xs
xsm
sm
md
lg

บุคลากร มอ.หาดใหญ่ร่วมถวายการไว้อาลัย ‘พระพี่นางฯ’ รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดพิธีถวายการไว้อาลัย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จากพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเมตตาต่อชาวสงขลานครินทร์

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แจ้งว่า ตามที่ได้มีประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ ลงวันที่ 2 มกราคม 2551 และรัฐบาลได้ออกประกาศให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่ง ลดธงครึ่งเสา มีกำหนด 15 วัน พร้อมทั้งให้ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ไว้ทุกข์ มีกำหนด 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2551 เป็นต้นไปนั้น

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จะได้จัดพิธีถวายการไว้อาลัย แด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ดังนี้

1.ถวายน้ำสรงพระศพ หน้าพระฉายาลักษณ์ ในวันพุธที่ 2 มกราคม 2551 ตั้งแต่เวลา 14.30 น. ที่ห้องทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และร่วมลงนามถวายการไว้อาลัย

2.ลงนามถวายการไว้อาลัย ที่ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 16 มกราคม 2551

3.จัดพิธีทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล ในวันที่ 3 , 8 และ 16 มกราคม 2551 เวลา 07.00 น. ที่ลานหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์

พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเมตตาต่อมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

1.การเรียนการสอนแผนกฝรั่งเศส คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุบลวรรณ โชติวิสิทธิ์ นักเรียนทุนส่วนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงมีต่อมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่า

“สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระกรุณาธิคุณอย่างล้นเหลือต่อมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เสมอมา โดยเฉพาะต่อแผนกฝรั่งเศส เนื่องจากวิทยาเขตปัตตานี ตั้งอยู่ที่ตำบล “รูสมิแล” ห่างไกลปืนเที่ยง หาบุคลากรลำบาก แม้ในขณะที่เหตุการณ์สงบ ในปี พ.ศ.2533 เมื่อทางแผนกหาอาจารย์ชาวฝรั่งเศสไม่ได้ (ซึ่งอาจารย์เจ้าของภาษา สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ) ใต้ฝ่าพระบาทก็ทรงมีพระเมตตาเสด็จมาทรงสอนภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส อันนำความปลาบปลื้มและสำนึกในพระกรุณาธิคุณมาสู่บุคลากรและนักศึกษาในขณะนั้นเป็นอย่างมาก ใต้ฝ่าพระบาททรงเป็นครูที่ยิ่งกว่าครู ข้าพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นอาจารย์ใหม่ในขณะนั้นได้ เรียนรู้จากชั้นเรียนที่ใต้ฝ่าพระบาททรงสอนบทกวีนิพนธ์ฝรั่งเศสว่าควรจะเริ่มอย่างไร และสอนอย่างไร และก็ยังยึดถือเป็นต้นแบบการสอนมาจนปัจจุบัน

นอกจากนั้นใต้ฝ่าพระบาทยังทรงเห็นถึงข้อเสียเปรียบของปัตตานีที่อยู่ห่างไกล จึงมักจะไม่ได้ทุนระยะยาวจากรัฐบาลฝรั่งเศส กระทบต่อการพัฒนาบุคลากร ใต้ฝ่าพระบาทก็ทรง พระเมตตาต่อมหาวิทยาลัย และต่อบุคลากรของมหาวิทยาลัยอย่างใหญ่หลวง โดยได้พระราชทานทุนส่วนพระองค์ ให้ข้าพระพุทธเจ้า ได้เรียนจนจบปริญญาเอกที่ประเทศฝรั่งเศส และได้ปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ผู้สอนในแผนกภาษาฝรั่งเศส หลังจากจบการศึกษาเป็นเวลาร่วม 16 ปีถึงปัจจุบัน”

รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าในวาระครบรอบ 100 ปีแห่งวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระบรมราชชนก และครบรอบ 20 ปีแห่งการก่อตั้งคณะแพทย์ศาสตร์ ได้ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน “สัปดาห์สงขลานครินทร์” และเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดอาคารวิจัย “รัตน์ ประธานราษฎร์นิกร” ในวันที่ 18 กันยายน 2535 ในวโรกาสเดียวกันนี้ ได้ประทานเงินจำนวนหนึ่งล้านบาท ซึ่งรับพระราชทานจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อสมทบกองทุนพิเศษ 100 ปี สมเด็จพระบรมราชชนก ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และทรงประทานหนังสือ “ไปรษณียบัตรเจ้าฟ้า” จำนวน 600 เล่มมูลค่าหนึ่งแสนสองหมื่นบาท ให้มหาวิทยาลัย เพื่อนำรายได้จากการจำหน่าย สมทบกองทุนดังกล่าว และได้เสด็จประกอบพิธีเปิดโครงการจัดตั้งสถาบันกัลยาณิวัฒนา ณ เรือนอำมาตย์โทพระยาพิบูลพิทยาพรรค ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2538

- เมื่อครั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ จัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในปี พ.ศ. 2545 พระองค์ได้ทรงประทานอนุญาตให้ใช้ชื่อกองทุนว่า “กองทุนเฉลิมพระเกียรติ 100 ปี สมเด็จย่า” และทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์กองทุนอีกด้วย

- วันที่ 5 มิถุนายน 2543 ประทานพระวินิจฉัยชื่อ ”โครงการจัดตั้งสถาบันกัลยาณิวัฒนาเพื่อการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์” และ “สถาบันวัฒนธรรมศึกษา”ซึ่งรวมกันเป็นหน่วยงานใหม่ให้ใช้ชื่อว่า “สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา” และ วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม 2549 เสด็จเยี่ยมและทรงงาน ณ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

- พระองค์ท่านทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์กรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระองค์ท่าน ในปีการศึกษา 2525 ทูลเกล้าฯถวายปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ประวัติศาสตร์) ในปีการศึกษา 2537 ทูลเกล้าฯถวายปริญญาทันตแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในปีการศึกษา 2542

- ในเดือนสิงหาคม 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม ได้จัดทำนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติขึ้นที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน โดยใช้ชื่อนิทรรศการว่า “แสงหนึ่งคือรุ้งงาม” มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก็จะเป็นอีกแห่งหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสนำเสนอนิทรรศการ “แสงหนึ่งคือรุ้งงาม” ที่วิทยาเขตหาดใหญ่ ในระหว่างงาน มอ.วิชาการ 2550



รายงานพิเศษ : พระประวัติ-พระอัจฉริยภาพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
รายงานพิเศษ : พระประวัติ-พระอัจฉริยภาพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นพระธิดาพระองค์แรกในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พระนามในสูติบัตรเมื่อแรกประสูติ คือ “เมย์” ซึ่งเป็นชื่อตามเดือนที่ประสูติ ทรงมีพระอนุชาเป็นพระมหากษัตริย์ไทย 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงสำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาเคมีจากมหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ พ.ศ. 2491
กำลังโหลดความคิดเห็น