xs
xsm
sm
md
lg

ไทยหรือจะเป็นอย่างปากีสถาน เนปาล เคนยา

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ภาษาไทยเป็นภาษาที่ประณีต ผมถูกคนหยาบผสมโรงด่าเสมอ โดยเฉพาะพวกที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ และแฟนรับจ้างของทักษิณ หัวข้อบทความนี้ก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่เสี่ยง

เสี่ยงเพราะพวก “ฟังไม่ได้ศัพท์ จับมากระเดียด” จะสลับที่คำแค่สองคำ หัวข้อจะพาให้นัยของบทความกลบไปหน้ามือเป็นหลังมือ

นั่นก็คือ หรือไทยจะเป็นอย่างปากีสถาน เนปาล เคนยา

คำตอบของผม ก็คือ อภัยด้วยเถิด นานๆ ขอถ่อยสักที “หมาที่ไหนวะ เสือกขู่ให้กลัวว่าไทยจะเหมือนปากีสถาน เนปาล หรือเคนยา”

ชื่อบทความของผมก็บอกอยู่โทนโท่แล้วว่าไม่มีทาง

แท้ที่จริง คนนะครับ ไม่ใช่หมา ที่กระพือข่าวเรื่อง เนปาล ปากีสถาน และเคนยา โดยเฉพาะคนที่เป็นสื่อ หรือถือว่าตัวเอง (คราวนี้เองมีความหมายว่า “มัน” นะครับ นี่แหละภาษาไทย) มีปากกาซะอย่าง

หนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ พาดหัวและแพลมบทความออกมาบ่อยเป็นปีแล้วเรื่องเนปาล ท่านผู้อ่านจะสังเกตเหมือนผมหรือเปล่าก็ไม่ทราบว่าหนังสือฉบับนี้ไม่มีเอกภาพ แล้วแต่ว่าใครจะมีโควตาคุมหน้าไหน ถ้าเป็นพวกออกมาจากป่า และหวือหวาทักษิณก็เขียนอย่าง ถ้าเป็นอีกพวกก็เขียนอย่าง พวกแรกเคยเอาความเท็จรายงานจากเศษขยะความมั่นคงไทยออกโดยกระจอกข่าวอังกฤษ ใส่ความผมกับอาจารย์ป๋วยเรื่อง 14 ตุลา ผมเขียนไปขอแก้ก็ไม่ยอมลงให้

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้วิเคราะห์อย่างตื้นเขิน จนผู้อ่านอาจจะเกิดความกลัวว่า “ระวังนะ สถาบันกษัตริย์ไทย อีกหน่อยจะเหมือนกับ (สถาบันกษัตริย์) เนปาล”

สถาบันกษัตริย์เนปาลเป็นอย่างไร กล่าวโดยย่อ เมื่อเดือนมิถุนายน 2544 กษัตริย์บิเรนดรา พระมเหสี เจ้าหญิงและราชวงศ์ 8 องค์ ถูกมกุฎราชกุมาร ดิเบนดรา ลั่นกระสุนปืนกลสังหาร ก่อนที่จะปลงพระชนม์พระองค์เอง สันนิษฐานว่าสาเหตุมาจากโรคประสาทและความรักถูกขัดขวาง พระอนุชาของกษัตริย์ได้ขึ้นครองราชย์แทน เนปาลประสบปัญหาความไม่ลงรอยระหว่างกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับสภาผู้แทน และการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลและกองโจรเหมา (ผู้นิยมลัทธิเหมา เจอ ตุง) ที่ไม่มีวี่แววว่าจะสงบได้ ในที่สุด เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2550 รัฐสภาชั่วคราวลงมติด้วยคะแนนเสียง 270 จากทั้งหมด 329 ที่นั่งให้ล้มเลิกสถาบันกษัตริย์ที่มีอายุ 240 ปี สถาปนาเนปาลเป็นสาธารณรัฐ โดยอ้างว่าเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง และยุติสงครามกลางเมืองระหว่างคนเนปาลด้วยกัน

ขณะที่ผมยอมรับว่า เราอาจจะได้ข้อคิดและบทเรียนจากเนปาล แต่ผมไม่ยอมรับหางเสียงของบุคคลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเหมือนกับการโฆษณาหาเสียงและใบปลิวเถื่อนที่สนับสนุนพรรคพลังประชาชน ที่เชิดชูความดีของพ.ต.ท.ทักษิณ จนกระทั่งการเลือกตั้งกลายเป็นเรื่องจะเอาหรือไม่เอาทักษิณไปในที่สุด พวกนี้ขู่คำรามแม้กระทั่งว่า ระวังนะถ้าใครล้มเลือกตั้ง จะเกิดสงครามประชาชน และอวสานของสถาบันกษัตริย์

สถาบันกษัตริย์ไทยมีอายุยืนยาวมากเกือบ 800 ปี เป็นสถาบันเดียวที่อาศัย “ทศพิธราชธรรม” เป็นหลักปกครอง ความเสียสละ และพระวิริยะอุตสาหะของในหลวงปัจจุบันที่ “รับใช้” บ้านเมืองและประชาชนทำให้ “ทวยราษฎร์รักบาทแม้ ยิ่งด้วย ปิตุรงค์” บุญบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขจรขจายไปทั่วโลก เพราะพระองค์จำเริญอิทธิบาท 4 และพระอาญาไม่พ้นเกล้า ผมขอพูดภาษาชาวบ้านอีกว่าพระองค์ทรงทำงาน “รับใช้” พสกนิกรจนเหงื่อตกกลีบ ผมเชื่อว่า ต่อให้พรรคการเมืองได้เสียงถึง 450 เสียงก็ไม่กล้าจะลงมติล้มเลิกสถาบันกษัตริย์ได้ เพราะประชาชนจะไม่มีทางยินยอม

แต่นั่นแหละ พระพุทธเจ้าทรงสอนเราว่า ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง และความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงได้พากเพียรเสนอระบบ “ราชประชาสมาสัย” เพื่อจะได้ทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเป็นความจริงและเข้มแข็งขึ้นมาทั้งในภาคปฏิบัติและทฤษฎี ผมเห็นว่ารัฐบาลทักษิณ รัฐบาลปัจจุบัน คมช. และการเลือกตั้งครั้งนี้ล้วนแล้วแต่ตกอยู่ภายใต้ความประมาททั้งสิ้น

ระบบการเมืองไทยปัจจุบัน ยังเข้าใจ “พระราชอำนาจ” และ “ความเป็นประชาธิปไตย” ไม่ถูกต้อง จำเป็นจะต้องแก้ไขและปฏิรูปเสียก่อน

วิกฤตจากการเลือกตั้งครั้งนี้ น่าจะทำให้สังคมไทยได้คิด พูดจากันให้รู้เรื่อง รวบรวมปัญญา สมาธิ และความกล้าหาญ ผันวิกฤตให้เป็นโอกาสของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้ได้ ถึงแม้เราจะต้องสละนักการเมืองและระบบพรรคการเมืองแบบทุนและอำนาจนิยมผูกขาดสัก 300 คน ก็แสนที่จะคุ้มค่า

ทีนี้ก็เรื่องปากีสถาน เมื่อไม่กี่วันนี้ นางบุตโต อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ผู้นำพรรคพลังประชาชนของปากีสถาน ที่เดินทางกลับประเทศหลังจากปลดออกจากตำแหน่งและเนรเทศไปอยู่ต่างประเทศเป็นเวลาหลายปี นางบุตโตถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหดและอุกอาจในการระเบิด และถล่มยิงในการหาเสียงกลางเมือง ต่างก็คาดเดาไปต่างๆ นานาว่าใครเป็นผู้สั่งการ เผด็จการทหารหรือคู่แข่งทางการเมืองซึ่งต่างก็เป็นฝ่ายค้านด้วยกัน คือนายนาวาส ชารีฟ ผู้โค่นนางบุตโตในอดีต หรือว่าขบวนการก่อการร้ายอัลกออิดะห์ ใครกันแน่

คนไทยที่เชื่อถือโชคลาง ต่างก็มองเห็นความคล้ายคลึงระหว่างนางบุตโตกับทักษิณ คือหนึ่ง ชื่อพรรคคล้ายๆ กัน และสอง ต้องลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศเหมือนๆ กัน ก็เลยกลัวว่าทักษิณจะถูกสังหารแบบเดียวกัน บ้างก็ว่าเห็นมั้ย ทักษิณกลัวจนกลับคำไม่กล้ากลับไทยในเดือนกุมภาพันธ์ตามที่ประกาศไว้หลังจากที่พรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้งเกินคาด

แต่ผมยังมองไม่เห็นว่าระดับของความโหดร้ายในการต่อสู้ทางการเมืองของไทยจะขึ้นไปสู่ระดับเดียวกับปากีสถาน ทหารไทยในขณะที่ดีกรีความเป็นทหารอาชีพไม่สูงนัก ความเป็นเผด็จการอาชีพเหมือนกองทัพปากีสถานก็ไม่มีเหมือนกัน แม้แต่การที่ฝ่ายความมั่นคงอเมริกันเกรงว่าทักษิณจะถูกสังหารที่สนามบินเหมือนกับตอนที่นายอากิโนผู้นำฝ่ายค้านฟิลิปปินส์บินกลับบ้าน ผมก็ยังไม่เชื่อ ถ้าหากทักษิณจะถูกสังหาร ทางที่อาจจะเป็นไปได้ก็ด้วยวิบากกรรมของตนเอง ผมไม่ทราบว่าทักษิณไปหักหลังหรือสร้างความแค้นไว้ที่ไหนบ้าง

ผมเป็นคนหนึ่งที่คัดค้านและไม่ต้องการเห็นทักษิณถูกสังหารด้วยกลไกของรัฐ และไม่ต้องการเห็นความโหดเหี้ยมของการต่อสู้แบบปากีสถาน แต่ผมเข้าใจรูปแบบของการต่อสู้ดี ว่าวิธีการและความโหดเหี้ยมจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่แต่ละฝ่ายไม่ยอมรับหลักกฎหมายและประชาธิปไตยที่แท้จริง และจะเอาชนะกันด้วยการปลุกปั่นประชาชนเข้าสู่ภาวะจลาจลและสงครามกลางเมือง ผมไม่ห่วงฝ่ายพันธมิตรและไม่ห่วงทักษิณ ผมให้คะแนนทักษิณเกือบเต็มที่ปล่อยให้พันธมิตรชุมนุมต่อต้านได้อย่างสันติเป็นปี แต่ผมเป็นห่วง และไม่ไว้ใจกลุ่ม “คนใช้” ทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นนักอุดมการณ์หรือนักหากิน หรือแม้แต่กลุ่ม นปก.เองก็ตาม

อีกอย่างหนึ่งที่ผมไม่ต้องการให้คนไทยเข้าใจผิดก็คือ ทักษิณไม่ใช่นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบเดียวกับนางบุตโตของปากีสถาน เพราะเมื่อแม้แต่ตอนที่ยังอยู่ในอำนาจทักษิณยังเป็นประชาธิปไตยไม่เป็น ไม่ยอมฟังใครและไม่ยอมรับการตรวจสอบใดๆ แบบประชาธิปไตยทั้งสิ้น

สำหรับกรณีของเคนยานั้น ถ้าพวกเราดูทีวีจะเห็นความโหดเหี้ยมเลือดเย็นของสองฝ่ายที่ต่อสู้กันอย่างโจ่งแจ้ง ถึงขนาดเผาเด็กและผู้หญิงเป็นสิบในโบสถ์ สาเหตุก็คือเลือกตั้งโกง เลือกตั้งแพ้แต่คนไม่แพ้ ขณะนี้ก็เกิดจลาจลต่อสู้กันในท้องถนน และลุกลามขยายออกไป ประธานาธิบดีที่โกงเลือกตั้งชนะออกมาบอกฝ่ายค้านว่ายินดีเจรจาด้วย แต่ต้องให้เลิกจลาจล และรับผลเลือกตั้งเสียก่อน ซึ่งก็คงจะยาก

เคนยานี้เป็นประเทศที่เจริญและสงบมากกว่าประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา ประชาชนพูดอังกฤษและมีการศึกษาค่อนข้างดี น่าเสียดายที่พวกผู้นำสร้างเงื่อนไขให้เกิดความป่าเถื่อนกลับไปสู่ธรรมชาติและสันดานดิบได้ ผมเชื่อว่าเมืองไทยมีผู้นำการเมืองแบบนั้นอยู่ และมีอยู่ในหลายจังหวัดทางภาคอีสานของผมด้วย แต่ผมไม่เชื่อว่าอีสานซึ่งเป็นแดนพุทธ ประชาชนจะตกเป็นเครื่องมือของสันดานป่าได้ถึงขนาดนั้น หรือว่าไม่แน่

สรุปแล้ว ผมยังเชื่อและศรัทธาในความเป็นเมืองไทยและคนไทย ในสถาบันกษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรมในผู้นำที่อย่างน้อยก็น่าจะเหลือความมีมารยาทและเป็นผู้ดีอยู่บ้าง ถึงแม้จะตะกละตะกลามในเรื่องอำนาจและการบริโภคก็ตาม

เมืองไทยถ้าไม่มีดี อยู่มาไม่ได้เกือบพันปี เมืองไทยถ้าไม่มีดีรักษาเอกราชมาไม่ได้จนทุกวันนี้ เราไม่ใช่ประเทศใหม่ เราแก่กว่าอเมริกาหลายร้อยปี สถาบันกษัตริย์ของเราไม่ด้อยกว่ายุโรปเลย สิ่งเดียวที่เราไม่มี คือ ระบบการเมืองที่ดี

ขณะนี้ระบบการเมืองเลว และการเลือกตั้งเลว ที่บังคับให้นักการเมืองกลายเป็นคน “ทุศีล” ไปหมดไม่เหลือหรอ กำลังพ่นพิษร้ายปกคลุมไปทั่วประเทศ

เรารู้แล้วมิใช่หรือว่าปัญหาคืออะไร เราจะยังพากันประมาทและมักง่ายขอไปทีกระนั้นหรือ

ก็ได้ ถ้าเราอยากเป็นเหมือนปากีสถาน เนปาล และเคนยา

ผมไม่เชื่อว่าเราจะเป็นอย่างปากีสถาน เนปาล และเคนยา

ผมไม่เอาด้วย ผมเชื่อว่าคนไทยมีปัญญาที่จะร่วมกับพระมหากษัตริย์ที่เขารักไว้ใจและบูชา พากันสร้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริงได้สำเร็จ

ถึงผมจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบทั้งปวง ล้วนแต่มาสมประกอบทั้งสิ้น แต่เราก็ต้องเคารพกฎหมาย และเอากฎหมายมาใช้ให้เป็นจริงเสีย

ขอให้ความสูญเสียของประเทศอื่นเป็นบทเรียนอย่าให้ประเทศไทยประมาท

กฎหมายที่เรามีอยู่ขณะนี้พอแล้วที่กำจัดนักการเมือง และพรรคการเมืองเหลือเดนทั้งหลายให้ราบเรียบ เพื่อเป็นของขวัญแก่ในหลวงและประเทศชาติในวันขึ้นปีใหม่

ไทยหรือจะเป็นอย่างปากีสถาน เนปาล หรือ เคนยา

ไม่มีทาง

แต่เราทุกคนจะต้องช่วยกันคนละไม้ คนละมือ เมื่อถึงเวลา คนไทยจะต้องพูดกันรู้เรื่อง และ รู้รักสามัคคี
กำลังโหลดความคิดเห็น