xs
xsm
sm
md
lg

สวทช.หนุนวัฒนธรรม "จดสิทธิบัตร" จัดงานยกย่องนักวิจัย ครึ่งปียื่นแล้ว 51 ชิ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวทช.จัดพิธีมอบรางวัลให้แก่นักวิจัยในสังกัดที่มีผลงานจดสิทธิบัตรและที่กำลังยื่นจดสิทธิบัตรในรอบปี 50 ที่ผ่านมาเพื่อเป็นขวัญกำลังใจและส่งเสริมวัฒนธรรมการจดสิทธิบัตรในหมู่นักวิจัยด้วย
สวทช.หนุนวัฒนธรรม "การจดสิทธิบัตร" ในหมู่นักวิจัย จัดพิธีมอบรางวัลแก่ผู้มีผลงานเด่นในรอบปี 50 ผอ.ทีเอ็มซีเผยมีนักวิจัยยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว 81 ผลงาน 9 ผลงานได้สิทธิบัตรแล้วจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ส่วน ดร.ศักรินทร์ เผยตั้งเป้าปี 51 ส่ง 110 ผลงานเข้าขอสิทธิบัตร แค่ 7 เดือนแรกได้แล้ว 51 ชิ้น เชื่ออีก 5 เดือนข้างหน้าจะได้ผลตามเป้า

ขึ้นชื่อว่าเป็นหน่วยวิจัย "แห่งชาติ" จึงไม่แปลกที่จะได้รับการคาดหวังว่าจะต้องมีผลงานวิจัยออกสู่สาธารณะอย่างสม่ำเสมอ เมื่อวันที่ 30 เม.ย.51 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้จัดงาน "NSTDA Inventors Day 2008" ขึ้นเพื่อมอบประกาศนียบัตรและเงินรางวัลเป็นขวัญกำลังใจให้แก่นักวิจัยในสังกัดที่มีผลงานเด่นชัดในปี 50 ที่ผ่านมา ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผอ.ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สวทช. รายงานว่า ตั้งแต่ 10 ก.พ. 50 - 9 ก.พ. 51 ที่ผ่านมา สวทช.มีผลงานวิจัยยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว 81 ผลงานด้วยกัน ในจำนวนนี้ 2 คำขอเป็นการยื่นจดสิทธิบัตรในต่างประเทศ โดยมี 9 ผลงานได้รับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ทำให้ตั้งแต่แรกก่อตั้ง สวทช.เมื่อปี 34 จนถึงปัจจุบัน สวทช.มีผลงานวิจัยยื่นขอสิทธิบัตรแล้ว 418 ผลงาน แยกเป็นการยื่นจดสิทธิบัตรในประเทศ 372 คำขอ และอีก 46 คำขอเป็นการยื่นขอจดสิทธิบัตรในต่างประเทศ

ในจำนวนนี้ มีที่ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้ว 62 ฉบับ แบ่งเป็นในประเทศ 57 ฉบับ และต่างประเทศอีก 5 ฉบับ

ศ.ดร.ชัชนาถ เผยว่า ผลงานวิจัยที่ยื่นขอจดสิทธิบัตรในรอบปีที่ผ่านมานั้น ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ยื่นผลงานขอจดสิทธิบัตรมากที่สุด 32 คำขอ รองลงมาคือศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) 20 คำขอ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) 13 คำขอ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) 5 คำขอ และสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ (ไอเซ็ท) อีก 2 คำขอ

ทั้งนี้ มีเพียง 9 ผลงานได้รับจดสิทธิบัตรคุ้มครองในประเทศ และยังไม่มีผลงานใดที่ได้รับสิทธิบัตรคุ้มครองในต่างประเทศเลย อย่างไรก็ดี เมื่อมีการจดสิทธิบัตรแล้ว หากมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เอกชน สวทช.และนักวิจัยก็จะแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันในสัดส่วน 70:30 ด้วย

ผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลครั้งนี้เช่น ระบบบันทึกภาพหน้าคนอัตโนมัติ เครื่องนับยาโดยใช้กล้องดิจิตอล ระบบเฝ้าตรวจสภาพการจราจรแบบไร้สาย เครื่องหมักวัสดุชีวภาพแบบต่อเนื่อง อาหารเม็ดกระตุ้นการพัฒนารังไข่ของกุ้ง ชุดตรวจสอบความหนาแน่นและความหนืดของไบโอดีเซล เกราะคอมโพสิทกันกระสุน วัสดุประกอบเซลลูโลสจากแบคทีเรียและเซริซิน และวัสดุทดแทนกระดูกที่มีลักษณะเป็นรูพรุนแบบต่อเนื่องสามมิติ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าการมอบรางวัลครั้งนี้มีผลงานจากเอ็มเทคได้รับรางวัลมากกว่าศูนย์อื่นๆ ชัดเจน ต่างจากก่อนหน้านี้ที่ศูนย์ฯ จะมีผลงานออกสู่ภายนอกค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับศูนย์ไบโอเทคและเนคเทค

ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผอ.เอ็มเทค เผยว่า น่าจะเป็นเพราะจังหวะที่ผลงานวิจัยหลายชิ้นสำเร็จในเวลาไล่เลี่ยกัน และการที่บุคคลากรวิจัยมีอายุการทำงานมากพอ ซึ่งเอ็มเทคมีผลงานสะสมที่เริ่มวิจัยกันมาตั้งแต่อดีตจำนวนมาก เมื่อรวมเข้ากับการปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการทรัพยากรใน สวทช.ก็ทำให้การทำงานไหลลื่นขึ้น

ดร.วีระศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ในเร็วๆ นี้จะมีงานวิจัยยุทธศาสตร์อีกประมาณ 15 ชิ้นที่จะแล้วเสร็จ จากกว่าร้อยชิ้นที่วิจัยกันอยู่

ส่วนเป้าหมายของการยื่นผลงานจดสิทธิบัตรในปีงบประมาณ 51 นั้น รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สวทช.เผยว่า ตั้งเป้าไว้ที่ 110 ผลงาน โดยตั้งแต่ ต.ค.50-มี.ค.51 ที่ผ่านมา สวทช.มีผลงานวิจัยที่ยื่นขอจดสิทธิบัตรในประเทศแล้วรวม 51 คำขอ และยื่นขอจดสิทธิบัตรในต่างประเทศอีก 5 คำขอ ในจำนวนนี้มีที่ได้รับการจดสิทธิบัตรในประเทศแล้ว 7 ฉบับ และต่างประเทศอีก 2 ฉบับ จึงมั่นใจว่าอีก 5 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ 51 สวทช.จะทำได้ตามเป้า

สำหรับงบประมาณเพื่อการวิจัยของ สวทช. พบว่า ปี 50 ที่ผ่านมา สวทช.มีงบประมาณกว่า 4,500 ล้านบาท โดยได้จัดสรรงบประมาณราวครึ่งหนึ่งหรือ 2,250 ล้านบาท เพื่อการวิจัยโดยเฉพาะ ส่วนปี 51 สวทช.คาดว่าจะมีงบประมาณราว 5,000 ล้านบาท และจะจัดสรรงบประมาณเพื่อการวิจัยในสัดส่วนเดียวกัน โดยแบ่งเป็นการวิจัยขั้นพื้นฐาน 25% และการวิจัยประยุกต์อีก 75% ซึ่ง สวทช.จะต้องส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาทำงานวิจัยประยุกต์มากขึ้นด้วย

"ผลงานวิจัยที่ยื่นจดสิทธิบัตรของ สวทช.เพิ่มขึ้นทุกปี สำหรับปีนี้ถือว่าเกินเป้าที่ สวทช.ตั้งไว้เสียอีก ส่วนปีงบประมาณ 51 ที่ตั้งเป้าไว้ร้อยกว่าผลงานก็มีความคืบหน้าไปมากแล้ว หากบรรลุตามเป้าก็จะมีจำนวนถึง 1 ใน 4 ของผลงานทั้งหมดที่เคยมีมา ซึ่งเราต้องการให้ผลงานวิจัยเหล่านี้มีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมมากที่สุดด้วย" ผอ.สวทช.กล่าว

รศ.ดร.ศักรินทร์ เผยด้วยว่า ที่ผ่านมา สวทช.ได้ถ่ายทอดผลวิจัยที่ได้รับการจดสิทธิบัตรสู่เอกชนแล้วประมาณ 40 ผลงานหรือ 20% ของทั้งหมด 
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สวทช.
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผอ.ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา (ขวา) ขณะมอบรางวัลให้แก่ ดร.กิตตินันท์ อันนานนท์ นักวิจัยเอ็มเทค (ซ้าย) ซึ่งพัฒนาชุดทดสอบความหนาแน่นและความหนืดของไบโอดีเซล โดยมี รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน (กลาง) เป็นประธานในงาน NSTDA Inventors Day 2008
กำลังโหลดความคิดเห็น