xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพฯ NT ร้อง ‘ประเสริฐ’ พิสูจน์ความจริง MA เน็ตประชารัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหภาพฯ NT ท้า ‘ประเสริฐ จันทรรวงทอง’ รมว.ดีอี พิสูจน์ความถูกต้อง โปร่งใส โครงการ MA เน็ตประชารัฐ หลังนายกฯ ส่งเรื่องให้พิจารณาหนังสือที่สหภาพฯ ร้องเรียนต้นปี 2567 แต่ผ่านไปกว่า 4 เดือน เรื่องยังเงียบเฉย พร้อมเปิดข้อพิรุธเพิ่มเติมที่ดูเหมือนเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์เอกชนอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความจำเป็นที่ผู้ชนะประมูลจำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กสทช.หรือไม่ และทีโออาร์ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลให้เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านระบบคอมพิวเตอร์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์แทนที่จะกำหนดให้แสดงความเชี่ยวชาญด้านระบบสื่อสารอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นมากกว่า

เชิดชัย กัลยาวุฒิพงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา สหภาพฯ NT ได้ยื่นหนังสือถึงนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อร้องเรียนการกระทำที่เข้าข่ายการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มบุคคลในการดำเนินงานโครงการเน็ตประชารัฐและโครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

ทั้งนี้ หลังจากสหภาพฯ ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ยกเลิกการจัดประมูลหาผู้รับจ้างบำรุงรักษาและการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของโครงการเน็ตประชารัฐและโครงการงบ Big Rock และมอบหมายให้ NT เป็นผู้ดำเนินการต่อเนื่องในฐานะรัฐวิสาหกิจที่มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนโครงข่ายและได้ดำเนินโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น พร้อมทั้งสั่งการให้หน่วยงานรัฐจัดหางบประมาณเพื่อชำระหนี้ค้างจ่ายในการบำรุงรักษาและการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของโครงการเน็ตประชารัฐและโครงการงบ Big Rock ตั้งแต่ 1 ม.ค.2562-31 ธ.ค.2565 คิดเป็นมูลค่า 5,500 ล้านบาท และตั้งแต่ 1 ม.ค.2566-27 ก.ย.2566 รวมเป็นเงิน 1,165 ล้านบาท

‘สหภาพฯ NT ทราบมาว่าหนังสือร้องเรียนนายกรัฐมนตรี ได้ถูกส่งให้กระทรวงดีอีเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหา ในฐานะที่เป็นเจ้ากระทรวงในการกำกับดูแล NT ดังนั้นสหภาพฯ NT ขอทราบผลความคืบหน้าว่ากระทรวงดีอีจะวินิจฉัยหนังสือร้องเรียนของสหภาพฯ NT แล้วเสร็จเมื่อไหร่ (หนังสือร้องเรียนนายกฯ ตั้งแต่ 26 ม.ค.2567 หรือกว่า 4 เดือนแล้ว) และสหภาพฯ NT ขอทราบผลการวินิจฉัยด้วย’

นอกจากปัญหาเดิมที่ยังคาราคาซังไม่ได้รับการแก้ไข สหภาพฯ NT ได้ชี้เป้าเพิ่มถึงข้อพิรุธโครงการที่นำไปสู่การกระทำที่เอื้อประโยชน์เอกชนอย่างชนิดไร้ยางอาย กล่าวคือหลังจากที่ สดช.รับโอนทรัพย์สินโครงข่ายจากสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สป.ดศ.) ได้แบ่งการดำเนินงานโครงการเน็ตประชารัฐและโครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (โครงการงบ Big Rock) ออกเป็น 2 กิจกรรม

กิจกรรมที่ 1 โครงการให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะผ่านโครงข่ายเน็ตประชารัฐ (สัญญาเริ่ม 27 ก.ย.2566-28 เม.ย.2567) ว่าจ้าง NT เป็นผู้ดำเนินการ เพราะ NT เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทที่ 3 (มีโครงข่ายเป็นของตนเอง) จากสำนักงาน กสทช. มีหน้าที่หลักคือดูแลโครงข่ายใยแก้วนำแสงและอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ MSDP,SDP,SJ และการให้บริการอินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่องรวมทั้งการตรวจสอบการให้บริการ Internet/Bandwidth

กิจกรรมที่ 2 สัญญาบำรุงรักษา (MA) โครงข่ายเน็ตประชารัฐและโครงการงบ Big Rock (สัญญาลงนามวันที่ 27 มี.ค.2567) ว่าจ้าง SVOA เป็นผู้ดำเนินงาน โดยมีขอบเขตของงานประกอบด้วย

1.บำรุงรักษาและซ่อมแซมแก้ไข (Corrective Maintenance) อุปกรณ์ของโครงข่ายเน็ตประชารัฐและโครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (Big Rock) ให้สามารถใช้งานได้อย่างปกติ

2.จัดหาอุปกรณ์/อะไหล่ทดแทนในกรณีที่อุปกรณ์และระบบโครงข่ายเกิดความชำรุดเสียหายจนไม่อาจซ่อมแซมได้

3.ต่ออายุใช้งานลิขสิทธิ์ของซอฟต์แวร์/ผลิตภัณฑ์เพื่อให้ระบบสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องและถูกต้องตามกฎหมาย

***ต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม

ประเด็นที่น่าสงสัยคือในกิจกรรมที่ 2 ที่สดช.ว่าจ้าง SVOA ไปดำเนินการนั้น เป็นเนื้องานของกิจการโทรคมนาคมใช่หรือไม่ หากใช่ผู้ที่จะมารับงานกิจกรรมที่ 2 จะต้องเป็นผู้มีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเช่นกัน เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ตามมาตรา 4

โดยที่สามารถสรุปได้ว่าโครงข่ายเน็ตประชารัฐและโครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (Big Rock) เป็นโครงข่ายโทรคมนาคม และเนื้องานของกิจกรรมที่ 2 โดยเฉพาะการบำรุงรักษาและซ่อมแซมแก้ไข (Corrective Maintenance) อุปกรณ์ของโครงข่ายเน็ตประชารัฐและโครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (Big Rock) ให้สามารถใช้งานได้อย่างปกติ รวมทั้งการจัดหาอุปกรณ์/อะไหล่ทดแทนในกรณีที่อุปกรณ์และระบบโครงข่ายเกิดความชำรุดเสียหายจนไม่อาจซ่อมแซมได้ เข้าข่ายเป็นลักษณะงานบริการด้านกิจการโทรคมนาคมให้แก่บุคคลผู้ใช้บริการทั่วไป

‘ดังนั้น ผู้ที่จะมาดำเนินงานกิจกรรมที่ 2 จะต้องเป็นผู้มีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเช่นเดียวกัน’

นอกจากนี้ กิจกรรมที่ 1 และกิจกรรมที่ 2 ไม่สามารถแยกออกจากกันอย่างเป็นอิสระได้ กิจการโทรคมนาคมไม่เพียงแต่งานวางข่ายสายเท่านั้น งานยังประกอบด้วยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต การบริหารจัดการโครงข่าย งานบำรุงรักษาเคเบิล/อุปกรณ์ในระบบ งานซ่อม/เปลี่ยนอุปกรณ์ในระบบที่ชำรุด ตัวอย่างเช่นในการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เสีย ใช้งานไม่ได้ NT ต้องออกใบสั่งงานและแจ้งให้ SVOA ทราบ จึงจะออกไปเปลี่ยน/แก้ไขอุปกรณ์ และการออกไปบ้านลูกค้าเพื่อปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ถือว่าเป็นระบบการให้บริการโทรคมนาคม (เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง) ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544

***ประเด็นฉาวเรื่องผลงาน

ข้อพิรุธสำคัญอีกอย่างที่สหภาพฯ NT ระบุไว้คือในการประมูลกิจกรรมที่ 2 หรือโครงการ MA ซึ่งในทีโออาร์โครงการการให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะและบำรุงรักษาโครงข่ายเน็ตประชารัฐและส่วนต่อขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (โครงการงบ Big Rock) ไม่มีการระบุคุณสมบัติของผู้ประมูลงานว่าต้องมีใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคม แต่ในทางกลับกัน ข้อ 10 ของทีโออาร์กลับระบุให้ผู้ยื่นประมูลงานต้องมีผลงานการให้บริการบำรุงรักษาระบบคอมพิวเตอร์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือ ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์

ทั้งที่งานกิจกรรมที่ 2 เป็นการบำรุงรักษาอุปกรณ์โครงข่าย ไม่ใช่งานดูแลระบบคอมพิวเตอร์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เข้าใจว่า

‘อาจมีการเอื้อประโยชน์ให้บุคคลหรือกลุ่มนิติบุคคลเข้ามารับงานด้วยการกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลให้เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านระบบคอมพิวเตอร์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ได้เข้ามาประมูลงานและชนะการประมูลได้ในที่สุดแทนที่จะกำหนดให้แสดงความเชี่ยวชาญด้านระบบสื่อสารอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็น’

เชิดชัยกล่าวสรุปว่า ‘ทั้งนี้สหภาพฯ NT ได้ยื่นข้อร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช.เพื่อการตรวจสอบด้วย’

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมให้ความเห็นว่าสิ่งที่ประเสริฐ จันทรวงทอง รมว.ดีอีต้องทำความจริงให้ปรากฏโดยเร็วที่สุดคือ 1.เรื่องฉาวๆ ที่กระทรวงดีอี ซี่งฐากร ตัณฑสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย และประธานกรรมาธิการ การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระบุว่าได้รับข้อมูลความไม่ชอบมาพากลจากประชาชนที่หวังดีกับชาติบ้านเมืองถึงการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ ของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงดีอี โดยพบว่ามีบุคคลชื่อย่อ ‘มิสเตอร์ดับเบิลที’ ที่เรียกรับผลประโยชน์จากโครงการจัดซื้อจัดจ้าง บางรายการมากถึง 30%

2.ต้องตอบคำถามที่สหภาพฯ NT ชี้ประเด็นว่าการประมูลกิจกรรมที่ 2 หรือโครงการ MA ที่ให้เอกชนที่เสนอราคาสูงกว่า NT 35 ล้านบาท (NT เสนอ 149 ล้านบาท ขณะที่เอกชนเสนอ 184 ล้านบาท) เอกชนที่ชนะประมูลจำเป็นต้องมีใบอนุญาตประเภทที่ 3 ของสำนักงาน กสทช.จริงหรือไม่

และที่สำคัญที่สุด 3.จงใจเขียน TOR เรื่องผลงานที่เข้าประมูลเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน เหมือนที่สหภาพฯ NT ร้องเรียนจริงหรือไม่

‘การนิ่งเฉยจะเป็นเหมือนการยอมรับหรือสมรู้ร่วมคิด’ แหล่งข่าวระบุ










กำลังโหลดความคิดเห็น