xs
xsm
sm
md
lg

ใช้คนให้ถูกกับงาน (Put the right man on the right job)

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจได้และพยายามสรรหาบุคคลมาร่วมคณะรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ได้อ้างนักปรัชญาจีนโบราณคือขงจื้อว่า “ต้องใช้คนให้ถูกกับงาน (Put the right man on the right job)” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้ปกครองต้องชาญฉลาดในการมองเห็นว่างานชนิดใดเหมาะกับคนประเภทใด โดยดูจากบุคลิกภาพ อุปนิสัย ทักษะ และศักยภาพ แต่ปัญหาก็คือการใช้คนให้ถูกกับงานนั้นผู้ใช้จะต้องเป็นผู้ซึ่งเหมาะสมกับงานตั้งแต่ต้นจึงจะสามารถเลือกคนที่เหมาะสมกับงานมาช่วยบริหารประเทศ

ถ้าเป็นกรณีซึ่งผู้อยู่ในฐานะที่จะใช้คนให้ถูกกับงานเป็นคนที่ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการที่อยู่ในฐานะเลือกสรรคนเข้ามาทำงาน คำถามนี้ก็จะเป็นหมัน ดังเช่นที่กล่าวได้ในภาษาอังกฤษว่า Put the right man on the right job, yes. But what if the man who is in a position to put the right man on the right job is the wrong man himself?

การใช้คนให้ถูกกับงานจึงขึ้นอยู่กับปรัชญาของผู้นำ สถานการณ์ของบ้านเมืองในขณะนั้น รวมทั้งมีทางเลือกจากกลุ่มคนที่มีคุณสมบัติ ถ้าขาดคนซึ่งมีคุณสมบัติก็ไม่สามารถจะใช้คนให้ถูกกับงานได้ จนบางครั้งอาจต้องหาคนต่างชาติมาทำงานแทน เช่นในยุคปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2435 อธิบดีบางกรมต้องอาศัยคนต่างชาติ งานหลายอย่างต้องมีที่ปรึกษา ทั้งชาวอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และเดนมาร์ก

คนบางคนมีคุณสมบัติเหมาะทำงานในสภาวะปกติ แต่เมื่อใดที่เกิดภาวะวิกฤตต้องใช้ความกล้าหาญเด็ดขาดในการแก้ปัญหา คนนั้นก็จะกลายเป็นคนที่ไม่เหมาะสมกับงานในฉับพลัน ในยามที่สังคมแตกแยกต้องการสร้างความสามัคคีและสมานฉันท์ ก็ต้องอาศัยบุคคลอันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และพร้อมที่จะออมชอมเพื่อการสมานฉันท์ ในยามที่ต้องมีการติดต่อกับต่างประเทศทั้งในการทูต การค้า และการเมือง ก็ต้องอาศัยผู้นำที่มีความรู้ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ระดับนานาชาติ ไม่ใช่ผู้นำตกยุค ล้าหลัง ไม่ทันการณ์ ซึ่งก็มีปรากฏให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว

ในแง่การใช้คนให้ถูกกับงานนี้ ในยุคปัจจุบันถ้าเป็นระดับผู้นำสูงสุดภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดีเช่นที่สหรัฐอเมริกา ก็จะใช้วิธีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยมีการคัดเลือกเป็นลำดับตั้งแต่การคัดเลือกจากพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และมีการแข่งขันกันภายในพรรคโดยให้มีการลงคะแนนเสียงในรัฐที่กำหนดขึ้น ที่เรียกว่า Primary Elections ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ จากนั้นก็ให้ประชาชนทั้งประเทศเลือกผู้นั้นเป็นผู้นำ โดยส่วนใหญ่จะต้องเป็นผู้นำที่สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ที่สำคัญที่สุดคือเกี่ยวข้องกับสันติภาพ เช่น การถอนทหารจากเวียดนาม การถอนทหารจากอิรัก หรือเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การลดภาษี การมีสวัสดิการ การช่วยเหลือเด็ก คนชรา การประกันสังคม การแก้ไขดุลการค้าระหว่างประเทศ การแก้ปัญหาอาชญากรรม ฯลฯ

ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอังกฤษจะมองประเด็นไปที่พรรคการเมืองและนโยบายของพรรค รวมทั้งผู้นำทางการเมืองด้วย พรรคการเมืองนั้นคนจำนวนหนึ่งเป็นสมาชิกถาวรถึงอย่างไรก็จะเลือกพรรคนั้น ส่วนนโยบายที่พรรคเสนอขึ้นมาก็ย่อมขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และเช่นเดียวกับระบบประธานาธิบดี การเป็นผู้นำย่อมขึ้นอยู่กับตัวบุคคลว่ามีบุคลิกภาพอย่างไร เสนอทางออกให้กับประเทศอย่างไรบ้าง ซึ่งในส่วนนี้ความมีเสน่ห์และเป็นที่นิยมชมชอบจนบางครั้งถึงกับเชื่อว่ามีคุณสมบัติพิเศษคือบุญญาธิการ (charisma) ก็จะเป็นตัวเสริมอย่างมากในการเป็นผู้นำเกี่ยวกับการเป็นผู้นำและความเหมาะสมกับงานหรือภารกิจนั้น ในสมัยโบราณก็มีหลักการกำหนดตัวผู้นำ หรือการเลือกตัวผู้นำที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับงาน เช่นที่กล่าวไว้ในราชนีติ โดยจะขอยกมาให้เห็นเป็นตัวอย่างข้างล่างนี้

คุณสมบัติของบุคคลที่กำหนดในราชนีติมีดังต่อไปนี้ คือ

บุคคลผู้มีตระกูล มีศีลจารวัตร มีสัตย์ มีธรรม มีปัญญาดี มีศีลดี มีหลักดี เป็นคนขยัน มีความเหมาะสมเป็นผู้พิพากษา

บุคคลผู้ที่เกิดในตระกูลซื่อตรง ฝึกฝนชำนิชำนาญการเงิน รู้จักรัตนะทุกชนิด มีกรรมสะอาด ไม่เคยพลาดพลั้ง เป็นผู้ดี มีความเหมาะสมเป็นนายคลัง

บุคคลผู้ที่รู้จักคนเก่า-คนใหม่ มีกำลัง ใครเห็นใครชม มีกรรมสะอาด อดทนความลำบากได้ เอาใจใส่การงาน มีความเหมาะสมเป็นนายประตู

บุคคลที่มีปัญญา รู้จักพูด แกล้วกล้า รู้ใจผู้อื่น มีอัธยาศัย ละเมียดละไม รู้พูดที่ควรไม่ควร มีความเหมาะสมเป็นทูต

บุคคลที่สามารถกำหนดจำคำคนอื่นได้ในคราวเดียวจดได้ไว ลายมืองาม มีความเฉียบแหลม ฉลาดพูด ขยัน มีความเหมาะสมเป็นอาลักษณ์หรือเลขา

บุคคลผู้รู้ตำราพิชัยสงคราม รู้จักผ่อนปรนพาหนะมิให้ลำบาก มีความแกล้วกล้าอาจหาญ มีความเหมาะสมเป็นแม่ทัพ

บุคคลผู้สืบตระกูลคนครัวมาแต่ชั้นทวด ขยัน รู้ตำราทำกับข้าว ปรุงอาหารได้พอเหมาะ ทำครัวอยู่เสมอ รู้จักจับจ่าย มีความเหมาะสมเป็นวิเศษเครื่องต้น

บุคคลที่รู้คัมภีร์อายุรเวท ขยัน ชำนาญศัลยกรรม น่ารัก น่านิยม ทรงคุณจรรยาแพทย์อย่างดี มีความเหมาะสมเป็นแพทย์

บุคคลผู้รู้จักใจคน การงานสะอาด ขยัน ตั้งอยู่ในธรรม รู้วิชามาก ไม่มักได้ ระมัดระวังรอบคอบ มีความเหมาะสมเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดองค์พระมหากษัตริย์

บุคคลผู้รู้คัมภีร์เวท และเวทศาสตร์ ขวนขวายในมนตรา ทำพิธีบูชาบวงสรวง มีเมตตา สูงอายุ มีความเหมาะสมเป็นปุโรหิต

บุคคลผู้รักษาอินทรีย์สภาพดี ฉลาดในภาษาต่างๆ ยินดีแต่สิ่งที่ชอบ คอยรับใช้เฉพาะพระพักตร์ แตกฉานในศิลปะต่างๆ สมบูรณ์ด้วยตระกูลและมารยาท มีความเกรงกลัว มีความเหมาะสมเป็นผู้ให้อยู่ในพระราชมณเฑียร

นี่คือคุณสมบัติของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในราชนีติ ซึ่งพระราชาผู้ครองแคว้นสามารถจะเลือกได้ แต่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยประชาชนจะเป็นผู้เลือก แต่ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ผู้เสนอตัวให้เลือกมีจำนวนจำกัด อยู่ที่พรรคการเมืองจะเสนอมา และเมื่อการเลือกตั้งผ่านไปแล้วการได้มาซึ่งฝ่ายบริหารประชาชนไม่มีสิทธิ์หรือมีส่วนในการเลือกแม้แต่น้อย ดังนั้น คุณสมบัติต่างๆ อาจจะผิดรูปผิดฝา ที่สำคัญที่สุดคือคุณสมบัติเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และจริยธรรม ระบบการเมืองจึงมุ่งไปที่การควบคุมและตรวจสอบ เมื่อระบบการควบคุมและตรวจสอบทำงานไม่ได้ผล เจตนารมณ์ของระบอบการปกครองที่ดีก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้

ข้อสังเกตก็คือคุณสมบัติหลายส่วนที่กล่าวมาในสมัยโบราณนั้น บางส่วนก็อาจจะล้าสมัย แต่หลายส่วนก็มีลักษณะอกาลิโกสามารถใช้ปรับกับยุคปัจจุบันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น