าที่ ส.ส.ว่าที่ส.ส.ไปก่อนก็ไม่มีผลกระทบกับสำนวนที่มีการร้องคัดค้านที่ กกต.ดำเนินการอยู่ให้ต้องยุติไป”

เมื่อถามว่า การประกาศรับรองไปก่อนรวมถึง นายยงยุทธ ติยะไพรัช ว่าที่ ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม 1 พรรคพลังประชาชน หาก นายยงยุทธ ได้เป็นประธานสภา แล้วผลการสอบสวนพบว่ามีความผิดจะทำอย่างไร นายสุทธิพล กล่าวว่า ในที่ประชุมไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ แต่ตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว ถ้าหลังประกาศรับรองผล พบว่า ผู้นั้นได้รับการเลือกตั้งจากการไม่สุจริต กกต.ก็ต้องไปร้องต่อศาลฎีกา ซึ่งขณะนี้อนุกรรมการสืบสวนสอบสวนฯ ที่มี นายสุวิทย์ ธีระพงศ์ เป็นประธานก็ยังคงเดินหน้าสืบสวนสอบสวนอยู่ ดังนั้น ส่วนตัวเชื่อว่า กกต.คงไม่อนุญาตให้นายวิจิตร ยอดสุวรรณ ผู้ร้องคัดค้านนายยงยุทธถอนคำร้อง เพราะมิเช่นนั้น นายสุวิทย์ คงไม่ลงพื้นที่เดินหน้าสอบต่อ

นายสุทธิพล ยังกล่าวด้วยว่า ส่วนการเลือกตั้งใหม่ตามที่ กกต.สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและสั่งเลือกตั้งใหม่นั้น (ให้ใบแดง-ใบเหลือง) ขณะนี้เหลือ 20 ราย โดยจะมีการเลือกตั้งใหม่ 2 ครั้ง คือ วันที่ 20 ม.ค.ใน 7 จังหวัด 17 คน ประกอบด้วย จ.ลำปาง จ.เพชรบูรณ์ จ.นครนายก จ.สกลนคร จังหวัดละ 1 ราย จ.อุดรธานี 8 ราย จ.นครราชสีมา 2 ราย และแพร่ 3 ราย และการเลือกตั้งวันที่ 27 ม.ค.จำนวน 2 จังหวัด รวม 3 ราย คือ จ.ชัยนาท 2 ราย และปราจีนบุรี 1 ราย ซึ่งเมื่อเลือกตั้งแล้วเสร็จ กกต.ก็จะต้องพิจารณาว่า มีเรื่องร้องคัดค้านหรือไม่ เพราะตามมาตรา 93 ของรัฐธรรมนูญให้อำนาจ กกต.สามารถจัดการเลือกตั้งในกรณีที่พบว่า ว่าที่ ส.ส.ผู้นั้นมาจากการเลือกตั้งไม่สุจริต ได้ใน 180 วัน นับแต่วันเลือกตั้งที่ 23 ธ.ค.2550 ซึ่ง กกต.สามารถที่จะสั่งเลือกตั้งกี่ครั้งก็ได้

ในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะมี ส.ส.ครบ 480 หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะโหวตเมื่อไหร่ เพราะถ้าการเลือกตั้งวันที่ 20 และ 27 ม.ค.ไม่มีการร้องคัดค้านก็จะสามารถประกาศได้ทันที แต่ถ้ามีการร้องคัดค้านก็จะไม่สามารถประกาศได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อ ส.ส.ที่ กกต.ประกาศรับรองเพิ่ม 29 คนนั้น ในจำนวนนี้ 21 คนที่ยังมีเรื่องร้องเรียน ประกอบด้วย พรรคพลังประชาชน 19 คน คือ 1.นายยงยุทธ ติยะไพรัช ว่าที่ ส.ส.กลุ่ม 1 2.นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ว่าที่ ส.ส.กลุ่ม 3 3.น.ส.ละออง ติยะไพรัช 4. นายอิทธิเดช แก้วหลวง เขต 3 เชียงราย 5. นายทรงศักดิ์ ทองศรี เขต 2 บุรีรัมย์ 6. นายเอี่ยม ทองใจสด 7.นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ 8.นายสุรศักดิ์ อนรรฆพันธ์ เขต 2 เพชรบูรณ์ 9. นายพีรพันธ์ พาลุสุข เขต 2 ยโสธร 10.นายธีระทัศน์ เตียวเจริญโสภา 11.นางมะลิวัลย์ ธัญญสกุลกิจ 12.นายเลิศศักดิ์ ทัศนเศรษฐ เขต 3 สุรินทร์ 13. นายเสรี สาระนันท์ 14.นายจุมพฎ บุญใหญ่ เขต 2 สกลนคร 15. นายยุทธพงษ์ แสงสี 16.นายเชิดพงศ์ ราชป้องขันธ์ 17.นายไตรรงค์ ติธรรม เขต 2 หนองคาย 18. นายศุภชัย โพธิสุ 19.น.พ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ เขต 1 นครพนม เพื่อแผ่นดิน 2 คน คือ 20.นายประนอม โพธิ์คำ 21.นางจิตวรรณ หวังศุภกิจโกศล เขต 2 นครราชสีมา

ส่วนที่ กกต.ยกคำร้อง ก็คือ 1.นายนิยม เวชกามา 2.นายทวีวัฒน์ ฤทธิ์ฤาชัย เขต 1 สกลนคร พรรคพลังประชาชน 3.นายนิรมิต สุจารี เขต 3 ร้อยเอ็ด พรรคพลังประชาชน และที่เลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ 17 ม.ค. คือ 1.นายณัฐวุฒิ สุขเกษม 2.นาย มาโนช เฮงยศมาก 27.นายสมนึก เฮงวานิช เขต 1 บุรีรัมย์ พรรคมัชฌิมาธิปไตย 28.นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ 29.นายประสิทธิ ชัยวิรัตนะ เขต 2 พรรคพลังประชาชน

ดังนั้น จากการประกาศรับรอง ส.ส.รวม 460 คนของ กกต.แยกเป็นพรรคพลังประชาชน 218 คน พรรคประชาธิปัตย์ 163 คน พรรคชาติไทย 34 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน 22 คน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 9 คน พรรคมัชฌิมาธิปไตย 9 คน และประชาราช 5 คน ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาล 6 พรรคการเมืองของพลังประชาชน ก็จะมีเสียงทั้งสิ้น 297 เสียง
กำลังโหลดความคิดเห็น