xs
xsm
sm
md
lg

หลักการเบื้องต้นของรัฐบาลที่ดี

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมอยู่กันเป็นชุมชน ซึ่งจะต้องมีการจัดระเบียบและความเรียบร้อย นี่คือที่มาของการมีรัฐและการใช้อำนาจรัฐ ผู้ใช้อำนาจรัฐก็คือกลุ่มบุคคลคณะหนึ่งที่เรียกว่ารัฐบาล รัฐบาลจะเป็นในรูปใดย่อมขึ้นอยู่กับระบบการเมืองว่าเป็นระบบที่ปกครองโดยคนคนเดียว โดยคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนดี หรือเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง และผลสุดท้ายก็มาถึงระบบการปกครองที่คนส่วนใหญ่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ให้ความยินยอมหรืออาณัติให้กับคนกลุ่มเล็กเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐด้วยการเลือกตั้ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การให้ความยินยอมโดยประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยมอบหมายการใช้อำนาจดังกล่าวให้กับกลุ่มบุคคลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือที่เรียกว่ารัฐบาล ภายใต้ระบอบการปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตย

แต่ไม่ว่าระบบการเมืองจะเป็นอย่างไรก็ตาม ย่อมหลีกเลี่ยงหลักการเบื้องต้นของการเป็นรัฐบาลที่ดีไม่ได้ ซึ่งในสมัยจีนโบราณนั้นปราชญ์ขงจื้อได้กล่าวเน้นถึงคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ปกครอง โดยเฉพาะการปกครองบริหารเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั่วไป การหลีกเลี่ยงการข่มเหงบีฑาประชาราษฎร์ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อความโลภและการหลงอำนาจเกิดขึ้นในหมู่ขุนนางในช่วงที่เรียกว่า “ขุนนางกังฉินครองแผ่นดิน” และจะยิ่งก่อความเสียหายมากยิ่งขึ้นถ้าผู้ปกครองซึ่งเป็นกษัตริย์ไม่อยู่ในศีลธรรมอันดีและขาดจริยธรรม มีการเกณฑ์แรงงานอย่างหฤโหด เก็บภาษีอย่างทารุณและก่อสงคราม นำไปสู่ความเสียหายต่อชีวิต เลือดเนื้อและทรัพย์สิน และความสงบเรียบร้อยปกติสุขในสังคม ด้วยเหตุนี้จึงพยายามที่จะเสนอหลักธรรมการปกครองบริหารประเทศโดยนักคิดและนักปราชญ์ รวมทั้งสร้างกลไกต่างๆ เพื่อให้มีการป้องกันไม่ให้เกิดการปกครองที่มีลักษณะเป็นทรราชย์

ในขณะเดียวกันประเด็นเรื่องความชอบธรรมทางการเมือง (political legitimacy) ก็เป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งมักจะมีการอ้างประกาศิตจากสวรรค์ หรืออาณัติจากสวรรค์เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่ยอมรับ ทางตะวันตกก็มีประกาศิตจากสรวงสวรรค์ (the Divine Right of King) ทางจีนโบราณก็มีอาณัติจากสวรรค์ (the Mandate of Heaven) ทางอินเดียก็มีลัทธิเทวราชาโดยกษัตริย์เป็นสมมติเทพอวตารลงมาเป็นมนุษย์ นอกจากนี้ก็มีกลไกต่อต้านการกดขี่ข่มเหงประชาชนโดยผู้ทรงอำนาจรัฐ

ในกรณีของจีนนั้นถ้ามีเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น เช่น มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง ขุนนางกังฉินครองแผ่นดิน กษัตริย์ไม่อยู่ในศีลธรรม ปล่อยปละละเลยการปกครองบริหารจนฝายกั้นน้ำพังทลาย โจรผู้ร้ายชุกชุม เกิดกบฏต่อต้านรัฐบาลเป็นหย่อมๆ มีโรคระบาด มีภัยธรรมชาติ ฯลฯ ก็เป็นโอกาสของการกล่าวว่าสวรรค์ถอนอาณัติการปกครอง จากนั้นก็มีการกบฏเกิดขึ้น โดยมีนักคิดนำกองทัพชาวนาเข้าต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ บางครั้งก็จัดเป็นกลุ่มต่อต้านมีชื่อต่างๆ เช่น กลุ่มบัวขาว เป็นต้น

ในกรณีของไทยก็เห็นได้จากเพลงยาวพยากรณ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า พระมหากษัตริย์ไม่ทรงอยู่ในทศพิธราชธรรมจึงเกิดเหตุวิปริตพิสดารต่างๆ บ่งบอกถึงการใกล้ล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา

ในความเป็นจริงการปกครองบ้านเมืองไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือแม้ในรัฐบาลปัจจุบัน หลักการใหญ่ก็คือจะต้องอยู่ในทศพิธราชธรรม หรือให้ความยุติธรรมกับผู้อยู่ใต้ปกครอง ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว เห็นแก่บ้านเมืองเป็นหลัก ที่สำคัญที่สุด จะต้องเอาใจใส่ดูแลปรับปรุงพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องวัฒนธรรมและการศึกษา รักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายเพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อย ที่สำคัญที่สุดต้องมีความยุติธรรม เมื่อไหร่ก็ตามที่ขาด 3 สิ่งดังกล่าว ความชอบธรรมของรัฐบาลก็ย่อมจะหมดลง

หลักการในการปกครองบริหารประเทศนั้นอาจย้อนไปดูที่นักปราชญ์สำคัญคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกศิษย์ของเพลโต นั่นคือ อริสโตเติล โดยหลักการดังกล่าวนั้นได้มีการอ้างถึงในหนังสือชื่อ นักคิดคนสำคัญของโลก เขียนร่วมกันโดย ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ และ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช โดยมีความตอนหนึ่งว่า “ในการปกครองบริหารนั้น ผู้ปกครองควรจะเอาใจใส่ในหลักการใหญ่ๆ 3 ประการ คือ

ประการแรก ผู้ปกครองจะต้องเอาใจใส่ต่อ การศึกษา ซึ่งก็คือการสร้างพลเมืองขึ้นมาตามกรอบของรูปแบบการปกครองที่เป็นอยู่นั้นเอง

ประการต่อมา ผู้ปกครองจะต้องเอาใจใส่ให้มีการเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัด แม้แต่ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

ประการสุดท้าย ผู้ปกครองจะต้องสนใจความยุติธรรมในทางกฎหมายและในการบริหารงาน แอริสโตเติลแนะในรายละเอียดว่า ผู้ปกครองจะต้องไม่หวังว่าจะหลอกลวงประชาชนได้เสมอไป ไม่ควรจะปล่อยให้อำนาจอยู่ในมือของคนคนเดียว หรือคนชั้นเดียว แต่คนชั้นต่างๆ ในรัฐจะต้องได้รับการปฏิบัติดูแลโดยยุติธรรม คือ จะต้องไม่ทำให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คิดว่าตนไม่อาจมีอำนาจทางการเมืองได้เลย ตำแหน่งสำคัญๆ ทางการเมืองจะต้องไม่ให้ตกอยู่ในมือของคนที่ไม่มีใครรู้จักหรือคนต่างด้าว และจะต้องไม่ปล่อยให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาศัยตำแหน่งเพื่อประโยชน์ส่วนตัว โดยการรับสินบนหรือโดยวิธีอื่นๆ การบริหารงานของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารงานที่เกี่ยวกับการเงิน จะต้องเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบควบคุมดูแลโดยมหาชนได้ การให้ตำแหน่งหน้าที่และเกียรติยศ จะต้องเป็นไปตามความยุติธรรมอย่างเป็นสัดส่วน คือ

ให้ของที่เท่ากันแก่ผู้ที่เท่ากัน และให้ของที่ไม่เท่ากันแก่ผู้ที่ไม่เท่ากัน จะต้องไม่มีใครมีสิทธิ์ผูกขาดอำนาจทางการเมือง พลเมืองจะต้องได้รับการศึกษาอบรมให้มีคุณลักษณะสอดคล้องกับรูปแบบการปกครองตำแหน่งที่สูงสุดในรัฐ ควรจะมอบให้แก่ผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อรูปแบบการปกครอง มีความสามารถในการบริหารงาน และมีความซื่อสัตย์ แต่พลเมืองทุกคนจะต้องได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน

นอกจากนี้แล้ว ผู้ปกครองยังอาจจะเตือนให้ประชาชนได้ตระหนักถึงภัยคุกคามจากภายนอก ในกรณีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงภายในเกิดขึ้นด้วย และในท้ายที่สุด หากรูปแบบการปกครองใดจะคงอยู่ต่อไปได้ ก็ต้องหมายความว่า ทุกส่วนในสังคมนั้นล้วนปรารถนาจะให้รูปแบบการปกครองนั้นคงดำรงอยู่ต่อไป ผู้ปกครองที่ฉลาดจึงต้องพยายามกระทำแต่สิ่งที่ “ยุติธรรม” เมื่อพิจารณาจากทุกฝ่าย”

คำกล่าวของอริสโตเติลน่าจะนำมาปรับใช้ได้แม้ในยุคปัจจุบัน เพราะเป็นหลักการอกาลิโก
กำลังโหลดความคิดเห็น