xs
xsm
sm
md
lg

มอ.เตรียมจัด “วันกัลยาณิวัฒนา” ทุกปีเพื่อรำลึกมหากรุณาธิคุณ “พระพี่นางฯ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อธิการบดีใส่บาตรพระถวายเป็นพระราชกุศล
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สรุปจะมีการจัด “วันกัลยาณิวัฒนา” ขึ้นทุกปี เพื่อรำลึกถึงความเมตตาของพระองค์ท่านต่อมหาวิทยาลัย

รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงความผูกพันกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตั้งแต่ชื่อของมหาวิทยาลัยที่เป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อของเสด็จพ่อของพระองค์ ซึ่งเป็นเกียรติยศสูงสูดต่อชาวสงขลานครินทร์

สมเด็จพระพี่นางฯได้เสด็จมาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทรงเปิดอาจารย์วิจัยทางแพทยศาสตร์ศึกษา ชื่ออาคารรัตน์ ประธานราษฎร์นิกร ในโอกาสครบรอบ 20 ปีของคณะแพทยศาสตร์ และเมื่อมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดตั้งกองทุน 100 ปี สมเด็จพระบรมราชชนก พระองค์ท่านได้พระราชทานเงินทุน 1 ล้านบาท เป็นการประเดิม ทรงเป็นองค์อุปถัมภกของกองทุนมูลนิธิทันตแพทยศาสตร์ ให้คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้าร่วมโครงการ พอ.สว.เพื่อให้อาจารย์และนักศึกษาทันตแพทย์ออกรักษาฟันให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทรงมีพระเมตตา เป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์กรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และทรงเสด็จเป็นองค์ประธานในการประชุมให้กับกรรมการส่งเสริม ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ในปี พ.ศ.2525 ทรงรับการถวายปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปี พ.ศ.2537 รับการทูลเกล้าฯถวายปริญญาศิลปศาสตร์ (ประวัติศาสตร์) และปี พ.ศ.2542 รับการทูลเกล้าฯถวายปริญญาทันตแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ในวันที่ 5 มิถุนายน 2543 ทรงประทานชื่อ โครงการจัดตั้งสถาบันกัลยาณิวัฒนาเพื่อการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ และสถาบันวัฒนธรรมศึกษา ซึ่งรวมกับเป็นหน่วยงานใหม่ให้ชื่อว่า”สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณีวัฒนา และวันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม 2549 เสด็จเยี่ยมและทรงงาน ณ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

ทางมหาวิทยาลัยก็ได้ปรึกษาหารือกันสรุปว่า เราจะจัดทำนิทรรศการพระเมตตาที่มีต่อ มอ.และจะแสดงทั้ง 5 วิทยาเขตที่ จ.สงขลา จ.ปัตตานี จ.สุราษฎร์ธานี จ.ภูเก็ต และ จ.ตรัง เพื่อให้อาจารย์ นักศึกษา บุคลากร ได้ระลึกถึงพระเมตตาของพระองค์ท่านต่อมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมอบให้คณะศิลปกรรมศาสตร์ จัดทำพระบรมสาทิสลักษณ์ เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานที่หอประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติของมหาวิทยาลัยต่อไป

จากนี้ทุกปี ม.อ.จะจัด “วันกัลยาณิวัฒนา” เพื่อรำลึกถึงความเมตตาของพระองค์ท่าน ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิ พอ.สว.ที่จะออกไปให้บริการรักษาด้านทันตกรรมให้กับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนค่ายโอลิมปิคที่ใต้ฝ่าพระบาททรงเป็นองค์อุปภัมภ์ให้กับค่ายโอลิมปิก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จัดค่ายโอลิมปิกทุกปี ก่อนกิจกรรมวิชาการก็จะให้เยาวชนได้รับรู้พระกรณียกิจของพระองค์จากนิทรรศการที่จะทำต่อเนื่องทุกปี

และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดให้มีการลงนามถวายการไว้อาลัย ที่ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 3-16 มกราคม 2551 จัดพิธีทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล ในวันที่ 3, 8 และ 16 มกราคม 2551 เวลา 07.00 น.ที่ลานหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมราชชนก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

มหาวิทยาลัยได้น้อมรับพระกระแสรับสั่งจากที่พระองค์เสด็จมาทรงงานที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วโรกาสแรกได้แก่ ได้น้อมรับพระบรมราโชวาท ของพระบรมราชชนกที่ พระองค์ท่านได้จัดทำเป็นรายงานเสนอต่อรัฐบาล ว่า กิจการของมหาวิทยาลัย จะต้องเป็นเสาะหาวิชา แสวงหาความรู้เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งรู้จริงและนำมาสอนลูกศิษย์ เพื่อให้ลูกศิษย์มีความรู้ที่ทันสมัย และมหาวิทยาลัยมีกิจที่จะบ่มเพาะคนดีของชาติ เป็นสถานที่รวมของนักปราชญ์ เป็นแนวทางหลักที่ใช้ในการพัฒนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

อีกวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต มอ.ในปี 2512 ได้มีพระกระแสรับสั่งว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต้องสร้างบัณฑิตที่มีเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเอง เพื่อที่จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ คุณลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ยึดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนกที่ว่า ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง มหาวิทยาลัยได้นำมาเป็นแนวทางในการบ่มเพาะนักศึกษา นำมาสู่บทสรุปในการพัฒนามหาวิทยาลัย 3 ประเด็น

1.การสร้างองค์ความรู้ด้วยการทำวิจัย อย่างเข้มข้น เมื่อได้องค์ความรู้ก็จะเอาองค์ความรู้ไปสอนนักศึกษา

2.การสร้างบัณฑิตที่มีความรู้ที่ทันสมัย เป็นความรู้ที่แท้จริง

3.การบ่มเพาะนักศึกษาของเราให้มีจิตสำนึกสาธารณะ ให้เห็นประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง นี่คือพระบรมราโชวาทและพระกระแสรับสั่งที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์น้อมรับ

รองศาสตราจารย์ ระวีวรรณ ชอุ่มพฤกษ์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวว่าสมเด็จพระพี่นางฯเสด็จเป็นอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสและวรรณคดีฝรั่งเศส ที่ ม.อ.ปัตตานี ช่วยให้มหาวิทยาลัยมีความเข้มแข็งทางวิชาการ เป็นต้นแบบของการเรียนการสอนแก่มหาวิทยาลัย และทรงเล็งเห็นถึงข้อเสียเปรียบที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อยู่ห่างไกล จึงมักไม่ได้ทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส สมเด็จพระพี่นางฯได้พระราชทานทุนส่วนพระองค์ให้ ผศ.ดร.อุบลวรรณ โชติวิสิทธิ์ ศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกที่ประเทศฝรั่งเศส จากนั้นสถานทูตฝรั่งเศสได้ส่งอาจารย์ชาวฝรั่งเศส มาช่วยสอนที่ ม.อ.ปัตตานี จนถึงปัจจุบัน
ทรงสอนฝรั่งเศสที่ มอ.ปัตตานี
สถาบันกัลยาณิวัฒนา
ทรงเปิดงานสัปดาห์สงขลานครินทร์
พิธีถวายปริญญา



กำลังโหลดความคิดเห็น