xs
xsm
sm
md
lg

“สมเด็จพ่อหลวงกับธรรมาธิปไตย”

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

สัปดาห์นี้นับเป็นสัปดาห์สำคัญของเราชาวไทยทุกคน เนื่องด้วยวันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม 2552 นี้ เป็นวัน “5 ธันวาคมมหาราช : วันเฉลิมพระชนมพรรษา” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ 82 พรรษา ซึ่งเป็นวันสำคัญที่พสกนิกรชาวไทยถ้วนหล้าต่างรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ท่านได้มีพระราชกรณียกิจ พระกระแสรับสั่ง พระราชดำรัส นับหลายร้อยครั้งตลอดระยะเวลาการครองราชย์ของพระองค์ที่ยาวนานที่สุดของประวัติศาสตร์ราชวงศ์ใดๆ ในโลกนี้

ตลอดระยะเวลา 63 ปี ที่พระองค์ทรงครองราชย์มาอย่างยาวนานด้วย “ความอยู่เย็นเป็นสุข” ของอาณาประชาราษฎร์มาตราบเท่าจนปัจจุบันด้วย “ความเปี่ยมล้นของทศพิธราชธรรม” จนบ้านเมืองสงบสุขร่มเย็นมาโดยตลอด ไม่ว่าชาติบ้านเมืองจะต้องเผชิญมรสุมทั้งด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจเช่นใด แต่ก็ผ่านพ้นมาได้ด้วยดีเสมอมา ด้วย “พระบารมี” ของพระองค์ท่าน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่ง “ราชวงศ์จักรี” เสด็จขึ้นครองราชย์วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 จนถึงปัจจุบัน ทรงพระสถานะเป็นประมุขแห่งรัฐตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระชนมชีพอยู่และทรงอยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลก และเสวยราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ยาวนานถึง 63 ปี

พระองค์ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระภัทรมหาราช” มีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐยิ่ง” ต่อมาได้มีการถวายพระราชสมัญญาใหม่ว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช” เมื่อ พ.ศ. 2539 และ “พระภูมิพลมหาราช” ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกพระองค์ว่า “ในหลวง”

พอกล่าวถึง “ในหลวง” คนไทยทุกคนทุกครั้งจะต้องยกมือพนมไหว้เหนือหัว เนื่องด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงปฏิบัติและดูแลพสกนิกรของท่านด้วย “ทศพิธราชธรรม” อย่างต่อเนื่องยาวนาน

เราคงจำกันได้ เมื่อวันที่พระองค์ท่านทรงขึ้นครองราชย์นั้น พระองค์ทรงมีพระบรมราโชวาทว่า “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรมฯ” ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงยึดถือปฏิบัติตลอดมา ไม่เคยย่อท้อแต่ประการใด

พระราชกรณียกิจของพระองค์มีจำนวนมากมาย ซึ่งมิใช่แต่เฉพาะ “โครงการพระราชดำริ” และ “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เท่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรของท่านทั่วทุกหัวระแหง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แก่ราษฎรทุกภูมิภาคทุกหย่อมหญ้า ด้วยการพระราชดำเนินและขับรถยนต์ด้วยพระองค์เอง

เราคงจำภาพที่พระองค์ท่านทรงน้อมก้มลงสัมผัสมือหญิงชราท่านหนึ่ง สอบถามสารทุกข์สุกดิบด้วยความห่วงใย หรือภาพที่พระองค์ทรงมี “เม็ดเหงื่อ” ที่ปลายนาสิก (จมูก) ของพระองค์ท่าน สะท้อนให้เห็นถึงความไม่รู้จักเหนื่อยยากในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดูแลทุกข์สุขประชาชนของท่าน ตลอดจนพัฒนาชุมชน ชนบท และท้องถิ่นทุรกันดารอย่างต่อเนื่อง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ที่คนไทยเรียกขานว่า “ติดดิน!”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดพระองค์หนึ่งของโลก พระราชกรณียกิจของพระองค์มีมากมาย ทั้งในด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านศาสนา ด้านความมั่นคงภายในประเทศ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านศิลปวัฒนธรรม และด้านการกีฬา แต่พระราชกรณียกิจหลักของพระองค์คือ “การยกระดับสภาพความเป็นอยู่ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน”

พระราชกรณียกิจด้านการเกษตรและการยกระดับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ดังพระราชดำรัสว่า “การเกษตรนั้นถือได้ว่าเป็นทั้งรากฐานและชีวิตสำหรับประเทศของเรา เพราะคนไทยเราส่วนใหญ่เป็นผู้มีอาชีพทางเกษตรกรรม ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นเสมอมาว่า วิธีการพัฒนาที่เหมาะสมแก่ประเทศเราอย่างยิ่ง ก็คือจะต้องทำนุบำรุงเกษตรกรรมทุกสาขาให้พัฒนาก้าวหน้า เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรทุกระดับให้สูงขึ้น”

ในกรณีด้านการพัฒนาสู่เกษตรกรนั้น พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญมากที่สุด เนื่องด้วยประชาชนคนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม พระองค์ถึงเน้นย้ำด้าน “ทรัพยากรน้ำ” มากที่สุด

จากพระราชดำริว่า “หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตนั้นอยู่ที่น้ำ ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้”

โครงการตามพระราชดำริ มีทั้งการแก้ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาอุทกภัย การบำบัดน้ำเสีย เช่น “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์” เขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่จังหวัดลพบุรี จนถึงโครงการขนาดกลางและเล็กจำพวก “ฝาย อ่างเก็บน้ำ” พระองค์ได้ทรงวิจัยและริเริ่มโครงการฝนหลวง เพื่อช่วยบรรเทาภัยแล้งสำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทาน

ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และน้ำเน่าเสียในคูคลอง ทรงมีพระราชดำริเรื่อง “แก้มลิง” ควบคุมการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน ลำคลองต่าง ๆ ลงสู่อ่าวไทยตามจังหวะการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล ทั้งยังเป็นการใช้น้ำดีไล่น้ำเสียออกจากคลองได้อีกด้วย เครื่องกลเติมอากาศ “กังหันชัยพัฒนา” ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยการเพิ่มออกซิเจน เป็นสิ่งประดิษฐ์หนึ่งของพระองค์ที่ได้รับสิทธิบัตรจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2536

ส่วนพระราชกรณียกิจด้านการศึกษา ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่พระองค์ท่านทรงมุ่งเน้นเป็นพระราชกรณียกิจหลักๆ เช่นเดียวกัน

“โครงการฝนหลวง” เป็นโครงการพระราชดำริ ที่เมื่อใดพี่น้องเกษตรกรภาคเหนือและภาคอีสานทั้งตอนบนและตอนล่างประสบกับภัยแล้ง พระองค์ท่านจะทรงมีพระกระแสรับสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่ชี้แนวทางการดำรงชีวิต ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสแก่ชาวไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517

พระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9และได้จัดทำเป็นบทความเรื่อง “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติทุกฝ่ายตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการเชิดชูเป็นอย่างสูงจากองค์การสหประชาชาติ ว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ได้พัฒนาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อที่จะให้พสกนิกรชาวไทยได้เข้าถึงทางสายกลางของชีวิตและเพื่อคงไว้ซึ่งทฤษฎีของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทฤษฎีนี้เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตซึ่งอยู่ระหว่างสังคมระดับท้องถิ่นและตลอดระดับสากล จุดเด่นของแนวปรัชญานี้คือ “แนวทางที่สมดุล” โดยชาติสามารถทันสมัย และก้าวสู่ความเป็นสากลได้ โดยปราศจากการต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ และการอยู่รวมกันของทุกคนในสังคม

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีความสำคัญในช่วงปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยต้องประสบปัญหาภาวะทางเศรษฐกิจ และต้องการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพ เพื่อที่จะยืนหยัดในการพึ่งพาตนเอง และพัฒนานโยบายที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า “มันไม่ได้มีความจำเป็นที่เราจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่” พระองค์ได้ทรงอธิบายว่า ความพอเพียงและการพึ่งตนเอง คือ ทางสายกลางที่จะป้องกันการเปลี่ยนแปลงความไม่มั่นคงของประเทศได้

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ทรงปรับปรุงพระราชทานเป็นที่มาของนิยาม “3 ห่วง 2 เงื่อนไข” ประกอบด้วยความ “พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน” บนเงื่อนไข “ความรู้” และ “คุณธรรม”

ซึ่งบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่สมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกัน เพื่อความอยู่ดีมีสุข มุ่งสู่สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน หรือที่เรียกว่า “สังคมสีเขียว”

“แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญของไทย เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในส่วนที่ 3 แนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 78 (1) ความว่า : “บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปเพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคง ของประเทศอย่างยั่งยืน โดยต้องส่งเสริมการดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวมเป็นสำคัญ”

“ขอพระองค์จงพระเจริญยั่งยืนนาน และเป็นที่รักเทิดทูนอย่างยิ่งของพสกนิกรชาวไทย”
กำลังโหลดความคิดเห็น