หลังเป็นทองไม่รู้ร้อนมากว่า 4 เดือน ในที่สุด ‘ประเสริฐ จันทรรวงทอง’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เรียกประชุมบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการฉาว MA เน็ตประชารัฐ หรือสัญญาบำรุงรักษา (MA) โครงข่ายเน็ตประชารัฐและโครงการงบ Big Rock (สัญญาลงนามวันที่ 27 มี.ค.2567) ที่ส่อว่ามีการกีดกันบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT ที่คนทั้งประเทศรู้ว่าเป็นคนดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐและบำรุงรักษา (MA) มาตั้งแต่ต้น
แต่กลับมีการกระทำส่อว่าเอื้อประโยชน์ให้เอกชน เพราะ NT ถูกถีบตกจากการประมูลด้วยเงื่อนไขเรื่องผลงาน เพื่อหลีกทางให้เอกชนที่เสนอราคาสูง 184 ล้านบาทให้ได้งาน MA ไปในขณะที่ NT เสนอราคาต่ำกว่าที่ 149 ล้านบาท แต่กลับไม่ได้งานทั้งๆ ที่นอกจากประสบการณ์และผลงานเป็นที่ประจักษ์แล้วยังเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดเดียวกันคือ กระทรวงดีอี
การประชุมวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมาประกอบด้วย ‘ประเสริฐ จันทรรวงทอง’ รมว.ดีอีนั่งหัวโต๊ะ ‘วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ’ ปลัดกระทรวงดีอี ฝ่ายจำเลยที่รอการพิสูจน์ว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่จากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ‘ภุชพงค์ โนดไธสง’ เลขาธิการ สดช. ‘ธีรวุฒิ ธงภักดิ์’ รองเลขาธิการ สดช. ฝ่ายโจทก์ผู้เสียหายคือตัวแทนจาก NT ‘พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ NT ‘จันทนา เตชะศิรินุกูล’ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ NT และตัวละครสำคัญ ‘เชิดชัย กัลยาวุฒิพงศ์’ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT ที่เปิดเกมปกป้องรักษาผลประโยชน์ของ NT
โดยเริ่มต้นจากส่งหนังสือร้องเรียนไปยัง ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้สั่งการให้ สดช. ยกเลิกการจัดประมูลหาผู้รับจ้างบำรุงรักษาและการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของโครงการเน็ตประชารัฐและโครงการงบ Big Rock และมอบหมายให้ NT เป็นผู้ดำเนินการต่อเนื่องในฐานะรัฐวิสาหกิจ ที่มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนโครงข่ายและได้ดำเนินโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น พร้อมทั้งสั่งการให้หน่วยงานรัฐจัดหางบประมาณเพื่อชำระหนี้ค้างจ่ายในการบำรุงรักษาและการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของโครงการเน็ตประชารัฐ และโครงการงบ Big Rock ตั้งแต่ 1 ม.ค.2562-31ธ.ค.2565 คิดเป็นมูลค่า 5,500 ล้านบาท และตั้งแต่ 1 ม.ค.2566-27 ก.ย.2566 รวมเป็นเงิน 1,165 ล้านบาท
โดยที่สหภาพฯ NT รู้ว่าหนังสือร้องเรียนนายกรัฐมนตรีที่ส่งตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค.2567 ได้ถูกส่งให้กระทรวงดีอีเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาในฐานะที่เป็นเจ้ากระทรวงในการกำกับดูแล NT แต่เวลาผ่านไปกว่า 4 เดือนทุกอย่างกลับเงียบ
บางคนที่ร่วมวงประชุมได้สรุปสาระสำคัญในวันนั้นว่า ตามที่ได้พูดคุยกับ รมต.ประเสริฐ มี 2 ประเด็นคือ 1.เรื่องหนี้ค้างจ่ายที่ดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐและส่วนต่อขยายงบ Big Rock โดยดีอีจะพยายามหาทางในการตั้งงบประมาณมาทยอยจ่ายให้ ซึ่งไม่ชัดเจนว่าจะได้ปีละเท่าไหร่ โดยทางสหภาพฯ NT เสนอให้ดีอีใช้แนวทางขอมติคณะรัฐมนตรีในการของบกลางมาชำระหนี้สาธารณูปโภค ที่รัฐบาลก่อนเคยดำเนินการซึ่งกระทรวงศึกษาฯ เคยดำเนินการมาแล้ว โดย รมต.ประเสริฐ รับจะไปพูดคุยแนวทางกับนายกรัฐมนตรี
2.ประเด็น MA โครงข่ายเน็ตประชารัฐ และ Big Rock มอบหมายให้ปลัดกระทรวงดีอี ดำเนินการหาข้อเท็จจริงตามที่สหภาพฯ NT ได้ชี้ประเด็นทีโออาร์ หรือเงื่อนไขการประมูลที่เอื้อประโยชน์กับบริษัทเอกชนเพื่อให้ได้ข้อสรุป โดยที่สหภาพฯ NT ได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับทีโออาร์ที่ไม่ชอบมาพากล
ในส่วนของ สดช.นั้น เลขาฯ สดช.ได้พยายามอธิบายถึงการที่ สดช. รับโอนโครงข่ายเน็ตประชารัฐ และ Big Rock พร้อมดำเนินโครงการซึ่งได้แยกออกมาเป็น 2 กิจกรรม โดยกิจกรรมที่ 1.โครงการให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะผ่านโครงข่ายเน็ตประชารัฐ)ให้ NT ดำเนินการโดยวิธีการเจาะจง
แต่กิจกรรมที่ 2.สัญญาบำรุงรักษา (MA) โครงข่ายเน็ตประชารัฐและโครงการงบ Big Rock) ได้ใช้วิธีเชิญชวนเพื่อให้โปร่งใส และกล่าวอ้างว่ามีการประสานกับ NT อย่างใกล้ชิด แต่ NT ตกคุณสมบัติ ซึ่งในประเด็นนี้ ทางรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ NT สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี ‘รองหมู จันทนา’ ได้โต้แย้ง และกล่าวว่าในขณะนี้ทางการปฏิบัติมีปัญหาการ MA ทำให้ลูกค้า NT ได้รับผลกระทบไปด้วย และ ‘กจญ.สรรพชัยย์’ ก็ได้กล่าวถึงปัญหาการแก้ไขเหตุเสียที่มีเนื้องานทับซ้อนกัน รวมถึงการถือกุญแจ การเข้าออกพื้นที่ชุมสาย NT ที่เป็นพื้นที่ความปลอดภัย
โดยสรุป กิจกรรมที่ 2 นั้นได้ดำเนินการว่าจ้าง SVOA ตามสัญญาแล้วไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะ สดช.จะโดนฟ้อง ในขณะที่ทาง ‘รองเลขาฯ ธีรวุฒิ ธงภักดิ์’ ได้ชี้แจงประมาณว่ากิจกรรมที่ 2 นั้นอุปกรณ์เป็นคุรุภัณท์ ต้องทำทะเบียน อุปกรณ์จำนวนมากหมื่นกว่าชิ้น และ สดช.ก็ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหนบ้าง ต้องให้บริษัทดำเนินการ ซึ่ง NT ไม่มีความสามารถดำเนินการได้ และการที่อุปกรณ์เสีย NT ก็ไม่มีความสามารถแก้ไขได้ NT ต้องไปจ้างคนอื่นมาซ่อมอยู่ดี และไม่มีอุปกรณ์สำรอง
ประเด็นนี้ได้ถูกสหภาพฯ NT โต้แย้ง ว่าสดช.ไม่เข้าใจ และไม่รู้ในกระบวนการที่ผ่านมาว่า NT ดำเนินการ MA มาก่อนหน้านี้ และอุปกรณ์สำรองของโครงการ ทาง สดช.ก็รู้ว่ามีอยู่ โดยเมื่อคราวประชุม 3 ฝ่าย ซึ่งรองเลขาฯ สดช.เองเป็นประธานในที่ประชุมได้กล่าวถึงอุปกรณ์สำรองเหล่านี้ว่า ให้ SVOA ไปขนออกจากคลังเก็บของ NT เองด้วยซ้ำ
‘บรรยากาศในช่วง สดช.ชี้แจง ตึงเครียดมาก เพราะบางคนพูดด้อยค่า NT ตลอดเวลา บางคนพูดจาเรียบๆ เหมือนไม่ค่อยสู้หน้าเท่าไหร่ บางคนคอตั้ง หยิ่งยโสมาก เหตุผลที่ชี้แจงข้างๆ คูๆ ค่อนข้างมั่ว ฟังไม่ขึ้น’ คนร่วมประชุมบางคนเล่าให้ฟัง
ในวันที่ 6 มิ.ย.ดังกล่าว ‘เชิดชัย กัลยาวุฒิพงศ์’ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ยังยื่นหนังสือร้องเรียนความผิดปกติของทีโออาร์ โครงการ MA เน็ตประชารัฐที่เข้าข่ายไม่เป็นธรรมกับ NT ตอกย้ำความไม่ชอบมาพากลของการจัดประมูลครั้งนี้ต่อประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดีอี ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญเพิ่มเติมอีก
ทั้งนี้ สหภาพฯ NT กำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนถึงกระบวนการเอื้อประโยชน์เอกชนเพื่อยื่นต่อ ป.ป.ช.เอาตัวการที่อยู่เบื้องหลังมาลงโทษให้ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เรื่องฉาวๆ ที่ 'กระทรวงดีอี'
ตีแสกหน้า ‘ดีอี’ สดช.เขี่ย NT ประเคนโครงการ MA ให้เอกชน
เบื้องหลัง NT ถูกเขี่ยตก MA เน็ตประชารัฐเพราะเงื่อนไข ‘ศรีธนญชัย’
สหภาพฯ NT ร้อง ‘ประเสริฐ’ พิสูจน์ความจริง MA เน็ตประชารัฐ
‘ฐากร’ ปูดพิรุธ ‘ดีอี-คมนาคม’ พบ ‘บิ๊ก ขรก.’ เรียกส่วยตั้งเป้า 800 ล้าน