xs
xsm
sm
md
lg

เปิดกลยุทธ"ไทยประกันชีวิต"ปีชวด ตอกย้ำแบรนด์ธุรกิจสัญชาติไทยอันดับ1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - แม้ว่าในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจะชะลอตัวอย่างเห็นชัดทำให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบตามไปด้วย แต่ธุรกิจประกันชีวิตเป็นหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจที่ยังสามารถเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจได้ในระดับที่ดี ขณะที่ในปีนี้แม้ว่าหลายๆฝ่ายจะประเมินภาวะเศรษฐกิจในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ภาพการแข่งขันของธุรกิจประกันชีวิตเริ่มมีความรุนแรงขึ้นภายใต้ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ซึ่ง”ผู้จัดการรายวัน” ได้สัมภาษณ์พิเศษ "อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล" กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด "ธุรกิจประกันชีวิตสัญชาติไทยอันดับ 1" เพื่อเปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินงานและผลกระทบต่อประชาชนเมื่อโครงสร้างต่างๆ ของธุรกิจประกันชีวิตได้เปลี่ยนไป

ทิศทางของธุรกิจประกันชีวิตในปี 2551


ปี 2551 ธุรกิจยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าเบี้ยประกันภัยรับรวมจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 10% โดยปัจจัยหลักที่จะส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจจะเกิดจากการแข่งขันกันภายในธุรกิจ ที่จะมีบทบาทสำคัญในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ และส่งผลดีต่อการเติบโตของธุรกิจคือการขยายตลาดผ่านช่องทางอื่นๆ โดยเฉพาะ Bancassurance ที่มีแนวโน้มการเติบโตในทิศทางที่ดี

โดยในปี 2550 เบี้ยประกันรับปีแรกจากช่องทาง Bancassurance คิดเป็นประมาณ 30% ของเบี้ยประกันรับปีแรกทั้งหมด สินค้าในรูปแบบใหม่ๆ เช่น สินค้าควบการลงทุน ที่ทำให้เกิดกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ในกลุ่มลูกค้าระดับบนการขยายตลาดผ่านตัวแทน ธุรกิจจะให้ความสำคัญต่อการแสวงหากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ในกลุ่มลูกค้าระดับล่าง ในภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นตลาดที่ยังกว้าง

กรมธรรม์ประเภทชำระเบี้ยครั้งเดียว หรือ Single Premium ได้รับความสนใจลดลง รวมถึงบริษัทประกันชีวิตต่างๆก็ชะลอการขาย แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลตอบแทนที่ให้กับผู้เอาประกันภัย และทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดด้วย ส่วนกรมธรรม์ประเภทยูนิตลิงก์ ยังไม่น่าสนใจนัก เนื่องจากบริษัทประกันชีวิตต้องทำหน้าที่เสมือนโบรกเกอร์ อาจขาดความชำนาญ รวมถึงได้รับค่าคอมมิสชั่นไม่สูงนัก

ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในอีก 3 ปีข้างหน้า

คาดว่าธุรกิจจะมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในอัตราไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนดังนี้ ธุรกิจยังมีศักยภาพในการขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจมีสัดส่วนจำนวนผู้ถือกรมธรรม์ต่อประชากรทั้งประเทศ เพียงประมาณ 20% ซึ่งทำให้โอกาสในการขยายตัวของธุรกิจยังมีอีกมาก นอกจากนี้ธุรกิจยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นอย่างดีโดยการบรรจุความรู้ด้านการประกันชีวิตเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน ทำให้ประชาชนเห็นถึงความจำเป็นของการประกันชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีซึ่งอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นในอนาคต

ด้านการแข่งขันของธุรกิจ ทำให้มีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีต่อการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต การพัฒนาช่องทางการขยายตลาดผ่านช่องทางอื่นๆ นอกจากตัวแทน เช่น Bancassurance ซึ่งเป็นช่องทางที่มีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวของธุรกิจในปี 2550 รวมถึงสินค้ารูปแบบใหม่ๆ เช่น สินค้าแบบ Single premium สินค้าควบการลงทุน

การปรับตัวของภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ และค่าบริการในการรักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ประชาชนตระหนักถึงการสร้างสวัสดิการให้แก่ตนเองผ่านการประกันชีวิตเพิ่มมากขึ้น

ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบทางไหนบ้าง และต้องปรับตัวอย่างไร

สำหรับผลกระทบต่อผู้บริโภค จากการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะแวดล้อม และการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตในอนาคต ซึ่งโดยภาพรวมก็ส่งผลกระทบในด้านดีต่อผู้บริโภค เช่น การแยกตัวเป็นองค์กรอิสระของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ที่จะมีคณะกรรมการจากภาคประชาชนเข้ามาดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค เป็นการถ่วงดุลระหว่าง 3 ฝ่าย คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

พระราชบัญญัติประกันชีวิตฉบับใหม่ ที่จะสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในการทำประกันชีวิตเพิ่มขึ้น เช่น การจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้เอาประกันภัย การกำหนดให้บริษัทประกันชีวิตเป็นมหาชน เพื่อความโปร่งใส สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค การแข่งขันในธุรกิจที่รุนแรงขึ้นจากการเปิดเสรี ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสเข้าถึงการประกันภัยเพิ่มมากขึ้นผ่านช่องทางที่หลากหลาย และมีทางเลือกในการตัดสินใจเพิ่มขึ้น

ผลกระทบจากพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากก็เป็นอีกหนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่มีเงินฝากธนาคาร ที่ต้องเตรียมตัวเพื่อกระจายความเสี่ยงของเงินออม โดยธุรกิจประกันชีวิตเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการกระจายเงินฝาก

แนวทางการบริหารงานของไทยประกันชีวิตในปี 2551

หลักสำคัญของการดำเนินงานในปี 2551 โดยพื้นฐานยังคงยึดหลักสำคัญ 3 ประการ คือ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุนสินค้า ทั้งในด้านสินไหม การลงทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ เพราะการรู้ต้นทุนที่แท้จริง ทำให้บริษัทบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงให้ความสำคัญกับระบบฐานข้อมูล เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญ ในการตัดสินใจและการบริหารจัดการองค์กร และกระตุ้นการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การนำข้อมูลสถิติการจ่ายสินไหม กำหนดอัตราเบี้ยประกัน เป็นต้น และให้ความสำคัญในการตอกย้ำการสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการรับรู้และจดจำแบรนด์ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ซึ่งการสร้างแบรนด์มีทั้งการโฆษณา และการจัดกิจกรรมสนับสนุน

นอกจากนั้นบริษัทยังวางนโยบายเพื่อขยายตลาดและกระตุ้นการขาย ประกอบด้วย การพัฒนาช่องทางการขายใหม่ๆ และออกสินค้าใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ

ด้านระบบฐานข้อมูล บริษัทจะนำ Database Management มาใช้ในการบริหารงานเพิ่มมากขึ้น ทั้งในแง่ของการขยายตลาดกลุ่มลูกค้าเดิมและการกระตุ้นการขยายตลาดของตัวแทน ซึ่งปัจจุบันสามารถออนไลน์เชื่อมโยงกับสำนักงานใหญ่ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ ด้านการตลาด บริษัทมุ่งเน้นการบริการผู้เอาประกันที่เป็นมากกว่าการประกันชีวิต ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของบริการเสริมต่างๆ นอกจากนั้นยังมีสิทธิประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย ในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่บริษัทจัดขึ้นตามไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้า ผ่านคลับไทยประกันชีวิต เช่น การชมภาพยนตร์ การเรียนแต่งหน้า สปา ทำอาหาร หรือการอบรมเกี่ยวกับสุขภาพ

เป้าหมายธุรกิจของไทยประกันชีวิตในปี 2551

สำหรับปี 2551 บริษัทตั้งเป้าหมายทางการตลาด สำหรับการเติบโตของเบี้ยปะรกันรับปีแรก 6,500 ล้านบาท เบี้ยประกันรับรวม 30,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 30% ในสมมติฐานบนพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และนโยบายของบริษัทในปี 2551 เน้นการสนับสนุนการเติบโตให้สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว โดยการพัฒนาตัวแทนด้วยหลักสูตรที่เป็นมาตรฐาน เพื่อรักษาความคงอยู่ของตัวแทนและเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายตลาด การปรับเพิ่มโครงการแข่งขันโดยเน้นการกระตุ้นการขายอย่างทั่วถึง ทั้งโครงการเพิ่มความคงอยู่ของตัวแทน และโครงการแข่งขันสร้างจำนวนราย ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ให้แก่ตัวแทนในภาวะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น การขยายช่องทางการขายอื่นๆ เช่น แบงก์แอสชัวรันส์, เทเลมาร์เก็ตติ้ง, เวิร์กไซต์มาร์เก็ตติ้ง และการขายผ่านสื่ออื่นๆ การนำระบบ Database Management มาช่วยในการบริหารงานของตัวแทน ทั้งในส่วนของงานขายและการบริการผู้เอาประกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น