xs
xsm
sm
md
lg

ตุลาการภิวัตน์สมัย

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

นับตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีการเมืองในประเทศไทยในแนวบวกมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีส่วนร่วมของประชาชนปรากฏมากขึ้นเป็นลำดับโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักการสถาปนาสถานีโทรทัศน์เพื่อข่าวสารที่เป็นอิสระ ด้วยความคาดหวังว่าที่ให้สถานีวิทยุแห่งนี้เป็นกลางไม่มีอำนาจการเมืองชี้นำในการที่จะนำเสนอข่าวสารที่เป็นจริง ไม่มีการบิดเบือนเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับรู้เหตุการณ์ที่เกิดจริง มีการวิเคราะห์ด้วยหลักวิชาการซึ่งพิสูจน์ได้ตามทฤษฎี หลักตรรกะ และทันเวลาทันต่อเหตุการณ์ซึ่งมีสถานีโทรทัศน์แห่งนี้คือ

อดีต ITV ซึ่งแนวคิดการก่อตั้งนี้เพื่อหวังให้มีส่วนคล้ายกับสถานีโทรทัศน์ BCC ของอังกฤษ หรือ ABC ของออสเตรเลียที่เกิดจากเงินภาษีของราษฎรเพื่อประชาชน ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐเชิงกฎหมายโดยสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี แต่ ITV ไม่ประสบความสำเร็จเพราะอุดมการณ์ “พฤษภาทมิฬ “ จางหายไป เพราะกาลเวลาได้พิสูจน์ว่าอุดมการณ์กินไม่ได้ ทำให้รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พิจารณาเปลี่ยนวิถีทาง “เพื่อเป็นโทรทัศน์ของประชาชน” กลายเป็น “โทรทัศน์ของรัฐบาล”เพราะตัวเองเป็นรัฐบาลที่หวังประโยชน์จากการนี้ในสงครามโฆษณาชวนเชื่อ และต่อมาก็ทำให้กลายเป็นสถานีโทรทัศน์เชิงธุรกิจ ตามที่อดีตนายกรัฐมนตรีมองเห็นช่องทาง

เนื่องจากธนาคารไทยพาณิชย์ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท อินโฟเทนเมนต์ ที่รับสัมปทานจากรัฐให้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2538 แต่ประสบกับหายนะเพราะภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ในปี 2539 อันเป็นปีที่ ITV เริ่มดำเนินการ และบริษัท อินโฟเทนเมนต์ได้รับผลกระทบนี้ด้วยทำให้ขาดทุนอย่างหนักจึงขายหุ้นให้กับกลุ่มบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น ซึ่งได้กว้านซื้อหุ้นสามัญฯ จากผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ด้วย แต่ได้รับการต่อต้านจากพนักงานฝ่ายข่าวของ ITV นำโดยนายจิระ ห้องสำเริง บรรณาธิการบริหารขณะนั้น เพราะมีการแทรกแซงการเสนอข่าวที่หวังให้ปวงชนรับทราบตามความเป็นจริง โดยฝ่ายบริหารของกลุ่มชินคอร์ปนั่นเอง

โดยเฉพาะการทำข่าวการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม 2544 ซึ่งอดีตพรรคไทยรักไทยที่ชนะการเลือกตั้งเพราะนโยบาย 3 ประการ สงครามปราบยาเสพติด สงครามปราบคอร์รัปชัน และสงครามพิชิตความจนและ ต่อมาความเป็นสถานีโทรทัศน์เสรีก็หมดสิ้นไปโดยปริยาย เมื่อนักข่าวอุดมการณ์ถูกปิดกั้นมิให้เสนอข่าวที่ปวงชนกระหายที่อยากรู้ เช่น เรื่องการโอนหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือเรื่องอื้อฉาวสนามกอล์ฟอัลไพน์ โดยหัวหน้านักข่าวผู้รับผิดชอบถูกย้ายหรือเปลี่ยนตัว และต่อมามีนักข่าวถูกเลิกจ้างจำนวน 21 คน จึงเกิดการฟ้องร้องหาความเป็นธรรม และพนักงานการข่าวเหล่านั้นชนะความโดยศาลแรงงานให้บริษัท ITV รับพนักงาน 21 คนนี้กลับเข้าไปทำงาน และต่อมาก็ชนะคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานได้พิพากษาให้บริษัท ITV ดำเนินการตามที่คณะกรมแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งเดิมให้ ITV รับพนักงานกลับเข้าทำงาน จึงพบว่าอำนาจยุติธรรมปกป้องได้พนักงาน 21 คน

ในส่วนที่เป็นผลประโยชน์ของพนักงาน แต่ตัวองค์กรต้องสูญเสียอุดมการณ์เป็น ITV หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์เสรีไปเมื่อกลุ่มชินคอร์ปปรับเปลี่ยนนโยบายให้เป็นเชิงธุรกิจเต็มตัว จนเกิดความสับสนวุ่นวายต่อเนื่องจนเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และ ITV เป็นเรื่องหนึ่งที่ศาลปกครองในวันที่ 9 พฤษภาคม 2549 ได้มีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณอนุญาโตตุลาการที่มีคำสั่งลดค่าสัมปทานให้ ITV ลงเป็นปีละ 270 ล้านบาท จาก 1,000 ล้านบาท เพราะทำให้รัฐเสียรายได้มหาศาล

การมีส่วนร่วมของปวงชนชาวไทยในความเป็นเจ้าของประเทศที่เป็นรูปธรรมเห็นได้ชัดที่สุดและมากที่สุดคือ การมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 อันเป็นฉบับที่มีการดำรงไว้ซึ่งอำนาจปวงชน แต่ปกป้องเผด็จการรัฐสภา และในระยะเวลาทศวรรษที่ผ่านมา องค์กรอิสระหลายองค์กรถูกแทรกแซงโดยอำนาจรัฐที่อดีตพรรคไทยรักไทยได้รับจากการหลอกลวงประชาชน โดยเฉพาะนโยบายสงครามเอาชนะการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะมีการทุจริตเชิงนโยบายมากมายหลายคดีความซึ่งหากไม่มีคนกล้าเปิดเผย และชี้ประเด็นแล้วประชาชนก็ไม่สามารถรู้ได้ เพราะแหล่งข้อมูลหลายมิติโดยเฉพาะ ITV ถูกครอบงำ และนักข่าวหลายคนก็ถูกซื้อหรือถูกโน้มน้าวให้เกิดความหลงใหล หรือหลงกลด้วยกลยุทธ์ที่แยบยลในเชิงนโยบายสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือเป็นทุนนิยมเพื่อสังคมบ้างจนหลายคนตกหลุมพราง

กกต.เป็นองค์กรอิสระที่ถูกแทรกแซงอย่างเห็นได้ชัด และไม่เป็นกลางเข้าข้างอดีตพรรคไทยรักไทย ศาลอาญาจึงตัดสินจำคุก 3 อดีตกกต.นั้นโดยเป็นคดีอื้อฉาวที่อยู่ในห้วงหัวเลี้ยวหัวต่อของอำนาจเก่าอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกับประชาชน ที่โจมตีการบริหารที่ขาดธรรมาภิบาลและคุณธรรม และทั้งๆ ที่ยังมีอำนาจรัฐ แต่ด้วยความเป็นจริงทั้งหลายที่เกิดขึ้นต่อหน้าปวงชนชาวไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสในวันที่ 25 เมษายน 2549 ในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุดนำตุลาการศาลปกครองเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมีความสำคัญในพระราชดำรัสที่ทรงวินิจฉัยว่า “ศาลปกครองเป็นที่พึ่งในการบริหารจัดการให้เกิดความถูกต้องในการปกครอง และในทางการเมือง” ในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรมเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งซึ่งมีความสำคัญในพระราชดำรัสที่ทรงวินิจฉัยว่า “ศาลฎีกาเป็นที่พึ่งของปวงชนชาวไทย ขึ้นชื่อว่าเป็นศาลยังมีความซื่อสัตย์สุจริต มีเหตุมีผล และมีความรู้” และหาก “ศาลทั้งปวงไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างบริสุทธิ์ และเร่งรีบทำให้สำเร็จแล้วบ้านเมืองจะต้องล่มจม”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ย่อมเป็นสัจธรรมชี้นำความยุติธรรมและเสริมหลักตุลาการภิวัตน์ที่หมายถึง “การที่อำนาจตุลาการเข้าตรวจสอบการออกกฎหมาย และการใช้อำนาจของนักการเมือง การให้อำนาจแก่ฝ่ายตุลาการในการตรวจสอบถ่วงดุลสองอำนาจใหญ่คือ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ”

แม้แต่แนวคิดของ ดร.ธีรยุทธ บุญมี อดีตนักเคลื่อนไหวที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 14 ตุลาคม 2514 พูดถึงประชาธิปไตยนั้นเป็นองค์รวมของความเป็นไทยผนวกกับตุลาการภิวัตน์ และอมาตยาภิวัตน์ซึ่งมีผู้กล่าวว่าการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นั้น มีความเหมือนกับรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 ซึ่งเรียกว่า Guardian Coup d’ Etat หรือมีนัยสำคัญเหมือนกับว่าประชาชนสนับสนุนการรัฐประหาร เพราะทำให้เกิดการสรรหาผู้บริหารที่มีความเป็นกลาง เป็นราชภักดีอันเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ยึดมั่นในสถาบันชาติ คือ

ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตลอดจนได้มีผู้ที่มีความรู้มีประสบการณ์เข้ามาบริหารประเทศในเรื่องการเมือง การบริหารความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจ และมี EQ เชิงอุเบกขาสูง เช่น นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม ที่ถูกบีบให้ลาออกจากการเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ขณะยังมีอายุราชการอีก 6 ปี เพราะไม่ตามใจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการใช้ สศช.เป็นเครื่องมือสร้างโครงการยักษ์ แต่เชื่อไหมว่าท่านสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม ไม่เคยเคียดแค้นเอาเป็นอารมณ์เลย และเมื่อเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ไม่เคยคิดถึงอดีตทำหน้าที่ทุกอย่างเป็นไปตามตรรกะและข้อเท็จจริงทั้งนั้น

หลังการเลือกตั้งทั่วไป 2550 พบว่า การเมืองกลับยุ่งเหยิงยิ่งขึ้น มีความสับสน
วุ่นวาย มีเล่ห์กลซับซ้อนจนประชาชนสับสนไปหมด เพราะว่าติดตามเรียบเรียงเหตุการณ์ไม่ทันจนปัจจุบันไม่รู้ว่า “ใบแดง ใบเหลือง” มีกี่ใบและจะยุติความวุ่นวายหลังการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยได้หรือไม่ หรือจะยิ่งทำให้เกิดภาวะวิกฤตมากขึ้นอีก

โดยเฉพาะกรณีคุณยงยุทธ ติยะไพรัช เพราะเงื่อนไขที่กำลังเป็นปัญหาของพรรคพลังประชาชนถึงขั้นยุบพรรคหากคุณยงยุทธ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคอันดับ 1 ถูกตัดสินว่าทุจริตการเลือกตั้ง และคิดว่าปวงชนชาวไทยที่เป็นปัญญาชน ใฝ่สันติ ความสงบ และความรุ่งเรืองของชาติคงหวังพึ่งศาล และกระบวนการยุติธรรมที่ดำรงความศักดิ์สิทธิ์มากมาตลอด โดยเฉพาะในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ตัดสินด้วยความชอบธรรมอันเป็นกลไกดำรงชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น