xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย สวทช.ขานรับวัฒนธรรมสิทธิบัตร "ยิ่งหนุนยิ่งจดมากขึ้น"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวทช.จัดพิธีมอบรางวัลให้แก่นักวิจัยที่มีผลงานจดสิทธิบัตรและที่กำลังยื่นจดสิทธิบัตรในรอบปี 50 เพื่อเป็นกำลังใจแก่นักวิจัยและปลูกฝังวัฒนธรรมการจดสิทธิบัตรองค์ความรู้ที่ค้นพบไปในตัว
นักวิจัย สวทช.ขานรับวัฒนธรรมจดสิทธิบัตรงานวิจัย นักวิจัยสาวเผยนักวิจัยกระตือรือร้นที่จะจดสิทธิบัตรอยู่แล้ว ยิ่งหน่วยงานส่งเสริมก็ยิ่งทำให้ง่าย ส่วนนักวิจัยอดีตรัฐมนตรีเผย บรรยากาศการจดสิทธิบัตรไทยดีขึ้นมากกว่า 20 ปีก่อนและจะดีขึ้นเรื่อยๆ หลังไทยเซ็นต์สินธิสัญญากับนานาชาติปลายรัฐบาลที่แล้ว แต่ความตื่นตัวก็ยังไม่อาจเทียบเท่ากับประเทศอุตสาหกรรม

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดงาน "NSTDA Inventors Day 2008" ขึ้นเมื่อวันที่ 30 เม.ย.51 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี เพื่อมอบประกาศนียบัตรและเงินรางวัลเป็นขวัญกำลังใจให้แก่นักวิจัยในสังกัดที่มีผลงานเด่นชัดในปี 50 ที่ผ่านมา โดย "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ได้ถือโอกาสนี้สำรวจความสนใจของนักวิจัยไทยต่อการยื่นจดสิทธิบัตรผลงานด้วย

ดร.เสาวลักษณ์ แก้วกำเนิด นักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยการประมวลสัญญาณชีวการแพทย์ (BioS) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) หนึ่งในนักวิจัยที่ได้รับรางวัลเผยว่า หลังจาก 3 ปีที่แล้วที่ สวทช.เริ่มกระตุ้นให้นักวิจัยยื่นจดสิทธิบัตรผลงานวิจัย ปัจจุบันพบว่ามีบรรยากาศที่ครึกครื้นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้ ตัวของดร.เสาวลักษณ์ ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรผลงาน "ระบบบันทึกภาพหน้าคนอัตโนมัติ" เพื่อเสริมประสิทธิภาพระบบรักษาความปลอดภัยในสำนักงาน ซึ่งเผยให้เห็นใบหน้าของผู้มาติดต่อในหลายมุมมอง และจัดเก็บลงในฐานข้อมูลเพื่อการใช้ประโยชน์ในอนาคต นอกจากนั้น ดร.เสาวลักษณ์ ยังเป็นนักวิจัยร่วมในงานวิจัย "เครื่องนับยาโดยใช้กล้องดิจิตอล" เพื่อช่วยเภสัชกรนับยาซึ่งปกติจะต้องใช้แรงงานคน

"นักวิจัยเรามีความกระตือรือร้นอยู่แล้วที่จะจดสิทธิบัตรคุ้มครองงานวิจัยของเรา ยิ่งมีการส่งเสริมด้วยก็ยิ่งทำให้มีการจดสิทธิบัตรกันมากขึ้นเพราะเห็นถึงความสำคัญ เพราะหากไม่มีการจดสิทธิบัตรแล้ว เมื่อคนอื่นนำไปจดสิทธิบัตร เราก็จะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากผลวิจัยนั้นๆ ได้อีก หรือจะใช้ก็ต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรให้เขา" นักวิจัยกล่าว โดยการยื่นจดสิทธิบัตรยังเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดการทำงานของนักวิจัยด้วย

อีกทั้งเมื่อมีจัดตั้งสำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (ทีแอลโอ) เพื่อช่วยเหลือนักวิจัยในการจดสิทธิบัตรด้วยก็ทำให้การยื่นจดสิทธิบัตรง่ายขึ้นไปอีก อย่างไรก็ดี นักวิจัยชี้ว่า ยังต้องการให้ สวทช.ส่งเสริมให้มีการนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์มากขึ้นด้วย โดยควรมีการเผยแพร่ผลงานของ สวทช.สู่สาธารณชนมากขึ้น รวมถึงการกำหนดระเบียบขั้นตอนของการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยากเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในอนาคต

ขณะที่มุมมองจากนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหญ่อย่าง ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และอดีต รมว.วิทยาศาสตร์ฯ มองว่า วัฒนธรรมและแนวปฏิบัติด้านการยื่นจดสิทธิบัตรของประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าเมื่อ 20 ปีก่อนมาก โดยเปลี่ยนจากเก่าที่มักจะตีพิมพ์การค้นพบลงในวารสารวิจัยเพื่อเป็นวิทยาทานแก่คนทั่วไปเพียงอย่างเดียว มาสู่การยื่นจดสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีความหมายในเชิงอุตสาหกรรมด้วย

"ปัญหาคือการจดสิทธิบัตรมีค่าใช้จ่ายสูงมาก บางงานมีค่าใช้จ่ายหลักแสนถึงหลักล้านฯ และการจดสิทธิบัตรก็มีขั้นตอนที่ค่อนข้างล่าช้า อย่างงานวิจัยชิ้นที่ได้รับรางวัลนี้ก็เป็นเรื่องที่ยื่นจดไปหลายปีมากแล้ว ตอนนี้มีความก้าวหน้าไปมากกว่านั้น จนคิดว่าคงไม่จำเป็นจะต้องยื่นจดสิทธิบัตรในต่างประเทศอีกแล้ว" ศ.ดร.ยงยุทธกล่าวถึงผลวิจัย "การสังเคราะห์อนุพันธ์ของไตรเมทโทรพริมเพื่อนำไปพัฒนาเป็นยาต้านมาลาเรีย" ที่เพิ่งได้รับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้นเมื่อกลางปีที่แล้ว ทีมของ ศ.ดร.ยงยุทธ ยังได้รับสิทธิบัตรงานวิจัย "อนุพันธ์ไพริมิดีนต้านมาลาเรียและกรรมวิธีการสังเคราะห์" จากประเทศสหรัฐฯ ด้วย ซึ่งเขามองว่าการจดสิทธิบัตรในต่างประเทศจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนายามาเลเรียเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยจำนวนมากในทวีปแอฟริกามากกว่า

นักวิจัยอาวุโส เผยอีกว่า แต่เดิมตัวเขาเองก็จะตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิจัยเพียงอย่างเดียวเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้เป็นวิทยาทานและเป็นสาธารณสมบัติของโลก แต่มาในช่วง 10 ปีหลังมานี้ที่หันมาจดสิทธิบัตรด้วย มิฉะนั้นแล้วจะมีคนอื่นนำไปใช้ ตัวเองในฐานะผู้ทำวิจัยก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ส่วนการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิจัยนั้นจะตีพิมพ์ภายหลังจดสิทธิบัตรแล้วก็ได้

อย่างไรก็ดี ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า แม้บรรยากาศการจดสิทธิบัตรงานวิจัยของไทยจะดีขึ้นแต่ยังเทียบไม่ได้กับประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเชื่อว่าจะเกิดวัฒนธรรมที่เข้มแข็งกว่านี้ได้

"มันจะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งช่วงปลายๆ ของรัฐบาลที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty:PCT) ด้วยแล้ว ต่อไปเราจดสิทธิบัตรที่เดียวในประเทศไทย ก็สามารถครอบคลุมสิทธิ์ได้ทั่วโลก ไม่ต้องเร่ไปจดตามประเทศต่างๆ อีก" ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว

สำหรับพิธีมอบรางวัลในงาน "NSTDA Inventors Day 2008" ได้มอบรางวัลให้แก่นักวิจัยที่มีผลงานตั้งแต่ 10 ก.พ. 50 - 9 ก.พ. 51 ที่ผ่านมา โดยมีผลงานวิจัยยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว 81 ผลงาน อาทิ ระบบบันทึกภาพหน้าคนอัตโนมัติ ชุดตรวจสอบความหนาแน่นและความหนืดของไบโอดีเซล และวัสดุประกอบเซลลูโลสจากแบคทีเรียและเซริซิน โดยมี 9 ผลงานได้รับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว
ดร.เสาวลักษณ์ แก้วกำเนิด ขึ้นรับรางวัลจาก รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สวทช. และ ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผอ.เนคเทค
ศ.ดร.ยงยุทธ ขึ้นรับรางวัลจากผลวิจัย การสังเคราะห์อนุพันธ์ของไตรเมทโทรพริมเพื่อนำไปพัฒนาเป็นยาต้านมาลาเรีย
กำลังโหลดความคิดเห็น