ศาลฎีกานัดพิพากษา “ ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ” ร้องเพิกถอนเลือกตั้งล่วงหน้า กรณี พลังประชาชน เป็นนอมินี ไทยรักไทย 18 ม.ค.นี้ สี่โมงเย็น “ พปช. – สมัคร ” ยื่นคัดค้าน ระบุ ปชป. ต้องการขวางตั้งรัฐบาล ยกกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ฯ ไม่ให้อำนาจยื่นคำร้องศาลฎีกา ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อกฎหมายอีกครั้ง
วันนี้( 15 ม.ค.)เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ศาลฎีกา สนามหลวง ศาลนัดพิจารณาคดีเลือกตั้งหมายเลขดำ ที่ ลต.1/2551 ระหว่างนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ร้อง กับ คณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งคณะ , พรรคพลังประชาชน , นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน , นายประสิทธิ์ ตั้งศรีเกียรติกุล และนายสนอง เทพอักษรณรงค์ ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 3 พรรคพลังประชาชน ผู้ร้องคัดค้าน ที่นายไชยวัฒน์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่ง 1.ให้พรรคพลังประชาชนนอมินีพรรคไทยรักไทย ที่ไม่มีสิทธิส่งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคพลังประชาชนทั้งระบบสัดส่วน และระบบเขต เป็นโมฆะ 2.ให้นายสมัคร หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ที่เป็นตัวแทนของอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ไม่มีสิทธิลงนามส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และการลงนามส่งผู้สมัครรับเลือดตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ 3.ให้ศาลมีคำพิพากษาว่าการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 15 -16 ธ.ค.50 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เพิกถอนการเลือกตั้งล่วงหน้า รวมทั้งการนำเอาบัตรลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าไปนับรวมคะแนนเสียง โดยให้เพิกถอนการนับคะแนนเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ทั้งหมด แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และ 4.ขอมีคำพิพากษาว่า การแจกซีดีกับประชาชนเป็นการทำผิดกฎหมาย ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม และห้ามไม่ให้ กกต. ประกาศรับรองผลทั่วประเทศ หรือเพิกถอนการประกาศรับรองผล การเลือกตั้งของผู้สมัครพรรคพลังประชาชน
โดยวันนี้นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ ทนายความฝ่ายนายสมัคร และพรรคพลังประชาชน ผู้ร้องคัดค้านที่ 6-7 ยื่นคำให้การคัดค้านคดีนี้ พร้อมยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย อำนาจการฟ้องของนายไชยวัฒน์ และอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาในคดีเลือกตั้ง ซึ่งศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การวินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้น ศาลสามารถพิจารณาได้โดยไม่ต้องไต่สวนพยานบุคคลอีก แล้วจึงสอบถามฝ่ายนายไชยวัฒน์ ผู้ร้อง และฝ่าย กกต. ผู้ร้องคัดค้านที่ 1-5 ซึ่งมีนายณัฐศักดิ์ สุวรรณทวีสุข ผู้อำนวยการฝ่ายคดีของ กกต. เป็นตัวแทน ว่า มีเอกสารที่จะยื่นเพิ่มเติมหรือไม่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริทนายความผู้ร้อง จึงได้ ยื่นเอกสารเพิ่มเติม 53 อันดับ ประกอบด้วยหนังสือพิมพ์ ซีดี และเอกสารสรุปเรื่องที่เกี่ยวกับการฟ้องคดี ขณะที่ฝ่าย กกต. ไม่ยื่นเอกสารเพิ่มเติม โดยยืนยันตามคำให้การคัดค้านตามเอกสารที่ยื่นต่อศาลแล้ว โดยศาลรับเอกสารไว้พิจารณา และมีคำสั่งให้ฝ่ายผู้ร้อง และผู้ร้องคัดค้าน 1-9 ยื่นคำแถลงประกอบคำร้อง และคำร้องคัดค้านภายในวันที่ 17 ม.ค.นี้ โดยศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 18 ม.ค. เวลา 16.00 น.
ภายหลัง นายชูศักดิ์ สิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย ถ้าพิจารณาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.พ.ศ. 2550 คดีนี้นายไชยวัฒน์ ผู้ร้องต้องการจะคัดค้านการเลือกตั้งก่อนการประกาศรับรองผล ส.ส.จะต้องไปยื่นคำร้องต่อ กกต. แต่ถ้าหลังประกาศผลแล้วเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา จึงเห็นว่าการฟ้องคดีต้องเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยปัญญาข้อกฎหมายนี้ อยู่ที่ดุลยพินิจของศาล
ขณะที่นายณัฐศักดิ์ สุวรรณทวีสุข ผู้อำนวยการฝ่ายคดี กกต. กล่าวว่า ในส่วนของ กกต.ได้ยื่นคำให้การคัดค้านต่อศาลไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งยื่นยันอำนาจจัดการเลือกตั้งของ กกต.เป็นไปโดยชอบตามรัฐธรรม และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ส่วนที่ศาลจะมีคำวินิจฉัยในประเด็นนอมินี ที่ผ่านมานายไชยวัฒน์ ไม่เคยได้ไปยื่นร้องคัดค้านกับ กกต.มาก่อน
ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ทนายความนายไชยวัฒน์ กล่าวว่า มั่นใจในหลักฐานและพยานเอกสารที่ยื่นต่อศาลไปแล้ว ทั้งซีดีคำกล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ สิ่งพิมพ์ต่างๆที่นำเสนอข่าวนายสมัคร ให้สัมภาษณ์ว่าเป็นนอมินีของไทยรักไทย ทั้งนี้ถ้าศาลจะมีคำพิพากษาอย่างไรก็พร้อมจะยอมรับ ส่วนที่ศาลไม่ไต่สวนพยานบุคคลถือว่าเป็นเรื่องที่สามารถดำได้เพราะศาลได้พิจารณาแล้วว่าพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาพิพากษาได้ โดยตนยืนยันว่าทุกอย่างที่ทำไปทำดีที่สุดแล้ว
ขณะที่นายไชยวัฒน์ กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหัวหน้าพรรค ขอให้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีว่า ส่วนตัวยังไม่ได้มีการพูดคุยกับนายอภิสิทธิ์ ประกอบกับศาลได้นัดฟังคำสั่งของนายสราวุท ทองเพ็ญ อดี่ตผู้สมัตร ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม 3 พรรคความหวังใหม่ ในวันที่ 18 มกราคม เวลา 15.00 น.อยู่แล้ว ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่กี่วัน ประกอบกับศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีที่ตนยื่นฟ้องในวันและเวลาใกล้เคียงกัน ดังนั้นตนจึงขอฟังคำสั่งและคำพิพากษาของศาลทั้งสองคดีดังกล่าวก่อนเพื่อให้เกิดความชัด จึงยังไม่ยื่นขอถอนฟ้อง เรื่องนี้ตนเชื่อว่านายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคซึ่งเป็นผู้ใหญ่ จะมีความเข้าใจและไม่ทำให้เกิดปัญหาภายในพรรค โดยในช่วงบ่ายจะเดินทางเข้าพบกับนายอภิสิทธิ์ เพื่ออธิบายให้เข้าใจอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคำให้การคัดค้านและคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายที่พรรคพลังประชาชนยื่นต่อศาล 30 หน้า นั้น สรุปว่า พรรคพลังประชาชน และ นายสมัคร หัวหน้าพรรค ผู้ร้องคัดค้านที่ 6-7 เห็นว่า คำร้องของนายไชยวัฒน์ ที่ขอให้ศาลพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งสมาชิกพรรคลงเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชนทั้งระบบสัดส่วนและระบบเขต เป็นโมฆะ และขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งล่วงหน้า รวมทั้งเพิกถอนการนับคะแนนในการเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค.ทั้งหมด และเพิกถอนการประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคพลังประชาชนทั่วประเทศ แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้น อำนาจในการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพี่อให้วินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้น กกต. เท่านั้นที่มีอำนาจที่ยื่นต่อศาลฎีกาได้ ซึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฯ มาตรา 111 ระบุว่า ในกรณีที่มีการประกาศผลรับรองการเลือกตั้งแล้ว ถ้า กกต. เห็นว่าสมควรให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย
ดังนั้นคดีนี้ที่ผู้ร้องโต้แย้งคัดค้านว่าพรรคพลังประชาชนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และการเลือกตั้งเป็นไปโดยมิชอบนั้น ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 3 มีอำนาจที่จะดำเนินได้เฉพาะตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฯ มาตรา 39-40, 44 และ 114 เท่านั้นที่จะยื่นคำร้องต่อ กกต. ในการคัดค้านคุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงเลือกตั้ง รวมทั้งการคัดค้านว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง แต่ผู้ร้องกลับไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนในกฎหมาย โดยนำคำร้องมายื่นต่อศาลฎีกาโดยตรง ซึ่งศาลฎีกาไม่มีอำนาจที่จะรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยได้ และเมื่อผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิ และอำนาจใด นำคำร้องยื่นต่อศาลฎีกา รวมทั้งคำร้องของผู้ร้องไม่ชอบด้วยระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยวิธีพิจารณาและวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2550 ข้อ 6 (2) ซึ่งกำหนดไว้ว่า คำร้องต้องระบุเรื่องอันเป็นเหตุให้ต้องใช้สิทธิ ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเหตุผลสนับสนุนโดยชัดแจ้งและมาตราของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเหตุในคำร้อง ดังนั้นหากศาลฎีกาจะรับคำร้องไว้วินิจฉัย ผู้สมัครลงเลือกตั้ง หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฯ ซึ่งบทบัญญัติเหล่านั้นจะกลายเป็นหมันสิ้นสภาพบังคับไปโดยปริยาย
ส่วนที่ผู้ร้องกล่าวหาว่า พรรคพลังประชาชน ผู้ร้องคัดค้านที่ 6 เป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทย และนายสมัคร หัวหน้าพรรค ผู้ร้องคัดค้านที่ 7 เป็นนอมินี ของหัวหน้าพรรคไทยรักไทยนั้น ผู้ร้องไม่ได้กล่าวในคำร้องว่า นอมินี คืออะไร ผิดกฎหมายอย่างไร และการกระทำอย่างไรจึงเรียกว่า นอมินี ผู้ร้องคัดค้านจึงเห็นว่าเป็นคำร้องที่เคลือบคลุม โดยผู้ร้องคัดค้านที่ 6-7 ยืนยันว่า พรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน แยกต่างห่างจากกัน และต่างดำเนินกิจการทางการเมืองของตนเองมาโดยตลอด โดยโครงสร้างพรรคก็แตกต่างจากพรรคไทยรักไทย ซึ่งนายสมัคร ผู้ร้องคัดค้านที่ 7 ไม่เคยเป็นสมาชิกหรือกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งพรรคไทยรักไทยสิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมืองแล้วตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.50 ที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรค
นอกจากนี้ที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาก็ภายหลังจากที่ทราบผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. แล้ว ซึ่งทราบว่าผู้ร้องไม่ได้รับเลือกตั้งในเขต 3 บุรีรัมย์ โดยทราบว่าพรรคพลังประชาชน ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เป็นจำนวนมากที่สูดถึง 233 คนและมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเหตุที่ผู้ร้องระบุในคำร้องนี้ ผู้ร้องสามารถยื่นคัดค้านต่อ กกต. ได้ก่อนวันเลือกตั้งทั่วไปได้อยู่แล้ว แต่กลับไม่ดำเนินการ กระทั่งเมื่อรู้ว่าแพ้เลือกตั้ง จึงหาเหตุมายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อล้มการเลือกตั้งและต้องการขัดขวางไม่ให้พรรคพลังประชาชนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โดยมุ่งหวังให้พรรคการเมืองที่ผู้ร้องสังกัดสามารถดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลแทนได้ พฤติการณ์ของผู้ร้องดังกล่าวจึงเป็นการขัดขวางต่อการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตย และทำลายเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการให้พรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ