xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ลงมติเลือก กก.ตุลาการศาลปกครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ประชุม สนช.ลงมติเลือก กก.ตุลาการศาลปกครอง 2 ตำแหน่ง โดยผู้ที่ได้รับคะแนนเสียสูงสุด คือ นายวิชัย วรรณสิน และ พล.อ.อมรฤทธิ์ ได้ 89 คะแนน เห็นชอบอนุสัญญาคุ้มครองทรัพย์สินอุตสาหกรรม-สัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร

วันนี้ (10 ม.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มี พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ รองประธาน สนช.เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม สนช.ได้ร่วมยืนถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นอกจากนี้ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ สนช.ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิก เนื่องจากไปรับตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน โดยได้กล่าวอำลาสมาชิกในที่ประชุม สนช.ด้วย

จากนั้นเป็นการพิจารณาวาระการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งที่ว่างตามมาตรา 226(3) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อและตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่เห็นสมควรเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ แทนตำแหน่งที่ว่างลง 2 ตำแหน่ง เนื่องจาก นายพีระ บุญจริง และ พล.ท.เดชพันธ์ ดวงรัตน์ ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2550 ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้มีมติเสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด จำนวน 6 คน ให้ได้รับการเสนอรายชื่อเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ 1.พล.ท.เดชพันธ์ ดวงรัตน์ อายุ 63 ปี อดีตกรรมการตุลาการศาลปกครอง ผู้ทรงคุณวุฒิ 2.พล.อ.ธนพล บุณโยปัษฎัมภ์ อายุ 73 ปี อดีตกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ 3.นายพีระ บุญจริง อายุ 77 ปี อดีตกรรมการตุลาการศาลปกครอง ผู้ทรงคุณวุฒิ 4.นายวิชัย ธรรมชอบ อายุ 69 ปี ที่ปรึกษาในคณะกรรมการที่ปรึกษากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) 5.นายวิชัย วรรณสิน อายุ 67 ปี อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี และ 6.พล.อ.อมรฤทธิ์ แพทย์เจริญ อายุ 61 ปี อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ลงคะแนนโดยวิธีลับ โดยผู้ที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด 2 คน คือ นายวิชัย วรรณสิน ได้ 102 คะแนน และ พล.อ.อมรฤทธิ์ ได้ 89 คะแนน

จากนั้นเป็นการพิจารณาให้ความเห็นชอบการสมัครเข้าเป็นภาคีอนุสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินอุตสาหกรรม (Paris Convention for the Protection of Industrial Property) มีเนื้อหาสำคัญ คือ การคุ้มครองทรัพย์สินทางอุตสาหกรรมทุกประเภท ได้แก่ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ การออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ชื่อทางการค้า และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty) มีเนื้อหาสำคัญ คือ เพื่อให้นักประดิษฐ์สามารถยื่นขอรับการคุ้มครองสิทธิบัตรของต่างประเทศในประเทศตนได้ และการตรวจสอบสิทธิบัตรต่างประเทศ โดย ครม.เป็นผู้เสนอ ทั้งนี้ สมาชิกหลายคน อาทิ นายณรงค์ โชควัฒนา นายตวง อันทะไชย นางเตือนใจ ดีเทศน์ นายภัทร คำพิทักษ์ สนช.ตั้งข้อสังเกตว่า สนธิสัญญาทั้ง 2 ฉบับ อาจมีผลกระทบกับคนเล็กคนน้อยในประเทศ เพราะเปิดกว้างให้ต่างประเทศจะมาจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ต่างๆในประเทศได้ง่ายขึ้น รวมถึงประเทศไทยยังไม่มีศักยภาพเข้มแข็งเพียงพอที่จะทำสิ่งประดิษฐ์และไปจดสิทธิบัตรในต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาเป็นสินค้าอุตสาหกรรมในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น น่าจะเลื่อนการมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบไปก่อน และควรให้รับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างกว้างขวาง

ขณะที่ นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า สัญญาทั้ง 2 ฉบับ ไม่เกี่ยวกับการเปิดเสรีมากขึ้น เพราะต่างประเทศสามารถเข้ามาได้อยู่แล้ว แต่จะเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะมีโอกาสจดสิทธิบัตรในต่างประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ยังได้ฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางแล้ว ในที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบการสมัครเข้าเป็นภาคีอนุสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินอุตสาหกรรม ด้วยคะแนนเสียง 127 ต่อ 0 เสียง ส่วนสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือด้านสิทธิบัตร ที่ประชุมเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 121 ต่อ 2 เสียง
กำลังโหลดความคิดเห็น