xs
xsm
sm
md
lg

สงครามครั้งสุดท้าย บทเสนอเรื่อง “การเมืองใหม่” (ตอน 9)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

“การเมืองใหม่” คิดแบบตะวันออก

เพื่อนคนหนึ่งตั้งคำถามใหม่ว่า

“อะไร คือ การเมืองใหม่แบบแนวตะวันออก”

ผมตอบเขาว่า “อย่าไปคิดแบบสุดขั้วว่าทุกอย่างที่มาจากตะวันตกเลว จนเราอาจจะมองข้ามค่าของวัฒนธรรมตะวันตก

อย่างเช่น เรื่องการคิดอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการสร้างระบบการเมืองและแนวคิดเรื่อง ประชาธิปไตยต้องถือว่ามีค่ามาก เป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้

เราต้องเริ่มต้นใหม่จากความเข้าใจที่ว่า ทุกชุดวัฒนธรรมโบราณ ไม่ว่า ‘ออก’ หรือ ‘ตก’ ล้วนมีค่าด้วยกันทั้งนั้น”

ผมได้กล่าวต่อ

“มีเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้จากศาสตร์ตะวันออก คือ เรียนรู้วิถีการรักษาโรคแบบตะวันออก

นักวิชาการทั่วไป เวลาคิดถึงการเมืองใหม่ ก็ตั้งคำถามว่า วิกฤตอยู่ตรงไหน ก็ฉีดยาแก้โรคไปที่ตรงนั้น

นี่คือ วิธีรักษาโรคแบบตะวันตก ซึ่งดูตรงประเด็นดี และน่าจะเป็นที่มาของแนวคิดเรื่อง ‘70 และ 30’ หรือ ‘50 และ 50’

วิถีคิดแบบนี้มักจะหนี สภาวะสงคราม หรือการเผชิญหน้ากัน ไม่พ้น

อย่างเช่น หมอจะฉีดยาเพื่อไปทำลายเชื้อโรคโดยตรง บรรดาเชื้อโรคก็จะสู้เพื่อความอยู่รอด

โรคทางสังคมก็มีธรรมชาติไม่ต่างกัน เราจัดการไอ้พวกคอร์รัปชันโดยตรง บรรดานักคอร์รัปชันก็ต้องก่อสงครามเพื่อปกป้องตัวเอง

หมอตะวันออกจะมองโรคแบบองค์รวมก่อน และมักจะไม่รักษาตรงจุดที่เป็น แต่กลับไปรักษาที่อื่นๆ ก่อน

อย่างเช่น ผมมีปัญหาเรื่องปวดเข่า ผมไปหาหมอนวด หมอจะไม่เริ่มรักษาที่เข่าโดยตรง เขาจะพิจารณาดูบรรดาเส้นที่ต่อเชื่อมมายังเข่าว่าตึงหรือไม่ตึง ถ้าตึงมากก็จะนวดจุดที่ตึงโดยไม่สนใจที่เข่าเลย

ก่อนจะนวดเส้น หมอก็จะมองดูที่ระบบโครงสร้างทั้งหมดก่อนว่าเราอ้วนไปหรือไม่ ถ้าพบว่า อ้วนไป หมอจะบอกว่าโครงสร้างร่างกายไม่ได้ดุลเนื่องจากคุณอ้วนเกินไป เข่าจึงต้องรับน้ำหนักมาก

หมอจะเตือนเราว่า สาเหตุที่ทำให้เราอ้วนมาก ก็เพราะเราเข้าใจร่างกายผิด เรามักจะเข้าใจว่า ร่างกายคือกลไกที่รับใช้เราเท่านั้น

ยิ่งกิน ยิ่งอร่อย

เราจึงไม่เคยคิดว่า การกินเก่งจะส่งผลอย่างไรต่อกาย

หมอตะวันออกจึงมักแก้โรคที่ ‘ใจ’ ก่อนเสมอ

‘การสร้างการเมืองใหม่’ ก็เช่นกัน ต้องสร้าง ‘ใจร่วม’ ของคนทั้งชาติก่อน

ถ้าใจร่วมเกิดขึ้นได้ เราก็สร้าง
‘ผลประโยชน์ระยะยาวร่วม’ ได้ และสร้างการเมืองอนาคตของทุกคนได้

‘ใจร่วม’ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร


คำตอบคือ

ต้องใช้ สื่อสาร ทีวี วิทยุ และโทรทัศน์

ต้องทำให้คนทั้งแผ่นดินตระหนักร่วมกันว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตใหญ่ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการเมือง

เราทั้งหมดต้องร่วมกันคิด ร่วมกันวางยุทธศาสตร์ที่ไม่ใช่เพื่อตัวเราเท่านั้น แต่เพื่อลูกหลานของเราในอนาคตด้วย

หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ นี่คือการสร้างอุดมการณ์ร่วม และ ผลประโยชน์ระยะยาวร่วมของคนทั้งชาติหรือการเมืองเพื่ออนาคต

ในงานเขียนชิ้นที่แล้ว ผมได้นำเสนอยุทธศาสตร์ใหญ่อันหนึ่ง ที่ผมเรียกว่ายุทธศาสตร์พลังฟ้าดินเป็นหนึ่ง

กล่าวคือ พลังทั้งฟ้าและดินต้องจับมือกัน วางแนวอุดมการณ์ร่วมและยุทธศาสตร์ชาติร่วมกัน โดยใช้พลังสื่อช่วยสร้าง ‘ใจร่วม’ ขึ้นมา


ถ้าเราคิดแบบทฤษฎีตะวันตกที่ชอบแบ่งสังคมเป็นชนชั้นและชั้นชนต่างๆ และเชื่อว่าแต่ละชนชั้นมีผลประโยชน์แน่นอนที่ต้องต่อสู้รักษา และในที่สุดจะนำมาซึ่งการต่อสู้ทางชนชั้น มองแบบตะวันตกเช่นนี้‘ยุทธศาสตร์ฟ้ากับดินประสานเป็นหนึ่ง’ จะเป็นไปไม่ได้เลย

แต่ถ้าเราเข้าใจแนวคิดตะวันออก (ตามหลักเต๋า) ฟ้าเป็นหยาง ดินเป็นหยิน

หากสามารถประสานพลังหยางกับพลังหยินเข้าเป็นหนึ่ง ก็จะเกิด พลังในการอภิวัฒน์ ซึ่งจะเป็นพลังสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ไทย มีหลายช่วงประวัติศาสตร์ที่พลังฟ้ากับดินรวมเป็นหนึ่ง อย่างเช่น ในช่วงเสียกรุง หรือช่วงกู้ชาติ พระนเรศวรต้องระดมพลังดินหรือผู้คนเข้ามาเป็นหนึ่งเดียว

นอกจากนี้ ถ้าเรามองย้อนประวัติศาสตร์ไทย เราจะพบความเป็นไปได้ในอีกหลายเงื่อนไข อย่างเช่น

ตั้งแต่ยุคสุโขทัย ยุคที่บรรดาไพร่เรียกกษัตริย์ว่าพ่อและเป็นที่มาของหลักการปกครองที่เรียกว่าพ่อปกครองดูแลลูก

ถ้าเราศึกษาอาณาจักรเล็กๆ โบราณ เช่น อาณาจักรศรีวิชัย เราก็พบความเป็นไปได้อีกด้านหนึ่งเพราะกษัตริย์ไทยในยุคนั้นได้แนวคิดการปกครองมาจากหลักพุทธว่าด้วยหลักโพธิสัตว์ กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือกษัตริย์ ก็คือพระโพธิสัตว์ที่อุทิศตัวเองเพื่อช่วยเหลือประชาชน

เพื่อนอีกคนถามผมขึ้นว่า

“คุณยุคกำลังบอกว่า สังคมการเมืองไทยโบราณแตกต่างจากสังคมการเมืองตะวันตกอย่างมาก เพราะกษัตริย์ในดินแดนแถบนี้อาจจะไม่ได้คิดเอาเปรียบหรือกดขี่ประชาชนมากนัก คิดแต่จะเป็นกษัตริย์ที่ดีและดำรงตนอยู่บนหลักทศพิธราชธรรมได้”

ผมตอบว่า “ถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่า กษัตริย์ทุกพระองค์จะเป็นเช่นนี้”

สังคมการเมืองไทยจึงแตกต่างจากสังคมตะวันตก ถ้าเป็นสังคมการเมืองตะวันตก เรานำเอาทฤษฎีชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้นมาใช้วิเคราะห์ได้ง่ายๆ สำหรับกรณีประเทศไทย เราเกือบจะไม่มีสงครามทางชนชั้น หรือ สงครามระหว่างชนชั้นไพร่กับผู้ปกครอง เลย

เมื่อ กษัตริย์ ดำรงตนในฐานะพระโพธิสัตว์ ฟ้ากับดินก็สามารถประสานเป็นหนึ่ง

วันนี้ ฟ้า(สีฟ้า) เสนอเรื่องการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม

วันนี้ ฟ้า(สีเหลือง) เสนอเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและเรื่องพลังงานทางเลือก

และถ้าเรามองหรือศึกษาความต้องการของฝ่ายดิน เราจะพบว่า ฝ่ายดินก็สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเช่นกัน นี่คือจุดร่วมที่สำคัญ

นอกจากนี้ ฝ่ายดิน(สีแดง) ยังสนใจเรื่องสังคมสวัสดิการ

ฝ่ายดิน(สีดำ)
สนใจเรื่องการแก้ปัญหาชาวไร่ชาวนาอย่างเช่น ปัญหาหนี้สินและที่ทำกิน

ฝ่ายดิน(สีขาว) สนใจเรื่อง การเมืองใหม่(ที่สะอาด) และการปฏิรูปวัฒนธรรมและการศึกษาใหม่

ถ้าพลังฟ้าดินประสานกันได้จริง ก็จะเกิดอุดมการณ์ร่วมและยุทธศาสตร์ร่วม ยุทธศาสตร์นี้จะสามารถปรับเป็นยุทธศาสตร์ร่วมของประชาชนทั้งชาติได้

นี่คือ ที่มาของยุทธศาสตร์แห่งชาติ

แต่เราต้องตระหนักความจริงว่า ยุทธศาสตร์แห่งชาตินี้ ไม่อาจจะบรรลุได้โดยดำเนินการผ่านระบบรัฐราชการ (เก่า)

วิธีแก้คือ ‘ออกแบบสร้างรัฐแบบใหม่ แบบมีส่วนร่วม’ ขึ้น
อาจจะเป็นหน่วยงานหรือสถาบันอิสระ ที่แยกออกจากระบบราชการ คล้ายๆ กับ สกว. หรือ ส.ส.ส. โดยจัดตั้งสถาบันยุทธศาสตร์ชาติขึ้นประมาณ 4 หรือ 5 แห่ง

แห่งแรก คือ สถาบันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และการพัฒนาพลังงานทางเลือก

แห่งที่สอง คือ สถาบันการเมืองใหม่

แห่งที่สาม คือ สถาบันปฏิรูปวัฒนธรรมและการศึกษาใหม่

แห่งที่สี่ คือ สถาบันสร้างสรรค์ระบบทุนนิยมแบบเอื้ออาทร และแก้ปัญหาชาวไร่ชาวนา

ทุกสถาบัน ต้องวางยุทธศาสตร์ 10 ปี มีงบประมาณเฉพาะของตัวเอง และมีขั้นตอนในการปฏิรูปสังคมชัดเจน

สถาบันเหล่านี้ จะต่างจากราชการทั่วไป ตรงที่ต้องระดมพลังฝ่ายดิน หรือองค์กรภาคประชาชน หรือชุมชนต่างๆ ที่เข้มแข็งเข้ามารวมกันสร้างชาติในอนาคต หรือกล่าวอีกแบบหนึ่งคือ นี่เป็นสถาบัน แบบระบบเครือข่ายที่ภาคประชาชนมีบทบาทโดยตรงที่จะเข้ามา‘ร่วมกันคิด-ร่วมกันทำ’

ลูกศิษย์ผมถามขึ้น

“อาจารย์กำลังพูดถึงเรื่อง ปฏิรูปการเมืองใช่ไหมครับ”

ผมพยักหน้าตอบเขา

แม้เราอาจจะคิดว่า นี่...ไม่เกี่ยวกับการเมือง เพราะไปหลงยึดว่า การเมืองเป็นเรื่องของรัฐบาล เป็นเรื่องของระบบสภา เรื่องของพรรคการเมือง หรือเรื่องของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ

แต่เราลืมไปว่า

หัวใจของการเมือง คือ การสร้างชาติ หรือ ชาติอนาคต

สาเหตุที่ต้อง ประสานพลังฟ้า-ดิน มาช่วยกันผลิตยุทธศาสตร์อนาคตก็เพราะว่า ระบบรัฐบาลและรัฐสภาปัจจุบันกำลังถูกลากอย่างหนักเพื่อไปแก้ ‘วิกฤตแบบซ้อนวิกฤต’ ในทุกด้านที่กำลังถาโถมทบเข้ามา แค่แก้ปัญหาไปวันๆ ก็ไม่มีเวลาที่จะคิดสร้างชาติในอนาคตแล้ว

สถาบันทั้งหมดที่ผมคิดขึ้นนี้ น่าจะเป็นสถาบันกึ่งอิสระ และมีแหล่งที่มาของงบประมาณเฉพาะของตนเองที่แน่นอน อาจขึ้นกับสำนักนายกและเชื่อมตรงต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และได้รับความอุปถัมภ์โดยตรงจากสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งสถาบันทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ

วิถีของปราชญ์ตะวันออก คือ “ต้องทำเล็กๆ ก่อน”
ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า“เล็กๆ แต่งดงาม” ขึ้นมาก่อนอย่างเช่น การทำในระดับเมืองและชุมชน เป็นอันดับแรก

ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะเลือกเมืองขึ้นมาสัก 3 แห่ง เช่น ภูเก็ต น่าน สุโขทัย และแม่ฮ่องสอนเป็นจุดทดลอง

วางยุทธศาสตร์ 5 แนว

แนวแรก คือ ยุทธศาสตร์เมืองนิเวศน์ และสังคมแห่งความรู้

แนวที่สอง คือ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียง และชุมชนเข้มแข็ง

แนวที่สาม คือ ปฏิรูปวัฒนธรรมและการศึกษาใหม่

แนวที่สี่ คือ ทุนนิยมเอื้ออาทร

แนวที่ห้า คือ การเมืองใหม่


ประสาน 5 แนวยุทธศาสตร์เข้าด้วยกัน ทุกฝ่ายช่วยกันคิด อาจจะมีหลายแบบก็ได้ ใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 3 ปี ก็จะรู้ว่ามีข้ออ่อนหรือประสบความสำเร็จแค่ไหน อย่างไร

ถ้าเราทำสำเร็จในระดับเมืองและชุมชน เราจะก่อเกิดเมืองและชุมชนตัวอย่างที่งดงาม แล้วจึงค่อยๆ พัฒนารูปแบบขึ้น แล้วจึงดำเนินงานหรือวางแผนในระดับมลรัฐและระดับชาติ

เพื่อนนักธุรกิจถามขึ้นว่า

“ผมเห็นด้วยกับที่อาจารย์เสนอมา แต่...เราจะแก้เรื่อง การคอร์รัปชันของรัฐบาลและของสมาชิกสภาฯ รวมทั้งการซื้อสิทธิขายเสียงกันได้อย่างไร”

ผมตอบว่า

นอกจากต้องสร้าง ใจร่วม หรือ ยุทธศาสตร์แห่งชาติ แล้ว เราคงต้องเริ่มแก้ที่ระบบการเมืองการปกครองโดยเริ่มที่ ‘สถาบันการเมืองใหม่’ (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น