xs
xsm
sm
md
lg

คำถามถึงนายกฯชื่อสมัคร

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

“เมื่อคืนไปเสพเมถุนกับใครมาหรือเปล่า”

ไม่น่าเชื่อนะครับว่า เจ้าของคำถามนี้ที่ชื่อ นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเปิดฉากวิวาทะกับสื่อมวลชนจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศ

เรามีนายกรัฐมนตรีที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่ของสถานทูตอิสราเอล ประเทศที่เป็นอริกับชาติอาหรับในตะวันออกกลาง ในขณะที่สถานการณ์ทางภาคใต้ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติความรุนแรงลงได้

ไม่น่าเชื่อนะครับว่า ขณะที่รัฐมนตรีของหลายชาติลาออกจากตำแหน่ง เพียงเพราะถูกกล่าวหาว่า ทุจริตคอร์รัปชัน แต่คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีของเราถูกชี้มูลความผิดกรณีทุจริตในคดีรถดับเพลิงก่อนเข้ารับตำแหน่ง

แต่อุปสรรคของนายสมัคร แม้ว่าจะได้รับไฟเขียวจากทักษิณที่เป็นเจ้าของพรรคพลังประชาชนตัวจริงแล้ว ก็ใช่ว่าจะไม่มีเสียทีเดียว เพราะขณะนี้มีคนตั้งคำถามว่า คนที่ต้องคำพิพากษาจำคุก 24 เดือน หรือ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญานั้นสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้จริงหรือ

แม้ว่า คดีความดังกล่าวที่ทำให้ต้องโทษของนายสมัครจะเป็นคดีหมิ่นประมาท ไม่ใช่คดีร้ายแรงที่ไหน เพราะบางประเทศที่เจริญแล้ว(รวมถึงเขมร) เขาไม่ถือว่า คดีหมิ่นประมาทเป็นคดีอาญาด้วยซ้ำไป คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เจ้านายผมก็เจอคดีหมิ่นประมาทอยู่หลายคดี มีทั้งที่ศาลตัดสินแล้ว และยังค้างคาอยู่ในศาล ซึ่งจะต้องต่อสู้คดีกันไป

กล่าวกันว่า คนที่เป็นนักการเมือง และสื่อมวลชน หากรอดพ้นจากคดีหมิ่นประมาทไปได้ก็นับว่าโชคดีมากจริงๆ

แต่เมื่อถูกจำคุกในคดีหมิ่นประมาทแล้วเป็นนายกฯได้หรือไม่ก็ยังต้องถกเถียงกันต่อไป

กรณีของนายสมัคร มีการอ้างคำพูดของนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า คดีหมิ่นประมาทถือเป็นเพียงความผิดฐานลหุโทษ ดังนั้นจึงถือว่านายสมัครยังไม่ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เข่นเดียวกับคำพูดของนายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตรองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า คดีหมิ่นประมาท เป็นความผิดลหุโทษ จึงต้องมีข้อยกเว้น

ผมจำได้ว่า คำพูดของนายจรัญมาพร้อมทั้งกับคำอธิบายทำนองว่า เนื่องจากผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี ต้องให้สัมภาษณ์และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน อาจจะไปหมิ่นประมาทคนอื่นโดยไม่ตั้งใจก็ได้

ดังนั้น ประเด็นที่ต้องถกเถียงกันคือ คดีหมิ่นประมาท เป็นลหุโทษหรือไม่ และนายสมัครขาดคุณสมบัติตามมาตรา 174 หรือไม่ ทีนี้ลองไปดูว่ารัฐธรรมนูญเขียนคุณสมบัติคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีไว้อย่างไร

มาตรา 174 รัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (5) ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีก่อนได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

คำว่า “ลหุโทษ” หมายความว่า โทษเบา, โทษไม่ร้ายแรง ส่วน “ความผิดลหุโทษ” หมายความถึง ความผิด ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นคงไม่ต้องถกเถียงกันว่า “คดีหมิ่นประมาท” เป็น “ลหุโทษ” หรือไม่

โทษจำคุก 24 เดือนของนายสมัครจึงไม่ใช่ความผิดลหุโทษ ไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นตามมาตรา 174

แต่นักกฎหมายบางคนตีความว่า นายสมัครไม่ขาดคุณสมบัติ เพราะรัฐธรรมนูญ ม.174 ระบุว่า "ได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีก่อนได้รับแต่งตั้ง" หมายความว่า จะต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วจริงๆ นั่นก็คือ คดีถึงที่สุดแล้ว ได้รับโทษจำคุกแล้ว เมื่อพ้นโทษออกมา ถ้ายังไม่ถึง 5 ปี ก็ขาดคุณสมบัติ แต่นายสมัครไม่เคยต้องโทษ จำคุก และคดียังไม่ถึงที่สุด จึงไม่ขาดคุณสมบัติ ดังนั้น ลหุโทษหรือไม่ ก็ไม่สำคัญ

นอกจากนั้นมีการเทียบเคียง ม.182 ที่ระบุว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดเฉพาะตัวเมื่อ (3) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

การที่ ม.182 บัญญัติไว้ว่า “กรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้แก่ความผิดโดยประมาท ลหุโทษ และความผิดหมิ่นประมาท” แสดงให้เห็นว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทหากคดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ ความเป็นรัฐมนตรีก็ไม่สิ้นสุดลงแต่อย่างใด

ดังนั้นจึงมีคนตีความว่า คุณสมบัติต้องห้ามของคนที่เป็น รัฐมนตรีตาม ม.174 (5) คือ จะต้องได้รับโทษจำคุกจริงๆ และ ม.182 (3) ที่ได้บัญญัติไว้ว่า ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษฯ แต่มีข้อยกเว้นให้สำหรับคดีความผิดฐานหมิ่นประมาท หากคดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ

มุมมองของนักกฎหมายกลุ่มหนึ่ง จึงเห็นว่า นายสมัครไม่เข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้ามตาม ม.174 และ ม.182 สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะยังไม่เคยติดคุก และคดีดังกล่าวเป็นคดีหมิ่นประมาทและคดียังไม่ถึงที่สุด

แต่มีนักกฎหมายบางคนบอกว่า ม.182 (3) กับ ม.174(5)ใช้คนละช่วงเวลากัน

ม.174 ใช้ก่อนรับตำแหน่งนายกฯหรือรัฐมนตรี ดังนั้นคนที่เข้ามาเป็นนายกฯหรือ รัฐมนตรีต้องตรวจสอบดูก่อนว่า ขาดคุณสมบัติตาม ม.174 หรือไม่ ส่วน ม.182 ใช้ตอนเป็นรัฐมนตรีแล้ว คือ หากมีเหตุ ม.182 การเป็นรัฐมนตรีก็สิ้นสุดลง กรณีของนายสมัครจึงยังไม่ถึงขั้นตอนของมาตรา 182 ต้องดู ม.174 คือ รัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม

ส่วนที่นายจรัญระบุว่า มีความยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี ต้องให้สัมภาษณ์และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนนั้น จริงๆแล้ว หมายถึงอยู่ระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็นรัฐมนตรีแล้ว ไม่ใช่ก่อนเป็นรัฐมนตรี

ดังนั้นข้อถกเถียงที่เหลืออยู่ในขณะนี้ก็คือ นายสมัครมีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 174(5)ที่ว่า (5) ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีก่อนได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษหรือไม่

และมีข้อถกเถียงต่อไปว่าที่ ม.174(5) ระบุว่า ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีก่อนได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ นั้น หมายถึง “คนที่เคยต้องคำพิพากษามาแล้ว” คือ ถูกจำคุกจริงๆ แต่ “พ้นโทษ” มาไม่ถึง 5 ปี หรือ รวม “คนที่ต้องคำพิพากษาจำคุกมาแล้ว” แต่ยังไม่ติดคุกจริงๆ อย่างนายสมัครไว้ด้วย

มีคนบอกว่า กฎหมายจะตีความให้ออกซ้ายหรือออกขวาก็ได้

ใครก็ได้ช่วยทำเรื่องนี้ให้กระจ่างก่อนเถอะครับ ว่าเรามีนายกรัฐมนตรีที่ถูกศาลตัดสินจำคุกและมีข้อกล่าวหาทุจริตในคดีรถดับเพลิง เป็นผู้นำประเทศได้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น