xs
xsm
sm
md
lg

จุดมุ่งหมายและหนทางอันยิ่งใหญ่ของเยาวชนไทย

เผยแพร่:   โดย: ป.เพชรอริยะ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “มโนปพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฎฺฐา มโนมยา” ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า (ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน) ใจประเสริฐ สำเร็จแล้วอยู่ที่ใจ

ดังนี้แล้ว เยาวชนไทยทั้งหลายพึงได้ตระหนักในคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นศาสดาเอกของโลก พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เชื่อ แต่เชิญชวนให้พิสูจน์ วิจัย ทดลองปฏิบัติดูเสียก่อน เมื่อเกิดปัญญาแล้วถึงเชื่อ เชื่ออย่างมีปัญญาไม่ใช่เชื่ออย่างตะพึดตะพือ การเชื่ออย่างงมงายนั้นนอกจากจะสร้างความวิบัติให้แก่ตนเป็นแน่แท้แล้ว ยังจะสร้างความหายนะต่อสังคม ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ซึ่งก็มีตัวอย่างให้เห็นเด่นชัดซ้ำซากกันอยู่แล้ว ทั้งในและนอกประเทศ

วันเด็กแห่งชาติ วันนี้เป็นวันดีเป็นวันมงคลอีกวันหนึ่ง เป็นวันสำคัญของเยาวชนไทย จึงควรนำคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาสดับรับฟัง ศึกษา และนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน อันจะเป็นมงคลยิ่งแก่เยาวชนทั้งหลาย พระองค์ทรงตรัสเรื่องอุดมมงคลไว้ 38 ประการ คำว่า อุตฺตม หรือ อุดม ได้แก่ความประเสริฐ หรือ เลิศ ได้แก่ นำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่โลกทั้งปวง ส่วนคำว่า มงฺคล หรือ มงคล ได้แก่เหตุแห่งความสำเร็จ คือเหตุแห่งความเจริญได้แก่เหตุแห่งสมบัติทั้งปวง แต่เพื่อความเหมาะสมสอดคล้องกับเยาวชนในเบื้องต้น จึงนำเสนอไว้เป็นพื้นฐานสำคัญ 12 อุดมมงคล โดยย่อดังนี้

1. อะเสวะนา จะ พาลานัง ไม่คบคนพาล คือเป็นผู้ไม่เข้าไปนั่งใกล้ ไม่คบค้าสมาคม คนพาลย่อมเป็นคนอ่อนแอ เป็นคนที่ไม่มีศีลธรรม และไม่ได้ดำรงอยู่ด้วยปัญญา

2. ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา คบบัณฑิต คือเป็นผู้เข้าไปนั่งใกล้ ควรคบค้าสมาคม เป็นเพื่อน เป็นสหาย บัณฑิตย่อมเป็นคนมีปัญญา มีกุศลกรรมบถเป็นธรรมประจำใจ มีหลักและวิธีการคิดเพื่อมุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

3. ปูชา จะ ปูชะนียานัง บูชาบุคคลที่ควรบูชา คือเป็นผู้ได้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมสักการะ เคารพ นับถือบูชา ตถาคต ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง แม้การบูชาพระปัจเจกพุทธะ พระอริยสาวก สมณะพระภิกษุสงฆ์ ทั้งหลาย เป็นผู้เกื้อกูลแก่มารดา บิดา ครู-อาจารย์ ผู้มีพระคุณดังนี้แล้ว เป็นเหตุนำประโยชน์สุขมาให้ เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ

4. ปะฏิรูปะเทสะวาโส จะ อยู่ในประเทศอันสมควร คือเป็นผู้ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น อยู่ในครอบครัวที่มีศีลธรรม อยู่ใกล้วัด โรงพยาบาล โรงเรียนที่มีการสอนวิชาศาสนา มหาวิทยาลัยที่มีการสอนวิชาศาสนาและสรรพศาสตร์ที่ให้ความรู้อย่างถูกต้อง สังคม เมืองที่ปราศจากอบายมุข และประเทศที่มีการเมืองการปกครองโดยธรรม เป็นต้น

5. ปุพเพ จะ กะตะปุญญะตา ทำบุญแล้วไว้ในกาลก่อน คือเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ในอดีตที่ล่วงมาแล้ว เป็นผู้มีกุศลสั่งสมไว้แล้ว เช่น การทำบุญในนาทีนี้ ส่งผลต่อนาทีหน้า ทำบุญในวันนี้ สัปดาห์นี้ เดือนนี้ ปีนี้ ชาตินี้อันได้สั่งสมไว้แล้ว ย่อมเป็นเหตุปัจจัยหนุนส่งเสริมให้อนาคตนั้นๆ ได้รับผลดีตามกฎแห่งกรรม จนกว่าจะบรรลุพระนิพพาน

6. อัตตะสัมมาปณิธิ จะ ตั้งตนไว้ชอบ คือเป็นผู้ได้ตั้งความปรารถนา การวางตนไว้โดยชอบ เช่น การตั้งตนอยู่ในศีล 5 หรือกุศลกรรมบถ 10 จะเป็นเหตุให้ละอกุศลกรรมทั้งปวง ย่อมเพิ่มพูนกุศลกรรมทั้งปวง

7. พาหุสัจจัญจะ ผู้ศึกษามาก คือเป็นผู้ได้อ่านมาก ฟังมาก คิดค้น วิเคราะห์ วิจัยมาก เป็นผู้มีความรู้กว้างขวาง ทนต่อการใส่ใจใฝ่เรียนรู้ ความพอใจก็เกิดขึ้น ผู้ที่เกิดความพอใจย่อมอุตสาหะ เมื่ออุตสาหะ ย่อมไตร่ตรอง เมื่อไตร่ตรอง ย่อมเพียรพยายาม เมื่อเพียรพยายาม ก็ย่อมทำให้รู้แจ้งแทงตลอดในศาสตร์นั้นๆ ด้วยปัญญา

8. สิปปัญจะ ศิลปวิทยา คือเป็นผู้ใช้ปัญญา ความเฉลียวฉลาด ที่จะนำสรรพศาสตร์ วิชาความรู้ต่างๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และย้อนกลับมาสู่ตนในที่สุด

9. วินะโย จะ สุสิกขิโต มีวินัย คือเป็นผู้มีวินัย อบรมตนดีแล้ว การกำหนดคุณแห่งความประพฤติ ย่อมนำมาซึ่งประโยชน์เกื้อกูลและความสุขทั้งปัจจุบันและอนาคต

10. สุภาสิตา จะ วาจา วาจาสุภาษิต คือเป็นผู้คิดและพูดตามสุภาษิต สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวว่า พึงกล่าววาจาสุภาษิตว่าเป็นวาจาอันสูงสุดเป็นที่หนึ่ง, พึงกล่าววาจาอันเป็นธรรมเป็นที่สอง, พึงกล่าววาจาที่เป็นจริงเป็นที่สาม, พึงกล่าววาจาอันเป็นที่รักเป็นที่สี่

11. มาตาปิตุอุปัฏฐานัง บำรุงมารดาบิดา คือเป็นผู้ได้บำรุงมารดาบิดา พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า มารดาบิดาทั้งหลาย เปรียบได้ดังพระพรหม เป็นบุพพาจารย์ เป็นอาหุเนยยบุคคลของบุตรทั้งหลาย เพราะเหตุนี้ บัณฑิตพึงนอบน้อมและสักการะมารดาบิดาเหล่านั้น ด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน การอบ การอาบน้ำ และการล้างเท้า การปรนนิบัติในมารดาบิดาทั้งสองนั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้ เมื่อเขาละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์

12. ธัมมะจริยา จะ ประพฤติธรรม คือเป็นผู้ประพฤติที่ไม่ละทิ้งธรรม ชื่อว่า ธรรมจริยา ได้แก่ การประพฤติตั้งอยู่ในกุศลกรรมบถ 10 คือตั้งอยู่ในกายสุจริต 3 (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดทางเพศ) ตั้งอยู่ในวจีสุจริต 4 (ไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ) ตั้งอยู่ในมโนสุจริต 3 (ไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่พยาบาทคิดปองร้ายเขา เห็นถูกต้องตามคลองธรรม)

ธรรมทั้ง 12 ประการนี้ เหมาะสำหรับเยาวชนไทยอย่างยิ่ง ควรจะได้ใส่ใจนำไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน พ่อแม่ทั้งหลายควรให้ความสำคัญได้แนะนำบุตรหลาน จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยเพิ่มศักยภาพให้แก่เยาวชนไทยยิ่งๆ ขึ้น เพราะเด็กไทยในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ต้องช่วยกันปลูกฝังให้เยาวชนตั้งตนอยู่ในธรรม มีจิตใจใฝ่คุณธรรมอันสูงส่ง มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว สังคมและประเทศชาติ การประพฤติธรรม 12 อย่างนี้เป็นอุดมมงคล ผู้ใดได้ปฏิบัติดังนี้แล้วย่อมอุบัติในโลกสวรรค์ คือได้อยู่เย็นเป็นสุข เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้ามีปัญญาอันยิ่งใหญ่

อีกอย่างหนึ่ง เยาวชนไทย ควรได้เจริญรอยตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเป็นพระประมุขแห่งรัฐ พระองค์ทรงเป็นนักคิด นักประดิษฐ์ และทรงเป็นนักปราชญ์ของชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพรปีใหม่ เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2551 ความตอนหนึ่งว่าว่า... “จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันประคับประคองกิจการของบ้านเมือง ให้ดำเนินไปด้วยดี ให้มีความเป็นปึกแผ่นและร่มเย็นเป็นปกติสุข ทางที่เราจะช่วยกันได้ ก็คือการทำความคิดให้ถูกตรงและแน่วแน่ ในอันที่จะยึดถือชาติบ้านเมืองเป็นที่หมาย...” พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ย่อมถือชาติบ้านเมืองเป็นที่หมาย เป็นเหตุแห่งความรุ่งเรืองแห่งตนเองและประเทศชาติ สมดังโศลกที่ว่า “เรียนอะไรก็ได้ ทำหน้าที่อะไรก็ได้ คิดสร้างสรรค์อะไรก็ได้ (ตามที่ตนถนัด) แต่ให้มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเทศชาติ” ดังนี้แล้วจะเป็นปัจจัยเครื่องหนุนส่งให้บุคคลเห็นถูก คิดถูก พูดถูก ทำถูก อาชีพถูก เพียรถูก สติระลึกรู้ถูก และมีสมาธิถูก คิดทำสิ่งใดจุดมุ่งหมาย (เพื่อชาติ) ไม่เปลี่ยนแปลง ก็จะประสบความสำเร็จได้ในที่สุด การมีชาติเป็นจุดมุ่งหมาย คือจุดมุ่งหมาย และมรรควิธี หรือหนทางแห่งพระโพธิสัตว์เจ้า สมดัง โศลกที่ว่า “เมื่อมีจุดมุ่งหมาย (ที่ยิ่งใหญ่) ย่อมมีหนทาง เมื่อมีหนทาง ย่อมมีความก้าวหน้า เมื่อมีความก้าวหน้า สักวันหนึ่งจะถึงจุดมุ่งหมายความสำเร็จ”

อีกอย่างหนึ่ง เยาวชนไทยควรจะได้วิจัยเสียก่อน อย่าได้เข้าใจผิดตามผู้ปกครอง มีนักการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชนบางส่วนยังหลงผิด เข้าใจผิดว่าระบอบการปกครองปัจจุบันนี้ เป็นระบอบประชาธิปไตย ช่างน่าอนาถใจยิ่งนัก ต่างก็หลงเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง กล่าวโดยย่อ 5 ประการคือ

1. เข้าใจผิดว่ารัฐธรรมนูญ คือระบอบประชาธิปไตย

2. เข้าใจผิดว่ารูปการปกครอง (Form of Government) เป็นระบอบประชาธิปไตย คือเข้าใจผิดว่าระบบรัฐสภา (Parliamentary System) เป็นระบอบประชาธิปไตย อันที่จริงระบบการปกครองมีไว้เพื่อจัดความสัมพันธ์ระหว่างประมุข และองค์กรแห่งอำนาจอธิปไตยระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ว่าจะถ่วงดุลอำนาจกันอย่างไร ซึ่งไม่เกี่ยวว่าจะเป็นระบอบฯ อะไรก็ได้

3. เข้าใจผิดว่าการเลือกตั้ง เป็นระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งเป็นวิธีการอย่างหนึ่งเพื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมือง วิธีการย่อมเป็นของกลาง หมายความว่าระบอบฯ อะไรๆ ก็นำไปใช้ได้

4. เข้าใจผิดในการจัดความสัมพันธ์ของรัฐธรรมนูญ ทั้ง 18 ฉบับ รวมทั้งฉบับปัจจุบัน ไม่มีด้านหลักการปกครอง (Principle of Government) มีแต่เฉพาะด้านวิธีการปกครอง (Methods of Government) ได้แก่ หมวด และมาตราต่างๆ อุปมา ว่าวขาด, วัวไม่มีเจ้าของ, สุนัขจรจัด, ดาวเคราะห์ ไม่มีดวงสุริยัน ฯลฯ ดังนี้แล้ว ย่อมนำมาซึ่งความหายนะ เหตุแห่งความฉิบหายของชาติอีกวาระหนึ่ง

5. ความเข้าใจผิดของผู้ปกครองไทย 18 คณะ คือร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจะสร้างระบอบประชาธิปไตย ความเป็นจริงรัฐธรรมนูญเป็นเพียงกฎหมายหลัก (Principle of Law) มีหน้าที่รักษา คุ้มครอง และสะท้อนความเป็นระบอบฯ นั้นๆ การเอากฎหมายไปสร้างระบอบฯ ร้อยครั้ง พันฉบับ นอกจากจะไม่ได้ระบอบฯ แล้ว จะทำให้ล้มเหลวและวิกฤตเรื่อยไป ขอให้เยาวชนไทยได้พิจารณา
กำลังโหลดความคิดเห็น