xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ฝ่าวิกฤตโลก ยุทธศาสตร์โลก......ไทย (3)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

ประวัติฉบับย่อของระบบ (เศรษฐกิจ) โลก

การที่จะวางยุทธศาสตร์โลก เราต้องเข้าใจไม่เพียงแต่ความเป็นปัจจุบันและทิศทางใหญ่ของระบบโลกในอนาคตเท่านั้น แต่เรายังหลีกหนีไม่พ้นที่ต้องเข้าใจความเป็นมาของอดีต อย่างน้อยที่สุดก็ต้องย้อนไปตั้งแต่กำเนิดของระบบ (เศรษฐกิจ) โลก

ผมขอแบ่งประวัติศาสตร์โลกในยุคระบบ (เศรษฐกิจ) โลกเป็น 3 ช่วง

ช่วงแรกเริ่มประมาณศตวรรษที่ 16 ถึง 18 ผมเรียกว่า “ช่วงแห่งการเกิดก่อระบบโลก” ในช่วงนี้ ชาวยุโรปเริ่มเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วจากการค้าขายที่ขยายตัวขึ้น พื้นที่โลกที่เปิดกว้างขึ้นทำให้ชาวยุโรปเริ่มสนใจเรื่องการพัฒนาและสร้างชุดภูมิปัญญาของตัวเอง ในช่วงศตวรรษที่ 16 ได้เกิดการปฏิวัติทางด้านภูมิปัญญาครั้งประวัติศาสตร์ โดยการนำเอาวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของกรีก โรมันโบราณ มาสังเคราะห์ใหม่

นี่คือที่มาของความคิดเรื่องมนุษย์นิยม (การลดอำนาจของพระเจ้าเหนือมนุษย์ลงไป) และการคิดแบบวัตถุนิยมที่เชื่อว่า “โลกโดยพื้นฐานคือ ก้อนสสารที่ไร้ชีวิต และแยกเป็นชิ้นๆ แยกเป็นส่วนๆได้” ตามด้วยความเชื่อในระบบเหตุผลซึ่งเป็นที่มาของความคิดที่อ้างว่าเป็น “วิทยาศาสตร์” หมายความว่า คนยุโรปในยุคเริ่มนี้ เชื่อว่าตัวมนุษย์เองมีพลังมหาศาล สามารถหา ‘ความจริง’ และในที่สุดจะเข้าใจโลกธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์

เมื่อคนยุโรปแยกโลกธรรมชาติจากโลกของมนุษย์ และเชื่อว่า “มนุษย์ต้องเอาชนะธรรมชาติ” ชาวยุโรปจึงเชื่อว่าต้องสร้างอารยธรรมของมนุษย์ขึ้นเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึง ‘ค่า’ ของธรรมชาติ

ที่สำคัญ นักคิดชาวยุโรปยังพบเส้นทางในการสร้างอารยธรรมด้วย โดยนำเอาความคิดเรื่องการสร้างอาณาจักรขนาดใหญ่และการล่าอาณานิคมในยุคกรีกและโรมันมาใช้เป็นเครื่องชี้นำทิศทางทางการเมือง นี่คือที่มาของลัทธิล่าอาณานิคม

ในเวลาเดียวกัน ชาวยุโรปได้เรียนรู้เรื่องการเดินเรือ การก่อสร้าง การคิดคำนวณ และเรื่องการผลิตอาวุธจากชาวอาหรับ ซึ่งนำสู่การปฏิวัติด้านการเดินทาง การสื่อสารและอาวุธ (เรือเดินทะเล และปืน)

ช่วงประวัติศาสตร์นี้ ประเทศในยุโรปเริ่มออกล่าอาณานิคม การล่าอาณานิคมได้แพร่เข้าไปในทวีปอเมริกาและแอฟริกา และเป็นที่มาของการค้าทาส ทาส (ทาสผิวดำและแดง) ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของพลังแรงงานที่ใช้ในการผลิตในยุคระบบ (เศรษฐกิจ) โลก

ช่วงประวัติศาสตร์นี้มาสิ้นสุดประมาณปลายศตวรรษที่ 18 พร้อมๆ กับการเกิดวิกฤตใหญ่ทางเศรษฐกิจการเมือง นี่คือช่วงการเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่

ในช่วงเวลานี้ ได้เกิดการปฏิวัติทางภูมิปัญญาครั้งใหม่ที่เรียกร้องเอกราชและประชาธิปไตย รวมทั้งแนวคิดต่อต้านการใช้แรงงานทาส แนวคิดเหล่านี้ได้กลายเป็นที่มาของการปฏิวัติทางการเมืองครั้งสำคัญ นั่นคือการปฏิวัติเพื่ออิสรภาพของอเมริกา และการปฏิวัติประชาธิปไตยที่ฝรั่งเศส และประเทศอื่นๆ ในยุโรป รวมทั้งการยกเลิกการใช้แรงงานทาสในยุโรปและอเมริกา

หลังการปฏิวัติใหญ่ทางการเมือง วิกฤตทางเศรษฐกิจได้ผลักให้เกิดการปฏิวัติใหญ่ทางการผลิต นี่คือการปฏิวัติอุตสาหกรรม

การปฏิวัติอุตสาหกรรมส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการผลิตสินค้าโดยการจ้างแรงงานและใช้เครื่องจักรกลในการผลิต และนำสู่การปฏิวัติทางด้านการสื่อสารและการผลิตอาวุธใหม่ (เรือเดินสมุทรที่ทันสมัย โดยใช้เครื่องจักรและอาวุธที่ทันสมัยยิ่งขึ้น)

กองทัพเรือขนาดใหญ่ที่มีอาวุธทันสมัย ปืนใหญ่ และปืนกล ได้เปิดประวัติศาสตร์ระบบเศรษฐกิจโลกใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ในช่วงนี้ บรรดา Empire ในย่านเอเชียที่เคยยิ่งใหญ่เหนือระบบโลกในยุคโบราณถูกรุกราน และยึคครอง ต้องยอมตกอยู่ใต้อำนาจของ World Economic Empire ซึ่งมีศูนย์กลางที่ยุโรป

ในช่วงศตวรรษที่ 18 ถึง 19 ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสได้ขึ้นมาเป็นใหญ่เหนือระบบโลก

ยุคอุตสาหกรรมก่อกำเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างตัวของระบบเศรษฐกิจโลกที่เป็นหนึ่งเดียวกันทั่วโลก

ในยุคนี้ประเทศทุนนิยมศูนย์กลางได้มีการจ้างแรงงานแทนการใช้ทาสและใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยในการผลิต ทวีปยุโรปได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นศูนย์การผลิต (สินค้าอุตสาหกรรม) ศูนย์การค้า ศูนย์การเงินของโลก และศูนย์วัฒนธรรมการศึกษาของระบบโลก

ในขณะที่ประเทศต่างๆ ที่ต้องตกเป็นเมืองขึ้น ทำหน้าที่เป็นศูนย์ผลิตทรัพยากร (แร่ธาตุและป่าไม้)และผลิตสินค้าเกษตรกรรมเพื่อสนองต่อความต้องการของศูนย์ระบบโลก

ประมาณปี 1900 ยุคที่อุตสาหกรรมขยายตัวรุ่งโรจน์ ก็ก้าวสู่ช่วงหดตัวครั้งใหญ่ ระบบเศรษฐกิจโลกก้าวสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งใหม่ เกิดการปฏิวัติทางด้านภูมิปัญญาและการเมืองใหม่

ในช่วงประวัติศาสตร์นี้ ได้เกิดแนวคิดที่เรียกว่า สังคมนิยม (จากการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพในยุโรป) ได้แพร่ระบาดไปทั่วยุโรป รวมทั้งแนวคิดในเรื่องเอกราชและชาตินิยม (การปฏิวัติที่ให้อิสรภาพของประเทศเมืองขึ้น) แพร่ระบาดไปทั่วโลก

หลังจากนั้น ระบบโลกได้เกิดสงครามและการปฏิวัติทางการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ นั่นคือ สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 และสงครามที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของบรรดาประเทศเมืองขึ้น

สงครามสิ้นสุดลงด้วยการเกิดระบบโลก 2 ค่าย พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของ การปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ (อุตสาหกรรมหนัก)

ยุคอุตสาหกรรมหนักนี้ ระบบโลกแบ่งออกเป็น 2 ค่ายคือ ค่ายทุนนิยม และ สังคมนิยม

จากปี 1950 ระบบเศรษฐกิจโลกก็เกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาจนถึงช่วงปี 1970 ระบบเศรษฐกิจโลกก็ก้าวสู่วิกฤตอีกครั้งหนึ่งอันเนื่องจากปัญหาการผลิตที่ล้นเกิน และในเวลาเดียวกัน สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำของระบบโลกพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม วิกฤตจึงเริ่มด้วยวิกฤตค่าเงินดอลลาร์ ตามด้วยวิกฤตน้ำมัน (ค.ศ. 1973 ถึง 1975)

ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เริ่มมีการปฏิวัติภูมิปัญญาใหม่เช่นกัน เริ่มจากแนวคิดต่อต้านการล่าอาณานิคม(ยุคใหม่) รวมทั้งต่อต้านสงครามเวียดนามของบรรดาเยาวชนในยุโรปและอเมริกา มีการเรียกร้องการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี (Give Peace a Chance) และนำเสนอแนวคิดต่อต้านรัฐทหารในประเทศโลกที่สาม

หลังวิกฤตระบบโลก โครงสร้างทางการเมืองของระบบโลกเริ่มพลิกผันครั้งใหญ่ ระบบโลกแบบ 2 ค่ายสิ้นสุดลง การหดตัวอย่างแรงของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้อาณาจักรรัสเซียล่มสลาย และประเทศสังคมนิยมจีนได้พลิกผันเส้นทางใหม่สู่ระบบเศรษฐกิจโลก

หลังจากนั้น ประมาณปี 1987 การปฏิวัติด้านการสื่อสารและการเงินได้เข้ามาผลักเปลี่ยนระบบโลกอีกครั้งหนึ่ง ระบบโลกก้าวเข้าสู่ ยุคสื่อและเงินไร้พรมแดน ความไร้พรมแดนดังกล่าวได้ผนึกระบบโลกให้เป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น

ราวกับว่า อำนาจเงิน และอำนาจสื่อกลายเป็นพลังครอบโลก

เงินไหลไปทำกำไรแบบปั่นกำไรที่ไหน (กระตุ้นด้วยสื่อ) ความมั่งคั่งก็ไหลไปที่นั่น ความมั่งคั่งจะเพิ่มทวีอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเกินความสามารถจะควบคุมได้ และในที่สุดก็สามารถก่อหายนะใหญ่

ในปี 1990 และปี 1997 ได้เกิดปรากฏการณ์การแตกตัวของเศรษฐกิจฟองสบู่ในย่านเอเชีย หลังจากนั้น ความเจริญรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ก็รวมศูนย์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจอเมริกาก็เกิดวิบัติฟองสบู่แตกถึง 2 ครั้ง ในปี 2000 และ 2008

หลังวิกฤตใหญ่ปี 2008 ระบบโลกได้ก้าวสู่ช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง

ช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ กระแสแนวคิดเรื่อง สีเขียว (การปฏิวัติพลังงานทางเลือก) เริ่มขยายตัวกลายเป็นกระแสใหญ่ รวมทั้งแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืนแพร่กระจายไปทั่วโลก ในเวลาเดียวกันได้เกิดกระแสคิดที่เรียกร้องให้มีการควบคุมการเคลื่อนไหวของเงินตราโลกและการลดบทบาทของค่าเงินดอลลาร์

ผมขอจบการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ฉบับย่อๆ ไว้เพียงเท่านี้

การเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์โลกฉบับย่อสำคัญมากๆ เพราะจะช่วยให้เรารู้ว่า อะไรคือพลัง(ปฏิวัติ) ที่ผลักดันให้ประวัติศาสตร์เคลื่อนตัวไปในแต่ละช่วง

อ่านจากการเคลื่อนตัวของระบบโลกที่ผ่านมา เราจะพบว่าพลังสำคัญยิ่งที่ทำให้ระบบโลกเคลื่อนไปคือ “พลังการปฏิวัติทางปัญญา” เป็นช่วงๆ

การปฏิวัตินี้มักจะนำไปสู่การปฏิวัติทางด้านการเมือง และตามด้วยการปฏิวัติทางเศรษฐกิจ ตามต่อด้วยการปฏิวัติทางด้านการสื่อสารและอาวุธ (รุกรานและขยายพื้นที่)

เมื่อขนาดพื้นที่ขยายตัวขึ้น ก็จะผลักให้การปฏิวัติสร้างระบบเศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรมขึ้นใหม่ (ระบบ Empire ระบบเมืองขึ้น และการจัดวางโครงสร้างอำนาจในระบบโลกใหม่)

หลังจากระบบดังกล่าวเติบใหญ่และขยายตัวขึ้น ก็จะพลิกกลับสู่ช่วงวิกฤตและการเปลี่ยนผ่าน ในช่วงนี้ก็จะเกิดการปฏิวัติทางภูมิปัญญาครั้งใหม่

นี่คือ วัฏจักรการเคลื่อนตัวของลูกคลื่น ที่พลิกผันระบบโลกเป็นช่วงๆ

ลูกคลื่นปฏิวัติทั้งหมดทำให้ความเป็นระบบโลกขยายตัวในด้านพื้นที่และกำหนดทิศทางใหญ่สู่ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และก่อเกิดระบบเครือข่ายที่สลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

คนไทยมักจะหลงให้ “ค่า” เรื่องการปฏิวัติทางเศรษฐกิจและการเมือง จนมักมองข้าม “ค่า” ของการปฏิวัติทางภูมิปัญญา

วันนี้ ระบบโลกกำลังเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งใหม่ เราต้องสนใจการเกิดขึ้นของแนวคิดใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง แนวคิดสีเขียว รวมทั้ง การพัฒนาแบบยั่งยืน

นี่คือ พลังทางภูมิปัญญาที่กำลังจะเข้ามาสร้างโลกอนาคต

ประการต่อมา เราจะพบว่าระบบโลกมีการวิวัฒน์ขึ้นเป็นช่วงๆ และก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา แต่ต้องระวังสักนิดหนึ่ง เพราะวิถีคิดที่กล่าวมาข้างต้นคือ การคิดในแบบตะวันตก หรือตามแบบทฤษฎีวิวัฒนาการ

ถ้าเราเอาแนวคิดโบราณของตะวันออกว่าด้วยการเคลื่อนตัวแบบวัฏจักรมาจับการเคลื่อนตัวของระบบโลก เราอาจจะได้มุมมองที่แตกต่างออกไป

ปราชญ์ตะวันออก (พุทธ) มองการเคลื่อนตัวของสรรพสิ่งในแบบวัฏจักรของการเกิด การขยายตัว ความรุ่งเรือง และชรา (มรณะ)

การมองโลกแบบนี้ เราอาจจะเข้าใจภาพการเคลื่อนตัวอีกแบบหนึ่ง

ช่วงเกิดของระบบโลกก็คือ ช่วงสงครามล่าอาณานิคม ช่วงขยายตัวก็คือ ช่วงอุตสาหกรรม (เบา) ช่วงรุ่งเรืองคือ ช่วงอุตสาหกรรมหนัก ส่วนช่วงหายนะและความตายก็คือ ช่วงโลกาภิวัตน์

เราต้องเข้าใจว่า การเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์ครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ ทั้งหมด เพราะมี “ความตาย” รออยู่เบื้องหน้า

การคิดทางยุทธศาสตร์ (เฉพาะ) เพื่อเผชิญสภาวะวิกฤตแบบซ้อนวิกฤตและ “ความตาย” น่าจะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

การคิดเฉพาะการปฏิวัติแค่เศรษฐกิจการเมืองน่าจะไม่เพียงพอ เราอาจจะต้องคิดเปลี่ยนฐานคิด ฐานปรัชญา และฐานวัฒนธรรมโลกใหม่อย่างถอนราก

เราต้องตระหนักว่า วัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งเป็นรากที่มาของอารยธรรมในยุคระบบเศรษฐกิจโลกกำลังจะนำโลกสู่หายนะ

เราอาจจะต้องรื้อทิ้งและวิพากษ์ “ฐานคิด” ที่เป็นรากที่มาของวัฒนธรรมตะวันตกและระบบ(เศรษฐกิจโลก) และคิดสร้างฐานคิดใหม่ ที่ตรงกันข้ามกับฐานคิดเดิมทั้งหมด

ตัวอย่างเช่น

1.ฐานคิดเรื่องมนุษย์นิยม หรือความเชื่ออันเป็นที่มาของการสร้างอารยธรรม (อภิมหานาคร) ของมนุษย์และเพื่อมนุษย์เท่านั้น โดยไม่คำนึงถึง “ค่า” ของธรรมชาติ นี่รวมทั้งแนวความคิดว่ามนุษย์ต้องเอาชนะธรรมชาติ อันเป็นที่มาของทำลายล้างธรรมชาติ

2.ฐานคิดเรื่องวัตถุนิยม ซึ่งมองโลกนี้โดยพื้นฐานว่าคือ โลกวัตถุที่ไร้ชีวิต มีมนุษย์เท่านั้นที่มีชีวิตและมีค่า สนใจแต่ “ค่า” หรือ “ความเจริญ” ทางวัตถุ มองข้ามการสร้างความเจริญในแง่จิตใจ

3.ฐานคิดเรื่องความยิ่งใหญ่สูงสุดของระบบเหตุผล (หรือวิทยาศาสตร์) แนวคิดนี้กลายเป็นข้ออ้างที่ใช้กวาดล้างและลดคุณค่าฐานคิดและวัฒนธรรมในยุคโบราณ และยังเสริมความอหังการให้กับความเป็นมนุษย์

4.ฐานคิดที่ยกย่องสงครามและการปล้นชิงล่าอาณานิคม คือ พลังที่สำคัญที่สุดในการสร้างสรรค์อารยธรรมโลก

5.ฐานคิดแบบเศรษฐกิจนิยมที่ยกย่องการสร้างความมั่งคั่งและความโลภ ว่าจะนำมาซึ่งความรุ่งเรืองยิ่งใหญ่มาสู่มนุษยชาติ

6.ฐานคิดวิวัฒนาการที่เชื่อว่า ระบบสังคมมนุษย์จะก้าวหน้าไปได้เรื่อยๆ จึงมองข้ามความเป็นไปได้ที่จะเกิดหายนะขนาดใหญ่

แต่ อะไรเล่า คือ ฐานคิดใหม่ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากฐานคิดเก่า ซึ่งเป็นที่มาของระบบ(เศรษฐกิจ) โลกที่กำลังจะตาย นี่คือสิ่งที่ท้าทายให้เราช่วยกันคิดค้น

การค้นหา ‘ฐานคิด’ หรือ ‘ฐานปรัชญาใหม่’ สำคัญมาก เพราะนี่คือฐานที่มาของการสร้างทฤษฎีที่เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งถือว่าเป็นรากของการวางยุทธศาสตร์สำหรับโลก....และประเทศไทย (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น