xs
xsm
sm
md
lg

มองเห็นเป็นธรรม : บุคคลหาได้ยากอย่างยิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


๕ ธันวาคม มหามงคลสมัยแห่งกาลเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ได้เวียนมาถึงอีกวาระหนึ่ง ปวงชนชาวไทยต่างแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ ด้วยการการถวายพระพรบ้าง บำเพ็ญกุศลตามหลักศาสนาแห่งตนบ้าง พากันบำเพ็ญสาธารณประโยชน์บ้าง สุดแท้แต่กำลังความคิดความสามารถของตน ยามเวลา ๑๙ นาฬิกา ก็พร้อมเพรียงกันจุดเทียนชัยถวายพระพร ให้พระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสถิตเป็นพระราชบุรพการีแห่งปวงชนชาวไทยทุกคน เพราะทรงเป็นองค์พระประมุข ทรงคุ้มครองรักษา และทรงเกื้อกูลอาณาประชาราษฎร์ให้มีความเจริญ มีความสุขสบายตามฐานะของตน ทรงทุ่มเทพระวรกายในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ทวยราษฎร์ทั่วขอบขัณฑสีมาอาณาจักร จนเป็นที่ประจักษ์และที่สรรเสริญแห่งชาวโลก ทรงเป็นมิ่งขวัญของคนไทยทุกคน

พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยธรรมที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรัสไว้ว่า
ราชา มุขํ มนุสฺสานํ พระราชาเป็นประมุขแห่งหมู่มนุษย์
ราชา รฏฺฐสฺส ปญฺญานํ พระราชาเป็นเครื่องปรากฏของรัฐ
และใน อัคคัญญสูตร ได้มีพุทธาธิบายคำว่า “ราชา” ไว้ว่า ธมฺเมน ปเรสํ รญฺเชติ แปลความว่า ยังชนทั้งหลายอื่น ให้ยินดีชื่นบานโดยธรรม อันมีนัยยะว่า พระราชาทรงดำรงพระองค์เป็นตัวอย่างของผู้ประพฤติธรรมด้วยทรงชักชวนให้ผู้อื่นยินดีชื่นบานในธรรมด้วย

พระราชาเป็นที่ยินดีชื่นบาน เป็นมิ่งขวัญของหมู่ชน เป็นเครื่องปรากฏของรัฐ อย่างไร? สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงตรัสแสดงปรารภถึงพระเจ้าจักรพรรดิไว้ในอัจฉริยสูตร อังคุตรนิกาย จตุกกนิบาต ความว่า ข้ออัศจรรย์ในพระเจ้าจักรพรรดิ คือ ถ้าขัตติยบริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท เข้าไปเฝ้าเยี่ยมพระเจ้าจักรพรรดิ บริษัทนั้นๆย่อมมีใจยินดีแม้ด้วยการเฝ้าเยี่ยมนั้น ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิดำรัสในที่ประชุมนั้น บริษัทนั้นๆ ย่อมมีใจยินดี แม้ด้วยพระดำรัส บริษัทนั้นย่อมเป็นผู้ไม่อิ่มเลย ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่งเสียฯ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบมหันตคุณูปการกิจโดยอเนกประการ เพราะพระองค์ทรงดำรงมั่นในทศพิธราชธรรมจริยา ตามนัยพระพุทธโอวาท ทศพิธราชธรรมจริยาชื่อว่าเป็นสุจริตธรรม เพราะเป็นความประพฤติในกิจที่ชอบที่ควร ประกอบด้วยคุณประโยชน์อันเกิดแก่พระองค์และพสกนิกรทั่วพระราชอาณาเขต แผ่ไพศาลไปถึงผู้ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทั้งพระองค์และทุกคนๆ ย่อมประสบผลเป็นความบันเทิงพระราชหฤทัย บันเทิงใจ ในปัจจุบันและในอนาคต สมดังคำที่ท่านพระยโสธราภิกษุณีได้กล่าวเฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระบรมศาสดา ความว่า

ธมฺมํ จเร สุจริตํน ตํ ทุจฺจริตํ จเร
ธมฺมจารี สุขํ เสติอสฺมึ โลเก ปรมฺหิ จาติ


แปลความว่า บุคคลควรประพฤติธรรมให้เป็นสุจริต ไม่ควรประพฤติธรรมให้เป็นทุจริต เพราะบุคคลผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ จนถึงปัจจุบัน พระองค์ทรงบำเพ็ญสุจริตธรรม ด้วยทรงมุ่งประกอบพระราชกรณียกิจให้ดี ให้ ชอบ ให้สมควรตามตามหน้าที่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวไทย พระศาสนา แลความวัฒนาสถาพรของประเทศไทย ผลแห่งพระราชกรณียกิจทั้งปวง นำให้พระองค์ทรงได้รับการสรรเสริญจากประชาคมทั่วโลก เป็นไปตามพุทธดำรัสที่ว่า ผู้ใดมาประพฤติธรรมอยู่โดยปกติ ด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ ผู้นั้นย่อมได้ความสรรเสริญของเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้

สรรพพระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวไทย นำให้พระองค์ทรงสถิตในพระราชฐานะบุรพการีแห่งมหาชนชาวไทย ทรงเป็นบุคคลหาได้ยาก ตามนัยแห่งธรรมที่ปรากฏในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ตติยปัณณาสก์ อาสาวรรคที่ ๑ ความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๒ จำพวกนี้ หาได้ยากในโลก ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ บุพพการีบุคคล ๑ กตัญญูกตเวทีบุคคล ๑ บุคคล ๒ จำพวกนี้แลหาได้ ยากในโลก ฯ

พระอรรถกถาจารย์ อธิบายว่า ปุพฺพาการี ได้แก่ ผู้ทำอุปการะก่อน กตญฺญูกตเวที ได้แก่ ผู้รู้อุปการะที่เขาทำแล้วตอบแทนภายหลัง ในสองท่านนั้น ผู้ทำอุปการะ ก่อน ย่อมสำคัญว่าเราให้กู้หนี้ ผู้ตอบแทนภายหลัง ย่อมสำคัญว่าเราชำระหนี้

สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี(จินตกกรมหาเถระ) ได้อธิบายว่า ท่านกล่าวว่าปุพพการีและกตัญญูกตเวที หาได้ยากนั้น เพราะยากที่จะหาให้พร้อมกัน เข้าได้ทั้งสองฝ่าย คือ ผู้ใหญ่ เมื่อมีโอกาสและสามารถอยู่ ก็หาค่อยจะทำหน้าที่ให้สมกับความเป็นผู้ใหญ่จริงๆ ไม่ หรือเมื่อผู้ใหญ่ทำหน้าที่ของตนแล้ว แทนที่ผู้น้อยจะทำหน้าที่ของตนบ้าง ก็ละเลยไม่ทำ ขาดเสียทั้งสองฝ่าย หรือบกพร่องเสียฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คือฝ่ายหนึ่งทำฝ่ายหนึ่งไม่ทำ ยากที่จะหาให้พร้อมกันเข้าได้ เพราะอย่างนี้ท่านจึงกล่าวว่าเป็นบุคคลหาได้ยากในโลก

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช ทรงพรรณนาความเป็นบุพพการีชนของพระเจ้าแผ่นดินไว้ว่า “ในชีวิตคนเรา มิใช่จะมีที่ต้องเกี่ยว ข้องอุปการะช่วยเหลือแต่เพียง ๒ ประเภท คือ พ่อแม่ ครู สูงสุดปกครองป้องกัน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อความร่ม เย็นเป็นสุขแก่ราษฎรผู้พึ่งพระบารมีอีกชั้น ๑ ในบัดนี้ ก็คือ พระมหากษัตริย์ หรือที่เรียกรู้ทั่วไปว่า พระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์จะปกแผ่พระมหากรุณา โดยทางสภาผู้แทนราษฎร ให้รับหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ต่างพระเนตรพระกรรณ ดังมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมดูแลปกครองประจำตามลำดับ จากตำแหน่งที่ใกล้ชิดกับราษฎรขึ้นไป คือ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อำเภอ จังหวัด กระทรวง รัฐมนตรี เหล่านี้ ล้วนแต่เหมือนมาปฏิบัติหน้าที่เป็นหูเป็นตาแทนพระองค์ทั้งนั้น เพราะลำพังพระองค์ไม่สามารถจะตรวจ ตราสารทุกข์สุขสบายของราษฎรได้ทั่วถึง พระมหากษัตริย์ เป็นมิ่งขวัญเชิดชูของประเทศชาติ ทางพระศาสนาจึงยกไว้เป็นบุคคลในชั้นบุพพการี ผู้ทำอุปการะก่อนแก่ประชาราษฎรอีกชั้น ๑ นับเป็นชั้นที่ ๓

สมเด็จพระสังฆราช(วาสนมหาเถระ) ทรงพรรณนาถึงหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดิน ที่ทรงปกครองพสกนิกรด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ชั้นบุพพการี ว่า “ย่อมทรงบำเพ็ญพระองค์ในทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ คือ
๑. ทรงพระมหากรุณาพระราชทานรางวัล แก่บุคคลผู้ทำความชอบต่อแผ่นดิน เช่น เหรียญตรา เป็นต้น
๒. ทรงรักษามารยาทกาย วาจา เรียบร้อย สมฐานะองค์พระประมุขของชาติ อยู่เสมอ
๓. ทรงบริจาคพระราชทรัพย์บำรุงอุดหนุนในสิ่งเป็นสาธารณประโยชน์ หรืออาชีพที่เหมาะสม
๔. มีพระราชอัธยาศัยเที่ยงธรรม ดำรงอยู่ในสุจริตยุติธรรมทุกเมื่อ
๕. มีกิริยามารยาทละมุนละไม องอาจ เป็นสง่า
๖. ทรงกำจัดความชั่วในส่วนพระองค์ได้
๗. ไม่ทรงกริ้วโกรธ จนเสียหลักธรรม หรือจารีตของ กษัตริย์
๘. ไม่ทรงเบียดเบียนผู้ไม่มีความผิด มีแต่พระราช- ทานอภัยโทษในกาลอันสมควร
๙. ทรงอดทน สมเป็นเชื้อชาติขัตติยะ
๑๐. ไม่ทรงยินดียินร้ายในโลกธรรม มีนินทา สรรเสริญ เป็นต้น
หน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดิน ๑๐ ข้อนี้ เรียกชื่อตามหลักในพระศาสนาว่า ทศพิธราชธรรม มีความหมายว่า เป็นธรรมะสำหรับผู้ปกครองบ้านเมือง ควรประพฤติให้เกิดความสุขสวัสดีแก่ประชาชนที่อยู่ในปกครอง สมหน้ที่

สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) ทรงพรรณนาถึงหน้าที่ของกตัญญูกตเวที ในฐานะราษฎรพลเมือง จะพึงตอบสนองคุณต่อพระเจ้าแผ่นดิน ว่า “พอจะวางเป็นหลักได้ ตามความเห็นดังนี้
๑. มีน้ำใจจงรักภักดีด้วยความเคารพอย่างแน่นแฟ้น ไม่ยอมที่จะไปภักดีต่อไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดนโดยเด็ดขาด
๒. มีความเคารพต่อพระราชกำหนดกฏหมาย ตลอดระเบียบแบบแผนประเพณีของชาติ ไม่ฝ่าฝืนทำลาย มีแต่ส่งเสริม สิ่งไรที่กฏหมายห้ามพยายามงดเว้น ที่กฏหมายแนะนำก็ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด
๓. พยายามเสียภาษีอากรด้วยความสุจริต ไม่หลบหลีก ซ่อนเร้น เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาล
๔. ไม่ประพฤติตนให้เป็นเสี้ยนหนามต่อแผ่นดิน
๕. ประพฤติตนอยู่ในหน้าที่พลเมืองดี เป็นหูเป็นตาแทนรัฐบาล สอดส่องป้องกันศัตรูทั้งภายในและภายนอก


นอกจากนี้ หากพลเมืองทั้งหลายตั้งตนสมหน้าที่ของลูกชายหญิง หน้าที่ของศิษยานุศิษย์ สมเป็นกตัญญูกตเวทีอยู่แล้ว ก็จะเป็นการส่งเสริมให้ปฏิบัติหน้าที่ราษฎร ได้บริบูรณ์ สมเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติยิ่งขึ้นด้วย”
ในสมัยที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงเห็นราธพราหมณ์ ผู้ซูบผอม เศร้าหมอง ปรารถนาจะอุปสมบท พระพุทธองค์ทรงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ใครระลึกถึงบุญคุณของพราหมณ์ผู้นี้ได้บ้าง?”
พระสารีบุตรได้ทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าระลึกถึงบุญคุณของพราหมณ์ผู้นี้ได้อยู่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระองค์ทรงถามต่อไปว่า “สารีบุตร เธอระลึกถึงบุญคุณของพราหมณ์นั้นได้อย่างไรบ้าง?”
พระสารีบุตรทูลว่า “เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเที่ยวบิณฑบาต อยู่ ณ พระนครราชคฤห์นี้ พราหมณ์ผู้นี้ได้สั่งให้ถวายภิกษา ๑ ทัพพี ข้าพระพุทธเจ้าระลึกถึงบุญคุณของพราหมณ์ได้เท่านี้แล พระพุทธเจ้าข้า”
ทรงสรรเสริญว่า “ดีละๆ สารีบุตร ความจริงสัตบุรุษทั้งหลาย เป็นผู้กตัญญูกตเวที...”
ต่อมา สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสสเทวมหาเถระ) ได้นิพนธ์เป็นธรรมภาษิตว่า “ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่อง หมายของคนดี”

พี่น้องชาวไทยผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณทั้งหลาย บัดนี้เป็นมหามงคลสมัยที่ท่านจักต้องมีความสำนึกแห่งความเป็นคนดี ด้วยการแสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรมให้ปรากฏ ทำกุศลสาธารณประโยชน์ที่อำนวยสุขสวัสดิผลแก่ครอบครัวและสังคมที่ท่านอาศัย เมื่อท่านได้กระทำเช่นนี้แล้ว เสี้ยวหนึ่งของท่านจะร่วมกับอีกหลายเสี้ยวของผู้อื่น ก่อเป็นสามัคคีแห่งกตัญญูกตเวทีบุคคล สร้างตนให้เป็นคนดีของสังคมประเทศชาติ อำนวยศุภอรรถวิบุลมนุญผลให้ความวัฒนาสถาพรเกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นตบะเดชะที่ก่อกุศลอำนวยผลานิสงส์ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสำราญเบิกบานพระราชหฤทัย ด้วยทรงเห็นสามัคคีธรรมของคนไทยผู้กตัญญูกตเวที และผู้ปฏิญาณตนต่อหน้าพระพักตร์ว่า จะร่วมกันรักษา ปกป้อง ประเทศชาติ พระศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้คงอยู่สืบไป เปรียบเหมือนบิดามารดา ที่สุขใจเมื่อเห็นบุตรธิดาแสดงความกตัญญูกตเวทีให้ทราบว่าเป็นคนดี ที่สามารถดำรงวงศ์สกุลสืบต่อไปได้

ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย อานุภาพแห่งคารวอปจายนธรรม และอานุภาพแห่งสามัคคีกุศลที่กตัญญูกตเวทีบุคคลชาวไทยได้ร่วมกันบำเพ็ญ จงเป็นตบะเดชะอภิบาลรักษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ให้ทรงพระเจริญด้วยสรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล พระชนมสุขทุกประการ เป็นนิตยกาลเทอญ

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 109 ธันวาคม 2552 โดยพระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)
กำลังโหลดความคิดเห็น