xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 7 นโยบาย รมว.ดีอี สั่ง NT ลดลงทุนซ้ำซ้อน รอบอร์ดใหม่เคาะโครงการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.ดีอี วาง 7 นโยบาย สั่งการ NT ปรับโครงสร้างให้เหมาะสม บริหารจัดการทรัพย์สินกว่า 2 แสนล้านให้เกิดรายได้ ลดการลงทุนซ้ำซ้อน พิจาณาลงทุน 5G คลื่น 26 GHz ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมเดินหน้าคลาวด์กลางภาครัฐ นำเครื่องมือหนุนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ส่วนโครงการสำคัญควรรอแต่งตั้งบอร์ดใหม่ให้ครบก่อน

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) กล่าวว่า ในปี 2568 จะเป็นปีที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับ NT เนื่องจากจะสูญเสียรายได้จากการหมดสัญญาคลื่นความถี่ทั้ง 850 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz ทำให้รายได้หายไปกว่า 40,000 ล้านบาท ประกอบกับการที่ NT เป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญ และอาจส่งผลกระทบในวงกว้างได้

“เมื่อ NT มีรายได้ส่วนหนึ่งที่ลดลง ทำให้ต้องมีการปรับตัวโดยเฉพาะในเรื่องของการปรับโครงสร้างลดบุคลากรจากปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 12,000 คน ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายราว 35% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ราว 25% แน่นอนว่าถ้า NT สามารถขยายธุรกิจ และมีการเติบโตเรื่องกำลังคนก็สามารถขยายเพิ่มเติมขึ้นไปได้

พร้อมกันนี้ รมว.ดีอี ได้มอบหมาย 7 นโยบายในการเข้าตรวจเยี่ยมบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ประกอบด้วย 1.การปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมกับสภาพธุรกิจ สภาพรัฐวิสาหกิจ และองค์กร ซึ่งเดิมอยู่ในแผนฟื้นฟูอยู่แล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้ NT เกิดจากการควบรวมของ CAT และ TOT ซึ่งทั้ง 2 องค์กรมีความแตกต่าง ทั้งวัฒนธรรม และวิถีการดำเนินงาน เมื่อได้มารวมกันแล้วต้องทำองค์กรให้ทันสมัย มีขนาดที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะในปัจจุบัน

2.ในเรื่องของการลงทุนที่มีความซ้ำซ้อนต่อเนื่องมาจากการควบรวม หลายเรื่องที่มีความซ้ำซ้อน ทั้งเรื่องของการลงทุน ประสิทธิภาพในการดำเนินการ ปรับไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน อย่างเรื่องสถานที่ทำงาน ที่ปัจจุบันมี 2 แห่ง เหลือแห่งเดียวช่วยลดค่าใช้จ่าย องค์กรคล่องตัวมากขึ้น

3.ในเรื่องของการลงทุนโครงการ 5G 26 GHz ที่ปัจจุบันยังมีเครื่องลูกข่ายที่ใช้งานได้น้อยอยู่ ได้ให้มุมมองว่าควรที่จะบูรณาการการลงทุนร่วมกับ 5G คลื่น 700 MHz พิจารณาด้วยความรอบคอบ โดยเฉพาะในแง่ของการมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน มีฐานลูกค้าที่รองรับ

“การให้บริการ 5G ทั้ง 26 GHz และ 700 MHz NT ควรเข้าไปให้บริการระหว่างรัฐวิสาหกิจ อย่างการประปาภูมิภาค การไฟฟ้าภูมิภาค นครหลวง เพื่อทำให้รัฐได้ประโยชน์ ภายใต้ราคาที่ต้องคุ้มค่าและแข่งขันกับเอกชนรายอื่นได้”

4.โครงการคลาวด์ภาครัฐที่รัฐบาลเดิมอนุมัติไปแล้ว ด้วยงบประมาณกว่า 6,200 ล้านบาท NT ควรที่จะสนับสนุนต่อ เพราะจะช่วยทำให้รัฐประหยัดงบประมาณมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลจากหลายหน่วยงานที่มีการลงทุน และตั้งงบประมาณมากว่าหมื่นล้านบาท ในการลงทุนคลาวด์ ถ้าทำให้กลับมาจัดซื้อกับทาง NT จะทำให้เป็นประโยชน์ และเพิ่มรายได้ ตรงกับนโยบาย Go Cloud First

“ตอนนี้หลายๆ หน่วยงานภาครัฐเข้าไปใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์ในที่ต่างๆ ในลักษณะของลงทุนใครลงทุนมัน ถ้า NT ดำเนินการในส่วนนี้ได้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ไม่น้อยกว่า 30%”

5.ให้ NT สนับสนุนเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ เพราะเป็นผู้ให้บริการที่มีเน็ตเวิร์ก และโครงข่ายที่พร้อมให้บริการอยู่แล้ว อย่างโครงการเน็ตประชารัฐ คลาวด์กลางภาครัฐ รวมถึงศูนย์ AOC 1441

6.การบริหารทรัพย์สินที่รวมๆ แล้วมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ถ้าสามารถนำทรัพย์สินมาสร้างรายได้แค่ 3% จะทำให้ถึง 6,000 ล้านบาทแล้ว

“เรื่องการบริหารทรัพย์สินถือว่าอยู่ในแผนฟื้นฟูที่ NT ดำเนินการอยู่ แต่ในขณะเดียวกันต้องสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา อย่างในธุรกิจโทรศัพท์มือถือเนื่องจาก NT มีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณทางการตลาดทำให้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตลอดเวลา แต่ในขณะเดียวกัน NT มีข้อได้เปรียบที่ผู้ให้บริการรายอื่นไม่มีอย่างเคเบิลใต้น้ำ รวมถึงการเข้าไปหากลุ่มลูกค้าที่มีความชัดเจน”

***ชะลอโครงการ 5G รอบอร์ดใหม่พิจารณา

7.ในขณะที่อยู่ระหว่างการสรรหาคณะกรรมการชุดใหม่ให้ครบองค์ประกอบ หากมีนโยบาย หรือโครงการควรจะรอให้มีการแต่งตั้งบอร์ดให้ครบองค์ประกอบเสียก่อน เพราะตอนนี้บอร์ดเหลืออยู่ 7 คน จาก 13 คน แม้ว่าจะเกินกึ่งหนึ่งแต่ถ้ามีเรื่องที่สามารถชะลอได้ หรือหลายสัญญาที่ยังไม่จำเป็นสามารถรอให้มีการพิจารณาแต่งตั้งให้เรียบร้อย ซึ่งคาดว่าไม่เกินระยะเวลา 2 เดือนข้างหน้า


พ อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ NT ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงแผนการลงทุน 5G บนคลื่นความถี่ 700 MHz ว่า มีการลงทุนคอร์เน็ตเวิร์กไปแล้วราว 800 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายจากการทำ Active Sharing ร่วมกับทาง AIS อีก 9,000 ล้านบาทตลอดระยะสัญญา ซึ่งช่วยลดการลงทุนจาก 20,000 กว่าล้านบาทลงมาแล้ว

ในขณะที่การลงทุน 26 GHz มีการปรับลดงบลงทุนลงมาเหลือ 800 ล้านบาท จากที่ก่อนหน้านี้ในเฟสแรกต้องลงทุน 1,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการนำคอร์เน็ตเวิร์กบางส่วนของ 700 MHz มาให้บริการได้ ขณะที่ทั้งโครงการคาดว่าจะมีการลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท

เบื้องต้น คลื่น 5G 700 MHz ที่จะนำมาให้บริการแก่ลูกค้ามีการคำนวณไว้แล้วว่าถ้ามีลูกค้าเข้ามาใช้งาน 3.6 ล้านราย ซึ่งเดิมมีฐานลูกค้าที่ใช้งาน NT Mobile อยู่ราว 2.5 ล้านราย ตั้งเป้าไว้ว่าในช่วงแรกจะไมเกรดลูกค้ามาใช้งานได้ 2 ล้านราย เมื่อรวมกับลูกค้าใหม่จากการให้บริการซิมสำหรับอุปกรณ์ IoT ต่างๆ อย่างสมาร์ทมิเตอร์ สกูตเตอร์ไฟฟ้า และการเข้าไปบันเดิลเซอร์วิสกับหน่วยงานภาครัฐ จะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้

“ในธุรกิจไม่มีการลงทุนไหนที่ไม่ขาดทุนในปีแรก โดยเฉพาะในธุรกิจโมบายที่อาจลากยาวไปสร้างกำไรในปีที่ 7-9 ด้วยซ้ำไป”

พร้อมกันนี้ ในส่วนของคลื่นความถี่ที่จะหมดในปี 2568 ทาง NT อยากได้คลื่นมาใช้งานต่อ 1 คลื่น เพราะถ้าเหลือแค่ 700 MHz กับ 26 GHz จะน้อยเกินไป ซึ่งก่อนหน้านี้ NT เคยแสดงความประสงค์ในการใช้งานคลื่นความถี่กลางอย่าง 3500 MHz ไปแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าถ้ามีการประมูลด้วยวงเงิน สุดท้ายภาระจะตกไปอยู่กับใคร

ในกรณีที่ถ้า กสทช. ยังไม่ได้มีการนำคลื่นความถี่กลับไปประมูล การนำอุปกรณ์กลับมาใช้งานใหม่ อย่างเช่นในเมืองที่ไม่ได้ใช้งาน 3G แล้ว ยังสามารถนำไปให้บริการในพื้นที่ห่างไกลได้ ไม่เช่นนั้นทรัพย์สินมูลค่าหลักพันล้านบาทจะหมดอายุไป


กำลังโหลดความคิดเห็น