xs
xsm
sm
md
lg

รัฐวอนผู้ส่งออกถือดอลล์ นักวิชาการเตือนธปท.เลิกแทรกแซง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ค่าเงินบาทใกล้แตะ 33 บาทต่อดอลลาร์ นายกฯ วอนผู้ส่งออกอย่าขายดอลลาร์ซ้ำเติม ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติบอกไม่มีปัญหา เอกชนยังแข่งขันได้ อ้างยังเกาะกลุ่มภูมิภาค ไม่ขอเปลี่ยนแนวทางบริหาร ผู้ส่งออกแฉโกหกบาทแข็งค่าเกาะกลุ่มไม่จริง จี้หามาตรการดูแลก่อนแตะ 30 ด้าน กกร.บุกพบนายกรัฐมนตรี 17 ม.ค. นักวิชาการอัดรัฐ-เอกชนไม่ปรับตัวรับมือกระแสทุนเคลื่อนย้าย เตือนแบงก์ชาติแทรกแซงดันทุนสำรองสูงเกินจริงหมดความน่าเชื่อถือ สุดท้ายเศรษฐกิจไทยพัง

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้ว่า กระทรวงการคลังได้หารือกับผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเด็นที่เห็นชอบร่วมกันนั้นคือการเข้าไปดูแลกลุ่มผู้ส่งออกที่มีบางส่วนนำดอลลาร์ไปขายในตลาด ก็ต้องขอความร่วมมือให้ช่วยกันดูแลค่าเงินบาทโดยไม่ขายดอลลาร์เพื่อทำกำไร เพราะทางการมีมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยเหลือผู้ส่งออกมากพอสมควร อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือเอกชนก็ต้องทำให้เกิดความสมดุลในทุกๆ ด้าน

"สิ่งสำคัญก็คือการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่ค้า เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงที่ผันผวนมากจนเกินไป" นายกรัฐมนตรีกล่าวและว่า รัฐบาลยังเป็นห่วงประชาชนระดับรากหญ้าที่ต้องเผชิญปัญหาเรื่องของสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีราคาสูงขึ้นอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ จะหารือกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อหากแนวทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งต้องดูปัจจัยในหลายๆ ด้านโดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ส่งผลให้ค่าขนส่งและต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

"เราต้องดูในภาพรวมว่าจะเข้าไปช่วยในภาคการเกษตรและประชาชนได้อย่างไร เพราะการช่วยเหลือในเรื่องการชดเชยราคาน้ำมันอย่างเดียวไม่ได้" นายกรัฐมนตรีกล่าว

**แบงก์ชาติอ้าง "ทำดีที่สุดแล้ว"

"เรื่องค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น รู้ว่าทุกคนมีความกังวล แต่ ธปท.ได้ทำดีที่สุดแล้ว" นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเมื่อวานนี้ (14 ม.ค.)

ผู้ว่าฯ ธปท.อ้างว่า การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทของไทยเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มกับประเทศในภูมิภาค โดยเงินบาทอยู่ระดับกลางๆ ไม่ได้แข็งค่ากว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ดังนั้นไทยไม่เสียเปรียบด้านการส่งออกและยังสามารถแข่งขันได้

“เงินบาทควรจะเคลื่อนไหวตามค่าเงินในภูมิภาค เราก็จะไม่เสียเปรียบด้านการส่งออก" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวและว่า การไปรายงานนายกรัฐมนตรี เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นเรื่องปกติ ประเด็นค่าเงินบาท ที่ได้มีการหารือ ซึ่งนโยบายการดูแลค่าเงินของ ธปท.ขณะนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

นางธาริษาเปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันแพง ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในขณะนี้ยังไม่เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งกลัวไปก่อน ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นมีบางคนวิเคราะห์ว่าเป็นเรื่องชั่วคราว ดังนั้น ขณะนี้ไม่ใช่ประเด็นที่จะกังวลไปก่อนล่วงหน้า เพราะเรื่องนี้ธปท.ติดตามดูแลใกล้ชิดอยู่แล้ว

“ส่วนปัญหาเงินเฟ้อจะเป็นผลกระทบระลอกที่ 2 เมื่อไรนั้น ขณะนี้ยังไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับว่าราคาน้ำมันจะปรับขึ้นไปสูงถาวรหรือเป็นเพียงแค่ชั่วคราว ซึ่งถึงเวลาค่อยมาดูกันอีกครั้ง แต่ตอนนี้เราอย่าตกใจไปก่อน ส่วนผลกระทบที่สะท้อนผ่านราคาสินค้าสูงขึ้น ก็น่าจะเป็นเพราะคนไปตกใจว่าราคาสินค้าจะแพง คิดว่าอะไรอะไรก็จะขึ้นราคา แต่จริงๆขณะนี้มันยังไม่เกิด เป็นเพียงการคาดการณ์ไปก่อนเท่านั้นเอง”

**กกร.บุกพบนายกฯ 17 ม.ค.

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.จะเข้าพบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในวันที่ 17 มกราคมนี้ เพื่อหารือภาพรวมเศรษฐกิจไทยโดยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะเป็นประเด็นหนึ่งที่เอกชนคงจะต้องเสนอให้ภาครัฐโดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย ดูแลอย่างใกล้ชิดเนื่องจากเอกชนมีความกังว่าจะกระทบการส่งออกได้หากยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง

“ช่วงนี้เป็นรอยต่อระหว่างการรอจัดตั้งรัฐบาลเอกชนก็อยากให้เกิดการดูแลภาพรวมเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่ค่อนข้างแข็งค่าอย่างรวดเร็ว “แหล่งข่าวกล่าว

นายธำรง ธิติประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่าเแตะระดับ 33.13 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการแข็งค่ามากสุดในรอบ 10 ปีอีกครั้ง ว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต้นปีนี้ถือเป็นการแข็งค่าที่เร็วเกินไปหากเทียบกับประเทศคู่แข่งทางการค้าอย่างจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ดังนั้นธปท.ควรจะต้องติดตามและบริหารจัดการเพราะหากยังคงปล่อยไว้เช่นนี้ก็อาจจะเห็นการแข็งค่าในระดับ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐได้ในปีนี้และจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างหนักแน่นอนหากระดับดังกล่าวไม่ได้สะท้อนกับประเทศคู่แข่ง

ทั้งนี้ ภาคส่งออกคิดเป็น 70% ของเศรษฐกิจไทยและปัจจัยค่าเงินบาทก็มีผลเป็นอันดับแรกต่อการส่งออกดังนั้นกรณีที่มีผู้เสนอว่าหากบาทไม่แข็งค่าจะทำให้ราคาน้ำมันลดลงได้อีกนั้นเป็นการมองในมุมเดียวแต่หากบาทแข็งค่ามากแล้วกระทบส่งออกต่อให้ราคาน้ำมันถูกแต่การส่งออกชะลอตัวผลลัพธ์ก็จะต่างกันเพราะภาคการผลิตมีการจ้างงานและรายได้ให้กับประเทศ

“เราควรจะมองประเทศคู่แข่งว่าเขาจัดการอย่างไร เพราะขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอลงแต่เงินเขามีมากดังนั้นปริมาณเงินดังกล่าวที่มาในรูปของกองทุนจะมีเยอะมากและจะไหลมายังยุโรปและเอเชีย ไทยหนีไม่พ้นที่จะมีเงินไหลเข้าถ้าประเทศไหนจัดการได้ก็จะไม่มีปัญหาเราต้องการเสถียรภาพค่าเงินไม่ใช่ว่าจะต้องการอ่อนค่าแต่อย่างใด” นายธำรงกล่าว

**จับโกหก ธปท.บาทไม่เกาะกลุ่ม

นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท.กล่าวว่า ค่าเงินบาทปลายปี 2550 ที่อยู่ระดับ 33.70 บาทต่อเหรียญสหรัฐมาอยู่ที่ 33.13 -33.33 บาทต่อเหรียญสหรัฐถือเป็นอัตราการแข็งค่าเกือบ 3% ซึ่งถือว่าค่อนข้างผันผวนมากหากเทียบกับประเทศคู่แข่งทางการค้า ดังนั้น ธปท.ควรจะต้องพิจารณาว่ามีการเก็งกำไรหรือไม่ซึ่งหากบาทยังผันผวนในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยอาจลำบากได้

“แค่ 2 เดือนเราแข็งค่าไปแล้วเกือบ 3% แต่เพื่อนบ้านทั้งปีที่ผ่านมาแข็งค่าไปแค่ 5% แต่เราแข็งไปเกือบ 20% เราอยากเห็นเสถียรภาพค่าเงินบาทที่สะท้อนคู่แข่งไม่ใช่อยากเห็นว่าบาทควรอยู่เท่าใดเลย” นายไพบูลย์กล่าว

ปัจจุบันกลุ่มอาหารที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศซึ่งส่วนหนึ่งเริ่มขาดแคลนที่เป็นปัญหาแล้วเมื่อเจอภาวะค่าเงินบาทแข็งค่าที่รวดเร็วทำให้การบริหารค่าเงินในการโค้ดราคาสินค้าลำบากมากยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มอาหารหลายรายเห็นพ้องกันว่าในที่สุดอาจจะต้องมีการพิจารณานำเข้าสินค้าจากต่างประเทศทดแทนการใช้ในประเทศเพราะการนำเข้าเมื่อบาทแข็งค่าเริ่มคุ้มค่ากว่าการจัดซื้อในประเทศ

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมานั้นผู้ส่งออก ควรทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อป้องกันการขาดทุน ด้านอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมทั้งสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศคู่ค้า เพื่อรักษาตลาดส่งออก เพราะต้องยอมรับว่าค่าเงินสหรัฐฯอ่อนค่าลงดังนั้นค่าเงินบาทจึงมีทิศทางแข็งค่าขึ้น

**เตือนรัฐ-เอกชนปรับตัวก่อนสาย

นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายปัญหาค่าเงินบาทในขณะนี้ว่า เป็นปัญหาร่วมกันของทางการและผู้ส่งออก ซึ่งเคยชินกับการผูกขาดค่าเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไม่มีการปรับตัวได้ทันปัญหาการอ่อนค่าของดอลลาร์ที่รวดเร็วและยาวนาน ดังนั้นการแทรกแซงของ ธปท.ที่ผ่านมาจึงไม่เป็นผล ขณะที่ผู้ส่งออกก็ออกมาร้องขอให้ทางการช่วยเหลือทุกครั้งที่บาทแข็งค่า

นายตีรณกล่าวว่า จากนี้ไปแนวโน้มดอลลาร์ก็ยังอ่อนค่า สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือการพิจารณาผลกระทบให้รอบด้าน ทั้งผู้ส่งออกภาคเศรษฐกิจโดยรวมหรือแม้แต่การขาดทุนของ ธปท.

"แบงก์ชาติหรือรัฐมนตรีคลังต้องชั่งดูผลกระทบแลความสมดุลในการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยกับการดูแลอัตราเงินเฟ้อ โดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์สูงสุด" นายตีรณกล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาครัฐโดยเฉพาะ ธปท.ควรทำก็คือการใช้แนวทางที่ยืดหยุ่นมากขึ้นแทนการแทรกแซงเพียงอย่างเดียว เนื่องจากไม่มีรัฐบาลกลางประเทศไหนสามารถควบคุมค่าเงินดอลลาร์ได้

"สินทรัพย์ดอลลาร์ที่เคลื่อนย้ายอยู่ในขณะนี้มีมหาศาล ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนานำทุนสำรองมากองรวมกันมีมูลค่าเพียง 5% ปัญหาของค่าบาทของไทยตอนนี้คือแทรกแซงจนทุนสำรองสูงถึงแสนล้านเหรียญ ทั้งๆ ที่ 5 หมื่นล้านเหรียญก็พอ การที่ทุนสำรองสูงมากเกินจริงความน่าเชื่อถือจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อความน่าเชื่อถือหมด เศรษฐกิจของไทยอาจพัง"

ด้านผู้ส่งออกสิ่งที่ควรจะเป็นก็คือต้องสามารถแข่งขันโดยไม่ต้องการการพึ่งพาจาก ธปท.ในการดูแลค่าเงิน ผู้ส่งออกต้องปรับตัวและประเมินต้นทุนกำไรขาดทุนหรือราคาสินค้าโดยไม่ต้องพึ่งพารัฐบาล

ด้านค่าเงินบาทวานนี้ (14 ม.ค.) นักบริหารเงิน ธนาคารไทยธนาคาร กล่าวว่า ปิดตลาดที่ 33.13/15 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวจากช่วงเช้า เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงเข้ามาดูแลอยู่เป็นระยะ ส่วนแรงเทขายดอลลาร์แม้ยังมีอยู่ แต่ก็ไม่มากแล้ว โดยระหว่างวันเงินบาทแข็งค่าสุดที่ 33.13 บาท/ดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดที่ 33.14 บาท/ดอลลาร์ ส่วนค่าเงินเยน อยู่ที่ 107.70/75 เยน/ดอลลาร์ และค่าเงินยูโร อยู่ที่ 1.4896/4900 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งทั้งเงินเยนและยูโร ยังคงแข็งค่าขึ้น หลังยังคงมีแรงเทขายดอลลาร์ออกมาจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาไม่ดี และปัญหาซับไพรม์.
กำลังโหลดความคิดเห็น