xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทาง NT ปี 67 ขอแต้มต่อรัฐบาล หาธุรกิจสร้างรายได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฟังทุกคำตอบ ‘กจญ. NT’ พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ ถึงแนวทางธุรกิจ NT ในปี 2567 ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไป รัฐบาลใหม่ รัฐมนตรีใหม่ และประธานบอร์ดใหม่ กับเส้นตายที่จะขาดรายได้จากพันธมิตรในช่วงปลายปี 2568



พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กล่าวถึงความท้าทายของ NT ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ คือ การเฟ้นหาธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาสร้างรายได้เพิ่มเติม นอกเหนือจากการลดค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนหลังการควบรวมระหว่าง CAT และ TOT ที่ต้องมีการเร่งให้เร็วขึ้น

“ช่วง 18-19 เดือนที่ผ่านมา เวลาที่ใช้ไปส่วนใหญ่จะอยู่กับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งเน็ตประชารัฐ สัญญาจากโครงการต่างๆ ที่ล่าช้ามา รวมถึง USO แต่เชื่อว่าในปีนี้ ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ในจุดที่สามารถควบคุมได้ และพนักงานทุกคนเริ่มเห็นไปในทิศทางเดียวกันแล้วว่า ถ้าตัดรายได้จากพันธมิตรที่จะหายไปในอนาคต ทุกฝ่ายต้องหันมาทำงานร่วมกัน”

สำหรับทิศทางหลักของ NT ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ คือการเร่งหารายได้ใหม่เข้ามาทดแทน อย่างการนำอสังหาริมทรัพย์ที่มีมาใช้ การแยกบริษัทย่อยออกมาให้บริการแก่ลูกค้าที่เป็นเอกชน การเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัป หรือธุรกิจที่เริ่มสร้างรายได้ รวมถึงการยกระดับบริการคลาวด์ให้นำไปใช้ประโยชน์สาธารณะได้มากขึ้น

ในส่วนของอสังหาริมทรัพย์จะมีการเปิดทางให้พันธมิตรที่สนใจเสนอรายละเอียดเพื่อเข้ามาลงทุนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่บริเวณคลองเตยที่มีประมาณ 4 ไร่ และพื้นที่ NT Academy บริเวณงามวงศ์วานกว่า 70 ไร่ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้จากการเช่าพื้นที่ในระยะยาว

นอกจากนี้ ยังคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ยังเห็นชอบในการพิจารณาสร้าง Data Center แห่งใหม่ เนื่องจากที่มีอยู่เดิมในพื้นที่บางรัก เริ่มมีข้อจำกัดทั้งเรื่องพื้นที่ พลังงานไฟฟ้า และระบบระบายอากาศ ทำให้รองรับปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้นได้ไม่เกิน 2 ปี ข้างหน้า จึงเริ่มมีการเข้าไปเจรจากับบริษัทต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว 4-5 ราย

“การที่ไทยจะก้าวขึ้นเป็นฮับของดาต้าเซ็นเตอร์ในภูมิภาคอาเซียน รัฐบาลจะต้องมีการส่งเสริมการลงทุนมากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมาแม้ว่าสิงคโปร์จะยุติการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์แล้ว แต่กลายเป็นว่าผู้ให้บริการต่างชาติหันไปลงทุนที่มาเลเซียแทน เนื่องจากได้สิทธิประโยชน์ที่ทางรัฐบาลเสนอไม่ว่าจะเรื่องของพื้นที่ และค่าไฟที่ถูกกว่าในไทย”

ทำให้กลายเป็นว่า รัฐบาลมาเลเซียมองเห็นถึงการสร้างรายได้ทางอ้อมที่จะเกิดขึ้น หลังจากที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนทั้งเรื่องของการย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงาน ก่อให้เกิดชุมชน เมืองต่างๆ ในขณะที่รัฐบาลไทยมองแค่เม็ดเงินจากการลงทุนที่เป็นรายได้ทางตรงเท่านั้น ในจุดนี้จะต้องมีการเสนอเข้าไปให้พิจารณาต่อไป

"เพื่อให้ได้ตามแผนที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจดิจิทัลขึ้นมาเป็น 20% หรือเพิ่มจากพันล้านบาทเป็นหมื่นล้านบาท ทำให้ในปีนี้จะเห็น NT เริ่มให้บริการแพลตฟอร์มแก่ลูกค้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐเพิ่มมากขึ้น"

ส่วนในธุรกิจเดิมอย่าง Mobile จะหันไปโฟกัสกับการให้บริการภาคธุรกิจ และ M2M ที่เป็นเซกเมนต์เฉพาะมากขึ้น ส่วนธุรกิจบรอดแบนด์จะเปิดทางให้พันธมิตรเข้ามาร่วมทำตลาดในบางพื้นที่อย่างเช่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากปัจจุบัน NT Broadband มีการให้บริการที่ค่อนข้างล่าช้า ต้องเร่งให้เร็วขึ้นให้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น