คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบน เพื่อชมในรูปแบบ Photo Slide Show
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง พระประวัติ-พระอัจฉริยภาพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นพระธิดาพระองค์แรกในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า” ของปวงชนชาวไทย ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2466 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พระนามในสูติบัตรเมื่อแรกประสูติ คือ “เมย์” ซึ่งเป็นชื่อตามเดือนที่ประสูติ ทรงมีพระอนุชาเป็นพระมหากษัตริย์ไทย 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงสำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาเคมีจากมหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ พ.ศ.2491
ต่อมา ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อทรงเสกสมรสกับ พ.อ.อร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ และมีพระธิดา 1 องค์ คือ ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ให้กลับคืนดำรงพระอิสริยศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ทุกประการ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงมีพระอัจฉริยภาพและความสนพระทัยหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านกีฬา, การอ่านการเขียน และการถ่ายภาพ เป็นต้น โดยด้านกีฬานั้น พระองค์ทรงเล่นกีฬาหลายประเภท อาทิ เล่นสกี, กรรเชียงเรือ, ตกปลา, ขี่จักรยาน, เดินภูเขา, ทรงม้า ฯลฯ ส่วนแบดมินตันนั้น ได้ทรงเล่นตามอย่างสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งนอกจากพระองค์จะทรงร่วมเล่นแล้ว ยังทรงสนับสนุนนักแบดมินตันหลายคนให้เข้าแข่งขันระดับนานาชาติด้วย
ส่วนการถ่ายภาพ พระองค์ทรงเป็นผู้ใฝ่รู้การใช้กล้องบันทึกภาพ ซึ่งมิใช่เพียงเพื่อเก็บภาพไว้ดูเล่นเท่านั้น แต่เป็นการบันทึกภาพอย่างมีจุดหมาย ทั้งในแง่ศิลปะและวิชาการ
ในการเสด็จเยือนโบราณสถานและสถานที่สำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ พระองค์จะทรงบันทึกภาพที่สนพระทัยด้วยพระองค์เองเสมอ ภาพที่ทรงบันทึกไว้จะเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทรงจัดทำพระนิพนธ์ในภายหลัง แม้แต่การบันทึกภาพด้วยวีดิทัศน์ของผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ในการทำข่าวเสด็จเยือนสถานที่ต่างๆ พระองค์ก็จะพระราชทานคำแนะนำแก่ผู้บันทึกภาพ เพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์และมีความหมายสอดคล้องกับคำบรรยาย
สำหรับความสนพระทัยด้านการอ่านและการเขียนนั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงสนพระทัยตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยทรงอ่านหนังสือภาษาไทยเท่าที่จะทรงหาได้ แต่ในเวลานั้น หนังสือสำหรับเด็กยังมีน้อย จึงทรงอ่านหนังสือพิมพ์ ทรงจำได้ว่า ทรงอ่านเรื่องสำหรับเด็กเรื่องหนึ่ง ซึ่งต่อมาเมื่อเสด็จไปศึกษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้ทรงอ่านเรื่องเดียวกันนี้เป็นภาษาฝรั่งเศส เรื่อง “Sans Famille”
เมื่อทรงศึกษาในชั้นมัธยมศึกษา โดยเฉพาะที่โรงเรียนนานาชาติที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงอ่านหนังสือวรรณคดีมาก และทรงพบว่าการอ่านมีส่วนช่วยให้ภาษาฝรั่งเศสของพระองค์ดีขึ้น เมื่อทรงงานเป็นอาจารย์วิชาภาษาฝรั่งเศส ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ทรงศึกษาค้นคว้าการสอน ได้ทรงอ่านหนังสือด้านภาษาศาสตร์จำนวนมาก นอกจากนี้ยังทรงอ่านและศึกษาทางด้านศิลปวัฒนธรรม โบราณคดีต่างๆ โดยจะทรงแสวงหาหนังสือและเอกสารเกี่ยวกับประเทศนั้น มาศึกษาอย่างละเอียดก่อนเสมอ
ส่วนในด้านการเขียน เมื่อพระชนมายุประมาณ 9 ชันษา ได้ทรงริเริ่มออกวารสารชื่อ“รื่นรมย์” โดยได้ชักชวนให้พระสหายในวังสระปทุมเขียนเรื่อง ขณะที่พระองค์ทรงทำหน้าที่บรรณาธิการและทรงเขียนบทความลงวารสารด้วย นอกจากนี้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงสนับสนุนให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงอ่านนิทานภาษาอังกฤษ และเรียบเรียงเรื่อง โดยเรื่องที่ต่อมาได้จัดพิมพ์แจกในงานวันประสูติของสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า วันที่ 10 ก.ย.พ.ศ.2475 ก็คือ เรื่อง”นิทานสำหรับเด็ก”
ทั้งนี้ ความสามารถด้านการนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงเป็นที่ประจักษ์จากผลงานมากมาย อาทิ พระนิพนธ์เกี่ยวกับพระราชวงศ์ ได้แก่ แม่เล่าให้ฟัง, เวลาเป็นของมีค่า, พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ฯลฯ สำหรับพระนิพนธ์แปล ได้แก่ นิทานสำหรับเด็ก, ราชาภิเษกพระเจ้ากรุงสเปน ฯลฯ ส่วนพระนิพนธ์บทความทางวิชาการและพระนิพนธ์สารคดีเชิงท่องเที่ยว ได้แก่ ยูนนาน, ที่ไซบีเรียหนาวไหม, จีนตะวันออก ขึ้นเขา ลงทะเลสาบ เข้าวัด, จีนอีสานและเสฉวน จากแดนแมนจูสู่ภูง่อไบ๊ ฯลฯ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาต่างประเทศอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภาษาฝรั่งเศส ทรงเคยรับเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาฝรั่งเศสให้กับหลายมหาวิทยาลัย อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ฯลฯ
ด้วยพระปรีชาญาณจากประสบการณ์ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ที่ทรงสอนภาษาฝรั่งเศสมาเป็นเวลานาน จึงทรงตระหนักถึงปัญหาความต่อเนื่องในการเรียนภาษาฝรั่งเศสระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ทรงริเริ่มก่อตั้ง”สมาคมครูฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย”ขึ้น เมื่อปี 2520 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การปรับปรุงวิธีการสอนทั้งระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ส่งผลให้การเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสและการวิจัยด้านภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทยได้เจริญรุดหน้าเป็นลำดับ
ความรอบรู้ด้านวิชาการและการอุทิศพระองค์เพื่อการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ เป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มหาวิทยาลัยต่างๆ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในหลายสาขา และทรงได้รับการเทิดทูนพระเกียรติจากรัฐบาลและองค์กรต่างประเทศหลายแห่ง อาทิ รัฐบาลฝรั่งเศส และองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO เป็นต้น
ด้วยทรงเป็นนักวิชาการและทรงศึกษามาทางด้านวิทยาศาสตร์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ จึงทรงสนพระทัยโครงการจัดส่งเยาวชนไทยไปร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา การแข่งขันมีทั้งวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี คอมพิวเตอร์ และชีววิทยา โดยได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินกองทุนสมเด็จย่าเพื่อช่วยเหลือ ด้วยทรงตระหนักว่า เยาวชนที่มีสติปัญญา เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ทรงติดตามความเคลื่อนไหวทุกขั้นตอนการแข่งขัน พระราชทานกำลังใจ และแสดงความยินดีด้วยทุกครั้งที่เยาวชนไทยได้รับรางวัลและใบประกาศเกียรติคุณจากการแข่งขัน
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ไม่เพียงเปี่ยมด้วยพระอัฉริยภาพหลากหลายด้าน แต่ยังทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมายแก่ประเทศชาติ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยทรงมีโครงการในพระอุปถัมภ์มากมายหลายร้อยโครงการ เช่น โครงการแพทย์อาสา พอสว.และมูลนิธิขาเทียมฯ ที่ทรงสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นต้น
ตลอดห้วงระยะเวลา 84 พรรษาที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมายโดยมิทรงย่อท้อ พระองค์มิเพียงเจริญรอยตามและสืบสานปณิธานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แต่ยังทรงเปรียบเสมือนตัวแทนพระองค์สมเด็จย่าผู้เป็นที่รักของปวงชนชาวไทย และยังทรงเป็นพระเชษฐภคินีที่คอยดูแลและห่วงใยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิเสื่อมคลาย และที่สำคัญ ทรงเป็น “พระพี่นางฯ” ที่จะดำรงอยู่ในหัวใจของคนไทยต่อไปตราบนานเท่านาน!!