“วีระ สมความคิด”เตรียมยื่นผู้ตรวจการฯ รัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “สมัคร” ขาดคุณสมบัติเป็นนายกฯ ตาม รธน.มาตรา 174 เหตุเคยถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานหมิ่นประมาทอดีตรองผู้ว่าฯ กทม.
นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่น เปิดเผยในรายการ “รู้ทันประเทศไทย” ทาง เอเอสทีวี วันที่ 28 ม.ค. ภายหลังจากนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนได้รับเลือกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นนายกรัฐมนตรีว่า หลังจากนี้ ถือว่านายสมัครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอนแล้ว เพราะฉะนั้นตนจึงสามารถยื่นร้องให้มีการวินิจฉัยคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายสมัครได้ โดยจะยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เพื่อเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยต่อไป
“ผมเชื่อว่าคุณสมัครขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก่อนหน้านี้เขายังไม่ได้เป็น มาตอนนี้เขาจะได้เป็นนายกฯ แล้ว ผมจึงมีสิทธิ์ที่จะยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยคุณสมบัติของคุณสมัคร ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติ คุณสมัครต้องพ้นจากตำแหน่งทันที”นายวีระ กล่าว
นายวีระกล่าวต่อว่า ประเด็นคุณสมบัติของนายสมัครนั้นประชาชนไม่มีสิทธิยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่สามารถยื่นต่อผู้ตรวจการได้ในฐานะประชาชน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินฯ จะตรวจสอบดูหากเห็นว่าเข้าองค์กระกอบ และอยู่ในอำนาจหน้าที่ ก็จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
นายวีระ เคยเปิดเผยในรายการ “รู้ทันประเทศไทย” ทาง เอเอสทีวี เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2550ว่า นายสมัคร ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 174 ที่ได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนที่จะเป็นรัฐมนตรี โดยใน (5) ของมาตราดังกล่าวได้ระบุว่า ต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีก่อนได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
ขณะที่นายสมัครนั้น เคยถูกคำพิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีหมิ่นประมาทนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 เม.ย.2550 ที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียดข่าว “สมัคร-ดุสิต” ติดคุก 24 เดือน! ไม่รอลงอาญา)
การถูกคำพิพากษาจำคุกดังกล่าว ถือว่านายสมัครขาดคุณสมบัติแล้ว จะอ้างว่าคดียังไม่ถึงที่สุดไม่ได้ เพราะถ้าให้คดีถึงที่สุดจึงจะขาดคุณสมบัติ ก็จะต้องระบุให้ชัดเจน เหมือนกับกรณีคุณสมบัติ ส.ส.ในมาตรา 106(11) ที่ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
นอกจากนี้ คดีที่นายสมัครถูกสั่งจำคุกนั้น ก็ไม่ใช่ความผิดโดยประมาท เพราะเป็นการจงใจพูดให้คนอื่นเสียหาย รวมทั้งไม่ใช่ความผิดลหุโทษซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
คดีของนายสมัครยังสามารถเทียบเคียงได้กับคดีนายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา ในความผิดฐานใช้อำนาจสั่งพักงานอดีตรองผู้อำนวยการบริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด (บทด.) โดยมิชอบ ทำให้ขาดจากความเป็นรัฐมนตรีทันที (อ่านข่าว“สมหมาย ภาษี” ติดคุก 2 ปี พ้นสภาพรัฐมนตรี-ลั่นอุทธรณ์สู้)
นอกจากนี้ หากนายสมัคร ซึ่งรู้อยู่แก่ใจแล้วว่าตนเองไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ยังไปหาเสียงบอกกับประชาชนว่าให้เลือกตัวเองมาเป็นนายกรัฐมนตรี นายสมัครก็จะมีความผิดตามมาตรา 53(3) ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ฐานหลอกลวงให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครด้วย