xs
xsm
sm
md
lg

"ซินโครตรอนรักษานิ่ว" งานวิจัยเด่นการประชุมผู้ใช้แสง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ซินโครตรอนจัดการประชุมกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากแสดงซินโครตรอนเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการวิจัย พร้อมเปิดรับโจทย์ใหม่ๆ จากกลุ่มผู้ใช้งาน ที่มักเป็นนักวิจัยตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ
ศูนย์ซินโครตรอนเปิดงานวิจัยใหม่ ใช้เทคนิคแสงป้องกัน-วางแผนรักษาผู้ป่วยโรคนิ่วในไต และการผลิตสินค้าปลอดเชื้อ ผอ.ศูนย์ยอมรับภาคเอกชนยังโดดร่วมวงใช้ประโยชน์จากซินโครตรอนน้อย ผุดแผนตั้งหน่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีปลายปีนี้

ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ (ศซ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดการประชุมกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนครั้งที่ 2 ประจำปี 2551 ขึ้นเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.51 ณ โรงแรมตะวันนา กรุงเทพฯ โดยมีนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ พร้อมด้วยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ 127 คน 

ทั้งนี้ ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สำรวจเห็นว่า ไฮไลต์ของการประชุมอยู่ที่การนำเสนอผลงานวิจัยด้วยแสงซินโครตรอนหลายชิ้น ที่น่าสนใจเช่น งานวิจัยประยุกต์ใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนในการศึกษาองค์ประกอบของธาตุในก้อนนิ่วจากไตของมนุษย์ โดย ดร.จารุวรรณ ศิริเทพทวี ภาควิชาชีวเคมี วิทยาลัยแพทยศาสตรและการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อใช้เป็นแนวทางใหม่ในการป้องกันและวางแผนการรักษาผู้ป่วยโรคนิ่วในไต
 
สำหรับวิธีใหม่ สามารถตรวจวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็วกว่าเทคนิคเดิมที่ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเหลือเพียง 20 นาที อีกทั้งยังมีความแม่นยำมากขึ้น ขณะที่ใช้ผงก้อนนิ่วบดเพื่อการวิเคราะห์น้อยกว่า 2 มิลลิกรัมเท่านั้น

ดร.จารุวรรณ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวหลายสำนักและผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า โรคนิ่วถือเป็นโรคอันดับหนึ่งของโลกเกี่ยวกับโรคทางเดินปัสสาวะ อีกทั้งผู้ป่วยยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต ซึ่งในประเทศไทยพบว่าประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ่วมากที่สุด เนื่องจากพฤติกรรมการกินและดื่มที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น การดื่มน้ำน้อย เป็นต้น

นักวิจัยกล่าวด้วยว่า เทคนิคดังกล่าวจะช่วยให้แพทย์วิเคราะห์องค์ประกอบในนิ่วได้อย่างถูกต้อง พร้อมคาดการณ์ความเสี่ยงการเกิดนิ่วจากการคำนวณหาค่าออกซิเดชันของธาตุที่โน้มนำสู่การเป็นโรคนิ่ว เช่น สารบางตัวในยาปฏิชีวนะและอาหารที่บริโภคเข้าไป รวมทั้งจะทำให้ทราบแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเลี่ยงพฤติกรรมก่อโรค เช่น การรับประทานแคลเซียมเสริมก่อนนอนซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิดโรคได้มากกว่าการรับประทานแคลเซียมหลังรับประทานอาหาร

ปัจจุบัน งานวิจัยดังกล่าวยังอยู่ในระดับห้องปฏิบัติการ และจะเริ่มการทดลองในสัตว์ทดลองในเร็วๆ นี้ ก่อนจะศึกษาวิจัยในมนุษย์ เพื่อศึกษาความปลอดภัยของการนำไปใช้งาน โดยเชื่อว่ามีศักยภาพสู่การใช้งานทางการแพทย์ หรือแม้แต่การออกแบบยารักษาโรคชนิดใหม่ที่ไม่ทำให้เกิดโรคนิ่วในไตจากการรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เช่น ผู้ป่วยเชื้อเอชไอวี เป็นต้น

ส่วนอีกผลงานวิจัยยังได้แก่ งานวิจัยการสังเคราะห์ไททาเนียมไดออกไซด์เพื่อลดจุลินทรีย์ในน้ำ โดย ดร.รุ้งนภา ทองพูล ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งใช้แสงซินโครตรอนในการศึกษาโครงสร้างของกำมะถันที่จับตัวกับโมเลกุลของไททาเนียมไดออกไซด์และทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นปฏิกิริยาให้สามารถทำลายเชื้อจุลินทรีย์ได้รวดเร็วขึ้น

ดร.รุ้งนภา กล่าวกับผู้สื่อข่าวและผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ปรกติแล้วได้มีการนำไททาเนียมไดออกไซด์ไปใช้ผสมเป็นส่วนผสมในครีมกันแดด และสีทาบ้านวางจำหน่ายอยู่แล้ว โดยไททาเนียมไดออกไซด์จะมีคุณสมบัติพิเศษสามารถย่อยสลายสารอินทรีย์ เช่น เชื้อก่อโรคได้เมื่อได้รับแสงอัลตราไวโอเลต อย่างไรก็ดี นักวิจัยพบว่าเมื่อผสมกำมะถันลงไปในโมเลกุลไททาเนียมไดออกไซด์ด้วยแล้วจะทำให้ประสิทธิภาพการทำลายจุลินทรีย์รวดเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นักวิจัยเอ็มเทค กล่าวด้วยว่า จากผลการค้นพบครั้งนี้จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะนำผลการค้นพบนี้ไปต่อยอดเป็นเสื้อผ้าและถุงเท้าปลอดเชื้อโรค สเปรย์ฆ่าเชื้อในอากาศ และสารเคลือบกระจกต้านเชื้อโรค ทว่าการวิจัยยังอยู่ในระดับการทดลอง จึงต้องมีการศึกษาปริมาณสารที่เหมาะสมที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยและไม่เกิดผลเสียต่อสุขภาพผู้ใช้

นอกจากนี้ ภายในงานประชุมกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยผ่านโปสเตอร์ พร้อมการนำเสนอผลงานอื่นๆ บนเวที เช่น การศึกษากลไกการดูดซับนิกเกิลของขุยมะพร้าวเพื่อประโยชน์ในการบำบัดน้ำเสีย, การพัฒนาระบบตรวจวัดการเลี้ยวเบนของรังสีเอ็กซ์ ณ ระบบลำเลียงแสงที่ 8 (X-ray absorption spectroscopy), และการสร้างสวิตช์ความเร่งด้วยกระบวนการลิโธกราฟฟีด้วยรังสีเอ็กซ์ เป็นต้น

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ผอ.ศูนย์ซินโครตรอนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนและผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า การจัดประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีเผยแพร่ผลงานวิจัยพัฒนาจากแสงซินโครตรอนของศูนย์ พร้อมทั้งเปิดรับฟังโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานซึ่งร้อยละ 90 เป็นนักวิจัยต่างสาขาทั้งเทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุศาสตร์ แพทยศาสตร์ ฯลฯ ที่กระจายอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ
 
ส่วนอีกเพียงร้อยละ 10 อยู่ในภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และด้านวัสดุศาสตร์ รวมถึงผู้ใช้บริการตรวจวิเคราาะห์ทดสอบ ทว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับผลงานตีพิมพ์ทั้งหมด

เวลานี้ทางศูนย์ซินโครตรอนแห่งชาติจึงได้ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนจัดตั้งศูนย์ธุรกิจเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานถ่ายทอดงานวิจัยซินโครตรอนสู่ภาคเอกชน พร้อมให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ โดยเฉพาะกับการผลิตสิ่งทอและยางคุณสมบัติพิเศษซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด คาดว่าจะใช้งบประมาณก่อตั้งศูนย์ไม่เกิด 2.5-3 ล้านบาท และจะตั้งศูนย์ได้สำเร็จภายในปี 2551 นี้

ส่วนผลการดำเนินงานของศูนย์ซินโครตรอนแห่งชาติที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา พบว่ามีกลุ่มผู้ใช้งานแสงซินโครตรอนของศูนย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีถึง 793 คนในปัจจุบัน โดยระหว่างปี 2547-2550 ทางศูนย์ได้ให้การสนับสนุนการวิจัยแล้วจำนวน 48 โครงการด้วยงบวิจัยประมาณ 57 ล้านบาท จนถึงปัจจุบันมีนักวิจัยภาครัฐและเอกชนตลอดจนนักศึกษาทำโครงการขอใช้งานแสงซินโครตรอนทั้งหมด 228 โครงการ.
ดร.จารุวรรณ ศิริเทพทวี ผู้ทำโครงการวิจัยประยุกต์ใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนในการศึกษาองค์ประกอบของธาตุในก้อนนิ่วจากไตของมนุษย์
ดร.รุ้งนภา ทองพูล ผู้ทำโครงการวิจัยการสังเคราะห์ไททาเนียมไดออกไซด์เพื่อลดจุลินทรีย์ในน้ำ
 รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ผอ.ศูนย์ซินโครตรอนแห่งชาติ เผยว่า กำลังจะร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งหน่วยงานถ่ายทอดเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนเพื่อดึงผู้ประกอบการใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนเพื่อการผลิตมากขึ้น จากปัจจุบันเพียง 1 ใน 10 ของผู้ใช้งานทั้งหมด
ภาพจำลองศูนย์ซินโครตรอนแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา
กำลังโหลดความคิดเห็น